แนวทางการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / by page เล่าเท่าที่รู้

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
damiano
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 381
ผู้ติดตาม: 1

แนวทางการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / by page เล่าเท่าที่รู้

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมเขียนบทความนี้ไว้ในเพจครับ ถึงสาเหตุและเเนวคิดของการลงทุนหุ้นใน USA ของผม แนวทางแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

เลยเอามาชวนเพื่อนๆในบอร์ดพูดคุยกันครับ ผิดถูกไม่ว่ากัน อยากเอามาชวนคุยกันครับ

.
.
.

Why USA ?

จุดเริ่มต้นของเรื่องการเปลี่ยนเเปลงด้านการลงทุนของผม น่าจะเป็นช่วงประมาณปลายๆปี 2017 ครับ

ผมเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นมาตั้งแต่ประมาณกลางปี 2008 ก่อนที่ตลาดจะถล่มจากวิกฤติ subprime

ถึงแม้ว่าช่วง 1-2 ปีแรกนั้น ผมจะงูๆปลาๆอยู่บ้าง แต่ว่า ด้วยภาวะตลาดหลังจากนั้นเป็นขาขึ้น ทำให้ก็ยังพอทำกำไรได้บ้างนิดๆหน่อยๆ

จนกระทั่งเริ่มจับทางของตลาดได้และได้ทำการศึกษาการลงทุนด้วยหลักการของ Value Investing ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผมสามารถทำให้พอร์ตตัวเองเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างมาก

จนมาถึงปี 2015 ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตคือ ผมได้ลาออกจากงานประจำออกมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา

ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี

จนกระทั่งผมเริ่มรู้สึกว่า การลงทุนเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆด้วยเหตุผลหลายประการ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเพราะ ผมเริ่มไม่สามารถมองหาหุ้นที่ชอบและถูกใจที่จะซื้อและถือลงทุนในระยะยาวได้

ด้วยสไตล์การลงทุนของผมที่ชอบศึกษาความเป็นไปของโลกธุรกิจ ชอบศึกษา Business Model ใหม่ๆ ชอบที่จะซื้อหุ้นคุณภาพดี และถือไปนานๆเติบโตไปพร้อมกับบริษัท

ทำให้ผมเริ่มตัดสินใจที่จะลองมองหาการลงทุนในตลาดต่างประเทศดูบ้าง

ในตอนนั้น ตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผมมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา

เริ่มจากตลาดจีนก่อน เนื่องจากตอนนั้น ผมคิดว่า ผมรู้จักตลาดจีนและเมืองจีนน้อยมาก รวมถึงการหาข้อมูลก็ยาก เเละผมก็ไม่รู้เรื่องภาษาจีนเลย ทำให้ผมเองนั้นรู้สึกว่า ต้องตัดตัวเลือกนี้ไปก่อน ถึงแม้ว่าการเติบโตของเมืองจีนจะน่าสนใจมากก็ตาม

ส่วนตลาดเวียดนาม ช่วงนั้นตลาดเวียดนามกำลังเป็นกระเเสของนักลงทุนไทย เนื่องจาก ดร.นิเวศน์ กูรูด้านการลงทุนของไทยได้ไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม และ ได้เขียนบทความไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เหล่าบรรดานักลงทุนของไทยสนใจตลาดหุ้นเวียดนามเป็นอย่างมาก ผมเองก็สนใจ ได้แบ่งเงินสัดส่วนประมาณ 5% ของพอร์ตทั้งหมด เพื่อไปลองลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามดู

ระหว่างช่วงปี 2017-18 นั้น ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสัมนาหุ้นในประเทศเวียดนามหลายๆครั้งเพื่อดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และศึกษาหุ้นที่จะลงทุน ตอนนั้นประเทศเวียดนามได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนไทยมาก เนื่องจากนักลงทุนไทยส่วนใหญ่นั้น มองว่า เวียดนามคล้ายกับเมืองไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อน ทำให้หลายๆคนมองว่า นี่คือโอกาสที่เวียดนามจะเดินตามรอยไทยเป็น New Thaialnd

แต่หลังจากผ่านไป 2 ปี ผมเองนั้นรู้สึกว่า ตลาดหุ้นเวียดนามก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นธุรกิจแบบ Old Economy เหมือนประเทศไทย หุ้นไม่ได้มีอะไรใหม่ที่จะเติบโตได้ในโลกอนาคต ซึ่งถึงแม้ว่าจะโตได้ สุดท้ายก็คงไม่ได้ต่างจากไทยมากนัก ทำให้คำตอบที่ได้ก็คือ เวียดนามก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับผมเหมือนกัน

สุดท้ายมาถึงตลาดของสหรัฐอเมริกา เริ่มจากปี 2017 ผมก็ได้แบ่งเงินลงทุนประมาณ 10% ของพอร์ตไปลองลงทุนในหุ้นอเมริกาดู

ซึ่งจริงๆแล้วตอนนั้น ก็คิดว่า อเมริกานั้นน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจาก ถ้าหากเราว่ากันตามตรงแล้ว ผมคิดว่า คนไทยเรารู้จักประเทศนี้มากกว่าเวียดนามหรือจีนเสียอีก

เราเฝ้าดู Culture ของ อเมริกามาตลอดตั้งแต่เด็กจากการดูหนัง Hollywood, เราเรียนภาษาของเค้ามาตั้งแต่เด็ก, เราฟังเพลงร้องเพลงของเค้าได้มากกว่าของประเทศใกล้ๆบ้านเราอย่างจีนหรือเวียดนามเสียอีก

นอกเหนือไปจากนั้น เราใช้สินค้าของหุ้นในตลาดอเมริกาทั้งรู้ตัวเเละไม่รู้ตัวอย่างคุ้นเคยอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หลายๆคนอ่านบทความนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือ iPhone, ถึงแม้ว่าคุณจะใช้มือถือ Huawei แต่ก็ใช้ระบบปฏิบัติการมือถืออย่าง Android ของ Google อยู่, เราใช้ Google Search จนเป็นปกติ, เราเล่น Facebook กันเกือบทั้งประเทศ, เราใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของ Windows หรือ MacOS และ พิมพ์งานในโปรเเกรม Word ของ Microsoft

สังเกตุไหมครับ ถึงแม้ว่า ไทยกับอเมริกาจะอยู่กันคนละฝั่งของโลก แต่เราคุ้นเคยกับสินค้าพวกนี้มากกว่าสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างจีนหรือเวียดนามเสียอีก

ผมใช้เวลากว่า 2 ปีในการลองเริ่มลงทุน เริ่มต้นจากการซื้อหุ้นตัวใหญ่ๆ อย่างพวก Apple Google Facebook Amazon Microsoft ไปก่อน (ใครอยากรู้ว่าทำไมผมลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ก็ลองตามอ่านบทความเรื่อง Goodbye Big Five ที่ผมเขียนได้นะครับ) ระหว่างนั้น ผมก็ได้ศึกษาหุ้นตัวอื่นๆในตลาดไปด้วย พยายามทำความเข้าใจว่า ตลาดหุ้นที่นั่นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หุ้นแบบไหนที่เป็นที่นิยม

นอกจากนั้น หุ้นส่วนใหญ่ของอเมริกานั้นเป็นหุ้นระดับโลก เป็นหุ้นเทคโนโลยี หรือหุ้นที่เป็นอนาคตของโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้อีกด้วย

จนกระทั่งสิ้นปี 2019 ผมคิดว่าผมพร้อมแล้ว รวมถึงค่าเงินบาทของไทยนั้นเเข็งค่าเป็นอย่างมาก ตอนสิ้นปีเเข็งขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาท/USD ทำให้ผมคิดว่า ถึงเวลาเเล้วที่จะย้ายเงินลงทุนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดไปลงทุนที่นั่นแทนเพื่อการเติบโตที่ดีในระยะยาวของพอร์ตและความรู้ของตัวเอง (ผมยังเหลือสัดส่วนหุ้นไทยอยู่ราวๆ 10% เนื่องจากยังต้องกินต้องใช้อยู่ในประเทศไทยครับ)
damiano
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 381
ผู้ติดตาม: 1

Re: แนวทางการลงทุนหุ้นต่างประเทศ / by page เล่าเท่าที่รู้

โพสต์ที่ 2

โพสต์

กำไรสำคัญที่สุดรึเปล่า

คำถามที่ผมได้เจอบ่อยที่สุดจากนักลงทุนไทยที่ต้องการจะไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดอเมริกา ก็คือ หุ้นอเมริกาส่วนใหญ่ ไม่มีกำไร เราจะลงทุนได้หรือเหรอ แล้วถ้าจะลงทุน จะต้องวิเคราะห์หรือ Valuation อย่างไง

ถ้าหากว่า คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ มักจะมีการสอนเสมอว่า การหาคำตอบ ไม่สำคัญเท่ากับการตั้งคำถาม

เพราะถ้าหากว่า เราตั้งคำถามผิด คำตอบที่เราได้ มักจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ก่อนที่จะถามคำถามว่า เราจะ Valuation ยังไง เรามาเริ่มที่คำถามที่ถูกต้องกันก่อน

ก่อนอื่น เราต้องมาคิดกันก่อนว่า กำไรสำคัญที่สุดหรือไม่ ถ้าหุ้นไม่มีกำไร ยังเป็นหุ้นที่ดีอยู่หรือเปล่า

ในแง่ของการทดำเนินธุรกิจ สิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ ไม่ใช่กำไร หากแต่ว่า มันคือ เงินสด (Cash)

กระเเสเงินสดมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญยิ่งกว่าการมีกำไรเสียอีก เพราะ ถึงเเม้ว่าในทางบัญชี บริษัทจะมีกำไร แต่บริษัทก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ถ้าขาดกระเเสเงินสด บริษัทที่ไปไม่รอด หรือว่าเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้น เกิดจากการขาดเงินสด ไม่ใช่การขาดทุนในทางบัญชี

ฉะนั้น คำถามที่ผมใช้ถามตัวเองในการวิเคราะห์หุ้น ไม่ใช่ บริษัทมีกำไรหรือเปล่า แต่ว่าคือ บริษัทจัดการกับกระเเสเงินสดอย่างไร

บริษัทไม่มีกำไรเป็นระยะเวลานาน แต่มีกระสดเงินสดที่ดี เป็นบวกโดยตลอด บริษัทก็สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร

ตัวอย่างที่ดีที่สุดในการนำมาอธิบายในเรื่องนี้ น่าจะเป็น 1 ในบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลล่า (1 Trillion company) อย่าง Amazon

ผมอยากให้ดูกราฟผลประกอบการณ์ย้อนหลังอยาก Amazon ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยมีตัวเเปร 3 ตัวคือ Sales(ยอดขาย), Free Cash Flow TTM(กระเเสเงินสดย้อนหลังไป 12 เดือน) และ Profit (กำไรทางบัญชี)

Amazon นั้น ก่อตั้งและดำเนินกิจการโดยไม่มีกำไรทางบัญชีเลย มาเกือบ 20 ปี แต่บริษัทกลับมีมูลค่าสูงเป็นอย่างมากในระหว่างนั้น 

ในปี 2010 Amazon มี Market Cap ประมาณ 50 Billion ถ้านักลงทุนเข้าไปดูตัวแปรอย่าง P/E Ratio ในช่วงนั้น คงจะเจอผลลัพธ์เป็น N/A และถ้าเราคิดถึงแค่ว่า หุ้นต้อง P/E ไม่เกิน 20 เท่าถึงจะลงทุนได้ เราคงจะพลาดหุ้น 20 เด้งภายใน 10 ปี ไปอย่างแน่นอน

เกิดอะไรขึ้นกับ Amazon ในระหว่างนั้น นักลงทุนทั่วโลก กองทุนทั่วโลกเห็นอะไรใน Amazon ถึงได้ให้มูลค่าเค้าขนาดนั้น

ก่อนจะพูดถึงเรื่องนี้ เราต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานบัญชีของอเมริกาอย่าง GAAP กันเสียก่อน

GAAP (Generally Accepted Accounting Principles) นั่น มีวิธีในการลงบัญชีที่ต่างจาก IFRS ที่ใช้กันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มี 2 ตัวอย่างที่ส่งผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนของบริษัทอเมริกาที่ใช้ GAAP เป็นอย่างมาก

1. ในเรื่องของการลงทุน ถ้าบริษัทนำเงินไปลงทุนใน R&D มาตรฐานบัญชี IFRS อนุญาติให้บริษัทบันทึกเงินลงทุนเหล่านั้นเป็นสินทรัพย์ได้ แล้วทยอยตัดจำหน่าย (Amortization Expense) ได้ตามอายุการใช้งาน แต่ว่าใน มาตรฐานบัญชี GAAP นั้น จะบังคับให้บริษัทบันทึกค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงในงบกำไรขาดทุนในตอนนั้นทันที ทำให้ค่าใช้จ่ายทางบัญชีของบริษัทที่ใช้ GAAP จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าเมื่อบริษัทลงทุนใน R&D เป็นจำนวนมาก

2. บริษัทอเมริกามักจะมีการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานเป็นหุ้น( Stock-Based Compensation) การออกหุ้นให้พนักงานแบบนี้ GAAP จะให้บันทึกค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงในงบกำไรขาดทุน หากแต่ว่า การออกหุ้นให้พนักงานนั้น เป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีแต่ว่าไม่ได้กระทบอะไรต่อกระเเสเงินสดของบริษัทเลย เพราะฉะนั้น ความต่างของกระเเสเงินสดของบริษัทและกำไรทางบัญชีที่บริษัทออกมา จึงต่างกันอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากบริษัทมีขนาดยังไม่ได้ใหญ่มากนัก

ในการดำเนินธุรกิจของ Amazon นั้น Founder & CEO อย่าง Jeff Bezos นั้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจระยะยาวของบริษัทมากกว่าผลกำไรระยะสั้นเป็นอย่างมาก Bezos เคยพูดถึงนักลงทุนไว้ว่าถ้าหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนระยะสั้น ก็ไม่ควรถือหุ้น Amazon เพราะเราดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตระยะยาวของบริษัท

ด้วย Vision เช่นนี้ ทำให้ เมื่อ Amazon มีกระเเสเงินสดจากการดำเนินงาน บริษัทเลือกที่จะนำเงินสดตรงนั้น มาลงทุนใน R&D เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเเข่งขันของธุรกิจในระยะยาว Amazon การลงทุนในคนจึงต้องจ่ายค่าตอบเเทนให้พนักงานเป็นจำนวนมาก (ให้หุ้นแก่พนักงาน) และ การลงทุนในธุรกิจเดิมอย่าง E-Commerce สร้าง Warehouse, Fullfillment Center, ระบบ Logistic เพื่อทำให้ Amazon สามารถส่งของได้ถูกและเร็วให้กับลูกค้าได้ รวมถึงขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆอย่าง Amazon Web Service ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ ก็ต้องใช้เงินสดจำนวนมากในการ R&D

เมื่อเป็นเช่นนี้ กำไรทางบัญชีของ Amazon จึงเเทบไม่มีเลยเป็นเวลากว่าเกือบ 20 ปี แต่ว่า ความสามารถในการเเข่งขันของ Amazon นั้นเติบโตเป็นอย่างมาก

นี่เป็น Case Study ที่ดีสำหรับตัวอย่างการวิเคราะห์หุ้นที่ไม่มีกำไรทางบัญชี แต่นำกำไรเงินสดจากการดำเนินงานไปลงทุนเพื่อสร้างความสามารถในการเเข่งขันเเละเติบโตในระยะยาว แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนและประสบความสำเร็จได้แบบนี้ ซึ่งตรงนี้ เราก็ต้องมาวิเคราะห์กันต่ออีกทีว่า การลงทุนเหล่านั้นจะออกดอกออกผลในระยะยาวหรือไม่

บทความในตอนนี้ ผมอยากจะลองชวนให้ทุกคนคิดครับว่า แนวคิดในการลงทุนในหุ้นเติบโตแบบนี้ เราควรจะมองแค่กำไรอย่างเดียวหรือไม่ เพราะกำไรเป็นเพียงแต่มุมมุมนึงเท่านั้น ไม่ได้บอกถึงภาพทั้งหมดของกิจการ

ในการวิเคราะห์บริษัทเหล่านั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการจัดการเงินสดและ Vision ของบริษัทมากกว่าแค่กำไรของบริษัท ผมยินดีที่จะลงทุนในบริษัทที่ยังไม่มีกำไรในตอนนี้ แต่ว่า นำเงินเหล่านั้นไปลงทุนใน R&D เพื่อสร้างความสามารถในการเเข่งขันระยะยาว นำเงินไปลงทุนใน Sales&Marketing เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ เพื่อให้บริษัทมีกำไรในอนาคตและเติบโตอย่างเเข็งเเกร่งมากกว่า

กำไรเป็นสิ่งสำคัญ บริษัทที่ดำเนินกิจการที่ดีต้องมีกำไร แต่กำไรที่เราคาดหวังนั้น ต้องเป็นกำไรในอนาคต อาจจะเป็น 5-10 ปีข้างหน้า แต่ไม่ใช่กำไรในปัจจุบันครับ

จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากบริษัทมีกำไรในตอนนี้ มีค่า P/E ที่ถูก แต่ในอีก 5-10 ปีข้าง บริษัทไม่มีความสามารถในการเเข่งขันทำให้มีกำไรแย่ลงเรื่อยๆในอนาคต การลงทุนในบริษัทเหล่านั้น คงจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีอย่างแน่นอน
โพสต์โพสต์