เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
hed
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหาพระเจ้าอยู่หัว
     
     
สนธิ ลิ้มทองกุล
      15 กันยายน 2548


     
      การที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะบอกเลิกสัญญารายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่ประการใด
     
      เพราะ อสมท เป็นของรัฐบาล
     
      การบอกเลิกรายการที่ให้ข้อเท็จจริงอันเป็นผลลบต่อรัฐบาล เป็นเหตุผลที่รับกันได้อยู่แล้ว ถ้าจะไม่ดัดจริตทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนว่า อสมท เป็นสื่อมวลชน ยึดมั่นความเป็นกลาง และเคารพสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
     
      แต่เพราะต้องการจะคงไว้ซึ่งการดัดจริตและโกหกพกลมให้ถึงที่สุด...
     
      อสมท จึงให้ร้ายป้ายสีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ด้วยข้อหาที่เป็นเสมือนการประหารชีวิตกันทางจิตวิญญาณของความเป็นพสกนิกรชาวไทยอย่างร้ายกาจ ด้วยการกล่าวหาว่าจงใจพูดเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจของพระองค์
     
      เพื่อการนี้ อสมท ได้ใช้วิธีการอันสกปรกของคนที่ไม่ใช่สุภาพบุรุษ และไม่มีทางเป็นสุภาพบุรุษได้ออกมาถึง 2 ทางด้วยกัน
     
      ทางหนึ่ง ในแถลงการณ์ของ อสมท ได้อ้างอิงท่านราชเลขาธิการ และเลขานุการคณะองคมนตรี อย่างคลุมเครือและกำกวม
     
      อีกทางหนึ่ง ใช้ภาพลักษณ์ในอดีตที่เสมือนใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์และมีความรู้ในเรื่องขนบประเพณีในราชสำนักตลอดจนพระราชพิธีต่างๆ ของนายธงทอง จันทรางศุ กรรมการ อสมท คนหนึ่งออกมาอรรถาธิบายหลักการของการใช้พระราชอำนาจ และให้ร้ายป้ายสีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อย่างคลุมเครือและกำกวมว่า พูดเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่บอกว่าเท็จตรงไหน อย่างไร และความจริงคืออะไร
     
      อสมท และรัฐบาลคงจะเชื่อมั่นว่านายธงทอง จันทรางศุ เป็น หมัดเด็ด ที่จะช่วงชิงความเชื่อถือจากประชาชนได้ ถึงได้จงใจเผยแพร่ภาพการแถลงข่าวของเธอยาว 67 นาที ซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งในช่วงข่าวและช่วงรายการคุยข่าวต่างๆ ในวันที่ 1516 กันยายน 2548
     
      เป็นลีลา ชกข้างเดียว โดยที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้รับสิทธิในการชี้แจง
     
      ก่อนอื่น มาดูกันสิว่า นายธงทอง จันทรางศุ พูดไว้อย่างไรบ้าง
     
      เธอพูดไว้อย่างนี้
     
      ........................
     
      สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
     
      สถาบันพระมหากษัตริย์ในเมืองไทยนั้นเป็นที่เคารพสักการะสูงสุด เป็นสิ่งที่คนไทยหวงแหนเทิดทูนบูชา พระราชอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นมีเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เหนือรัฐธรรมนูญนอกเหนือรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอีกหลายประการ หลายสถาน
     
      รวมถึงพระราชอำนาจที่จะได้รับคำการกราบบังคมทูลและปรึกษาจากรัฐบาล
     
      พระราชอำนาจที่แนะนำตักเตือนรัฐบาล
     
      แต่การใช้พระราชอำนาจเหล่านี้มีข้อพิจารณาสำคัญก็คือว่า เป็นการภายในระหว่างรัฐบาลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสถาบันพระมหากษัตริย์
     
      ธรรมเนียมประเพณี ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษหรือประเทศไทย ก็เหมือนกัน ตรงกันก็คือว่ารัฐบาลเมื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาอย่างหนึ่งอย่างได้ หรือได้พระมหากรุณาตักเตือนชี้ทางออก ด้วยประสบการณ์ พระปรีชาสามารถ รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะซึ่งจะไปอธิบายอะไรได้ ว่าได้รับคำแนะนำนี้แนวทางอย่างนั้นมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในทางฝั่งตรงข้าม สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกได้ว่าเรื่องนี้ได้เตือนแล้ว ได้บอกแล้ว ได้ทำแล้ว ตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่ได้แนะนำได้ปรึกษาหารือร่วมกัน
     
      ผมเองอาจจะมีความลำบากใจที่อยากจะเรียนว่า หลายอย่างหลายเรื่องที่คุณสนธิได้ยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงในรายการ ผมอาจจะโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่ทราบ ผมทราบว่ามันไม่จริง แต่ผมก็ไม่อยู่ในฐานะซึ่งจะบอกรายละเอียดทั้งหมด เพราะมันผิดธรรมเนียมราชเสวกที่ดี หรือเป็นข้าราชการถึงคนที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจะพึงกระทำ
     
      เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กันยายนที่ผ่านมานั้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสาธารณะ ความบาดหมางในระหว่างพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง ความไม่เข้าใจถูกต้องตามวิถีครรลองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมจำเป็นร่วมกันกับที่บอร์ด อสมท ทั้งหลายได้ร่วมกันตัดสินใจ ที่ต้องตัดสินใจระงับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ หลายท่านอาจจะบอกว่านี่เป็นความพยายามส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ของรัฐบาลที่จะคุกคามสื่อมวลชน ท่านก็อาจจะมีสิทธิ์ที่จะคิด ที่เข้าใจอย่างนั้นได้ แต่ถ้าถาม ถามใจผมเอง แล้วผมตอบใจตัวผมเองได้ว่าผมทำอะไรอยู่
     
      ...................................
     
      สรุปเป็นประเด็นได้ว่า นายธงทอง จันทรางศุ ยอมรับว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นมีอยู่จริง มีทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
     
      แต่อยู่ภายในเงื่อนไข 2 ประการ
     
      หนึ่ง เป็นเรื่องภายในระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์
     
      สอง โดยธรรมเนียมประเพณี ไม่ว่าของประเทศไทยหรือประเทศอังกฤษ เป็นเรื่องที่ทั้งรัฐบาลและพระมหากษัตริย์จะต้องไม่เปิดเผย ซึ่งหมายความว่าบุคคลอื่นก็ไม่ควรกล่าวอ้าง
     
      มีเรื่องที่ ผู้จัดการรายวัน จะต้องโต้แย้งนายธงทอง จันทรางศุ ใน 2 ด้าน
     
      ด้านหนึ่ง ในทางตรรกะและปรัชญา ที่จะแยกอภิปรายเป็น 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อังกฤษ กับพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อีกประเด็นหนึ่งว่าด้วยการใช้พระราชอำนาจเป็นเรื่องภายในระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่พึงเปิดเผยด้วยประการทั้งปวงโดยไม่มีข้อยกเว้นเลยกระนั้นหรือ
     
      อีกด้านหนึ่ง ในทางข้อเท็จจริง
     
      .......................................
     
      กล่าวในเชิงปรัชญาแล้ว
     
      1. เราไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอังกฤษ
     
      2. เราไม่เห็นด้วยว่ากับการยึดหลักตายตัวว่า การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นเรื่องภายในกับรัฐบาล ที่ไม่พึงเปิดเผย
     
      ระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษนั้นเกิดจากการใช้กำลังบังคับพระมหากษัตริย์ และมีวิวัฒนาการมายาวนานจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยในระดับสำคัญ ต่างกับระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาในประเทศไทยที่เกิดจากการยินยอมพร้อมสละพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้แก่ประชาชน แม้คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยอมรับในข้อนี้
     
      แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ดำเนินมาเกือบจะครบ 60 ปีเต็ม ทำให้พระบารมีของพระองค์สูงกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก
     
      ไม่ควรนำมาตรฐานอย่างอังกฤษมาใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย
     
      ไม่ควรนำมาตรฐานอย่างอังกฤษมาใช้กับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
     
      พระมหากษัตริย์ตะวันตกในระบอบประชาธิปไตยมีพระราชอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญจะไม่บัญญัติไว้
     
      แต่พระมหากษัตริย์ตะวันออก โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ไทย ที่มีประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างกัน มีพัฒนาการทางสังคมแตกต่างกัน เพราะมี ธรรม ในพระพุทธศาสนากำกับการใช้พระราชอำนาจ จึงนอกจากจะมีพระราชอำนาจเฉกเช่นกษัตริย์ตะวันตกแล้ว ยังจะมีมากกว่า
     
      โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน
     
      ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเพิ่งมีวิวัฒนาการมาเพียง 73 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งตกอยู่ภายใต้ระบบเผด็จการทหาร วัฒนธรรมประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ สำนึกประชาธิปไตยของประชาชนยังไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ การเลือกตั้งโดยภาพรวมแล้วไม่อาจกล่าวได้ว่าสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของสังคมไทย ไม่อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนได้โดยบริสุทธิ์ยุติธรรม
     
      หลักนิติธรรมทางรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในส่วนพระมหากษัตริย์ก็แตกต่างกับประเทศอื่น
     
      มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญประเทศไทยนับตั้งแต่ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมาบัญญัติว่า
     
      อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
     
      แสดงหลักนิติธรรมในประการสำคัญประการหนึ่งว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่พระมหา กษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
     
      หลักนิติธรรมทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์และประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ไม่เคยมีในประเทศอื่น มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเสนอความคิดในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนนี้ โดยการขนานนามว่า.
     
      ลัทธิราชประชาสมาศัย
     
      การกระทำใดๆ ที่มีแนวโน้มไปในทางพยายามแยกพระมหากษัตริย์ไทยออกจากประชาชนของพระองค์จึงมิบังควร
     
      รวมทั้งการเสนอหลักการว่าการใช้พระราชอำนาจเป็นเรื่องระหว่างพระองค์กับรัฐบาลเท่านั้น
     
      การทำความเข้าใจในประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากในยุคปัจจุบัน
     
      เพราะยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ล่อแหลมอย่างยิ่ง !
     
      ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก่อให้เกิดการนำแนวคิดนำข้อดีของระบบกึ่งประธานาธิบดี (Semi-Presidential System) มาผสมผสานในโครงการสร้างพื้นฐานทางการเมืองของประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ด้วยมาตรการหลายๆ ประการ
     
      เกือบ ๆ จะแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติ
     
      เพิ่มมาตรการทางกฎหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความเป็นผู้นำมากขึ้น
     
      เสมือนมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยหมายเลข 1 ของผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองเสมือนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
     
      แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงบังคับผู้สมัคร ส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้การย้ายออกจากพรรคการเมืองทำได้ยาก
     
      หลักการพื้นฐานเช่นนี้ เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยภายใต้สภาพสังคมวิทยาทางการเมืองที่กล่าวได้ว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเงื่อนไขเดิมอย่างน้อย 3 ประการ คือ
     
      ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างชนบทกับเมือง
     
      วัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่ยังคงหยั่งรากลึก เป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตย
     
      การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ไม่มีพัฒนาการของรัฐบาลท้องถิ่น
     
      และเมื่อประกอบส่วนเข้ากับระบบบริโภคนิยมที่แผ่ซ่านเข้าครอบงำจิตสำนึกและจิตวิญญาณของคนไทย
     
      รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่กลุ่มทุนเก่าอ่อนแอลงอย่างมาก
     
      ทำให้การเมืองใหม่กลายเป็นการเมืองของเงินที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา
     
      ทำให้รัฐบาลที่มาจากพันธมิตรกลุ่มทุนใหม่เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา
     
      ทำให้ผู้นำของรัฐบาลใหม่ที่มาจากพันธมิตรของกลุ่มทุนใหม่เป็นผู้นำที่เต็มไปด้วยความอหังการมมังการเย่อหยิ่งจองหองและไม่สนใจขนบประเพณีใดมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
     
      ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าเรายึดมั่นในคำกล่าวของนายธงทอง จันทรางศุ ว่าเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องที่สุด
     
      การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องภายในระหว่างพระองค์กับรัฐบาล
     
      และจะเปิดเผยมิได้
     
      ขอถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นในกาลอนาคตข้างหน้า 5 ปี 10 ปี ?
     
      เพราะเท่ากับในหลักนิติธรรมเดิม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน มี รัฐบาล ที่อ้างว่ามาจากความชอบธรรมจากชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเข้ามาแทรกอยู่ตรงกลาง !
     
      ............................
     
      เราไม่ได้ไปไกลถึงขั้นที่จะตัดรัฐบาลออกจากความเป็นอันหนึ่งเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน
     
      เราไม่ได้ไปไกลถึงขั้นที่จะเปิดเผยการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทุกกาละทุกเทศะทุกเรื่องราวและทุกเหตุการณ์
     
      รัฐบาลยังคงเป็นตัวแทนของประชาชน
     
      ตราบเท่าที่รัฐบาลยังคงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และสัตย์ซื่อในคำปฏิญาณที่มีให้กับพระมหากษัตริย์
     
      รัฐบาลยังคงเป็นตัวแทนของประชาชน
     
      ตราบเท่าที่รัฐบาลยังยึดมั่นในคลองแห่งธรรม
     
      เราเห็นว่า -- หลักการของนายธงทอง จันทรางศุ นั้นใช้ได้ในสถานการณ์ทั่วไป สถานการณ์ปกติ
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ดี
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ไม่ชั่วจนเกินไป
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มีอำนาจมากเกินไป !
     
      เราเห็นว่า -- หลักการของนายธงทอง จันทรางศุ ใช้ไม่ได้ในสถานการณ์พิเศษ
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลชั่ว
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลคดโกงทุกรูปแบบ
     
      สถานการณ์ที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจมากเกินไป !!
     
      นี่คือความเชื่อโดยบริสุทธิ์ของเรา
     
      อยากขอถามนายธงทอง จันทรางศุ ที่อ้างความเป็นราชเสวก ความเป็นข้าราชการประจำ ความเป็นคนที่ ได้ให้คำสัตย์คำจริงไว้กับตัวเองแล้วว่าจักยอมพลีแม้ชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และหากมีการล่วงละเมิดพระราชอำนาจเกิดขึ้นจริง เหลือเกินว่าท่านเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้คืออะไร
     
      สถานการณ์ทั่วไป สถานการณ์ปกติ
     
      หรือสถานการณ์พิเศษ
     
      แต่ขอให้นายธงทอง จันทรางศุ ช่วยถอดหัวโขนของความเป็นข้าราชการประจำที่กระโดดข้ามจากสายวิชาการมานั่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลชุดนี้ออกเสียก่อน ถ้าหากว่ามันยังพอถอดได้ มันไม่ได้ผนึกติดแนบแน่นกับหนังศีรษะจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะชิ้นหนึ่งไปแล้ว
     
      เพราะอยากให้นายธงทอง จันทรางศุ ตอบในฐานะของพสกนิกรชาวไทยผู้ภักดี เช่นกันกับที่ปู่ย่าตายายของท่าน และของพวกเราทุกคนได้บำเพ็ญกรณีมาแล้วในอดีต และได้มอบภารกิจศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นมรดกแก่เราผู้เป็นลูกหลาน
     
      ช่วยตอบหน่อยเถอะ นายธงทอง จันทรางศุ ว่าสถานการณ์ขณะนี้คืออะไร
     
      สถานการณ์ทั่วไป สถานการณ์ปกติ
     
      หรือสถานการณ์พิเศษ
     
      เพราะมีแต่ตอบคำถามประการนี้ได้เท่านั้น จึงจะตอบคำถามสำคัญที่สุดข้างต้นที่เรายกขึ้นมาได้
     
      ลักษณะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคตข้างหน้า 5 ปี 10 ปีจะเป็นอย่างไร ?
     
      ภายใต้สถานการณ์ที่หลักนิติธรรมเดิม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน มี รัฐบาล ที่อ้างว่ามาจากความชอบธรรมจากชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไป และมีอำนาจกว้างขวางมากจากนวัตกรรมของระบบกึ่งประธานาธิบดี เข้ามาแทรกอยู่ตรงกลาง !
     
      นี่คือความเชื่อโดยบริสุทธิ์ของเรา
     
      ..................................
     
      อันที่จริง เราเห็นว่าอย่างน้อยที่สุดนายธงทอง จันทรางศุ ก็พูดถูกอยู่ประโยคหนึ่ง
     
      เป็นประโยคแรกนำเรื่องก่อนเข้าสู่การกล่าวในเชิงหลักการ
     
      นายธงทอง จันทรางศุ พูดไว้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ว่า....
     
      สิ่งที่เกิดนั้นไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
     
      ใช่แล้ว !
     
      ถูกต้องที่สุด !!
     
      โดยภาพรวมแล้วในยุคสมัยนี้ คนไทยรุ่นใหม่ๆ และผู้นำทางการเมืองบางคน ดูเหมือนจะเข้าใจ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผิดไปจากเดิม
     
      จึงปล่อยให้มีการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจบ่อยครั้ง
     
      เวลามีใครมาชี้ให้เห็น ก็หาว่า ดึงฟ้าต่ำ บ้าง พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง อย่าดึงพระองค์มาเกี่ยวข้อง บ้าง
     
      หรืออ้างหลัก The King can do no wrong อย่างเกินความหมาย
     
      ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ขึ้นมาว่า....
     
      พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงอยู่เหนือการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องใดๆ ในทางการเมืองไม่ได้เลย
     
      ทรงสถิตอยู่ในฐานะที่เป็นเพียงสัญลักษณ์
     
      มีหน้าที่แต่เพียงการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กราบบังคมทูลเสนอขึ้นไปเท่านั้น
     
      ฟังดูเหมือนดี เหมือนถูกต้อง แต่จริงๆ แล้วนี่คือความคิดที่อันตราย
     
      เพราะถ้าคิดกันอย่างนี้ ก็เหมือนเรามีพระมหากษัตริย์ไว้สำหรับกราบไหว้ บูชา และไว้พูดถึงด้วยข้อความกินใจต่างๆ นานา เป็นต้นว่า ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แต่ไม่ต้องปฏิบัติตาม เหมือนกับมีพระองค์ไว้บนหิ้งบูชาเสมือนพระพุทธรูป ที่ก็กราบกันไป สวดมนต์กันไป แต่ผิดศีลผิดคำสอนในพุทธศาสนากันเป็นปกติ
     
      มีแต่ อามิสบูชา ไม่มี ปฏิบัติบูชา นั่นเอง
     
      หลัก The King can do no wrong นั้นมีไว้เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดทางการเมือง โดยในกิจการบ้านเมืองต่างๆ ก็ให้มี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มารับผิดชอบแทน
     
      แต่ไม่ใช่ให้พระองค์ไม่สามารถทรงทำอะไรได้เลย
     
      The King can do no wrong ไม่ใช่ The King can do nothing นะ !
     
      ถ้าปล่อยให้คนไทยทั่วไปคิดอย่างนี้มากขึ้นๆ เราก็จะทำลายลักษณะพิเศษของชาติไทยไป
     
      ซึ่งไม่ต่างกับการทำลายชาติ
     
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน อยู่เหนือเกล้า ทรงสามารถยุติเหตุการณ์วิกฤตในบ้านเมืองลงได้หลายครั้งหลายหน
     
      เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
     
      สงครามกลางเมืองกับ พคท. การเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ
     
      สงครามกับความยากจน โครงการพระราชดำริ
     
      เหตุการณ์ 17 20 พฤษภาคม 2535
     
      และ
     
      ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจพอเพียง, ทฤษฎีใหม่ ที่มองในมุมหนึ่งแล้วนี่คือ ฉันทมติรัตนโกสินทร์ ที่สู้กับ ฉันทมติวอชิงตัน ได้สบายๆ
     
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงอยู่ในราชสมบัติมาต่อเนื่องยาวนาน ไม่แพ้กษัตริย์พระองค์ใดในโลก รวมแล้ว 59 ปีเต็ม นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ปีหน้าจะครบ 60 ปีเต็ม เกือบจะเท่ารัชสมัยควีนวิกตอเรียที่ครองราชย์อยู่รวม 64 ปี จึงทำให้ทรงรู้ทรงเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองมาโดยตลอด เป็นแหล่งสะสมประสบการณ์ของบ้านเมืองไว้มากที่สุด
     
      มากกว่ารัฐสภา-รัฐบาล
     
      พระองค์ไม่ได้ทรงมีบารมีขึ้นมาจากทฤษฎี หากแต่โดยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
     
      พระองค์ทรงพิสูจน์พระองค์แล้วว่าเป็นสัจจะ
     
      แต่จู่ๆ หลักนิติธรรมเดิม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ก็มี รัฐบาล ที่อ้างว่ามาจากความชอบธรรมจากชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไป และมีอำนาจกว้างขวางมากจากนวัตกรรมของระบบกึ่งประธานาธิบดี เข้ามาแทรกอยู่ตรงกลาง !
     
      รัฐบาลที่ขึ้นครองอำนาจด้วยเงินและการโฆษณาชวนเชื่อ
     
      ยังไม่ผ่านการพิสูจน์ตนเอง
     
      สิ่งที่เกิดนั้นไม่เป็นธรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
     
      ......................................
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นพสกนิกรคนหนึ่ง
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนคนหนึ่ง
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ย่อมมองเห็นภาพรวมที่เกิดขึ้น
     
      วันที่ 8 ตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในระบบบูรณาการ หรือผู้ว่าฯซีอีโอ ทรงย้ำให้ทุกคนเน้นการประสานงาน-อย่าประสานงา และอย่าทุจริตโดยเด็ดขาด !
     
      พระบรมราโชวาทที่จับใจประชาชนทั่วไป ผ่านข่าวในพระราชสำนัก เมื่อค่ำวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ก็คือ
     
      ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง, แช่งให้มีอันเป็นไป !
     
      ท่านต้องห้ามไม่ให้มีการทุจริตขึ้น แล้วท่านจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอที่มีประสิทธิภาพ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง แช่งให้มีอันเป็น พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าขอให้มีอันเป็นไป ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจจะทำ ขอให้ต่ออายุได้ถึงร้อยปี หรือถ้าอายุมากแล้วก็แข็งแรง ประเทศไทยจะรอดพ้นอันตรายอย่างมาก
     
      ในพระบรมราโชวาทองค์นี้ยังทรงรับสั่งว่าพระองค์ท่านเป็นพระราชาซีอีโอ และทรงปฏิบัติพระราชกิจมา 50 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ปี 2496 ที่ทรงเริ่มโครงการตามพระราชดำริแห่งแรกที่เขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อจากนั้นทรงขยายโครงการไปตามพื้นที่ทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทรงแก้ปัญหาทั้งเรื่องดิน, น้ำ, ป่าไม้, ข้อจำกัดในการทำการเกษตรแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสร้างอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เลี้ยงตัวเอง
     
      นับเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสาปแช่งผู้ทุจริตให้เป็นที่ปรากฏต่อผู้คนทั้งแผ่นดิน
     
      สะท้อนให้เห็นว่า การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในบ้านเมืองเป็นอันตรายยิ่งที่ถึงขนาดทำให้บ้านเมืองพัง
     
      นี่เป็น พระราชอำนาจในการแนะนำตักเตือน รูปแบบหนึ่งหรือไม่ ?
     
      ถ้าใครดูโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดข่าวการพระราชทานพระบรมราโชวาทดังกล่าว เหมือนกับที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ดู ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อทรงตรัสถึงเรื่องนี้ ทรงยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายชี้ย้ำอย่างหนักแน่นเอาจริงเอาจัง
     
      แต่แล้วเป็นอย่างไร ?
     
      ในรอบปี 2547 2548 หลังพระบรมราโชวาทปรากฏออกมา และมีการตอกย้ำอีกนับสิบๆ ครั้งจาก ข้าแผ่นดิน หลายต่อหลายคน
     
      แต่...การทุจริตหาได้น้อยลงไม่ !
     
      และ...การเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการทุจริตก็หาได้เข้มข้นขึ้นเท่าที่ควรจะเป็นไม่ !!
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผิดมากใช่ไหมที่นำเรื่องนี้มาพูดมาเตือนรัฐบาล
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผิดมากใช่ไหมที่ไม่ยึดหลักการเดียวกับนายธงทอง จันทรางศุ ที่บอกว่า การใช้พระราชอำนาจเหล่านี้มีข้อพิจารณาสำคัญก็คือว่า เป็นการภายในระหว่างรัฐบาลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือเงียบไว้ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องวิจารณ์
     
      เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา, กรณีสมเด็จพระสังฆราช, กรณีทำผิดขนบธรรมเนียมประเพณีหลายวาระ โดยเฉพาะการนั่งเป็นประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามของนายกรัฐมนตรีในพิธีทำบุญประเทศเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2548, กรณีเดินสวนทางแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยสร้างกระแสบริโภคนิยมขึ้นมาท่วมท้นแผ่นดิน และ ฯลฯ
     
      รวมทั้งกรณีโผทหารที่เกิดการล่าช้าเป็นประวัติศาสตร์ เกิดการผิดประเพณีเป็นวัติศาสตร์
     
      และจบลงด้วยการเปลี่ยนโผในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผิดมากใช่ไหมที่นำเรื่องนี้มาพูดมาเตือนรัฐบาล
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผิดมากใช่ไหมที่ไม่ยึดหลักการเดียวกับนายธงทอง จันทรางศุ ที่บอกว่า การใช้พระราชอำนาจเหล่านี้มีข้อพิจารณาสำคัญก็คือว่า เป็นการภายในระหว่างรัฐบาลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือเงียบไว้ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องวิจารณ์
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเพียงพสกนิกรตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
     
      ไม่ใช่ราชเสวก ไม่ใช่ข้าราชการประจำ ไม่ใช่คนที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับภาพลักษณ์ของความเป็นข้าแผ่นดิน
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล เพียงแต่ตระหนักว่า.....
     
      เมื่อใดใครก็ตามเห็นพระเจ้าอยู่หัวเป็นเพียงแค่ตรายาง เมื่อนั้นแสดงว่าประเทศไทยสามารถซื้อขายได้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญถูกร่างโดยนักการเมือง พรรคการเมืองเกิดขึ้นเพราะทุน เมื่อทุนสร้างพรรคการเมือง พรรคการเมืองซื้อนักการเมือง นักการเมืองออกกฎหมาย ก็สามารถซื้อขายประเทศได้ให้พรรคพวกตัวเอง
     
      นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผิดมากใช่ไหมที่นำเรื่องนี้มาพูดมาเตือนรัฐบาล
     
      เลิกรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ยังไม่พอ
     
      ยังจะต้องให้ร้ายป้ายสี
     
      เพื่อปูทางไปสู่กระบวนการจัดฉากให้ประชาชนในจัดตั้งมาแจ้งความดำเนินคดี แล้วให้เจ้าพนักงานสอบสวนรับลูกต่อดำเนินการตามกฎหมายในข้อหาฉกรรจ์ อย่างนั้นใช่ไหม ?
I got the newlife HooYa!!!
hed
Verified User
โพสต์: 187
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 2

โพสต์

โปรดใช้วิจารณญาณในการบริโภคสื่อ
ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 ข่าว
เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรบริโภค :!:  :!:  :!:
I got the newlife HooYa!!!
metheeb
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เลิกซะทีเถอะครับ อ้างนายหลวง หรือพระเทพ มาด่านายก
อยากด่าก็ด่าตรงๆเลยขอร้องอย่าดึงท่านมาเกี่ยว แมนๆหน่อย เบื่อ
VI พันธุ์ทาง
Verified User
โพสต์: 171
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ผมว่าควรเลิกอ้างทั้ง2ฝ่ายนะครับ  
อสมท.เองก็อ้างเบื้องสูงเหมือนกัน  

หรือ กรณี สติ๊กเกอร์ไปถึงไหนแล้วครับ
suwicha
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 330
ผู้ติดตาม: 19

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 5

โพสต์

กระทู้นี้คงถูกใจคุณสนธิมั่กๆ
เมืองไทยนี่ดีอย่าง  เรามีแต่นักการเมืองแย่ๆ  แต่ไม่มีสื่อแย่ๆเลยแม้แต่คนเดียว
:rofl:  :rofl:  :rofl:
MisterK
Verified User
โพสต์: 857
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 6

โพสต์

อ่านแล้วบอกตรง ๆ ว่า "น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง"  กับ "ไปไหนมาสามวาสองศอก" ครับ     มีแต่เรื่องที่พูดให้มันดูยาก ๆ กับเรื่องเพื่อปลุกระดมมวลชนซะ 99%

ว่าแต่เขาบอกกันว่าเรื่องของศาสนากับการเมืองมันละเอียดอ่อนและชวนทะเลาะ    รู้สึกกระทู้แบบนี้เพลา ๆ จากบอร์ดเรื่องการลงทุนก็ดีนะครับ
MisterK
Verified User
โพสต์: 857
ผู้ติดตาม: 0

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำไร้คุณธรรม เมื่อนั้นประชาชนจะถวิลหา....

โพสต์ที่ 7

โพสต์

ง่ะ มาอ่านอีกรอบมันหวาดเสียวมากนะครับนั่น    ข้อความของท่านนี่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลยนะ      แถวท้าย ๆ นั่นน่ะ     นี่แหละถึงว่าสมควรหยุดทำอย่างนี้ได้แล้ว

moderator edit ท้าย ๆ ทิ้งหน่อยก็ดีนะครับ   หวาดเสียว :(
ล็อคหัวข้อ