หน้า 1 จากทั้งหมด 1

R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 12:01 pm
โดย randomwalk
มือใหม่หัดเขียนครับ ถ้าสนใจอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ http://randomwalk.bloggang.com
12-02-29 Financial Freedom.png
เมื่อตอนเด็กๆเราคงมีความใฝ่ฝันมากมายที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในสิ่งที่ตนเองชอบ แต่พอคนเราโตขึ้นผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะถูกกดดันจากสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” บางคนต้องทำงานอย่างหนักในสิ่งตัวเองที่ไม่ชอบเพื่อที่จะได้ “เงิน” มามากๆมาเผื่อสำรองไว้ในการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว และผมมั่นใจว่าเป้าหมายชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คือการมี “อิสรภาพทางการเงิน” เพื่อที่จะไม่ต้องทำงานหนัก และสามารถเลือกที่จะมีความสุขกับที่สิ่งที่ตนเองชอบในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต

คำนิยามของ “อิสรภาพทางการเงิน” น่าจะหมายถึง การที่เราไม่ต้องทำอะไรนั่งอยู่เฉยๆก็มีกระแสเงินสดเป็นรายรับเข้ามาหาเราสม่ำเสมอในจำนวนที่มากกว่ารายจ่ายของเราซึ่งเรียกว่ามี “กระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวก” เมื่อเวลาผ่านไปกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวกจะทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำงานอะไรเลย หลักการสำคัญที่จะมีกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวกก็คงต้องมาจากการที่เราได้ครอบครองสินทรัพย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นจะผลิตสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการของคนอื่นออกมาอย่างสม่ำเสมอ และผลผลิตเหล่านั้นก็ควรจะมากกว่าการบริโภคของเรา สินทรัพย์เหล่านี้อาจจะเป็น ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินต่างๆ ที่มันสามารถสร้างผลผลิตได้โดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องทำงานหรือลงแรงอะไรเพิ่มเติม และที่สำคัญกระแสเงินสดสุทธินี้ควรจะหักการด้อยค่าของอำนาจซื้อเนื่องจากการเงินเฟ้อด้วย ถ้าเราครอบครองสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนแค่เท่ากับเงินเฟ้อผมก็คิดว่าเราไม่ได้มีเงินเพิ่ม และจะใช้ชีวิตอย่างลำบากขึ้นในอนาคต

ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนหนึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมี “อิสรภาพทางการเงิน” และเริ่มที่จะหาสินทรัพย์ที่มีผลผลิตมาครอบครอง ซึ่งการลงทุนในหุ้นก็เป็นการครอบครอบสินทรัพย์ชนิดหนึ่ง แต่ข้อสังเกตคือถ้าเราลงทุนแล้วได้กระแสเงินสดที่เป็นบวกแต่ต้องกังวลหรือต้องคิดมากกับการลงทุนก็อาจจะไม่ถือว่ามีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง เพราะความกังวลนี้ก็จะถือว่าเป็นต้นทุนของเราอย่างหนึ่ง ถ้าเรายังต้องมีต้นทุนในการต้องจดจ่อเฝ้าหน้าจอซื้อขายวันหนึ่งหลายชั่วโมง ก็คงไม่แตกต่างกับมนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานประจำอยู่ในออฟฟิศ ดังนั้น ผมจึงคิดว่าการมี “อิสรภาพทางเวลา” เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอีกทีของการมี “อิสรภาพทางการเงิน” ถ้าเรามีอิสรภาพทางการเงินแต่ไม่มีเวลา ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

ดังนั้นนักลงทุนที่อยากมีอิสรภาพทางการเงินควรตั้งเป้าหมายในการลงทุน และเดินให้ถูกทาง ก่อนที่จะเดินหลงทางและติดกับดักการไม่มีอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง ตัวอย่างของวิธีการลงทุนที่หลงทางคือ การลงทุนที่ใช้เวลามาก และการลงทุนที่ทำให้เกิดความกังวล

การลงทุนที่ใช้เวลามาก
เทรดเดอร์ที่เก็งกำไรรายนาทีคงจะเป็นอาชีพที่ดูดีในสายตาคนทั่วไปว่าจะทำเงินได้หลายเท่าตัวในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตามเทรดเดอร์เหล่านั้นจะต้องใช้แรงกายของเราในการทุ่มเทจดจ่อหน้าคอมพิวเตอร์เป็นรายนาที วันหนึ่งหลายชั่วโมง พอถึงอายุประมาณหนึ่งก็ต้องเกษียณตัวเองเพราะทนกับความเครียดที่เกิดขึ้นในการใช้เวลาอันยาวนานที่จะต้องนั่งอยู่หน้าจอไม่ไหว ถึงแม้ว่าจะทำเงินได้จริงแต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่เทรดเดอร์ไม่สามารถนำไปใช้ตอนแก่ได้ เพราะไม่มี “อสิรภาพทางเวลา” ซึ่งถึงเวลานั้นเทรดเดอร์ก็คงต้องศึกษาวิธีการลงทุนประเภทอื่นที่เหนื่อย กังวล และใช้เวลาน้อยลง

การลงทุนที่ทำให้เกิดความกังวล
สำหรับการเล่นหุ้นปั่นที่มีการเหวี่ยงของราคาจะทำให้รายรับเราจะไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่ช่วงจังหวะตลาด บางครั้งตัวที่เราเข้าก็ไม่ได้ขึ้นไปตามที่มีคนบอกมา แถมยังตกลงมาจากราคาที่เราซื้อไปอีก ท้ายที่สุดเมื่อมีหุ้นปั่นตัวใหม่ก็จะต้องแบกรับกับความกังวลครั้งใหม่ ความกังวลเหล่านี้ก็จะเป็นวัฎจักรวนเวียนไปโดยไม่จบสิ้นทำให้เราจะไม่เคยมี “อสิรภาพทางเวลา”

ในช่วงตลาดขาขึ้น คนส่วนใหญ่จะได้กำไรและจะคิดเกินตัวว่าถ้าเรายืมเงินมาลงทุนกำไรของเราก็จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า พวกเขาก็จะเล่นบัญชีมาร์จิ้นในการซื้อหุ้น หรือถ้าลงทุนในตลาดฟิวเจอร์เราก็จะเพิ่มจำนวนสัญญาโดยเผื่อเงินไว้น้อยมาก ผมคิดว่าการลงทุนโดยลักษณะเหล่านี้จะทำให้เรามีความกังวลมากกว่าเดิม และความกังวลเหล่านี้แหละที่เป็นต้นทุนในการลงทุนของเราที่จะทำให้เราไม่มี “อิสรภาพทางเวลา”

ผมคิดว่าโดยปกติแล้วนักลงทุนจะนอนหลับสบายใจก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าที่เขาลงทุนนั้นยังคงเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงปกติเหมือนๆชาวบ้าน ซึ่งความปกติที่สามารถเป็นตัวชี้วัดของเมืองไทยก็คือการเปลี่ยนแปลงของ “SET INDEX” ถ้าเราลงทุนในทรัพย์สินที่มีขนาดการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดเนื่องจากมาร์จิ้น หรือ LEVERAGE เกินตัว ก็จะทำให้เรารู้สึกกังวลว่าเราได้ทำสิ่งผิดปกติที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน และทุกครั้งที่เราได้ทำสิ่งผิดปกตินี้จะทำให้กลยุทธ์การเล่นผิดเพี้ยนไปจากที่วางแผนไว้เดิม ในที่สุดก็จะทำให้ตัดขาดทุนเร็ว พอตัดแล้วราคาก็ขึ้นไปใหม่ พอตามเข้าไปมันก็หล่นลงมา จนทำให้ขาดทุนอย่างมากในท้ายที่สุด ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่ความผิดในการเล่นของเรา แต่เป็นความผิดของการบริหารเงินหรือ “Money Management” ที่มี “ส่วนเผื่อเพื่อความอุ่นใจ” ไม่มากพอ ทำให้เรามีสภาพอารมณ์ที่ไม่ปกติ ผลของการลงทุนของเราจึงไม่ปกติ

ดังนั้นเราจึงควรต้องหาวิธีที่เราลงทุนแล้วมี “อิสรภาพทางเวลา” กล่าวคือใช้เวลาไม่มาก และไม่กังวล อาจจะลงทุนระยะยาวในหุ้นที่ดีมากเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไปโดยระหว่างนี้เราไม่ต้องคิดอะไรเลย หรือถ้าเราอยากติดตามอย่างมากที่สุดก็ควรจะพึ่งพาความคิดของเรา 2-3 ชั่วโมงต่อวัน สามารถนำกลยุทธ์ที่ทำสำเร็จในครั้งก่อนมาใช้ในครั้งต่อไปได้ไม่ยาก หรือเรียกได้ว่ามีระบบอัตโนมัติในการลงทุนที่ยั่งยืนสามารถนำมาใช้กับอนาคตได้เรื่อยๆโดยไม่ต้องมาเริ่มต้นคิดกับการลงทุนครั้งใหม่ ถึงแม้ว่าการลงทุนแต่ละครั้งคงจะไม่เหมือนกัน 100% แต่แก่นหลักหรือปรัชญาในการลงทุนแล้วควรจะต้องเหมือนเดิม ถ้าเรามีการลงทุนแบบมี “อิสรภาพทางเวลา” แล้วก็คงไม่ต้องติดตามตลาดต่างประเทศตอนกลางคืน ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศหลายวันได้โดยไม่ต้องมีความกังวล โดยที่ในระหว่างนั้นเราก็มีกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวกเข้ามาหาเราอย่างสม่ำเสมอ (โดยที่มากกว่าการด้อยค่าของอำนาจซื้อเนื่องจากเงินเฟ้อ) และนี่แหละถึงจะเรียกการมี “อิสรภาพทางการเงิน” อย่างแท้จริงครับ

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 12:16 pm
โดย sakkaphan
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ :D

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 1:22 pm
โดย chukieat30
+1 ให้บทความดีๆครับ ตามไปอ่านดู เขียนได้โดนมากๆครับ

ผมก้เื่ชื่อแบบเดียวกับคุณ ถ้าเป็นอิสรภาพทางการเงิน ก้ต้องเป็นอิสรภาพทางเวลาด้วย

สำหรับผม ถึงเป้าก้ เลิก

คำเดียวสั้นๆๆ เลิกและเอาเวลาไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติชนบท

ถ้ามี100ล้าน ดอกปีละ 3.5ล้าน ผมพอกินพอใช้ ไม่อยากไ้ด้อะไรแล้ว

เมื่อถึงจุดๆหนึ่งที่เรามีเงินมากพอ เงินก้ไม่ใช่ทุกสิ่งในชีวิต

สำหรับผม พ่อแม่และคนที่มีบุญคุณกับเรานั่นแหล่ะ คือ ทุกสิ่งในชีวิต

ขอใช้ชีวิตแบบ ไร้ชื่อ ไร้เสียง อยู่กับคนที่เรารัก แค่นี้ก้สุขใจมากพอแล้ว

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 1:31 pm
โดย chukieat30
อิสรภาพทางการเงินคือ หยุดเมื่อมีเงินและผลของเงินพอมีกินตลอดชีวิต

อิสรภาพทางเวลา คือ หยุดการทำงานเพื่อให้มีเวลาดูแลคนที่เรารัก

ชื่อเสียง และลาภยศ ก้แค่สิ่งลวงตา ถ้าเราไม่ยึดติดกับมัน เราก้จะไม่เดือดร้อน

ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครรู้ว่ามีความมั่งคั่ง ไม่มีชื่อเสียงไม่มีนาม

ชีวิตก้จะไม่วุ่นวาย การมีชื่อเสียงลาภยศมันก้เป็นแค่ สิ่งสมมติมันขึ้นมา

ถ้าเราหลับตา ชื่อเสียงและสิ่งสมมติ แม้แต่รางกายเรา ก้ไม่มี นี่แหล่ะ

แก่นแท้ของผม Natural Value Investor

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 8:37 pm
โดย teevalue
ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆให้อ่านครับ

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ มี.ค. 28, 2012 11:01 pm
โดย chokgamo
เขียนได้ดีครับ ขอบคุณที่เอามาแชร์ เตือนสติครับ

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. มี.ค. 29, 2012 1:01 pm
โดย randomwalk
ขอบคุณมากครับ

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 01, 2012 12:31 am
โดย odin
ลึกซึ้งครับ ขอบคุณครับ :)

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ เม.ย. 01, 2012 10:57 pm
โดย halogen
ขอบคุณมากนะครับ ที่เสียสละเวลาเขียนบทความมาให้อ่าน

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 02, 2012 5:25 am
โดย chutchwi
ขอบคุณครับผูัที่เขียนบทความและผู้ที่นำบทความดีๆมาให้ความรู้และช่วยให้เราอยู่ในหลักของการเป็นนักลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน เวลา และอารมณ์(กังวล)

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: จันทร์ เม.ย. 02, 2012 10:36 am
โดย randomwalk
ขอบคุณครับ
ผมจะ post รวมบทความทั้งหมดลงกระทู้เดียวนะครับ
จะได้ไม่เปลืองกระทู้ และง่ายต่อการติดตาม

http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f ... 47#p985347

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: อังคาร เม.ย. 03, 2012 12:45 pm
โดย s.teerapong
ขอเสนออีกความหมายนึงของอิสรภาพทางการเงินที่อ่านเจอมาครับ

จากหนังสือของ bizkons
Financial Freedom เล่ม 1 สค 2549 หน้า 14


ในความเป็นจริงแล้ว"อิสระภาพทางการเงิน" ไม่ได้หมายถึงการมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่มีวันหมด หรือร่ำรวยเงินทองจนไม่ต้องทำงาน แต่หมายถึง

การมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

มีอิสระในการเลือกที่จะทำ และเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

โดยไม่มี "เงิน" มาเป็นเครื่องพันธนาการทางความคิด และการตัดสินใจ

Re: R33: กับดักของ “อิสรภาพทางการเงิน”

โพสต์แล้ว: พุธ เม.ย. 04, 2012 12:06 pm
โดย Zhou_Enlai
s.teerapong เขียน:
ในความเป็นจริงแล้ว"อิสระภาพทางการเงิน" ไม่ได้หมายถึงการมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่มีวันหมด หรือร่ำรวยเงินทองจนไม่ต้องทำงาน แต่หมายถึง

การมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

มีอิสระในการเลือกที่จะทำ และเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

โดยไม่มี "เงิน" มาเป็นเครื่องพันธนาการทางความคิด และการตัดสินใจ
เยี่ยมมากๆครับ อิสระภาพทางการเงิน เเท้จริงเเล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงินอย่างเดียว เเต่ยังขึ้นอยู่กับ "ตัวเรา" ด้วย