กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
pakapong_u
Verified User
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 401

กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 1

โพสต์

กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, September 15, 2014 06:01

ชาลินี กุลแพทย์
"ขาใหญ่วีไอ" ประจำบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ใช่จะมีแต่ "เสียปู่-เสียยักษ์-เสียจึง" แม้จะไม่มีคำนำหน้าว่า "เสีย" แต่ "นเรศ งามอภิชน" เจ้าของห้อง VIP หมายเลข 121 ก็ผ่านสังเวียนหุ้นมาอย่างโชกโชนเกือบ 30 ปี
พอร์ตหลายพันล้าน คือ ตัวการันตีความเก่ง
"ขาใหญ่วีไอ" ประจำบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ใช่จะมีแต่ "เสี่ยปู่-เสี่ยยักษ์-เสี่ยจึง" แม้จะไม่มีคำนำหน้าว่า "เสี่ย" แต่ "นเรศ งามอภิชน" เจ้าของห้อง VIP หมายเลข 121 ก็ผ่านสังเวียนหุ้นมาแล้วอย่างโชกโชนเกือบ 30 ปี พอร์ตหลายพันล้าน คือ ตัวการันตีความเก่ง
ความ Low Profile ของ "นเรศงามอภิชน" อาจทำให้แวดวงตลาดหุ้นเกิดคำถามที่ว่า Who are you? เหตุใด "บุรุษปริศนารายนี้" ถึงสามารถบุกรังขอซื้อหุ้น บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ล็อตเดียว 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 7.50 บาท มูลค่ารวม 750 ล้านบาท จาก "คีรี กาญจนพาสน์" ในฐานะ หุ้นใหญ่ BTS ได้ง่ายดายนัก
แม้จะยังไม่เห็นความผิดปกติ แต่สำนักงานก.ล.ต. ก็เรียกตัว "เทรดเดอร์" บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET ประจำตัว "นเรศ" เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับเส้นทางการลงทุน "เงินลงทุนมาจากไหน ได้กำไรแล้วเอาไปไว้ที่ไหน"?
คำถามเหล่านี้ดูจะสร้างความรำคาญใจ ไม่น้อยให้กับ "วีไอขาใหญ่" ที่อยู่ในตลาดหุ้นมาเกือบ 30 ปี ถึงขนาดเอ่ยปากขอให้คนสนิท นัดเคลียร์ใจกับสำนักงานก.ล.ต. แม้ทางการ จะพยายามบอก "นเรศ" ว่า "อย่าได้กังวลใจ"เพราะนั่นคือ หน้าที่ของระดับฝ่ายปฏิบัติการแต่ความไม่สบายใจยังคงค้างคาใจ "ชายวัย 56 ปี"
ก๊อกๆ สิ้นเสียงเคาะประตู "นเรศ งามอภิชน" นักลงทุนวีไอรายใหญ่ เจ้าของ ห้อง VIP ขนาดใหญ่ หมายเลข 121 บนชั้น 21 อาคาร สำนักงาน ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ก็เปิดประตูต้อนรับ "กรุงเทพธุรกิจ Biz Week" ชายวัยกลางคน รูปร่างสูงโปร่ง ท่าทางสุขุม คือ คนที่อยู่หน้าประตู
ชั้น 21 นอกจากจะเป็นที่ตั้งของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) อีกฟากหนึ่งของชั้นยังเป็นศูนย์รวมนักลงทุนรายใหญ่ ขนาดพอร์ตตั้งแต่ระดับร้อยล้านจนพันล้านบาท ประกอบด้วยห้อง VIP ขนาดใหญ่จำนวน 4 ห้อง โดยห้อง VIP หมายเลข 121 ของ "นเรศ" จะเป็น ห้องขนาดใหญ่เพียงห้องเดียวที่ถูกขนาน ข้างซ้ายขวาด้วยห้อง VIP ขนาดเล็กกว่า 10 ห้อง
ส่วนห้อง VIP ขนาดใหญ่อีก 3 ห้อง จะอยู่สุดทางเดิน โดยห้อง VIP หมายเลข 129 ของ"เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล" จะอยู่ตรงกลางระหว่างห้องของ "เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์"และ "เสี่ยจึง-วิชัย จึงทรัพย์ไพศาล" ทุกๆ เที่ยง "เซียนหุ้นไซด์ใหญ่" มากหน้าหลายตาจะออกมาตั้งวงกินข้าวเคล้าเสียงหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน
"ผมอยู่ในตลาดหุ้นมา 30 ปี ลงทุน ในลักษณะนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่พอร์ตเล็กๆ ก็มักหาโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหาร เมื่อเขาเชื่อใจว่าผมจะถือหุ้นในระยะยาว เราจึงสามารถตกลงซื้อหุ้นกันได้ ในความเป็นจริงอยากให้ทางการเรียกผมเข้าไปคุยน่าจะง่ายกว่า สงสัยอะไรตอบได้ทุกคำถาม" "นเรศ งามอภิชน" เซียนหุ้นวีไอไซด์ใหญ่ ทักทายบิสวีค ด้วยการระบายความในใจ
"ครอบครัวผมมีด้วยกัน 5 คน คือ ผม ภรรยาและลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน หากทางการไม่สบายใจการลงทุนของผมสามารถตรวจดูเส้นทางการเงินได้เลยง่ายนิดเดียว การที่ภรรยาซื้อหุ้นไอพีโอแล้วโอนมาเป็นชื่อผมมันก็เป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ"
เมื่อพูดถึงภรรยา เขาถือโอกาสบอกความเชื่อ ส่วนตัวให้ฟังว่า การลงทุนในตลาดหุ้น "โชค"กับ "ความสามารถ" ต้องสัมพันธ์กัน เห็นได้จากภรรยา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ลึกซึ้งเรื่องตลาดหุ้น แต่เขาดวงดีมาก
ครั้งหนึ่งเคยเล่าเรื่องดีๆ ในธุรกิจพลังงานทดแทนของบมจ.วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง ให้ภรรยาฟัง ซึ่งบริษัทแห่งนี้ยังไม่จดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ภรรยาเข้าใจว่า เป็นหุ้น สวนอุตสาหกรรม วินโคสท์ หรือ WIN แต่เมื่อซื้อหุ้นมาแล้วราคากลับปรับตัวเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ขายได้กำไร "โชคมีผลต่อการลงทุนเหมือนกันนะ"
"นเรศ" ชายผู้ไม่มีชื่อเล่น เล่าประวัติส่วนตัว ที่ใครหลายคนอยากรู้ให้ฟังว่า "ผมเป็นลูกชายคนรอง จากจำนวนพี่น้อง 9 คน น้องคนสุดท้อง อายุห่างกันเกือบ 20 ปี คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนจีน ท่านเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่มีอายุเพียง 10 กว่าขวบ ครอบครัวเรายึดอาชีพค้าส่งเครื่องครัวตราสามดาว และตราโลตัส โรงงานอยู่แถวเพชรเกษม
พ่อให้ทำงานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ด้วยการรับโทรศัพท์ลูกค้า เมื่ออายุ 18 ปี ตอนนั้น น่าจะประมาณปี 2517 ก็ขอพ่อไปทำงานในฝ่ายการตลาด เพราะอยากออกไปพบลูกค้า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่แถวลำเพ็งและจักรวาล สมัยก่อนพ่อไม่เคยสอนวิธีการทำงาน แต่เรามักอาศัยดูพ่อเป็นตัวอย่างแล้วทำตาม
จากนั้นเมื่ออายุ 25 ปี ก็ขอไปทำงานด้านส่งออก ลูกค้าหลักของเราอยู่ที่ตะวันออกกลาง ช่วงนั้นยอดสั่งซื้อดีมาก เรียกว่าแทบไม่มีวันหยุด ด้วยความที่ทำงานทุกวันควบคู่ไปกับการเรียน ปริญญาตรี (เขาขอไม่เปิดเผยเรื่องการศึกษา) ทำให้มีโอกาสช่วยพ่อทำงานเต็มที่ได้ถึงแค่ปี 2530
จุดเริ่มต้นการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดขึ้นตอนนี้
เขาเกริ่นนำ ช่วงนั้นมีโอกาสเจอเพื่อนที่เพิ่งเรียนจบ MBA จากประเทศสหรัฐอเมริกา เขามาเล่าให้ฟังว่า หลักสูตรที่เรียนมาได้สอนเกี่ยวเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น หลังจากฟังเขาพูดจนจบเกิดความคิดอยากลงทุนบ้าง ต้องบอกก่อนว่า เมื่อก่อนเรื่องหุ้นเป็นเรื่องใหม่ มาก ที่ผ่านมามักได้ยินแต่เรื่องไม่ดีเกี่ยวกับตลาดหุ้น โดยเฉพาะเรื่องคนโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะขาดทุนหุ้น
ตอนนั้นเราตามเพื่อนไปดูห้องค้าที่บล.นครหลวงเครดิต อาคารมณียา ย่านเพลินจิต เมื่อมีโอกาสได้สัมผัสของจริงรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นห้องค้าขนาดใหญ่ตกแต่งหรูหรา คนที่อยู่ในห้องค้าส่วนใหญ่แต่งตัวดีทุกคน เมื่อก่อนโบรกเกอร์ยังไม่มีห้อง VIP ทำให้ นักลงทุนทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายเล็กหรือใหญ่ มีชื่อเสียงดังแค่ไหน ก็ต้องมานั่งรวมกันในห้องเดียวกัน
วิธีการซื้อขายหุ้นสมัยก่อน เทรดเดอร์จะไปนั่งประจำอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์อาคารสินธร เพื่อรับคำสั่งซื้อขายจากพนักงานที่อยู่ประจำโบรกเกอร์ โดยจะทำการสั่งซื้อขายผ่าน โทรศัพท์ ซึ่งนักลงทุนรายใดส่งกระดาษคำสั่งซื้อขาย ถี่ๆ รับรู้ได้เลยว่า คนนั้นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ส่วนนักลงทุนรายย่อยนานๆ จะส่งกระดาษสักที เพราะต้องใช้เวลาคิดนาน กระดาษสีฟ้า คือ สั่งซื้อ กระดาษสีแดง คือ สั่งขาย
หลังจากกลับมาจากห้องค้าตัดสินใจเปิดพอร์ต ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก "หลักหมื่นบาท"ในปี 2531 ตอนนั้นเพื่อนที่ชวนมาลงทุนเขา มีพอร์ตหลักแสนแล้ว เพราะเล่นมานานเป็นปี เขาได้กำไรมาแล้วหลายเท่าตัว ก่อนเปิดพอร์ตลงทุนเพื่อนคนนี้ย้ำว่า การลงทุนในตลาดหุ้นจะทำให้เงินของเราเติบโต แต่ตอนนั้นเราพูดแย้งเพื่อนไปว่า เคยได้ยินแต่คนฆ่าตัวตาย (ยิ้ม)
จำหุ้นตัวแรกไม่ได้ แต่ช่วงนั้นตลาดหุ้นอ่อนไหวมากเหมาะกับการเล่นเก็งกำไร ในห้องค้า ยังไม่ใครพูดถึงการถือหุ้นยาวๆ เมื่อก่อน กฎระเบียบยังไม่เข้มงวดมีเงินเท่าไรโบรกเกอร์ไม่เคยขอดูรายละเอียด อยากซื้อหุ้นตัวไหนทำได้ตามใจชอบ ทำให้ช่วงนั้นมีทั้งนักลงทุนที่ได้กำไรและขาดทุนมากๆ คละเคล้ากันไป
"เล่นหุ้นตามเพื่อน" คือ วิถีลงทุนหุ้นในช่วงแรก "กำไรหลักหมื่นบาทต่อวันต่อเนื่อง สิบวัน" (หัวเราะ) คือ ผลของการเก็งกำไรในครานั้น เพราะซื้อขายทุกวันเฉลี่ยวันละหลายๆ ตัว ตอนนั้น ทำบัญชีการซื้อขายเก็บไว้ด้วย ส่วนใหญ่จะลงทุนในหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ เช่น หุ้นบล.ภัทร หุ้นบล.เอกธำรง รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น หุ้น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH เป็นต้น
แม้ตลอด 1 ปี จะได้กำไรติตต่อกันเป็นสิบวัน แต่เวลาขาดทุนหนึ่งครั้งก็แทบจะกินกำไรทั้งหมด ตอนนั้นท้อใจมาก จำได้เคยหันไปบอกเพื่อนว่า เลิกเล่นหุ้นแล้วกลับไปค้าขายเหมือนเดิมดีกว่ามั้ย แต่บังเอิญช่วงนั้นแอบสังเกตเห็นนักลงทุนรายใหญ่ เขามักจะเข้ามา ห้องค้าในช่วงตลาดหุ้นเปิดประมาณ 09.30 น. เพื่อตามข่าวและอ่านหนังสือพิมพ์ จากนั้น ก็จะออกไปข้างนอก ก่อนจะกลับเข้ามาอีกครั้ง หลังตลาดหุ้นปิดทำการในเวลาเที่ยง สมัยก่อนตลาดหุ้นเปิดซื้อขายเพียงครึ่งวัน
ตอนนั้นแอบสงสัยรายใหญ่ไปไหนกันหมด วันหนึ่งถึงได้รู้ว่า เขาเหล่านั้นไปส่องกล้องดูหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ เขาอธิบายความหมายของคำว่า "ส่องกล้อง" เมื่อก่อนห้องเทรดหุ้นของตลาดหลักทรัพย์จะอยู่ชั้นล่างของอาคารสินธร ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่หลายคนจะขึ้นไปยืนบนชั้น สูงๆ ของตึก ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับห้องเทรดหุ้น
จากนั้นเขาจะใช้กล้องส่องทางไกลส่องเข้ามาที่ในห้องเทรดหุ้น เพื่อดูว่าเทรดเดอร์กำลังจะสั่งซื้อหุ้นตัวไหนในราคาเท่าไหร่ เมื่อเรารู้แล้วก็จะรีบสั่งซื้อหุ้นตามทันที ซึ่งจะแตกต่างจากการซื้อตามห้องค้าที่ต้องต่อคิวกว่าจะได้ซื้อราคาก็เปลี่ยนไปแล้ว
ส่องกล้องเล่นหุ้น แบบนี้ได้เปรียบมาก เพราะสามารถสั่งซื้อได้เร็วกว่าเป็นนาที "เจอทางสว่าง"
ความรู้สึกของผมกับเพื่อนในขณะนั้น หลังจากนั้นเราทั้งคู่ก็ปรับพฤติกรรม
การลงทุนใหม่ ด้วยการขึ้นมาส่องกล้องดูหุ้นบนอาคารสินธรทุกวัน ทำให้ช่วงนั้นได้ "กำไรหลายเท่าตัว" พอร์ตลงทุนก็เพิ่มขึ้นจาก "หลักหมื่น" เป็น "หลักหลายล้านบาท" แรกๆ ยังไม่ค่อยมีนักลงทุนรู้เรื่องส่องกล้อง แต่เมื่อเรื่องแพร่กระจายเชื่อหรือไม่แทบไม่มีที่จะยืน เพราะทุกคนแย่งพื้นที่ส่องหุ้นกันหมด เราทั้งคู่ส่องกล้องอยู่เกือบปี ทางการก็ไม่ได้ห้ามอะไร เพราะไม่ได้ผิดกติกา
แต่หลังจากระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเมืองไทยในปี 2534 นักลงทุนทุกคนก็เลิกส่องกล้อง เมื่อความได้เปรียบในการเล่นหุ้นหมดไป ผมตัดสินใจย้ายมาซื้อขายในบล.เกียรตินาคิน คราวนี้ต้องมาศึกษารูปแบบการลงทุนกันใหม่ ด้วยความที่ไม่ถนัดใช้คอมพิวเตอร์ในช่วงแรกเราจึงต้องนั่งประกบมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสั่งให้เข้าคีย์ข้อมูลซื้อขาย
ตอนนั้นยังคงคอนเซปต์เล่นเก็งกำไรเช่นเคย แต่ด้วยความที่รู้จักหุ้นเยอะขึ้น ทำให้เริ่มใส่ใจพื้นฐานของบริษัทต่างๆมากขึ้น และสนใจดูความสามารถของผู้บริหารควบคู่ไปด้วย เมื่อก่อนบริษัทแห่งใดมีโอกาสเพิ่มทุนราคาหุ้นจะวิ่งชนซิลลิ่งนักลงทุนจะชอบมาก เพราะบริษัทมักขายหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาในกระดาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อก่อนจะใช้เวลาดูข้อมูลไม่นาน ถ้ามั่นใจแล้วก็จะใส่เต็มที ทุกวันนี้ยังเป็นคนตัดสินใจเร็วเหมือนเดิม เพียงแต่จะละเอียดมากขึ้น สมมุติตั้งใจจะซื้อหุ้นตัวนี้ 1 ล้านหุ้น ผมจะจัดเต็มเลยจะไม่ทยอยซื้อครั้งละแสนสองแสน แต่หากไม่ค่อยมั่นใจจะทดลองซื้อ 50,000 -100,000 บาท เมื่อก่อนจะเป็นคนซื้อหุ้นน้อยตัว
หลังเมืองไทยเปลี่ยนเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ เริ่มเทรดหุ้นน้อยลงเต็มที่จะมีหุ้นในมือไม่เกิน 3 ตัว ไม่เหมือนตอนส่องกล้องที่ซื้อขายมั่วไปหมด อะไรดีจะซื้อและเมื่อมีกำไรจะจัดการขายทันที เมื่อซื้อขายไม่บ่อยครั้งพอร์ตลงทุน ก็ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะตอนนั้น ยังไม่คุ้นเคยกับระบบคอมพิวเตอร์
ช่วงปี 2535 บล.การทุนไทย มาชวนให้ไป ซื้อขายด้วย โดยเขาจะให้ห้อง VIP มีเครื่องอำนวย ความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นทีวี และตู้เย็น เป็นต้น ถือเป็นก้าวในการเข้าสู่ "นักลงทุนรายใหญ่ครั้งแรก" ตอนนั้นพอร์ตลงทุนขยับขึ้นเป็น "หลัก สิบล้านบาท" ทุกอย่างมันบูมไปหมดเศรษฐกิจดีมากถึงขนาดรถยนต์ผลิตไม่พอขาย ทำให้คนที่อยากได้รถยนต์ต้องไปสั่งจองกว่าจะได้รถใช้เวลานาน 3-4 เดือน
ผมมีโอกาสจ่ายเงินจองรถยนต์ฮอนด้า 10,000 บาท แล้วดันเกิดเปลี่ยนใจอยากเปลี่ยนสีรถ แต่ศูนย์ฮอนด้าแจ้งว่า ถ้าเปลี่ยนสีรถต้องกลับไปเข้าคิวใหม่ บังเอิญตอนนั้นไปเห็นคนประกาศรับซื้อใบจองผ่านหนังสือพิมพ์จึงตัดสินใจติดต่อเข้าไป
ผลปรากฏว่า เขารับซื้อใบจองสูงถึง 30,000 บาท ตอนนั้นเราเริ่มเห็นช่องทางการหาเงินใหม่ คราวนี้สั่งจองรถยนต์ฮอนด้าทีเดียวรวด 10-20 คัน จากนั้นไปประกาศลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองฟรีว่า เราขายใบจอง เชื่อหรือไม่ คนโทรเข้ามาเยอะมากถึงขนาดผมต้องจ้างคนมารับโทรศัพท์ (ยิ้ม)
ตอนนั้นได้กำไรจากการขายใบจองเป็น "ล้านบาท" เพราะจองซื้อรถยนต์ฮอนด้า รุ่น Civic และ Accord ไปหลายสิบคัน เยอะมากถึงขนาดศูนย์รถยนต์ฮอนด้าออกใบประกาศขอบคุณ และมอบถ้วยรางวัล ระหว่างเทรดหุ้นเราก็ยึดอาชีพนี้ไปด้วยทำอยู่เกือบปีจนใบจองรถยนต์ขายไม่ได้ หลังโรงงานเริ่มผลิตรถยนต์ได้ตามความต้องการแล้ว
ด้วยความที่เป็นคนมีทักษะในการเจรจา ตอนนั้นเหลือใบจองรถยนต์ฮอนด้าราคาใบละ 20,000 บาท หลายสิบใบ ตัดสินใจนัดขอเข้าไปคุยกับผู้บริหารชาวญี่ปุ่นว่า ที่ผ่านมาเราช่วยคุณขายรถยนต์มาเยอะมาก แต่ตอนนี้ใบจองขายไม่ได้แล้ว คุณช่วยรับคืนได้มั้ย สุดท้ายเขาก็รับคืน
"นเรศ" ย้อนกลับมาเล่าเรื่องลงทุนในตลาดหุ้นต่อว่า ช่วงที่ย้ายมาซื้อขายในบล. การทุนไทย เทคนิคการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ข้อแรก เริ่มศึกษาข้อมูลบริษัท จดทะเบียนละเอียดมากขึ้น ข้อสอง เริ่มใกล้ชิด ผู้บริหารมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความมีธรรมภิบาลของเจ้าของบริษัท และนโยบายการทำธุรกิจ
แม้จะจำชื่อบริษัทจดทะเบียนตัวแรก ที่ขอเข้าไปพบเจ้าของไม่ได้ แต่ตอนนั้นเกิด สงครามแย่งหุ้น ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือ บีบีซี ระหว่าง "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์" ในฐานะหุ้นใหญ่ และ "สอง วัชรศรีโรจน์"ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับทั้งสองฝ่าย ด้วยการต่อสายตรงถึงเลขาของทั้งคู่ ทำให้มั่นใจว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่แค่ข่าวลือ
ตอนนั้น "เสี่ยสอง" บอกกับ "นเรศ" ว่า เขามีเงินลงทุน และอยากถือหุ้นอธนาคาร ส่วนฟาก "เกริกเกียรติ" บอกว่า เขาพยายามรักษาความเป็นเจ้าของให้ถึงที่สุด เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนยันอยากครอบครองหุ้น บีบีซี ทำให้ตอนนั้นมั่นใจว่า ราคาหุ้นต้องพุ่งแน่นอน ผมจึงตัดสินใจไล่ซื้อหุ้นในกระดาน เรียกว่า ซื้อเยอะมากๆ ตอนนั้นไม่ได้สนใจว่า สุดท้ายใครคือ ผู้ชนะ รู้เพียงว่า ต้องไล่เก็บหุ้น เพื่อนำมาขายให้กับผู้ที่ให้ราคารับซื้อสูงที่สุด
หลังจากได้หุ้นมาจำนวนหนึ่ง ผมตัดสินใจ นำไปขายต่อให้ "เกริกเกียรติ" โดยผ่านคนประสานงานของเขา ได้กำไรจากการขายหุ้นครั้งนั้นเท่าไหร่ จำตัวเลขไม่ได้จริงๆ รู้เพียงว่า "เยอะมากๆ" (ลากเสียงยาว) เพราะขายในราคาที่สูงกว่าในกระดานและราคาต้นทุนพอสมควร
ตอนนั้นไม่ได้ขายเพียงหุ้น บีบีซี ในส่วนที่ ตัวเองไล่เก็บมาเท่านั้น แต่ยังรับซื้อหุ้น บีบีซี จากนักลงทุนรายอื่นด้วย เมื่อนำหุ้นของตัวเอง มารวมกับหุ้นที่รับซื้อมาขาย ทำให้มีส่วนต่างจาก การขายหุ้นครั้งนั้นหลายเท่าตัว เขาย้ำ
"กลับเข้ามาในตลาดหุ้นด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างกำลังดีขึ้น และไม่รู้สึกเข็ดฉะนั้นใครมีเงินคุณจะรวยมหาศาล"
ชีวิตลงทุนช่วง'ยุคมืด'
"วีไอรายใหญ่" เล่าต่อว่า ผ่านมาถึง ปี 2536 ตลาดหุ้นไทยบูมมาก ดัชนีขยับจาก 900 จุด ในเดือนก.ย.มาเป็น 1,600 จุดปลายๆ ขึ้นมาประมาณ 700-800 จุด โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือน ตอนนั้นไม่มีสตอรี่อะไรมาหนุนดัชนี แต่ตลาดหุ้นตัวเลขเศรษฐกิจ และราคาที่ดินดีมากๆ ทำให้พอร์ตลงทุนของผมโตเร็วมาก ตอนนั้นกฎระเบียบยังไม่เข้มงวด เขาย้ำ คุณสามารถเปิดบัญชี เงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาจิน (Margin Account) ด้วยการวางเงิน 1 ล้านบาท แต่สามารถซื้อได้ 5 ล้านบาท
สนุกกับการเก็งกำไรได้เพียง 1 ปี สิ้นปี 2536 เพื่อนๆ นักลงทุนรวมตัวกันไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์ ตอนไปถึงสนามบินดอนเมือง มีเพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ปี 2537 ดัชนีจะยืน 2,500 จุด ตอนนั้นหัวเราะกันเฮฮา เมื่อ เดินทางกลับเมืองไทย หลังไปเที่ยวมา 2-3 วัน วันแรกของการซื้อขายหุ้น "ร้อนแรงมาก"ดัชนีเปิดลอยไปกว่า 1,700 จุด
จากนั้นเกิดแรงขายกระหน่ำ ด้วยความที่ เคยชินกับขาขึ้นมาหลายปี เมื่อเขาสาดขายเรา ก็รับ เพราะคิดว่าเดี๋ยวหุ้นคงขึ้นเหมือนเคย ผลปรากฏว่า เมื่อรับแล้วต้อง Cut loss (ตัดขาดทุน) ทำให้พอร์ตระหว่างวันเกิดความเสียหายหลายล้านบาท ตอนนั้นความผิดปกติของวอลุ่มมีให้เห็น เด่นชัด ปกติซื้อขายเฉลี่ย 10,000-20,000 ล้านบาทต่อวัน แต่ช่วงนั้นซื้อขายสูงถึงวันละ 40,000-50,000 ล้านบาท
แม้วอลุ่มจะผิดปกติ แต่ยังคงซื้อขายต่อ 2-3 เดือน แต่เมื่อเริ่มคิดได้ว่า เหตุผลที่หุ้นไทยไหลลงเกิดจากนักลงทุนต่างประเทศ ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "นักเก็งกำไรชั้นยอด" กำลัง ลากนักลงทุนไทยขึ้นไปเชือดในที่สูง ตอนนั้นต้อง ยอมรับว่า นักลงทุนไทยขาดประสบการณ์ เมื่อได้สติตัดสินใจล้างพอร์ต ตอนนั้นมีหุ้น ในมือ 5-6 ตัว จำชื่อหุ้นไม่ได้รู้แค่ว่าเป็นหุ้นดีๆ ทั้งนั้น
ตอนนั้น "ขาดทุนแสนสาหัส" ได้เงินคืนกลับมาแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคิดจากมูลค่าพอร์ตลงทุน "หลักสิบล้านบาท" บังเอิญเล่นมาร์จิ้นเยอะมาก 4-5 เท่าของพอร์ต ผมบอกเพื่อนๆ ทุกคนให้เลิกเล่น เพราะตลาดหุ้นคงตกต่ำอีกยาวนาน และกว่าจะหาฐานใหม่เจอคงต้องใช้เวลา แม้จะเลิกเล่นหุ้น แต่ยังคงติดตามตลาดหุ้นตลอดเวลา
เลิกเล่นหุ้นในปี 2537 แล้วกลับไปทำอะไรต่อ เขาบอกว่า เดิมตั้งใจจะกลับไปช่วยงาน ของครอบครัว แต่รู้สึกไม่มีความท้าทาย อีกอย่างน้องๆ สามารถขึ้นมาทำงานแทนเราได้แล้ว ทำให้ช่วงนั้นหมดเวลาไปกับการเข้าวัด นั่งสมาธิ
ไปวัดทุกวันจนกระทั่งปี 2539 มีโอกาสเจอเพื่อนคนหนึ่งที่ทำธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารไทยในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขามาชวนให้ไปลงทุนด้วยกัน เมื่อลองบินไปดูงานที่ญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่า เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะคนต่อคิวเข้าร้านยาวมาก แต่เมื่อนั่งเครื่องบินกลับเมืองไทยรู้สึกเครียดคิดไม่ออกจะทำอย่างไรกับชีวิต ตอนนั้นมีภรรยาและลูกสามคนแล้ว
ตั้งแต่ขายหุ้นขาดทุนในปี 2537 มีความเชื่อว่า เมื่อตลาดหุ้นตกต่ำจนถึงที่สุดแล้วต้องดีดกลับมา ฉะนั้นหากเราสามารถรักษาเงินก้อนที่มีอยู่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เงินจะต้องกลับมา เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลาดหุ้นจะกลับมาเมื่อไร
"อดทนรอ ประหยัด" เป็นเรื่องที่ต้องทำ ในเวลานั้น ในเมื่อรู้ว่า หุ้นกลับมาแน่ ฉะนั้นถามว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะกล้านำเงินก้อนสุดท้ายไปลงทุนในญี่ปุ่นหรือ หากไปจริงต้องนำลูกและภรรยาไปด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายคงสูงมาก เงินก้อนนี้ อาจหมดได้ สุดท้ายตัดสินใจไม่ลงทุนในญี่ปุ่น และใช้ชีวิตอยู่เมืองไทย ด้วยความหวังว่า ตลาดหุ้นไทยจะกลับมา...
ด้วยความที่อยู่ว่างๆ ปลายปี 2539 ไปอบรมโครงการพัฒนาผู้บริหาร หรือ MINI MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่งเรียนไปมาเกิดความรู้สึกว่า เรื่องที่อาจารย์กำลังสอนผมรู้หมดแล้ว เพราะเรียนรู้มาจากตลาดหุ้น แม้กระทั่งเรื่องบัญชีก็เข้าใจหมดแล้ว วันหนึ่ง มีโอกาสออกไปพูดเรื่องเศรษฐกิจธุรกิจหน้าห้องเรียน เพื่อนๆ ชอบจนเขาโหวตให้เป็นประธานรุ่น สุดท้ายเรียนแล้วไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติม ทำให้ไปเรียนแค่ 2-3 เดือน จากหลักสูตร 4 เดือน
"ที่ผ่านมาผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากตลาดหุ้น นั่นคือ ข้อดีของการ เล่นหุ้น"
ช่วงนั้นจึงใช้ชีวิตวนเวียนระหว่างวัด และนั่งเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับน้องๆ ตอนนั้นพ่อและแม่รับรู้เรื่องของเรา มาตลอด ปกติครอบครัวคนจีนใครเก่ง มักออกไปเติบโตนอกบ้าน ส่วนใครอ่อนแอครอบครัวจะเป็นห่วง ฉะนั้นกิจการของครอบครัวจึงมีไว้รองรับคนอ่อนแอ ที่ผ่านมาพ่อกับแม่ไม่เคยหวังว่า ธุรกิจต้องใหญ่โต ขอเพียงว่า บริหารธุรกิจให้สามารถเลี้ยงดูคน ในครอบครัวได้ก็พอ
กราฟลงทุนของ "นเรศ" จะรุ่งเรืองมาก ระดับไหน ตามอ่านต่อสัปดาห์หน้า บิสวีค รับประกันความทึ่ง!!--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ลูกหิน
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1217
ผู้ติดตาม: 1

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
RnD-VI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 6466
ผู้ติดตาม: 625

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณครับ
วินัย + แผนการ + ลงรายละเอียด => ขุดหุ้น
nuk
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 178
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณครับ รอติดตามตอนต่อไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
phoenix
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 105
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 5

โพสต์

อ่านมันส์มากครับ ไม่ได้อ่านอะไรแบบนี้มานานแล้ว ขอบคุณมากครับ :bow: :bow:
opengn
Verified User
โพสต์: 140
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ได้ความรู้มากๆครับ ขอบคุณมากครับ :B :B
Sugarray
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 256
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 7

โพสต์

อยากอ่านตอนต่อแล้วครับ :P :P
monsoon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 597
ผู้ติดตาม: 37

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 8

โพสต์

มันส์จริงๆ ขอบคุณครับ :mrgreen:
เรียนรู้และเข้าใจ คุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่ง...
ภาพประจำตัวสมาชิก
uthai.l
Verified User
โพสต์: 177
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 9

โพสต์

ขอบคุณครับ
ทุกปัญหามีทางออก ถ้าไม่มีทางออก...ให้ออกทางเข้า!!!
nutsopon
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 246
ผู้ติดตาม: 3

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 10

โพสต์

ขอบคุณครับ
porzilla
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 302
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 11

โพสต์

น่าติดตามมากครับ ขอบคุณครับ
อย่า...วัดความลึกของแม่น้ำด้วยขาทั้ง2ข้าง
pakapong_u
Verified User
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 401

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 12

โพสต์

หุ้น comeback ศรัทธาพลิกพอร์ต(2)
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, September 22, 2014 06:00


ชาลินี กุลแพทย์
เมื่อ SET INDEX กลับมาจุดพลุในปี 42 จากคนมืดแปดด้าน ฟ้าเปิดทางให้ "นเรศ งามอภิชน" กลายเป็นคนรวยหุ้น "ร้อยล้าน" ก่อนชื่อจะขยับติดโผ "เซียนวีไอพันล้าน" ในปี 51 บุรุษที่เจ้าของ "หุ้นบิ๊กแคป" เต็มใจเอ่ยปาก Welcome
ทักษะการพูดเป็นเลิศ ผสมการลงทุนขั้นเทพ แรงผลักดันชั้นยอดที่ทำให้ "นเรศ งามอภิชน" เซียนหุ้นหลักพันล้าน สามารถเจรจาขอซื้อ "หุ้นบิ๊กล็อต" บริษัทขนาดใหญ่หลายๆ แห่งตรงถึงเจ้าของได้ไม่ยากเย็น
การลงทุนที่ทำให้ "ชายผู้ไม่มีชื่อเล่น" เริ่มถูกจับตามองจากแวดวงตลาดหุ้น คือ การขอซื้อหุ้น บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS จำนวน 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 7.50 บาท มูลค่ารวม 750 ล้านบาท จาก "คีรี กาญจนพาสน์" ในฐานะหุ้นใหญ่ BTS และไล่เก็บหุ้น วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI จนสามารถขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 5 สัดส่วน 84 ล้านหุ้น
หลายๆ ดีล ทำให้สำนักงานก.ล.ต.เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเขา เชิญตัวเทรดเดอร์ ประจำตัวเซียนหุ้นไปสอบถามวิธีการลงทุน คือ เรื่องที่ฝ่ายปฎิบัติการณ์ของก.ล.ต. เลือกใช้เพื่อคลายความสงสัย เหตุใดสำนักงานก.ล.ต.ถึงไม่เลือกเชิญ "นเรศ" ไปให้ข้อมูล นั่นคือ เรื่องคาใจของ "วีไอรายใหญ่"
ก่อน "นเรศ" จะขึ้นแท่น "เศรษฐีหุ้น" นั่งบัญชาการซื้อขายหุ้นในห้อง VIP หมายเลข 121 ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่อยู่บนชั้น 21 อาคารสำนักงาน ดิ ออฟฟิศเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับ "เสี่ยปู่สมพงษ์ ชลคดีดำรงก, เสี่ยจึง-วิชัย จึงทรัพย์ไพศาล, เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์" เขาคือ แมงเม่าเดินตามขาใหญ่คนหนึ่ง
สัปดาห์ก่อน "กรุงเทพธุรกิจ Biz Week" เล่าประวัติการลงทุนเกือบ 30 ปีของ "นเรศ" ว่าเขาเป็นลูกชายคนรอง จากจำนวนพี่น้อง 9 คน ของเจ้าของเครื่องครัวตราสามดาว และตราโลตัส เขาตัดสินใจขอยุติการทำงานของครอบครัว เพื่อออกมาเสี่ยงดวงเล่นหุ้นในปี 2531 ตามคำเชื้อเชิญของเพื่อนนักเรียนนอกที่เพิ่งเรียนจบด้าน MBA ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการควักเงินลงทุนก้อนแรก "หลักหมื่นบาท"
แรกเริ่มของการลงทุน แม้จะได้กำไรหลักหมื่นบาทติดต่อกันสิบวันรวด แต่เวลาขาดทุนกลับกินกำไรทั้งหมดที่ได้มา ช่วงที่เกิดความคิดอยากเลิกเล่นหุ้น เขาแอบรู้ความลับของรายใหญ่ว่า พอร์ตโตเพราะไป "ส่องกล้องดูหุ้น" ที่อาคารสินธร เดินตามขาใหญ่ได้ไม่นาน พอร์ตลงทุนก็พุ่งจาก "หลักหมื่นบาท" เป็น "หลักหลายล้านบาท"
ก่อนจะทยายขึ้นสู่ "หลักร้อยล้านบาท"ในปี 2535 หลังย้ายมาซื้อขายที่บล.การทุนไทยช่วงนั้นเขาค้นพบอาชีพใหม่ นั่นคือ ขายใบจองรถยนต์ฮอนด้า หลังยอดผลิตไม่ทันความต้องการ กำไรหลักล้านบาท คือ ตัวเงินที่เขาทำได้ กอดกำไรจากการเล่นหุ้นได้ไม่นาน ชีวิตลงทุนเดินทางสู่ด้านมืดช่วงต้นปี 2537 หลังนักลงทุนต่างชาติกระหน่ำขายหุ้นไม่ยั้ง
"นเรศ" ประสบปัญหา "ขาดทุนหนัก"โกยเงินกลับมาเพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ช่วงนั้นเขาใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเข้าวัดนั่งสมาธิ และไปเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวให้กับน้องๆ ตอนนั้น "นเรศ" เคยมีความคิดจะไปลงทุนทำธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารไทยในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตามคำชักชวนของเพื่อนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเจอกันในวัด สุดท้ายเขาตัดสินใจไม่ลงทุน เพราะเชื่อว่าอีกไม่นาน SET INDEX จะดีดกลับมาเหมือนเดิม
รอยยิ้มมาเยือนอีกครั้ง
"กูรูหุ้นรายใหญ่" เล่าว่า ผ่านมาถึงปี 2541 ตลาดหุ้นลงมาซื้อขายแถวๆ 400 จุด ออกแนวนิ่งๆ หลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เกิดความคิดที่ว่า หุ้นไทยคงลงมาต่ำสุดแล้ว จึง ตัดสินใจนำเงินที่เหลือติดพอร์ตประมาณ 5 ล้านบาท ไปเปิดพอร์ตกับบล.พัฒนสิน สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นสาขาใกล้บ้าน เพื่อนสนิทที่บอกว่าจบจากประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเลิกเก็งกำไรหุ้นไปเลย แต่มีลงทุนบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตไปกับการทำธุรกิจกระจก
ครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนบอกว่า อยากส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ตอนนั้นผมค้านสุดตัว และบอกเขาว่า ในภาวะแย่ๆ แบบนี้ต้องรู้จักประหยัด เงินทุนสำคัญมากในช่วงที่อะไรๆ ก็ไม่ดี ผมขอให้เขาเก็บเงินไว้ลงทุน เมื่อถึงวันนั้นเขาจะมีเงินส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ แถมยังมีเงินก้อนให้ลูกเป็นทุนอีกด้วย
เมื่อสะสมความรู้เต็มที่ จึงตัดสินใจกลับเข้ามาลงทุนด้วยคอนเซปต์เช่นเคย นั่นคือ เน้นซื้อหุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีการแกว่งไกวสูง ตอนนั้นมีความคิดว่า ดัชนี 400 จุด คงลงมาต่ำสุดแล้ว แต่สุดท้ายไม่เป็นอย่างที่คิด ดัชนียังคงลงต่อจนมายืนแถวๆ 200 จุด แต่ผมไม่กลัว แม้เงินลงทุนจะลดลงจาก 5 ล้านบาท เหลือ 3 ล้านบาท เพราะยังมีความเชื่อที่ว่า ตลาดหุ้นกลับมาแน่ เขาย้ำ เพียงแต่เราอาจเข้ามาลงทุนเร็วไปหน่อย
สุดท้ายความเชื่อเป็นจริง หลังปี 2542 SET INDEX ทะยานขึ้นจาก 200 จุด มายืน 500 จุด ทำให้ปลายปี 2542 "มูลค่าลงทุนโต 30 กว่าเท่า หรือประมาณ 3,000 เปอร์เซ็นต์" หุ้นตัวเดียวที่ทำให้พอร์ตขยายตัว คือ หุ้นบล.เอกธำรง หรือ S-ONE
ตอนนั้นหุ้น S-ONE ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการจะซื้อหุ้นสามัญ หุ้น S-ONEW3 และหุ้น S-ONE-W4 ทำให้ตัดสินใจซื้อแม่ขายลูก เล่นสลับกันไปมาแบบนี้ ตอนนั้นได้กำไรจำนวนมาก เพราะสมัยนั้นสามารถเล่นมาร์จิ้นกับ warrant ได้ จำได้หุ้นขึ้นช่องละ 10 สตางค์
"เงินกลับมาหมดแล้ว" เริ่มมีกำลังใจตอนปี 2536 พอร์ตลงทุนยืน "หลักร้อยล้านบาท"แต่ปลายปี 2542 มูลค่าลงทุนขยับขึ้นมายืน 170 ล้านบาท การอดทนรอ ถือว่าคุ้มค่า หลังจากปี 2543-2545 ตลาดหุ้นดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ยังคงรักษาเงินต้นได้
สุดท้ายมาได้กำไรมากๆ ในช่วงปี 2546 หลังตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกรอบตอนนั้น SET INDEX ขึ้นจาก 300 จุด เป็น 700 จุดเรียกว่า มูลค่าพอร์ตหุ้นเปลี่ยนไปเลย ตอนนั้นย้ายมาซื้อขายที่บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส หรือ DBSV
"ปลายปี 2546 ผมคิดอะไรอยู่คุณรู้มั้ย" เขาถาม ผมคิดว่าจะเลิกเล่นหุ้น แล้วไปเอาดีกับการนั่งสมาธิ ตอนนั้นอายุ 45 ปีแล้ว ตั้งใจจะเกษียณอายุ เพราะมีเงินก้อนใหญ่ไว้เลี้ยงตัวเองกับครอบครัวพอสมควรแล้ว แต่เมื่อหยุดเล่นหุ้นจริงๆ เกิดความรู้สึกแย่มากเหมือนคนไม่มีท่า
นั่งว่างอยู่ไม่นานตัดสินใจกลับมาเล่นหุ้นใหม่อีกครั้งในช่วงต้นปี 2547 ด้วยการเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน เน้นลงทุนแนว "คอนเซอร์เวทีฟ" และกระจายการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่ลงทุนเพียงไม่กี่บริษัทเปลี่ยนเป็นสิบกว่าบริษัท
ตอนนั้นมองว่า ต่อไปนี้จะเน้นการลงทุนเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ลงทุนเพื่อการเติบโตอีกต่อไป ส่วนหุ้นแนวเก็งกำไรยังคงลงทุนบ้างเฉลี่ย 1-2 ตัว ผลของการยึดสูตรลงทุนแนวคอนเซอร์เวทีฟได้กำไรหรือไม่? เขาตอบว่า พอไปได้แต่ช้า เฉลี่ยปีละประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะตอนนั้นตั้งการ์ดแน่นแล้ว
แม้พอร์ตการลงทุนไม่ค่อยโตเท่าไหร่ แต่รู้สึกมั่นคงมากขึ้น ขอแค่มีเงินใช้จ่ายประจำวันก็พอแล้ว ซึ่งแต่ละปีครอบครัวของเราค่อนข้างใช้เงินเยอะ ส่วนใหญ่ใช้เงินทำบุญหลายล้านบาทต่อปี ตอนนั้นคิดเพียงว่า จะพยายามรักษาเงินต้น และ จะนำเงินปันผลและผลตอบแทนจากราคาหุ้นมาใช้จ่ายในครอบครัว
พอร์ตพลิกปี 2551 "ขาใหญ่" บอก ตอนนั้นย้ายการซื้อขายจากบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มาอยู่ห้อง VIP บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ตามคำเชื้อเชิญของ "บุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
"ผมอยากได้ความสงบ อยากได้ทีมวิเคราะห์ เก่งๆ และอยากเข้าถึงตัวผู้บริหารได้ง่าย ซึ่งบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ช่วยประสานงานเรื่องนี้ได้ ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่พอร์ตโตเร็วมากบางปีขยายตัว หลายร้อยเปอร์เซ็นต์" วีไอรายใหญ่ เกริ่นนำที่มาของ "พอร์ตหลายพันล้านบาท" สำหรับกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้มาตั้งแต่เข้ามานั่งห้อง VIP หมายเลข 121 จนถึงวันนี้ คือ จะเน้นศึกษาพื้นฐานธุรกิจ เมื่อแน่ใจจะขอเข้าไปพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่ย้ายมาซื้อขายโบรกเกอร์แห่งนี้ การเข้าถึงเจ้าของทำได้ง่ายมากขึ้น วิธีการ คือ จะให้ฝ่ายวิเคราะห์ช่วยยกหูถึงบริษัทโดยตรง เมื่อฝั่งโน้น ได้ยินชื่อโบรกเกอร์และชื่อผม ส่วนใหญ่ยินดีให้เข้าพบ ตั้งแต่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ทำอะไรๆ มันก็ง่ายขึ้น
ก่อนลงทุนในแต่ละบริษัท ผมต้องได้เจอผู้บริหารหรือเจ้าของก่อนเสมอ ปกติจะไปกับนักวิเคราะห์คู่ใจนามว่า "อั้น" เขาเป็น นักกลยุทธ์ที่มีคุณสมบัติของนักลงทุน สามารถอ่านหลายๆ เกมออก ผมจะคุยกับเขา ทุกวัน โดยเขาจะกรองเรื่องต่างๆ มาพูดให้ฟัง เวลาไปเข้าพบผู้บริหารมักออกมาถามความคิดเห็นเขาเสมอ ซึ่งมุมมองของเขาใช้ได้ แม้บางเรื่องจะไม่ค่อยตรงกันบ้างนักวิเคราะห์ของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เก่งๆ มีกว่า 10 ท่าน เรียกใช้บริหารได้ทุกคน
เขายกตัวอย่าง การขอเข้าพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านพ้นไปแล้วว่า เมื่อก่อน ตอนเทรดหุ้นอยู่ที่บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ช่วงนั้นมีข่าวว่า บล.เอเซียจะทำ การควบรวมกิจการกับบล.แอสเซท พลัส ซึ่งผมไม่รู้จักผู้บริหารของทั้งสองโบรกเกอร์ รู้เพียงว่า บล.เอเซีย คือ เบอร์หนึ่งของการ ซื้อขายในแง่ของวอลุ่ม ส่วนบล.แอสเซท พลัส คือ โบรกเกอร์อันดับต้นๆ ที่เด่นเรื่องธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือ IB
ฉะนั้นหาก 1 บวก 1 ต้องไม่ใช่ 2 ต้องเป็น 3 ต้องเป็น 4 ผมจึงตัดสินใจซื้อหุ้นทั้ง 2 บริษัท เมื่อกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ และเปลี่ยนชื่อเป็นบล.เอเซีย พลัส ราคาหุ้นขยับขึ้นเป็น 80 บาท สูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมาประมาณ 70 กว่าบาท แม้จะได้กำไร 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ยอมขาย เพราะคิดว่าหุ้นต้องไปต่อ
ผลปรากฏว่า ผิดคาด!! ราคาหุ้นตก ทุกวันจนเหลือ 60 กว่าบาท ตอนนั้นรู้สึกงงๆ เพราะมั่นใจว่า วิเคราะห์พื้นฐานมาแล้วอย่างดี สุดท้ายมีข่าวออกมาว่า บล.เอบีเอ็น แอมโร- เอเชีย ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิมของบล.เอเชีย ขายหุ้นออกมาทุกวัน หลังเขามองว่า ธุรกิจหลักทรัพย์จะไปได้ไม่ไกลแล้ว
แม้การลงทุนในหุ้น บล.เอเซียพลัส จะมีสัดส่วนน้อย แต่เมื่อหุ้นบล.เอเซียพลัส
ตกทุกวัน จึงตัดสินใจโทรศัพท์เข้าไปหา
"ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส แต่เขาให้เลขารับสาย ตอนนั้นบอกเลขาไปว่า ผมถือหุ้นอยู่หลายล้านหุ้นมีแนวทางและความคิดจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น สุดท้ายเขาก็เชิญไปคุยที่ออฟฟิศ
วันนั้นผมไปคุยเรื่องพื้นฐาน และถามเขาไปว่า มีเรื่องอะไรแย่หรือ ราคาหุ้นถึงลงแบบนี้ "ดอกเตอร์" อธิบายว่า จากนี้ราคาหุ้น
มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะวันที่ราคาหุ้นลดลงแต่วอลุ่มการซื้อขายของบล.เอเซีย พลัส ไม่ได้ ลดลงเลย ขณะที่งานในส่วนของ IB จะเริ่ม รับงานขนาดใหญ่ได้มากขึ้น เมื่อคุยจบจึงได้ข้อสรุปว่า พื้นฐานบริษัทดี แต่หุ้นลงเพราะ หุ้นใหญ่ขายของออก
ตอนนั้นถือโอกาสเสนอแนวทางการแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท เพราะการแตกพาร์จะสามารถรองรับแรงขายของผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ นอกจากนั้นยังเสนอให้บริษัทออกใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือ Warrant เพราะเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นจำเป็นต้องมีทุนเพื่อขยายกิจการ หลังจบการสนทนา "ดร.ก้องเกียรติ" ไม่ได้ตอบอะไร ใช้เวลาคุยกันเป็นชั่วโมง
เมื่อกลับมา ผมตัดสินใจซื้อหุ้น เอเซีย พลัส เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ในราคาเฉลี่ย 60 กว่าบาท เพราะเชื่อว่าธุรกิจมีอนาคต หุ้นวิ่ง 60 บาท อยู่ 2 เดือน บริษัทประกาศแตกพาร์และ ออกวอร์แรนต์ ตอนนั้นราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปกว่า 80 บาท สูงสุดน่าจะประมาณ 90 บาท ได้กำไรเยอะพอสมควร จริงๆบริษัทหลักทรัพย์เขาเชี่ยวชาญเรื่องลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่บางครั้ง ผงมันเข้าตา ไม่รู้จะเขี่ยออกอย่างไร
อยากรู้เรื่องอะไรจากปากผู้บริหารมากที่สุด เขาตอบว่า ข้อแรก วิสัยทัศน์ การบริหารงาน ข้อสอง ความรู้ความสามารถ ข้ดสุดท้าย ความมีธรรมภิบาล หากรู้เรื่อง เหล่านี้แล้วจะทำให้สามารถลงทุนได้อย่างสบายใจมากขึ้น แต่ถ้าคุยแล้วพบว่า เรื่องที่พูดมาไม่มีโอกาสเกิดได้จริง และ ความมีธรรมภิบาลน่าสงสัย ก็จะไม่สนใจ หุ้นตัวนั้นเลย.
คุยอะไรกับ'คีรี กาญจนพาสน์'
"เจ้าของพอร์ตหลายพันล้าน"เล่าถึงกรณีเข้าไปขอซื้อหุ้น BTS จาก "คีรี กาญจนพาสน์" ว่า บางครั้งรถติดจำเป็นต้องใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ทำให้รู้ว่า รถไฟฟ้า BTS เป็นบริการที่ดีที่สุดในอันดับต้นๆของโลก ผมมีโอกาสไปเที่ยวยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งประเทศใกล้ๆ เมืองไทย ยังไม่เคยเจอรถไฟฟ้าที่มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือน BTS
เมื่อไปศึกษาพื้นฐานบริษัทพบว่า กำไรสุทธิขยายตัวต่อเนื่อง ฉะนั้นราคาหุ้นน่าจะไปต่อ แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีก่อนที่ ราคาหุ้น BTS ยังซื้อขายเพียง 0.70-0.80 บาท หลังมั่นใจในข้อมูลจึงขอให้ "มนตรี ศรไพศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ช่วยนัดให้ได้เข้าพบ "คีรี"
ก่อนจะเจอตัวเจ้าของได้ทยอยซื้อหุ้น BTS ชิมลางไว้ประมาณ 100-200 ล้านหุ้น แต่หลังจากไปคุยแล้วเกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะเขาตั้งใจทำงานจริงๆ และมีวิสัยทัศน์การทำธุรกิจที่ดี ที่สำคัญมีธรรมภิบาลที่ยอดเยี่ยม เพราะทุกครั้งที่บริษัทประกาศข่าวดี วันรุ่งขึ้นเขาจะให้นักวิเคราะห์เข้ามารับฟังข้อมูลทันที
คุยอะไรกับ "คีรี"? นักลงทุนวีไอรายใหญ่แจกแจงว่า เจ้าของ BTS เล่าให้ฟังว่า ส่วนต่อขยายในกรุงเทพและปริมณฑลต้องใช้ประมาณ 400-500 กิโลเมตร แต่ BTS ยังมีแค่ 30 กิโลเมตร ส่วน MRT มีกว่า 20 กิโลเมตร เท่ากับว่า เมืองไทยมีเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบไม่ถึงร้อยกิโลเมตร หากเป็นเช่นนั้นในอนาคตต้องขยายเพิ่ม
"คีรี" ไม่ได้การันตีตัวเลขรายได้และกำไรอนาคตว่าจะออกมาเท่าไหร่ เราไม่ได้คุยกันถึงเรื่องนี้ คุยกันแต่แผนงานว่า อนาคตจะเน้นทำแต่รถไฟฟ้า ส่วนอสังหาริมทรัพย์พอร์ตจะทยอยลดลงเรื่อยๆ ที่ดินเปล่าที่มีบริษัทจะไม่พัฒนาต่อแต่ยังคงถือครองอยู่หลายแปลง อาจขายทำกำไรในอนาคต
ตอนนั้นบริษัทมีนโยบายปรับพาร์จาก 0.64 บาทต่อหุ้น เป็น 4 บาทต่อหุ้น ทำให้ผมตัดสินใจซื้อหุ้น BTS เพิ่มอีก 200-300 ล้านหุ้น ตอนนั้นลงทุนหุ้น BTS ตัวเดียวมากถึง 1,000 กว่าล้านบาท จากนั้นราคาหุ้น BTS ค่อยๆ เพิ่มขึ้น จน BTS นำบริษัทในเครือ "วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย" หรือ VGI เข้าตลาดหลักทรัพย์ผมแสดงความจำนงกับ "คีรี" และผู้ที่เกี่ยวข้องทันทีว่า อยากได้หุ้น VGI เท่าที่บริษัทจะให้ได้ สุดท้ายได้หุ้นไอพีโอมา 4.5 ล้านหุ้น ราคา 35 บาท วันแรกเปิดมา 50 บาท ได้กำไรล็อตแรกแล้ว จากนั้นก็ซื้อขายไปเรื่อยๆ เพื่อหาฐานราคาหุ้นที่แน่นอน เขาหันไปเปิดคอมพิวเตอร์ ก่อนพูดว่า ตอนนั้นฐานราคาหุ้นอยู่ระดับ 40-50 บาท เมื่อฐานราคาแน่นแล้วจึงเดินหน้าซื้อหุ้นต่อในช่วงขาขึ้น
ปัจจุบันมีหุ้น VGI ประมาณ 84 ล้านหุ้น ได้เงินปันผลจากหุ้น VGI มาแล้วเท่าไหร่ เขาคิดก่อนตอบว่า ประมาณ 30-40 ล้านบาทนอกจากจะมีหุ้นแม่แล้วยังมีใบสำคัญแสดงสิทธิหุ้น VGI-W1 อายุ 4 ปี ประมาณ 100 กว่าล้านหุ้น
สุดท้ายจะใช้สิทธิแปลงหรือไม่คงต้องมาดูอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องรีบสามารถแปลงได้ตามจังหวะ ผมลงทุนหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสื่อโฆษณาค่อนข้างเยอะ เพราะมองว่าคนใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ฉะนั้นสื่อโฆษณานอกบ้านยังคงเติบโตอีกเยอะ คงถือหุ้นลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ
"การมีบทวิเคราะห์ที่ดีจะช่วยในเรื่องลงทุนเ แต่บางครั้งบทวิเคราะห์ก็พลาดได้เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องเข้าถึงตัวผู้บริหาร ถือเป็นการตอกย้ำตัวเลขที่เหล่านักวิเคราะห์ทำออกมาว่าถูกต้อง"
"นเรศ" มีหุ้นอยู่ในมือกี่ตัว เขาเลือกซื้อด้วยเหตุผลใด และกำลังเล็งจะเก็บหุ้นตัวไหนต่อ ตามอ่านสัปดาห์ รับรองแซ่บไม่แพ้ 2 ตอนที่บิสวีคนำเสนอไปแน่นอน
"ปลายปี 42 มูลค่าลงทุนเติบโต 30 กว่าเท่า หุ้นตัวเดียวที่ทำให้พอร์ตขยายตัว คือ หุ้น S-ONE "
บรรยายใต้ภาพ
นเรศ งามอภิชน--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
pakapong_u
Verified User
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 401

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 13

โพสต์

อภินิหารเงินปันผล 'ร้อยล้าน''นเรศ งามอภิชน'
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, September 29, 2014 06:29


ชาลินี กุลแพทย์

สำรวจ ความสวย หุ้น 10 ตัว ประจำพอร์ต นเรศ งามอภิชน ดีกรีเซียนหุ้นพันล้าน รักมากยกให้ ธุรกิจสื่อนอกบ้าน พร้อมแชร์ไอเดีย 2 หุ้นน่าซื้อ ความลับนี้มีที่ Biz Week แห่งเดียว
2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจ Biz Week ได้ถ่ายทอดความเป็นตัวตนของ นเรศ งามอภิชน เซียนหุ้นพันล้าน เจ้าของห้อง VIP หมายเลข 212 ประจำโบรกเกอร์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ชนิดคำต่อคำเท่าที่เจ้าของตัวจะเปิดเผยได้
นเรศ เป็นเพื่อนนักลงทุนรุ่นเดียวกับ เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล และ เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์ รู้จักกันมาตั้งแต่ลูกๆยังเรียนอยู่เพียงชั้นอนุบาล แม้จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นั่งกินข้าวเที่ยงบนชั้น 21 ด้วยกันเกือบทุกวัน แต่กูรูทั้ง 3 คน หาได้กอดคอซื้อหุ้นตัวเดียวกันไม่
วันนี้มีหุ้นอยู่ในมือกี่ตัว ชายวัยย่าง 56 ปี บอกกับ กรุงเทพธุรกิจ Biz Week ว่า น่าจะประมาณ 10 กว่าตัว แอ็คทีฟทุกตัว ไล่มาตั้งแต่ หุ้น วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI ประมาณ 84 ล้านหุ้น หุ้นตัวนี้มีอนาคต เพราะธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์
ตัวต่อไปคือ หุ้น มาสเตอร์ แอด หรือ MACO ผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้าน และรับจ้างผลิตงานสื่อป้ายโฆษณา ปัจจุบันถือหุ้นอันดับ 2 จำนวน 24,200,000 หุ้น คิดเป็น 8.04 เปอร์เซ็นต์ รองจากบมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ที่ถือหุ้นอยู่จำนวน 74,900,000 หุ้น คิดเป็น 24.89 เปอร์เซ็นต์
เพิ่งซื้อหุ้น MACO เมื่อต้นปี 2557 ต้นทุนเฉลี่ย 12-15 บาท ปัจจุบันซื้อขายเฉลี่ย 18 บาท ผมเริ่มซื้อหุ้น MACO หลังกลับจากพบ นพดล ตัณศลารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ MACO ธุรกิจของ MACO กับของ VGI แตกต่างกันตรงที่ MACO เชี่ยวชาญโฆษณาบิลบอร์ด
ด้วยความที่บริษัทแห่งนี้ที่มีมาร์เก็ตแคปเล็กมาก เขาหันไปดีดเครื่องคิดเลข ก่อนตอบว่าปัจจุบันมาร์เก็ตแคปน่าจะยืนเฉลี่ย 5,000 ล้านบาท ฉะนั้นภายใน 1-2 ปีข้างหน้า มีโอกาสเห็นมาร์เก็ตแคปทะยานสู่หลัก 10,000 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการอาจเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30 เปอร์เซ็นต์
เขา กล่าวชื่นชม นพดล ว่า ผู้ชายคนนี้เก่ง ดังนั้นเป้าหมายมาร์เก็ตแคป และการผลักดันผลประกอบการ ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ ที่ผ่านมา นพดล ไม่ค่อยชอบพบนักวิเคราะห์เท่าไหร่ แต่เมื่อเข้าไปพูดคุยด้วยจึงทำให้รู้ว่า เขาไม่ธรรมดาในเรื่องการทำธุรกิจ แม้จะจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็มีความรู้ในการบริหารสื่อโฆษณานอกบ้านเป็นอย่างดี ถือเป็นผู้มีความชำนาญคนหนึ่ง
ช่วงที่เข้าไปพบ นพดล ถือโอกาสแนะนำเพิ่มเติมว่า บริษัทควรจัดประชุมนักวิเคราะห์ทุกครั้งที่ประกาศงบการเงิน และหากนักวิเคราะห์ต้องการขอพบควรจัดเวลาให้นักวิเคราะห์สามารถเข้าถึงข้อมูล บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มา 10 กว่าปี เดิมทีหุ้นไม่เคยได้รับความสนใจเลย เพราะผู้บริหารมุ่งแต่ทำงาน เมื่อคุยจบแล้ว นพดล มีท่าทีตอบรับ
วันนี้ราคาหุ้น MACO ยืนระดับเฉลี่ย 18 บาท ออกแนวตึงๆแล้ว แต่ถ้าอนาคตบริษัททำงานจนออกดอกออกผล ราคานี้จะถูกมาก ผมคงถือลงทุนไปเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทจะหยุดพัฒนาการ โดยปกติผมไม่มีจุดตัดขาดทุน เพราะถือมานานได้กำไรมาระดับหนึ่งจนไม่จำเป็นต้องมีแล้ว
ขาใหญ่วีไอ เล่าถึงหุ้นตัวที่ 3 ต่อว่า ถือ หุ้น ยูนิเวนเจอร์ หรือ UV ต้นทุน 3 บาท มานาน 2-3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุน 27,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.41 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความที่บริษัทแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ฉะนั้นเจ้าสัวย่อมใส่ที่ดินแปลงสวยๆให้กับ UV ซึ่งมีลูกชาย 2 คน ฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี นั่งบริหารอยู่
แม้ UV จะจ่ายเงินปันผลไม่ค่อยดี แต่ก็จ่ายสม่ำเสมอ ที่สำคัญมองว่า UV คือ หุ้นเติบโต ครั้งหนึ่งเคยขึ้นไปสูงถึง 18 บาท สูงขนาดนั้นยังไม่ยอมขายเลย รู้สึกเสียดายเหมือนกัน เมื่อก่อนเคยเข้าไปพบผู้บริหารคนเก่า ซึ่งเขาก็เล่าเรื่องแผนธุรกิจต่างๆให้ฟัง การที่บริษัทมีลูกเจ้าของดูแลอยู่พ่อย่อมใส่ใจเป็นธรรมดา
ตัวต่อไป คือ หุ้น ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL พูดถึงหุ้นตัวนี้แล้วราคาถูกเหลือเชื่อ!! วันนี้ราคาหุ้นซื้อขายเฉลี่ย 18.90 บาท ขณะที่มูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้นอยู่ระดับ 28.65 บาท พูดง่ายๆว่า ราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊คแวลูครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันถือหุ้น TPIPL จำนวน 15 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.74 เปอร์เซ็นต์
ผมพยายามขอเข้าพบ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยอมรับว่านัดยากมาก แต่มีวันหนึ่ง ประชัย และภรรยา อรพิน ให้ลูกน้องโทรมานัดเวลากับผม ไม่รู้ท่านไปอารมณ์ดีมาจากไหน วันนั้นทั้งสองคนเลี้ยงน้ำขนมอย่างดีกับผม อรพิน ยังชวนให้ชิมขนม แต่ด้วยความที่ต้องใช้สมาธิในการพูดคุยสูง ทำให้ชิมขนมได้นิดหน่อยเท่านั้น
ตอนนั้น ประชัย เล่าว่า โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและขยะ กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าของบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 45 เมกะวัตต์ เป็น 135 เมกะวตต์
ขณะเดียวกันโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 จังหวัดสระบุรี ก็จะแล้วเสร็จเช่นกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ TPIPL ขึ้นแท่นโรงปูนซีเมนต์ที่มีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 2 รองจากบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC ถือเป็นการเบียดบมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง หรือ SCCC ลงไปอยู่อันดับ 3
เวลาฟังคนอื่นพูดถึง ประชัย เราจะรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไปพบแล้วพูดคุยเรื่องธุรกิจ ประชัย คือ คนฉลาด ขยัน ทุ่มเท และมีความสุขในการทำงาน แกทำงานทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำมืด แม้กระทั่งวันหยุดก็ยังทำงาน ทั้งๆที่แกอายุ 70 ปีแล้ว
ในสายตาของผม ประชัย คือ คนดีคนหนึ่ง
ผมไม่ได้คุยเรื่องคดีฟ้องร้องกับบมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC กับ ประชัย แต่สอบถามเรื่องนี้กับมือการเงิน เขาบอกว่า ตราบใดยังไม่รู้แพ้รู้ชนะ TPIPLจะสู้ต่อไป แต่ถ้าศาลตัดสินใจว่า บริษัทแพ้คดีแล้วบริษัทจะไม่ยื้อ ยึดคติ น้ำใจนักกีฬา เมื่อคุยกับเจ้าของ TPIPL เสร็จ ก็ซื้อหุ้นเพิ่มอีกจำนวนมาก ทุกครั้งที่ราคาลงก็ทยอยเก็บตลอด
เขา เล่าถึงหุ้นในพอร์ตตัวที่ 5 ต่อว่า ล่าสุดเพิ่งซื้อ หุ้น ซุปเปอร์บล๊อก หรือ SUPER ตอนนี้ถือลงทุนอยู่ 21 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.25 เปอร์เซ็นต์ สนใจหุ้นตัวนี้ เพราะเชื่อว่าธุรกิจใหม่อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าฟาร์ม) ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง SUPER กับบมจ.เด็มโก้ หรือ DEMCO จะทำให้บริษัทมีอนาคตที่ดี
เมื่อก่อนผมเคยถือหุ้น DEMCO ทำให้รู้ว่า ประเดช กิตติอิสรานนท์ ที่ถือหุ้น DEMCO 4.65 เปอร์เซ็นต์ และถือหุ้น SUPER 9.10 เปอร์เซ็นต์ เขาเชี่ยวชาญเรื่องพลังงานทดแทน ขณะที่ตระกูลโลจายะอดีตผู้ถือหุ้นรายใหญ่ SUPER เขามีคอนเน็คชั่นที่ดี เมื่อสองคนรวมมือกันธุรกิจไปได้แน่นอน
ได้หุ้น SUPER ยกล็อตมาจากใคร? เขาตอบคำถามนี้ว่า ติดต่อขอซื้อหุ้นผ่าน จอมทรัพย์ โลจายะ ที่วันนี้ถือหุ้น SUPER ประมาณ 6.85 เปอร์เซ็นต์ โดย จอมทรัพย์ เป็นคนรวบรวมหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมมาให้ ซึ่งผมไม่รู้ว่ามาจากใครบ้าง ต้นทุนหุ้นตัวนี่เฉลี่ย 8.80 บาท สุดท้ายผมได้ทั้งหุ้นเพิ่มทุนและวอร์แรนต์
คุณอะไรกับ จอมทรัพย์ บ้าง ตอนนั้นแกบอกว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 400 เมกะวัตต์ จะทยอยเสร็จในปี 2557 ประมาณ 100 เมกะวัตต์ ปี 2558 ประมาณ 250 เมกะวัตต์ และปี 2559 จะเดินเครื่องเต็ม 400 เมกะวัตต์
จอมทรัพย์ ยังเล่าอีกว่า ขั้นตอนการสร้างโซลาร์ฟาร์มของบริษัทจะมีประสิทธิภาพกว่าของผู้ประกอบการรายอื่น สมมุติ โรงงานคนอื่นสามารถอยู่ได้ 10 ปี แต่ของบริษัทจะอยู่ได้นานกว่าเท่าตัว ตอนนั้นแกบอกว่า อีกไม่นานหุ้น SUPER คงย้ายจากหมวดอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างวัสดุก่อสร้างไปซื้อขายในหมวดพลังงาน หลังบริษัทขายธุรกิจเก่าให้บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวงไปแล้ว
ตัวต่อไป คือ หุ้น ไซแมท เทคโนโลยี หรือ SIMAT จริงๆไม่ได้ลงรายละเอียดกับหุ้นตัวนี้มากนัก มีโอกาสคุยกับเจ้าของ ทองคำ มานะศิลปพันธ์แค่ครั้งสองครั้ง แต่บังเอิญน้องนักวิเคราะห์คนสนิทประจำบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เขาชอบหุ้นตัวนี้ น้องบอกว่า หากบริษัทวางระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงแล้วเสร็จ ผลประกอบการคงโตกว่านี้มาก นักวิเคราะห์ให้ราคาเป้าหมายสูงถึง 10 บาท
พอดีผู้ถือหุ้นสัญชาติมาเลเซีย เขาขายหุ้น SIMAT ออกมา ผมเลยเข้าไปรับมา 5 ล้านหุ้น ต้นทุน 4 บาท ดูจากผลงานที่ผ่านมาของนักวิเคราะห์ทำให้พอเชื่อถือได้ว่า หุ้นตัวนี้อนาคตจะดี
ส่วนหุ้นที่เหลืออีก 4 ตัว ส่วนใหญ่ถือลงทุนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เช่น หุ้น สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART และหุ้น สามารถ ไอ-โมบาย หรือ SIM ส่วนตัวรู้จักเจ้าของบริษัท วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ มานานเป็นสิบปีแล้ว สมัยก่อนผมเข้าไปนั่งร่วมฟังข้อมูลกับนักวิเคราะห์บ่อยๆ
วัฒน์ชัย เป็นคนคล่องตัวมาก แถมมีสายสัมพันธ์ดีเยี่ยม เรียกว่า เข้าได้กับทุกคน แต่จุดตำหนิของเขา คือ ทำอะไรเยอะเกินไปออกแนวเป็นคนไฮเปอร์ แต่ช่วงหลังๆ ดูเขานิ่งมากขึ้น หลังมีโอกาสทานข้าวด้วยกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ดูเขาไม่วุ่นวายเหมือนก่อน เขาเริ่มจับจุดสำคัญๆได้แล้ว
ตอนนั้นผมบอก วัฒน์ชัยไปว่า บ้างครั้งทำอะไรเยอะเกินไป อาจทำให้บริษัทไม่ได้รับมูลค่ามากมาย แต่ถ้าทำอะไรแบบเน้นๆอาจได้รับมูลค่าที่ดีกว่า เมื่อเห็นเขานิ่งมากขึ้นจึงตัดสินใจซื้อหุ้น SAMART เพิ่มอีก 7-8 ล้านหุ้น ต้นทุน 19 บาท
ถามว่าเจ้าของกลุ่มสามารถฯเล่าอะไรให้ฟังบ้าง แกมีแนวคิดจะให้บริษัทย่อยนามว่า เทด้า ผู้ประกอบธุรกิจด้านงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ก่อสร้างสายส่งและสายจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เข้าไปเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เปิดดำเนินการไปแล้วในราคาถูกมาก
แผนงานนี้ไม่ได้ทำให้ผมทุ่มน้ำหนักการลงทุนมเ พราะมันไม่ใช่งานถนัดของเขา ตอนนั้นถือโอกาสบอกเขาไปว่า คุณต้องดูดีๆนะ แต่การที่ธุรกิจของ SIM ดีขึ้นมากต่างหากที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อทั้งแม่ทั้งลูก ตอนนั้นซื้อหุ้น SIM ไป 15 ล้านหุ้น ราคา 2 บาทปลายๆ
ส่วนหุ้น 2 ตัวสุดท้าย ปกติเน้นเล่นสั้นๆ เช่น หุ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS และห้น พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH อย่างหุ้น JAS เน้นเล่นเก็งกำไรอย่างเดียว เพราะ พิญช์ ไม่ค่อยยอมพบนักลงทุน
สำหรับหุ้น PCSGH ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ ได้หุ้นไอพีโอราคา 8.60 บาท มาส่วนหนึ่ง ก่อนมาไล่เก็บเพิ่มในกระดานอีก 20 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 8 บาท ทุกครั้งที่ราคาต่ำจองก็ทยอยช้อนอีก แต่เพิ่งขายทำกำไรตอน 10 บาท ปัจจุบันเหลือหุ้นไม่เยอะแล้ว โดยกระจายอยู่ตามชื่อของคนในครอบครัว กลยุทธ์สำหรับหุ้นตัวนี้ คือ ลงซื้อเพิ่ม ขึ้นขายทำกำไร เพื่อมาซื้อในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม
ผมมีโอกาสคุยกับเจ้าของ เขาเป็นคนเก่งมาก ล่าสุดญี่ปุ่นมาขอซื้อเครื่องมือในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่บริษัทเป็นผู้คิดค้นเอง วันนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ค่อยดี ฉะนั้นราคาหุ้นคงลงให้เราได้เก็บอีกแน่นอน
เซียนหุ้นพันล้าน เล่าว่า หุ้นทั้ง 10 ตัว สามารถสร้างผลตอบแทนในแง่ของเงินปันผลแล้ว หลักสิบล้านบาท เพราะถือลงทุนมาเป็นปีแล้ว ขณะเดียวกันผมยังเสียภาษีเงินปันผลให้รัฐบาลหลายล้านบาทด้วย (ยิ้ม) สาเหตุที่ได้เงินปันผลสูง เกิดจากการศึกษารายละเอียดของหุ้นแต่ละตัวมาอย่างดี
ถามว่าหากรวมผลตอบแทนจากราคาหุ้นจะมีตัวเลขอยู่ระดับใด เขาบอกว่า ตลอด 6 ปี ที่ซื้อขายอยู่ในบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง พอร์ตเติบโตตลอด เรียกว่าสูงกว่าเป้าหมายที่ต้องการให้ขยายตัวปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ เหตุที่ทำให้พอร์ตขยายตัวมากกว่าเป้าหมาย เกิดจากภาวะตลาดหุ้นดี และการได้พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง ที่สำคัญเวลาซื้อหุ้นล็อตใหญ่ๆจะได้รับราคาดิลเคาท์ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์
สื่อนอกบ้าน หุ้นดีน่าซื้อ
เล็งจะซื้อหุ้นตัวไหนเพิ่มเติมหรือไม่? นเรศตอบคำถามนี้ว่า ด้วยความที่ชอบธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านมาก เขาย้ำ ทำให้ยื่นความจำนงขอซื้อหุ้นเพิ่มทุน บมจ.ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ หรือ TH จำนวน 100 ล้านหุ้น ราคา 1.43 บาทต่อหุ้น จากหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดที่บริษัทจะจำหน่าย 1,705 ล้านหุ้น บริษัทรับเอกสารไปแล้วเกือบ 1 เดือน คงต้องรอนำเรื่องผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน
ก่อนแสดงความสนใจมีโอกาสได้คุยกับ ฐิติศักดิ์ สกุลครู รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ เขายื่นนามบัตรให้ดู ตอนนั้นบริษัทกำลังทำดีวดิลิเจนท์แผนธุรกิจใหม่อยู่พอดี ส่วนตัวเชื่อว่า VGI จะทำให้ต้นทุนของตงฮั้วลดลง สำหรับที่มาของ ชื่อ วี พาร์ท เนอร์ส คือ เป็นพาร์ทเนอร์ของ VGI หลังกระบวนการเพิ่มทุนแล้วเสร็จ VIG จะถือหุ้น VP เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผมจะถือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์
หุ้น IPO อีกตัวที่น่าสนใจ ซึ่งกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาส 4/2557คือ บมจ.แพลน บี มีเดีย หรือ PLANB ผู้ให้บริการและรับจ้างผลิตสื่อโฆษณาภายนอกที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย สื่อโฆษณาบนระบบขนส่งมวลชน สื่อโฆษณากลางแจ้ง และสื่อโฆษณาภายในห้างสรรพสินค้า
ล่าสุดได้แสดงความจำนงผ่าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินหุ้น PLANB ไปแล้วว่า อยากได้หุ้นตัวนี้มาก บริษัทจะให้เป็นหุ้นไอพีโอ หรือนำหุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมมาขายให้ก็รับหมด ผมต้องการหุ้น PLANB มากที่สุดเท่าที่บริษัทจะให้ได้
บริษัทนี้มีขนาดใหญ่พอๆกับ VGI บล.บัวหลวงบอกว่า จะนัดให้เจอผู้บริหาร หลังแบบแสดงรายการข้อมูล หรือ Filing ผ่านแล้ว เท่าที่รู้บริษัทแห่งนี้นั่งบริหารโดยนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง นามว่า บี อายุ 30 กว่าๆ เริ่มธุรกิจตั้งแต่อายุ 20 กว่าเท่านั้น
ผมเป็นลูกค้าเครดิตดีของบล.บัวหลวง บล.กสิกรไทย และบล.ไทยพาณิชย์ แม้พอร์ตจะไม่ค่อยแอ็คทีฟ แต่เขาก็ไม่เคยขอให้ไปใช้บริการ แถมยังจัดสรรหุ้นไอพีโอให้ตามที่ขอ ผู้บริหารโบรกเกอร์รู้จักนิสัยผมเป็นอย่างดี เขารู้ว่าหากให้หุ้นผมมาแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อเจ้ากิจการมากแค่ไหน ที่สำคัญเขารู้พฤติกรรมการลงทุนของผมว่า ถ้าได้มาแล้วจะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ไม่เคยทิ้งๆขว้างๆ เวลาจะขายหุ้นถ้าได้คุยกับเจ้าของแล้วจะขายอย่างระมัดระวัง
ทักษะการลงทุนของ นเรศ คือ ขายหุ้นเป็น ขายแล้วหุ้นไม่ช้ำไม่ตก วิธีการ คือ เวลา ตลาดดีๆจะค่อยๆปล่อยของออก ไม่ได้ขายในออเดอร์ใหญ่ๆ ถ้าตลาดดีมากๆ แรงซื้อเยอะๆ จะขายมากหน่อย ถ้าแรงซื้อไม่เยอะจะขายน้อย วันไหนตลาดหุ้นคึกคักอาจขายมากถึง 3-5 ล้านหุ้น การลงทุนแบบนี้จะทำให้เจ้าของเชื่อใจผม
เวลาจะไปขอซื้อหุ้นจากบริษัทต่างๆมักบอกเจ้าของก่อนว่า ผมชอบหุ้นเขามาก และจะหาจังหวะซื้อในกระดาน ฉะนั้นหากผู้ถือหุ้นเดิมคนใดมีความประสงค์จะขายให้นำมาขายตรงที่ผมได้เลย ทุกครั้งที่ผมไปติดต่อขอซื้อหุ้นเขาเปิดประตูต้อนรับตลอด อย่างน้อยเขาก็รู้แล้วว่าพฤติกรรมการลงทุนของชายชื่อ นเรศ เป็นอย่างไร ไม่เคยมีใครตั้งแง่กับผม
นเรศ นิยามการลงทุนของตัวเองเป็นแบบ นักลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ด้วยความที่อยู่ในตลาดหุ้นนาน ทำให้มองอะไรออก บางครั้งกระจ่างกว่านักลงทุนหรือผู้บริหารบางคน หลายเรื่องที่เกิดในตลาดหุ้น ผมมีโอกาสเข้าไปช่วยแก้ไข
ยกตัวอย่าง สมัย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ในปี 2542 ทางการต้องการให้เกิดค่าคอมมิชชั่นเสรี ตอนนั้นรู้สึกแปลกใจมาก ผู้บริหารโบรกเกอร์หลายแห่งที่มีแต่คนเก่งๆ ทำไมไม่มีใครเข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับ ดร.ประสาร เพราะบางด้านดอกเตอร์อาจมองไม่เห็น สุดท้ายผมนั่งรอจนใกล้วันประกาศใช้มาตรการจึงตัดสินใจโทรเข้าไปขอพบดอกเตอร์
ตอนนั้น ดร.ประสาร มาพร้อมทีมใหญ่นั่งกันเต็มโซฟา ผมบอกแกว่า เรื่องนี้ไม่ได้กระทบเฉพาะโบรกเกอร์และนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังกระทบในวงกว้าง หมายความว่า นอกจากโบรกเกอร์จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนซื้อขายแล้ว โบรกเกอร์ยังเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แถมยังมีพอร์ตลงทุนสูงถึง 4,000-5,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันทุกครั้งที่โบรกเกอร์ได้ค่าคอมมิวชั่นจากนักลงทุนรัฐบาลเองก็จะได้รับส่วนต่าง 7 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้าเปิดเสรีเมื่อไหร่ ตลาดหุ้นจะปั่นป่วน และจะเกิดการแข่งขันชนิดไม่มีรูปแบบแน่นอน
ตอนนั้นท่านตอบว่า มันใกล้วันจะประกาศใช้มาตรการแล้ว ผลปรากฏว่า วันใช้จริงตลาดหุ้นป่วนมาก บางโบรกเกอร์ประกาศเทรดหุ้นฟรี ทำให้ช่วงนั้นวงการโบรกเกอร์แย่มาก เรียกว่า เป็นกลียุคของตลาดหุ้นก็ว่าได้ สุดท้ายทางการประกาศยกเลิกมาตรการนี้ หลังประกาศใช้มาเกือบเดือน
ผมแตกต่างจากนักลงทุนบางคนที่สามารถมองภาพอนาคตในบางเรื่องออก แต่หากแนะนำไปแล้วเขาจะทำหรือไม่ ผมจะไม่เข้าไปติดตามผล แต่พอจะอ่านจากปฏิกิริยาของเขาได้ว่า มีแนวโน้มจะทำหรือไม่
แม้เรื่องราวการลงทุนของ นเรศ จะเดินทางมาถึงตอนสุดท้าย แต่บิสวีคเชื่อว่า ยังมีเรื่องราวการลงทุนที่ ชายผู้มีทักษะการพูดชั้นเลิศ ยังไม่มีโอกาสถ่ายทอดให้ฟังอีกเพียบ--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
worrapong.n
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 38
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 14

โพสต์

ขอบคุณครับ
nuk
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 178
ผู้ติดตาม: 0

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 15

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
pakapong_u
Verified User
โพสต์: 47266
ผู้ติดตาม: 401

Re: กว่าจะเป็น 'เซียนพันล้าน''นเรศ งามอภิชน' (ตอน1)

โพสต์ที่ 16

โพสต์

'วิธีคิด'สำคัญกว่า'กำไร'
Source - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, October 06, 2014 07:22


ชาลินี กุลแพทย์
เงินเก็บ "หลักหมื่นบาท" ที่ได้จากการช่วยครอบครัวทำงานเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องครัวตราสามดาว และตราโลตัส ของ "นเรศ งามอภิชน" ถูกถอนออกจากแบงก์ในปี 2531 เพื่อนำมาลงทุนในตลาดหุ้น ตามคำเชื้อเชิญของเพื่อนนักเรียนนอก
ก่อนจะเป็น "เจ้าของพอร์ตหลักพันล้าน" มีห้อง VIP หมายเลข 121 ประจำ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นฐานบัญชาการ ชีวิตเก็งกำไรของ "นเรศ" เคยติดลบเข้าขั้นขาดทุนหนักเหลือเงินติดพอร์ตเพียง 5 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีพอร์ตสูงถึง "หลักร้อยล้าน"แม้วันนี้ "ชายวัย 56 ปี" จะมีคำนำหน้าว่า "เซียนหุ้นรายใหญ่" แต่เขาเลือกที่จะให้ภรรยาและลูกทั้ง 3 คน (ลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1) เรียนรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตนเอง โดย "นเรศ" จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้แนะนำ เมื่อมีใครต้องการ
"นเรศ" เล่าให้ "กรุงเทพธุรกิจ Biz Week" ฟังว่า ที่ผ่านมาภรรยาและลูกๆ มีโอกาส ลงทุนในตลาดหุ้นแต่ไม่บ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ คนในครอบครัวได้กำไรจากการลงทุน จะไม่ค่อยมาเล่าสู่กันฟังว่า ได้มาเท่าไหร่ เพราะทุกคนรู้ว่า ในสายของผมกำไรไม่ใช่เรื่องสำคัญมากกว่าวิธีคิด ที่ผ่านมาคนในครอบครัวมักสอบถามเรื่องหุ้นกับผม ในฐานะที่ลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อนหลายสิบปี แต่ผมก็ไม่ได้ตอบคำถามแบบไม่ลึกซึ้งมากนัก ที่สำคัญจะไม่ชี้นำเด็ดขาด เพราะอยากให้ทุกคนมีวิธีการลงทุนและรอยเท้าเป็นของตัวเอง ถือคติที่ว่า
"คนจะประสบความสำเร็จได้ต้องมาจากความสามารถเฉพาะตัว เรื่องแบบนี้สอนกันไม่ได้"
เขาเล่าว่า ภรรยาผมเป็นคนดวงดีลงทุนตัวไหนมักได้กำไร บางครั้งซื้อผิดตัวยังไม่ขาดทุน (หัวเราะ) ส่วนลูกๆ ทั้งสามคน แม้วันนี้ จะไม่ค่อยมีเวลาซื้อขายเหมือนก่อน เพราะมีงานประจำ แต่สมัยก่อนเขาถือเป็นนักลงทุนที่ใช้ได้
ยกตัวอย่าง ลูกสาวคนโตวัย 29 ปี ขานี้สนใจตลาดหุ้นมาตั้งแต่สมัยศึกษาอยู่ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนโน้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดอบรมเรื่องการลงทุน ซึ่งน้องสมัครแข่งขันด้วย ผลปรากฏว่า ได้คะแนนค่อนข้างดี เรียกว่า มีทักษะการลงทุนที่เยี่ยมมาก แต่ปัจจุบันไม่ได้ลงทุนจริงจัง ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ไม่มีเวลา ลูกสาวคนโตเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านกฎหมาย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท ด้านกฎหมาย อีก 2 ใบ จากมหาวิทยาลัย คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยจากประเทศออสเตรเลีย แน่นอนเขาอยากเป็นนักกฎหมาย ตอนเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้องอยู่ห้องคิงส์ ในห้องเรียนมีนักเรียนเลือกเรียนกฎหมายเพียง 2 คนเท่านั้น
เป้าหมายของลูกสาวคนโต คือ อยากเป็น ผู้พิพากษา แต่เมื่อปีกว่าที่ผ่านมา เขาแต่งงาน ทำให้ไม่สามารถทำตามฝันได้ ปัจจุบันน้องเป็นอาจารย์สอนคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษากฎหมายในเครือเซ็นทรัล
สำหรับลูกสาวคนกลางวัย 27 ปี ปัจจุบันลงทุนในตลาดหุ้นบ้าง ช่วงที่น้องเรียนปริญญาโท ด้าน MBA มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้ลงทุนในดัชนีดาวโจนส์ วิธีการ คือ เขาจะวิเคราะห์พื้นฐาน เพื่อถือลงทุนระยะยาว ถือนานจนบางครั้งผมต้องเอ่ยปากแนะนำว่า "ขายได้แล้วมั้ง" (ยิ้ม)
"ที่ผ่านมาน้องชอบถือแต่หุ้นขนาดใหญ่ ลงทุนในตลาดหุ้นบ้าง ช่วงที่น้องเรียนปริญญาโท ด้าน MBA มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสได้ลงทุนในดัชนีดาวโจนส์ วิธีการ คือ เขาจะวิเคราะห์พื้นฐาน เพื่อถือลงทุนระยะยาว ถือนานจนบางครั้งผมต้องเอ่ยปากแนะนำว่า "ขายได้แล้วมั้ง" (ยิ้ม)ครั้งหนึ่งเขาเคยได้กำไรหุ้น APPLE แต่เขา ไม่ได้เล่าว่า มีต้นทุนเท่าไหร่ และได้กำไรมาแล้วแค่ไหน"
เขา เล่าประวัติลูกคนกลางให้ฟังว่า ตอนที่เรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีบริหารธุรกิจ หรือ BBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขามีโอกาสเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาการลงทุน ทำได้ไม่นานก็ไปสอบชิงทุนเรียนต่อโทของธนาคารกสิกรไทย แต่กสิกรไทย ส่งไปรับทุนของเมืองไทยประกันชีวิต ปัจจุบันเขากลับมาใช้ทุนให้เมืองไทยประกันชีวิต ด้วยการนั่งตำแหน่งวางกลยุทธ์ประกัน น้องต้องใช้ทุนทั้งหมด 4 ปี ตอนนี้ทำงานไปแล้ว 1 ปีกว่า ล่าสุดกำลังจะย้ายไปประจำแผนกการลงทุน เพื่อบริหารพอร์ตให้เมืองไทยประกันชีวิต เพราะเขามีทักษะในการลงทุนค่อนข้างดี
ส่วนลูกชายคนเล็กวัย 25 ปี หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ หรือ BBA มหาวิทยาลัย อัสสัมชัน หรือ ABAC มีโอกาสเข้ามาทำงานในแผนก Wealth Management ของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประมาณ 1 ปี
หน้าที่หลักคือ บริหารพอร์ตให้ ทำงานไปแล้ว 1 ปีกว่า ล่าสุดกำลังจะย้ายไปประจำแผนกการลงทุน เพื่อบริหารพอร์ตให้เมืองไทยประกันชีวิต เพราะเขามีทักษะในการลงทุนค่อนข้างดี
ส่วนลูกชายคนเล็กวัย 25 ปี หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ หรือ BBA มหาวิทยาลัย อัสสัมชัน หรือ ABAC มีโอกาสเข้ามาทำงานในแผนก Wealth Management ของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประมาณ 1 ปี นักลงทุนรายใหญ่ แต่ตอนนี้น้องลาออกไปเรียนปริญญาโท สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาอยากออกไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
ลูกทั้ง 3 คน ลงทุนในตลาดหุ้นมาตลอด เพียงแต่ไม่ได้จริงจัง สงสัยเห็นพ่อทำได้ดี อยู่แล้ว (ยิ้ม) ส่วนภรรยาที่มีอาชีพเป็นแม่บ้าน ปัจจุบันเปิดพอร์ตลงทุนที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และบล.ฟิลลิป หลังๆ ตามข้อมูลน้อยลง แต่ฟังข้อมูลจากผมมากขึ้น
"แม้จะรับข้อมูลจากผม แต่ใช่ว่า ทุกคนจะเชื่อทุกอย่างที่พูด เพราะก่อนลงทุนเขามักนำข้อมูลไปกลั่นกรอง ก่อนเสมอ"
"ครอบครัวมักสอบถามเรื่องหุ้นกับผม แต่ก็ไม่ได้ตอบแบบไม่ลึกซึ้ง เพราะอยากให้ทุกคนมีวิธีการลงทุนและรอยเท้าเป็นของตัวเอง--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
โพสต์โพสต์