อนาคตที่ไม่แจ่มใสของเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

อนาคตที่ไม่แจ่มใสของเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการลงทุนของบุคคลว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง โดยสรุปว่าการลงทุนในหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนสูงสุดแต่ก็มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสูงสุดด้วย ดังนั้นการลงทุนที่หวังจะได้ผลตอบแทนที่สูงคือ 5-10% ต่อปี จึงจะต้องเป็นการลงทุนระยะยาวนาน 10 ปีขึ้นไป จึงจะมีความมั่นใจในระดับสูงว่าจะไม่เผชิญกับการขาดทุนหากเข้ามาลงทุนผิดจังหวะ

ดังนั้น สำหรับผู้ที่อายุมากและต้องการผลตอบแทนที่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถรับความเสียหายจากการขาดทุนเงินต้น (ที่ลงทุนไป) ก็จะต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ซึ่งผมมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างกระท่อน กระแท่นนานไปอีกหลายปี เพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผิดพลาดในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา

หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าหลังจากวิกฤติทางการเงินของสหรัฐ ทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของสหรัฐคือ Bear Stearns และ Lehman Brothers ต้องล่มสลายไป ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันทางการเงินทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างฉับพลัน ก็ได้มีการร่วมมือร่วมใจกันกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วนั้นจะเน้นการใช้นโยบายการเงินเป็นหลัก คือการลดดอกเบี้ยและการพิมพ์เงินใหม่โดยธนาคารกลางเพื่อกว้านซื้อพันธบัตร คุณภาพดี (คิวอี) ทั้งนี้โดยต้องการให้ประชาชนมีเงินสด (จากการขาย พันธบัตรคุณภาพดี) ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (หุ้น) เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถือได้ว่านโยบายกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ (หรือติดลบในกรณีของญี่ปุ่นและยุโรปหลายประเทศ) บวกกับคิวอีและเศรษฐกิจก็ถดถอยอยู่ไม่นาน ซึ่งต่อมาก็ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง คือการดันให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับราคาสินทรัพย์อื่นๆ

แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ใช้นโยบายการคลังมากนัก เพราะประเทศพัฒนาแล้วมีหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว และเกิดความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับการเอาเงินภาษีประชาชนไปกระตุ้น เศรษฐกิจอุ้มธนาคารและบริษัทใหญ่ๆ เช่น กรณีของสหรัฐซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองพรรคใหญ่และความขัดแย้งในทาง อุดมการณ์ ในยุโรปก็มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนในประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจมั่นคง (เช่นเยอรมัน) ต้องนำเงินไปอุ้มประเทศที่ขาดวินัยทางคลัง (กรีซ สเปน โปรตุเกส ฯลฯ) ส่วนในกรณีของญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลมีหนี้สาธารณะสูงถึง 230% ของจีดีพีอยู่ก่อนหน้าแล้ว เพราะได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นมาตั้งแต่ปี 1991 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ กล่าวโดยสรุปคือ ข้อจำกัดทางนโยบายการคลังดังกล่าวจึงทำให้นโยบาย การเงินมีบทบาทหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วให้ฟื้นตัวจาก วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2008

แต่การใช้นโยบายการเงินแบบสุดโต่งมาเป็นปีที่ 8 นั้น ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง ตรงกันข้ามอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นก็ยังติดลบอยู่และอัตราเงินเฟ้อในยุโรปก็ ยังต่ำกว่าเป้าของอีซีบีอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังต่ำกว่าเกณฑ์ 2% ต่อปีมาโดยตลอด

ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนานั้นสามารถใช้นโยบายการคลังได้มากกว่า แต่การที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วใช้นโยบายดอกเบี้ยใกล้ศูนย์และคิวอี ทำให้ประเทศกำลังพัฒนากู้เงินและสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศจีนดังที่ผมเคยเขียนถึงแล้วว่าปัจจุบัน ปริมาณของภาคเอกชนจีน ซึ่งสูงกว่า 200% ของจีดีพีนั้นเข้าขั้นอันตรายและจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องชะลอตัวลง ในอนาคต โดยไม่แน่ใจว่าเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่ 6.5% ต่อปีนั้นจะรักษาเอาไว้ไม่ให้ต่ำกว่านั้นได้หรือไม่

ในขณะเดียวกัน การที่กำลังซื้อของจีนปรับตัวลดลง ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งประเทศโอเปกต้องการผลิตแข่งกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก shale gas/oil ของสหรัฐเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตน ส่งผลให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล ประเทศกลุ่มโอเปกทั้งหมดและแอฟริกา ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมกัน ซึ่งยิ่งทำให้มองไม่เห็นว่าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศใด เพราะประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกนั้นต่างก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจพร้อม กันไป

กล่าวโดยสรุปคือประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจีดีพีรวมกันประมาณ 60% ของจีดีพีโลกกำลังฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่น ต้องอาศัยดอกเบี้ยต่ำจนติดลบและต้องเพิ่มมาตรการคิวอี ยกเว้นสหรัฐซึ่งกำลังกล้าๆ กลัวๆ ในการปรับดอกเบี้ยขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาหลักคือ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้) ซึ่งจีดีพีรวมกันประมาณ 25% ของจีดีพีโลกก็กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างแรงและพยายามหาลู่ทางในการฟื้นเศรษฐกิจของตนด้วยนโยบายการเงินการคลัง แต่ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็ได้เพิ่มการกู้หนี้ยืมสินมากไปแล้ว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับผม คือสภาวการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลมาจากความพยายามของแต่ละประเทศที่จะฟื้น เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ นั้น กำลังสร้างเงื่อนไขให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้าใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผมจะขออธิบายต่อในครั้งหน้าครับ
[/size]
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: อนาคตที่ไม่แจ่มใสของเศรษฐกิจโลก/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์