ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ถ้าจะถามว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ VI จำนวนมากที่เราเห็นอยู่ในวันนี้มาจากอะไร คำตอบผมคงเป็นว่า พวกเขาหรือพวกเราถ้ารวมผมเข้าไปด้วยก็คือ เราเริ่มการลงทุนอย่างจริงจังและเป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” อย่างเต็มตัวในช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของตลาดหุ้นไทย นั่นก็คือ เราเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงหลังปี 2540 ที่เป็นปีวิกฤติครั้งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย หลังปี 2540 เฉพาะอย่างยิ่งประมาณปี 2542-2543 นั้น เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง GDP ของไทยเริ่มเติบโตประมาณ 4-5% ต่อปีและรักษาระดับนั้นต่อไปได้ยาวนาน อานิสงค์ส่วนหนึ่งที่สำคัญจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมากประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานก่อนหน้านั้นและในเวลาต่อมา ทำให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอย่าง “มโหฬาร” เหลือเพียงไม่เกิน 2-3% ต่อปีต่อเนื่องกันมานับสิบปี นี่ทำให้การบริโภคของคนไทยเติบโตขึ้นมากเพราะคนไทยสามารถกู้เงินได้ง่ายและมากเพื่อการใช้จ่ายส่งผลให้การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเติบโตเร็วขึ้นทวีคูณ

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนเองนั้น มีการปรับโครงสร้างหนี้และลดระดับการกู้เงินลงไปมากทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมาก สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนจาก 4-5 เท่าลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือระดับที่ปลอดภัยส่วนใหญ่น่าจะไม่เกิน 1 เท่าตัว เช่นเดียวกัน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่อิงอยู่กับผู้บริโภคก็เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจในระดับน่าจะไม่ต่ำกว่าปีละ 6-7% ซึ่งก็ตามมาด้วยการจ่ายปันผลที่ดีที่ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นในแต่ละปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% ต่อปี

ระดับราคาและความถูกความแพงของตลาดหุ้นในช่วงปี 2542-43 วัดโดยค่า PE และค่าอื่น ๆ นั้นส่วนใหญ่มีค่าต่ำกว่า 10 เท่า บางปีนั้นต่ำเหลือเพียง 7-8 เท่าและก็มีบ้างที่เกิน 10 เท่าแต่ก็ไม่สูงถึง 20 เท่า แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ หุ้นจำนวนมากและไม่ได้เป็นหุ้นหรือกลุ่ม “ยอดนิยม” ของสถาบันนั้น มีราคาที่ถูกมีค่า PE ที่ต่ำกว่า 10 เท่าทั้ง ๆ ที่มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรเท่า ๆ กับหรือสูงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่มีสภาพคล่องสูง และนั่นนำมาซึ่งการลงทุนของนักลงทุน “VI รุ่นแรก” ที่เข้ามาลงทุนโดยใช้หลักการของ เบน เกรแฮม ที่เน้นศึกษาข้อมูลพื้นฐานอย่างจริงจังและซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก ถ้าจะเปรียบเทียบกับความคิดของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เคยพูดไว้ในปี 1974 ก็คือ “ผมรู้สึกเหมือนคนที่กำลังกลัดมันในฮาเรม นี่คือเวลาที่จะเริ่มลงทุน”

ก็อย่างที่เห็น เวลาสิบกว่าปีนับจากปี 2542-2543 จนถึงวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจประมาณ 7- 8 เท่าตัว ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 15-16% ต่อปี กลายเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น แต่สิ่งที่ “มหัศจรรย์” จริง ๆ อยู่ที่นักลงทุน VI จำนวนมากที่สามารถเลือกและซื้อขายหุ้นรายตัวทำกำไรและผลตอบแทนสูงจนไม่น่าเชื่อ บางคนได้กำไรเป็น 100เท่าตัว ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเกิน 20-30% เป็นระยะเวลายาวนานกว่าสิบปี นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเศรษฐีทั้ง ๆ ที่มีเงินลงทุนส่วนตัวไม่มาก หลายคนที่มีเงินเริ่มต้นสูงกลายเป็นมหาเศรษฐี “หุ้น VI” ที่ครั้งหนึ่งเป็นหุ้นมีราคาถูกมากนั้น ส่วนใหญ่กลายเป็นหุ้นมีราคาแพงกว่าหุ้นตัวใหญ่ ๆ มาก หุ้นที่เคยเล็กบางตัวในวันนี้มีราคา “หลุดโลก” คนที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในวันนี้ไม่น่าที่จะสามารถสร้างผลกำไรที่งดงามอย่าง VI รุ่นก่อน ผมคิดว่าเราไม่สามารถลงทุนหุ้นเพื่อ “เปลี่ยนชีวิต” ได้ง่ายเหมือนเมื่อ 5 10 หรือ 15 ปีที่ผ่านมาในตลาดหุ้นไทย ความรู้สึกของผมในเวลานี้ก็คงคล้ายที่วอเร็น บัฟเฟตต์ พูดในปี 1973 ว่า “ผมรู้สึกเหมือนคนกลัดมันในทะเลทราย ผมไม่สามารถหาหุ้นอะไรที่จะซื้อได้เลย”

ถ้าจะมีที่ไหนที่จะเป็นโอกาสในการลงทุนคล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยในปี 2542-2543 ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามเป็นจุดหนึ่ง ผมเองได้เขียนบทความเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับประเทศเวียตนามว่าจะเป็น “The Next Thailand” ในแง่ของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เวียตนามในวันนี้ก็คือไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และกำลังฟื้นตัว นั่นก็คือเศรษฐกิจเวียตนามกำลังโตเร็วมาก การโตนี้ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกที่โตเร็วขึ้นมากอานิสงค์จากการลดค่าเงินด่องหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเกาหลีและไต้หวันเช่นเดียวกับในกรณีของไทย การบริโภคในประเทศเองผมก็คิดว่าน่าจะโตได้ดีเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ลดลงมากและรายได้ที่มากขึ้นของคนเวียตนาม นอกจากนั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าระบบการกู้เงินเพื่อซื้อบ้านและรถยนต์ที่ยังมีน้อยมากก็จะพัฒนาขึ้นซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคเติบโตขึ้นทวีคูณ การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของเวียตนามนั้นจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกหลายสิบปีเหมือนไทยในปี 2542-43

ตลาดหุ้นเวียตนามโดยรวมในวันนี้เองนั้นก็คล้าย ๆ ตลาดหุ้นไทยหลังปี 2540 ประการแรก หุ้นเวียตนามเพิ่งเผชิญ “วิกฤติ” และตกลงมาครึ่งหนึ่ง ดัชนีเวียตนามเมื่อ 7-8 ปีก่อนสูงถึง 1170 จุด ปัจจุบันแค่ประมาณ 550 จุด สอง ระดับ PE ของตลาดเวียตนามนั้นค่อนข้างต่ำ น่าจะประมาณไม่เกิน 10-15 เท่า แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นที่นิยมของสถาบันต่างประเทศจำนวนประมาณ 10-20 ตัว มีค่า PE คล้าย ๆ หุ้นขนาดใหญ่ของไทยที่มีค่า PE 10-20 เท่า หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากกลับมีค่าไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่าและมีปันผลต่อราคาหุ้นกว่า 5% บางตัวสูงถึง 10% โดยที่ภาพรวมของการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น ผมคิดว่าสูงกว่าของไทยในช่วงปี 2542-43 เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียตนามต่อจากนี้น่าจะโตได้ถึงปีละ 6-7% ในขณะที่หลังวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตปีละประมาณ 5%

จุดอ่อนของเวียตนามก็คือ ค่าเงินเวียตนามอาจจะตกลงทำให้เราขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวถ้าเศรษฐกิจเวียตนามดีขึ้นเรื่อย ๆ ค่าเงินก็อาจจะไม่อ่อนลงหรือกลับแข็งขึ้น จุดอ่อนข้อที่สองก็คือ เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทและกฎระเบียบของเวียตนามที่ยังอ่อนเมื่อเทียบกับของไทย แต่นี่ก็น่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวียตนามเปิดประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จุดอ่อนข้อสามอยู่ที่คุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่คุณภาพยังไม่ดีนักเนื่องจากระบบเศรษฐกิจของเวียตนามยังไม่เป็นเสรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้การแข่งขันไม่รุนแรงพอ ดูเหมือนว่าบริษัทที่ “ไม่พัฒนาพอ” ก็ยังอยู่ได้ในขณะที่บริษัทที่ “ชนะ” ก็ไม่ได้ “กินรวบ” และเติบโตโดดเด่นจนมีมูลค่าตลาดมาก ๆ เหนือสิ่งอื่นใด บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น คุณภาพของกิจการจึงอาจจะไม่โดดเด่นเหมือนในไทย จุดอ่อนข้อสี่ก็คือ หุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดีและสภาพคล่องในการซื้อขายสูงรวมทั้งราคาไม่แพงนั้น มักจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศเต็ม (49%) ถ้าต้องการซื้อเรามักจะต้องซื้อจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่ราคาสูงกว่ากระดานปกติ 20-30% และจุดอ่อนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การหาข้อมูลและการเยี่ยมบริษัทและพบปะผู้บริหารทำได้ยาก ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้ง่ายเหมือนตลาดไทย

ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดต่าง ๆ ดังกล่าว การลงทุนในเวียตนาม “รอบแรก” เมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้วของผมจึงเป็นการซื้อหุ้นกระจายจำนวนมากกว่า 50 บริษัทโดยใช้ “ตะแกรงร่อน” แบบ VI คือในด้านของราคา ผมเลือกหุ้นที่มีค่า PE PB ต่ำ และปันผลตอบแทนสูง ส่วนในด้านของคุณภาพ ผมเลือกหุ้นที่มี ROE หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง ใน “รอบสอง” ที่ผมกำลังคิดจะซื้อหุ้นเพิ่มหลังจากการเยี่ยมเยียนเวียตนามครั้งที่สอง ผมคงเจาะหาหุ้นเป็นรายตัวและซื้อในปริมาณเม็ดเงินที่มากขึ้น ผมเองหวังว่า การลงทุนในเวียตนามช่วงนี้จะเหมือนกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2540 นั่นคือ วันหนึ่งมันจะเติบโตขึ้นมากและ “เปลี่ยนชีวิต” เราอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอีกซัก 10-20 ปี
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับผม
ทศพร29
Verified User
โพสต์: 306
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ผมอยากซื้อหุ้นเวียดนามบ้าง เปิดพร์อตได้ที่ไหนครับ
sipoonya
Verified User
โพสต์: 469
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ เรื่องยุคทองของวีไอ อยู่บ้างเหมือนกัน
ในแง่ที่ว่า หาหุ้นที่มี mos มากๆ ไม่ได้ง่ายๆ แล้ว
ส่วนนึงก็คิดตามอาจารย์ว่า เพราะตลาดขึ้นมามากแล้ว และอนาคตไทยก็อาจไม่โตมาก
แต่อีกส่วนนึงที่อาจารย์ไม่ค่อยพูด คือ นักลงทุน(และสถาบัน)โดยรวม ก็มีความรู้มากขึ้นเหมือนกัน
ทำให้โอกาสที่ จะมีคนเห็นมูลค่ากับราคาผิดพลาดมากๆ ไม่ได้มีง่ายๆบ่อยๆ
งั้นเท่ากับว่า ส่วนนึงการไปเวียดนาม เป็นการไปในตลาดที่คนในนั้นอาจจะยังไม่มีความรู้เท่า
ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดี(เพราะได้เปรียบ) แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้คิดว่า มันจะเป็นจะตายสำหรับคนหมู่มาก (ที่ต้องไป)

การลงทุนในประเทศไทย หรือที่ไหนๆ ด้วยหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ยังใช้ได้และใช้ที่ไหนก็ได้
และแม้ตลาดหรือเศรษฐกิจ หรืออนาคตประเทศไทยอาจจะดูไม่ดีเท่าเวียดนาม แต่คิดว่าก็น่าจะ
มีนักลงทุนวีไอที่ลงทุนในประเทศไทย ทำผลตอบแทนมากกว่า 15% ได้อยู่ตลอด
เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ยุคทองที่ง่ายๆและใครก็ทำได้ แต่อาจจะต้องเป็นนักลงทุนที่มุงมั่น
(ซึ่งวีไอทุกคนก็คงพยายามกันอยู่แล้ว ที่จะเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ)
ข้อนี้ ตัวเองก็ไม่อาจยืนยันได้ทั้งหมด แต่ถ้ามองตามหลักการแล้วน่าจะใช่
เพราะงั้น ส่วนตัว เลยคิดว่า ไม่ต้องกลัวขนาดนั้นหรอกมั้ง

อีกอย่าง อาจจะเพราะดูเหมือนที่อาจารย์เขียนข้อด้อยเวียดนาม มันยังไม่ด้อยพอ
เพราะ จริงๆการลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้นั่นแหละเสี่ยงที่สุด
ปล. ไม่ได้แย้งอาจารย์หรอกนะครับ แค่ขอแสดงความคิดเห็นเล็กๆบ้าง
ส่วนสุดท้ายใครจะไปไหน จะลงตัวไหน นักลงทุนล้วนแต่ต้องมีความคิดอิสระกันอยู่แล้ว เนาะ
Sixth Sense Investor
ภาพประจำตัวสมาชิก
นายมานะ
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 1167
ผู้ติดตาม: 193

Re: ลงทุนหุ้นเปลี่ยนชีวิต/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 6

โพสต์

sipoonya เขียน:เพราะ จริงๆการลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้นั่นแหละเสี่ยงที่สุด
เห็นด้วยทั้งกับบทความของอาจารย์นิเวศน์ และประโยคนี้ของคุณ sipoonya มากครับ ผมเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สนใจตลาดเวียดนามมาก เชื่อว่าเวียดนามจะสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยดีกว่าการลงทุนในประเทศไทยใน 10-20 ปีข้างหน้าแน่ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดพอร์ตที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้การซื้อขายและการเข้าถึงข้อมูลทำได้ยากพอสมควรเลยครับ
โพสต์โพสต์