วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 31

โพสต์

IMF คาดเศรษฐกิจโลกหดตัว 1.3%ปีนี้ หวั่นคนตกงานทั่วโลกอย่างน้อย 10 ล้านคน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 1.3% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอาจทำให้ประชาชนทั่วโลกตกงานอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน

"เศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในระดับที่ลึกที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ Great Depression และอาจส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ  IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 1.3% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวลงเพียง 0.5%" IMF กล่าวในรายงาน World Economic Outlook
        รายงานของ IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและความเชื่อมั่นทั้งในภาคเอกชนและผู้บริโภค ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงควรเร่งสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงินและกระตุ้นการหมุนเวียนในตลาดสินเชื่อให้คล่องตัวมากขึ้น จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอย
        IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 2.8% ในปีนี้ ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 63 ปี ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว 6.2% เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว 6% เศรษฐกิจเม็กซิโกหดตัว 3.7% และเศรษฐกิจแคนาดาหดตัว 2.5%
        ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพียง 6.5% ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวเพียง 4.5%
        IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกที่หดตัวลงในปีนี้อาจทำให้ประชาชนทั่วโลกตกงานอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน โดยคาดว่าอัตราว่างงานในสหรัฐจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.9% ในปีนี้ และ 10.1% ในปีหน้า ขณะเดียวกันคาดว่าอัตราว่างงานในเยอรมนีจะพุ่งขึ้นแตะ 7.4%ในปีนี้ และ 9.2% ในปีหน้า และอัตราว่างงานในอังกฤษจะพุ่งแตะ 7.4% ในปีนี้ และ 9.2% ในปีหน้า
        ส่วนในปีหน้านั้น IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยเชื่อว่าจะขยายตัวราว 1.9% หลังจากวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นด้วย
        IMF คาดว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะทรงตัว ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวลง 1% และเศรษฐกิจอังกฤษจะหดตัวลง 0.4% ส่วนประเทศอื่นๆ รวมถึงญี่ปุ่น รัสเซีย แคนาดา และเม็กซิโกจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัวรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ
        ทั้งนี้ IMF เรียกร้องให้ประเทศทั่วโลกร่วมมือกันมากขึ้น ทั้งในด้านการใช้มาตรการการคลัง ผ่านการลดหย่อนภาษีหรือกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และเตือนว่าไม่ควรที่จะใช้นโยบายกีดกันการค้า เพราะจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโลก
        การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก IMF ออกรายงาน Global Financial Stability Report (GFFSR) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าสถาบันการเงินทั่วโลกอาจขาดทุนรวมกันราว 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เนื่องจากวิกฤตการณ์ในตลาดการเงินซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ และระบุว่าวิกฤตการณ์การเงินโลกซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากสหรัฐในช่วงเดือนส.ค.ปี 2550 จะส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนในภาคเอกชนทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ สำนักข่าวเอพีรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 32

โพสต์

World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 23 เม.ย. 2552

มอร์แกน สแตนลีย์ เผยขาดทุนกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยธนาคารขาดทุน 578 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในสภาพที่ถดถอย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากมูลค่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก ส่งผลให้หนี้สินในบัญชีของมอร์แกน สแตนลีย์เพิ่มขึ้นมาก

- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในปีหน้า จากปัจจัยหนุนของอุปสงค์สินค้าส่งออกที่แข็งแกร่ง รวมถึงแผนการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาจขยายตัวขึ้นได้ 0.5% ในปีหน้า หลังจากที่หดตัวลง 6.2% ในปีนี้ ขณะที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศอุตสาหกรรมจะขยายตัว 0.8% หลังจากที่หดตัวลง 5.6% ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจจีน อินเดีย และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆอาจขยายตัวได้ถึง 5.3% หลังจากลดลง 3.3% ในปีนี้  

        - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหดตัวลง 1.3% ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอาจทำให้ประชาชนทั่วโลกตกงานอีกอย่างน้อย 10 ล้านคน

        - แอปเปิล อิงค์ เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1 พุ่งขึ้น 15% จากระดับปีที่แล้ว แตะ 1,205 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดขายที่สดใสของไอโฟน ซึ่งเข้ามาช่วยชดเชยความต้องการพีซีที่อ่อนตัวลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

        - เดวิด เคลเลอร์มานน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินวัย 41 ของเฟรดดี แมค เสียชีวิตในบริเวณบ้านพักของเขาช่วงเช้าวันนี้ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

        - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิขของกลุ่มยูโรโซนอาจหดตัวลงถึง 4.2% ในปีนี้ พร้อมเตือนว่าสถานการณ์อาจย่ำแย่กว่าที่คาดหากสหภาพยุโรปไม่เร่งแก้ปัญหาการเงินในภูมิภาคยุโรปตะวันออก

        - อีเบย์ อิงค์ (EBay Inc.) เผยยอดขายและกำไรสูงกว่าคาดการณ์ นับเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าความพยายามในการปรับปรุงระบบการประมูลบนเว็บไซต์และไซทต์ขายปลีกที่มีการกำหนดราคานั้นได้ผล

        - เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มขยายตัวขึ้นอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ได้มีการอนุมัติมาตรการกระตุ้นด้านการเงินสูงถึง 15.4 ล้านล้านเยน

        - เจเนอรัล มอเตอร์ คอร์ป (จีเอ็ม) เตรียมปิดโรงงานหลายแห่งในสหรัฐเป็นการชั่วคราวนานสูงสุด 9 สัปดาห์ในช่วงซัมเมอร์นี้ หลังยอดขายร่วงลงจนทำให้ยอดรถค้างสต็อกเพิ่มขึ้น

        - โคคา-โคล่า ผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่สุดของโลกเชื่อมั่นว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังเติบโตต่อไปได้ และหวังที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวด้วยการขยายส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น

        - แมคโดนัลด์ คอร์ป เผยกำไรไตรมาสแรกขยายตัวเกือบ 4% เนื่องจากลูกค้าทั่วโลกต่างหันมาทานอาหารราคาประหยัดของแมคโดนัลด์ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะไก่ทอด อาหารเช้า และเครื่องดื่ม มียอดขายพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

        - รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยว่า งบประมาณที่รัฐบาลนำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินภายในประเทศพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.4 ล้านล้านปอนด์ หรือ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในขณะนี้ และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวอาจพุ่งขึ้นอีกเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินส่งผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่าสถาบันการเงินในอังกฤษอาจต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น

        - บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดขายทั่วโลกของโตโยต้าในปีงบประมาณ 2551 ร่วงลง 11.7% จากระดับปีที่แล้ว เหลือเพียง 8.33 ล้านคัน สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

        - พอสโค บริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า บริษัทได้เสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานแปรรูปเหล็กทั้ง 2 แห่งในประเทศอินเดียและไทย ซึ่งโรงงานดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวด้านอุปสงค์จากผู้ผลิตรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

        - ภาพยนตร์ของ เฉินหลง ถูกกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง หลังจากที่ดาราหนังบู๊ชื่อดังกล่าวในทำนองว่า ชาวจีนอาจจำเป็นต้องถูกควบคุม เนื่องจากการให้เสรีภาพทางการเมืองมากเกินไป อาจทำให้จีนเกิดความวุ่นวายเหมือนที่เกิดขึ้นในฮ่องกงและไต้หวัน

        - ธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย refinancing rate ลง 0.5% แตะ 12.5% จากระดับเดิมที่ 13% มีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอตัวลง นอกจากนี้ ยังได้ลดอัตราดอกเบี้ย repurchase agreement operations ระยะเวลา 1 วันลง 0.5% แตะ 9.5%
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 33

โพสต์

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 เมษายน 2552

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 เม.ย. 2552

SUMMARY:
        1. รองนายกฯ เผย จัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เสร็จสิ้น เม.ย.52
        2. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดจีดีพีไทยปี2552 ติดลบร้อยละ 4.3 สูญ 1.42 ล้านบาท

3. IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -1.3 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. รองนายกฯ เผย จัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เสร็จสิ้น เม.ย.52
        -  รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เผยจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง มูลค่าการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท จะเสร็จสิ้นในปลาย เม.ย.52 และจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณา 6 พ.ค.52  โดยการกระตุ้นรอบนี้จะเป็นการเน้นด้านเศรษฐกิจ ได้แก่โครงการระยะกลาง-ยาวถึง 3 ปี (2553-2555) ทั้งโครงการด้านแกษตร การขนส่ง โทรคมนาคม รวมถึงการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านคน โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากงบประมาณ การร่วมทุนภาคเอกชน และเงินกู้ โดยคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้อีกร้อยละ 5.0 ต่อปี  

        -  สศค. วิเคราะห์ว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยการอัดฉีดวงเงินงบประมาณกว่า 1.56 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท นั้น จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 2 %yoy และเพิ่มการจ้างงานได้ปีละประมาณ 3 6 แสนคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดเงิน ความรวดเร็ว และการเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนของภาคเอกชน จาก Sensitivity ทำให้สศค. คาดว่า ทุกๆ 1 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่าย จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ +0.4% จากกรณีฐาน  

2. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดจีดีพีไทยปี2552 ติดลบร้อยละ 4.3 สูญ 1.42 ล้านบาท
        -  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ปรับลดตัวเลขจีดีพีไทยปี 52 ติดลบร้อยละ 4.3 ต่อปีหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ 1.42 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กรณี เป็นไปได้มากสุด (มีโอกาส 60%) หากการเมืองคลี่คลายไตรมาส 3 ศ.ก.ไทยจะขยายตัวติดลบร้อยละ 4.3 ต่อปี จากที่คาดการณ์เดิมติดลบร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวมากสุดรวมถึงต้องรีบเร่งฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว

        -  สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองมากที่สุด โดยส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างมากต่อผู้บริโภค และกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้หลักและมีความเชื่อมโยงทั้งการเป็นแหล่งการจ้างงาน ทำให้ GDP ไทยหดตัวต่ำกว่าช่วงที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี

3. IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -1.3 ต่อปี
        -  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกประจำปี 52 ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และจะกลับมาขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ 1.9 ต่อปี ในปี  53  โดยเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) จะหดตัวถึงร้อยละ -2.8 -4.2 และร้อยละ -6.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตเพียงร้อยละ 6.5 ต่อปี ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย ทางด้านเศรษฐกิจไทย IMF คาดการณ์ว่าจะหดตัวถึงร้อยละ -3.0 ต่อปี

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้ IMF ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจโลกมาจากการที่เศรษฐกิจของสองกลุ่มประเทศหลักหดตัวลดลงมาก ได้แก่ (1) กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม G3  เกาหลีใต้ และยุโรปตะวันออก และ (2) กลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อันได้แก่ รัสเซีย บราซิล เม็กซิโก และยุโรปตะวันออก เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว อนึ่ง การที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างเรื้อรังและรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้รับผลกระทบที่รุนแรงตาม อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการจีน 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะไทยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้ภาวะการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกไม่เรื้อรังไปมากกว่านี้และอาจจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวในระดับ 8% ภายใน Q2 และ Q3 ของปีนี้ จาก Sensitivity ทำให้สศค. คาดว่า ทุกๆ 1% ที่เศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ +1.0% จากกรณีฐาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 34

โพสต์

World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดหมูทั้งในเม็กซิโกและประเทศอื่นๆ จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลก
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลบ 51.29 จุด หรือ 0.64% แตะที่ 8,025.00 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดปรับขยับลง 8.72 จุด หรือ 1.01% แตะที่ 857.51 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 14.88 จุด หรือ 0.88% แตะที่ 1,679.41 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เนื่องจากความกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดหมูจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐและส่งผลกระทบต่อตลาดทั่วโลก นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่พุ่งขึ้นด้วย
        สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.41 ดอลลาร์ หรือ 2.74% ปิดที่ 50.14 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 48.01-51.45 ดอลลาร์

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เพราะได้รับแรงกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ และความวิตกกังวลที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดหมูอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
         สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่ 908.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 5.90 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 905.80-919.70 ดอลลาร์

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เนื่องจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดหมูกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูในสหรัฐและเม็กซิโกพุ่งสูงขึ้น
        สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 1..40% เมื่อเทียบกับเงินฟรังค์สวิสที่ 1.1549 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.1390 ฟรังค์/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลง 0.40% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 96.760 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 97.150 เยน/ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์เพราะเชื่อว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูจะทำให้ยอดขายวัคซีนของบริษัทเวชภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นด้วย
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนี FTSE 100 ปิดบวก 11.02 จุด หรือ 0.27% แตะที่ 4,167.01 จุด หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 4,088.67-4,179.17 จุด
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 35

โพสต์

ยอดขายหน้ากาก-ถุงมือ-ยาต้านไวรัสในสหรัฐพุ่งกระฉูด หลังไข้หวัดเม็กซิโกแพร่กระจายในอเมริกาเหนือ

ยอดขายยาต้านไวรัส หน้ากากอนามัย และถุงมืออนามัยในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโกแพร่ระบาดทั่วอเมริกาเหนือ โดยบริษัท ซีวีเอส แคร์มาร์ค และบริษัท ไรท์ เ อด คอร์ป ซึ่งเป็นห้างจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพรายใหญ่ของสหรัฐได้เพิ่มออเดอร์ยาทามิฟลูจากบริษัท โรช โฮลดิ้ง ขณะที่บริษัท 3M และบริษัท อัลฟา โปร เทค เร่งผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อให้เพียงพอต่อดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้น
ปีเตอร์ ซอเรนติโน นักวิเคราะห์จาก Huntington Asset Advisors Inc กล่าวว่า บริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อการป้องกันและรักษาสุขภาพต่างกอบโกยกำไรกันถ้วนหน้า เนื่องจากดีมานด์สินค้าพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ไวรัสไข้หวัดเม็กซิโกมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็น 149 รายแล้ว
        องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโก (swine flu) จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนและกระจายต่อไปยังชุมชน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการประชุมฉุกเฉินของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข  ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เม็กซิโกในเม็กซิโกพุ่งขึ้นแตะระดับ 149 คนแล้วในขณะนี้ และแพร่กระจายไปยังสหรัฐ แคนาดา รวมถึงในยุโรป
        นายเกรกอรี ฮาร์ทเทิล โฆษกของ WHO กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐดำเนินการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดหมูอย่างเร่งด่วน พร้อมแถลงยอดผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดเม็กซิโกว่า ผู้ติดเชื้อในเม็กซิโกมี 26 ราย ในสหรัฐ 20 ราย ในแคนาดามี 6 ราย และสเปน 1 ราย ซึ่งสเปนเป็นชาติแรกในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อ
        ทั้งนี้ หุ้นซีวีเอสพุ่งขึ้น 19 เซนต์ แตะที่ 29.92 ดอลลาร์ ในช่วงเช้านี้ ขณะที่หุ้น 3M ดีดขึ้น 35 เซนต์ แตะที่ 57.35 ดอลลาร์ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 36

โพสต์

SWINE FLU: WHO เพิ่มระดับเตือนภัยไข้หวัดเม็กซิโกเป็นระดับ 5 หลังมีผู้เสียชีวิตในสหรัฐ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (swine flu) จากระดับ 4 เป็น 5 ซึ่งบ่งชี้ว่าไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกใกล้จะเกิดการระบาดทั่วโลก โดยการตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นภายหลังการประชุมฉุกเฉินของคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดที่เมือเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้

การตัดสินใจยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกมีขึ้นหลังจากดร.ริชาร์ด เบสเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐยืนยันว่า เด็กวัย 23 เดือนจากรัฐเท็กซัสเสียชีวิตแล้วหลังจากติดเชื้อไข้หวัดเม็กซิโก ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกรายแรกในสหรัฐ และยังถือเป็นรายแรกนอกประเทศเม็กซิโก
        นางมาการ์เร็ต ชาน ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า การเพิ่มระดับเตือนภัยไข้หวัดเม็กซิโกในครั้งนี้เป็นสัญญานเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้เร่งดำเนินการสกัดกั้นการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วน และทุกประเทศควรดำเนินการพร้อมกันในทันที อย่างไรก็ตาม นางชานเชื่อว่ารัฐบาลทั่วโลกเคยมีประสบการณ์กับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่มาแล้ว รวมถึงไข้หวัดนก จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ได้
        ผู้เชี่ยวชาญหลายคนลงความเห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งที่โรคซาร์สระบาดในปีพ.ศ.2546 โดยขณะนี้เม็กซิโกต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ ล่าสุดนายอาร์ทูโร่ เมนดิคัทที ประธานหอการค้า บริการ และการท่องเที่ยวของเม็กซิโก ประเมินว่าการปิดโรงภาพยนตร์ งานสังคม ไนท์คลับ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก ทำให้กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ได้รับความเสียหายมูลค่าอย่างน้อย 777 ล้านเปโซ หรือ 57 ล้านดอลลาร์ต่อวัน สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 37

โพสต์

มติFED คงดอกเบี้ย 0-0.25%

FED มีมติคงดอกเบี้ย 0-0.25% คาดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทุเลาลงแล้ว

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น  (fed funds rate) ที่ระดับ 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีพ.ศ.2497 โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาะถดถอยนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีพ.ศ.2550 ซึ่งเป็นเหตุให้ตัวเลขว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5 ล้านคน
         

การประชุมครั้งล่าสุดซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย.นั้น คณะกรรมการเฟดระบุว่ามีสัญญาณบ่งชี้บางอย่างที่บ่งชี้ว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะทุเลาลง
         

"เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นปานกลางตั้งแต่เดือนมี.ค. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะตึงตัวในตลาดการเงินเริ่มบรรเทาลงแล้ว เฟดเชื่อว่าตลาดการเงินจะเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลและเฟดร่วมมือกันใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและระบบการคลังภายในประเทศ นอกจากนี้ เฟดเชื่อว่าการที่สหรัฐมีกลไกตลาดที่ดี จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม เฟดยังต้องจับตาดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ" แถลงการณ์ของเฟดระบุ
         

เฟดยังคงยืนยันเหมือนในการประชุมครั้งที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการเฟดจะทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียภาพ เนื่องจากสหรัฐยังคงเผชิญปัญหาแทบทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต การสร้างบ้าน และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เฟดกล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
         

เฟดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวประมาณ 0.5-1.3% ในปีนี้ มากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวเพียง 0.2-1.1% โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวตลอดทั้งปี 2552 ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวทั้งปีเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และคาดว่าอัตราว่างงานในสหรัฐจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 8.5-8.8% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 7.1-7.6%
         

การที่เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อคืนนี้ตามเวลาประเทศไทยนั้น เป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แต่ในการประชุมครั้งนี้ เฟดไม่ได้ประกาศการดำเนินนโยบายใหม่ๆแต่อย่างใด แม้มีรายงานว่าในระหว่างการประชุมนั้นคณะกรรมการเฟดได้หารือกันเรื่องอาจมีการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก (swine flu) หลังจากที่หลายฝ่ายกังวลว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงขึ้น
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 38

โพสต์

นายกฯ ชี้สัญญาณศก.ไทยเริ่มฟื้น เชื่อการเมืองสงบทุกฝ่ายหันหน้ากู้วิกฤติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Money Expo 2009 โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รวมไปถึงสถานการณ์ของตลาดทุนไทยที่มีแนวโน้มการซื้อขายหลักทรัพย์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงปีหน้า
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่เร่งนำออกมาใช้นั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ และน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของไทยฟื้นคืนกลับมา ซึ่งการทำงานของทุกฝ่ายก็เพื่อเดินหน้าช่วยกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        ส่วนปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของไทยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากพิจารณาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาจะเห็นได้ถึงการแสดงออกถึงพลังสามัคคีของคนไทยในเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ยึดมั่นต่อสถาบันหลัก และจงรักภักดีพระมหากษัตริย์ รวมถึงการยึดมั่นต่อพุทธศาสนา เชื่อว่าความสามัคคีปรองดองของคนในชาติจะเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้
        อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือความเชื่อมั่นในภาคการเงินจากที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการดำเนินธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้รัฐบาลพยายามเร่งสร้างบรรยากาศด้านการลงทุน เช่นส่งเสริมโครงการต่างๆ การค้ำประกันความเสี่ยงสินเชื่อเพื่อแบ่งเบาภาระให้สถาบันการเงิน
        ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามติดตามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับกลไกของตลาด ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าภาคการเงินจะตอบสนองความต้องการให้แกผู้ประกอบการได้ในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา
        นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้บ้านเมืองจะประสบปัญหารอบด้าน แต่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย เศรษฐกิจไทย และสังคมไทย เพราะปัญหาเศรษฐกิจทุกวันนี้ล้วนแต่เป็นปัญหามาจากภายนอก ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของไทยยังมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงิน และได้ผ่านประสบการณ์ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีศักยภาพทั้งด้านการผลิต การเกษตร และภาคอุตสาหกรรม หากรัฐบาลสามารถกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มขึ้นได้ก็จะช่วยให้ภาคการผลิตขยายตัวมากขึ้นและจะเป็นหลักที่สำคัญของพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 39

โพสต์

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน มีนาคม  และไตรมาสแรกของปี 2552

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกของปี 2552 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
        1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2552
           ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 103.6 (เดือน กุมภาพันธ์ 2552 คือ 103.1)
        2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับ
           2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5
           2.2 เดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 0.2
           2.3 เฉลี่ยช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.3
        3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (กุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ1.0) สาเหตุสำคัญมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยยังคงมีราคาสูง รวมทั้งราคาอาหารสดประเภทข้าว ผักและผลไม้ เนื้อสุกร ไข่และผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ เครื่องประกอบอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีราคาสูงขึ้น ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด วัสดุก่อสร้างและแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น
           3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 เป็นอัตราที่สูงขึ้นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 (เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ลดลงร้อยละ 0.3) ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ ร้อยละ 4.4 ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม มะนาว ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า สับปะรด แอ๊ปเปิ้ลและชมพู่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ข้าว ร้อยละ 0.2 เนื้อสุกร ร้อยละ 1.7 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.4 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.3 เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 0.1 (แยมผลไม้ และขนมหวาน) และอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 0.1 (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และปลากระป๋อง) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง คือ น้ำมันพืช ซอสพริก น้ำปลาและเครื่องดื่มรสชอกโกแลต เป็นต้น
           3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว (เดือนกุมภาพันธ์ 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.8) ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ร้อยละ 4.7 รวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าบริการส่วนบุคคล (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผม ใบมีดโกน และค่าแต่งผมสตรี) ในขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มและน้ำยาล้างห้องน้ำ) วัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์ กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคาและอิฐ) สุราและแบตเตอรี่รถยนต์ เป็นต้น
        4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนมีนาคม 2551 ลดลงร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 12.6 (น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ) และหมวดเคหสถาน ร้อยละ 5.0 (ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา) สำหรับ ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 9.3 (ข้าว ปลาและสัตว์น้ำ ไก่สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.5 (ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา ร้อยละ 0.8 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.5
        5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.3 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 26.5 ค่ากระแสไฟฟ้า ร้อยละ 27.1 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 43.7 เป็นสำคัญ โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 10.0 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 6.9
        6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
           ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2552 เท่ากับ 102.8 เมื่อเทียบกับ
           6.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
           6.2 เดือนมีนาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.5
           6.3 เฉลี่ยช่วงไตรมาสแรก (มกราคม - มีนาคม) ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.7
           โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง สินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ เครื่องปรุงอาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

        --ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่  6 พฤษภาคม 2552 --จบ--
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 40

โพสต์

IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2552

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปี 2552 เหลือ 1.3% เทียบกับที่ขยายตัว 5.1% ในปี 2551 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก และคาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวเป็น 4.3% ในปี 2553 ทั้งนี้ IMF เสนอแนะให้ประเทศในเอเชียปรับสมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจ และหันมามุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น (IMF, Reuters, 6 พ.ค. 2552)

------------------------------------------------
                Countries          2551  2552f  2553f
         ------------------------------------------------
                  Asia              5.1    1.3    4.3
        Industrial Asia            -0.2   -5.4    0.5
              - Japan              -0.6   -6.2    0.5
              - Australia           2.1   -1.4    0.6
              - New Zealand         0.3   -2.0    0.5
        Emerging Asia               6.9    3.3    5.4
            NIEs                    1.5   -5.6    0.8
                  - Hong Kong SAR   2.5   -4.5    0.5
                  - Korea           2.2   -4.0    0.5
                  - Singapore       1.1  -10.0   -0.1
                  - Taiwan          0.1   -7.5    0.0
                  - China           9.0    6.5    7.5
                  - India           7.3    4.5    5.6
            ASEAN-5                 4.9    0.0    2.3
                  - Indonesia       6.1    2.5    3.5
                  - Malaysia        4.6   -3.5    1.3
                  - Philippines     4.6    0.0    1.0
                  - Thailand        2.6   -3.0    1.0
                  - Vietnam         6.2    3.3    4.0
         ------------------------------------------------
               Note     :    f = forecasted.
               Source   :    IMF, May 2009.
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 41

โพสต์

เงินบาทเปิด 34.60/63 คาดวันนี้อ่อนค่าตามหลายสกุลเงินในภูมิภาค

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.60/63 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 34.58/60 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้เงินบาทน่าจะกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง หลังจากที่แข็งค่าติดต่อกันมาหลายวัน คงจะรีบาวน์นิดหน่อยแต่ไม่ไปไหนมาก ปัจจัยวันนี้คงดูจากทิศทางค่าเงินสกุลอื่นคงตามๆ กันหมด เพราะลงมาหลายวันแล้ว ตอนนี้คงเป็นเรื่องของที่ผ่านมาลงไปหนักๆ น่าจะเป็นเรื่องหลักมากกว่าเรื่องอื่น"นักบริหารเงิน กล่าว
        ส่วนสกุลเงินต่างประเทศช่วงเปิดตลาดวันนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.16/22 เยน/ดอลลาร์ ส่วนยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3566/3570 ดอลลาร์/ยูโร
        นักบริหารเงิน ให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ โดยวันนี้เงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าไปมากกว่า 34.50 บาท/ดอลลาร์ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คงจะต้องเข้ามาแทรกแซงอย่างเต็มตัว เนื่องจากวันนี้หลายสกุลเงินต่างปรับตัวอ่อนค่าลงแล้ว
        "ปัจจัยหลักคือต้องการรักษาค่าเงินให้ inline กับ regional มากกว่า เพราะถ้าฝืนไว้คงไม่ได้ แต่ถ้าหลุดจาก 50 ก็มีโอกาสที่แบงก์ชาติจะเข้ามา เพราะหลายสกุลวันนี้เริ่มอ่อนค่ากันแล้ว ถ้าบาทยังแข็งอยู่วันนี้แบงก์ชาติน่าจะเข้ามาได้เต็มตัว"นักบริหารเงิน ระบุ
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 42

โพสต์

พอล ครุกแมนคาดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวยากในระยะใกล้

 พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 แสดงความคิดเห็นว่า การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นแข็งแกร่งในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาเกิดจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ครุกแมนกลับมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากมาก

กระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากรัฐบาลทั่วโลกประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดัชนี MSCI World Index เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดตลาดหุ้นทั่วโลก พุ่งขึ้น 37% นับตั้งแต่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และหนุนดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 34% ในช่วงเวลาเดียวกัน
        "ผมคาดว่าอีกไม่นานกระแสคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นจะซาลง เพราะความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจจะดิ่งลงลึกถึงก้นเหวและดีดตัวขึ้น หรือลักษณะการเคลื่อนไหวแบบตัว V นั้น เกิดขึ้นได้ยากมากในระยะเวลาอันใกล้นี้" ครุกแมนกล่าว
        ก่อนหน้านี้ ครุกแมนแสดงความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐและยุโรปควรเพิ่มวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ราว 4% ของตัวเลขจีดีพี โดยเฉพาะยุโรปที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่อาจหลุดพ้นภาวะถดถอยได้ นอกจากนี้ ครุกแมนกล่าวว่า "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐควรอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี ส่วนในยุโรปน่าจะอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 1 ปี"
        กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 1.3%ในปีนี้ เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนม.ค.ว่าขยายตัว 0.5% โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นในระยะใกล้นี้ และการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความพยายามของรัฐบาลในการเสริมสร้างงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์และการใช้มาตาการกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 43

โพสต์

สกุลเงินเอเชียอ่อนค่านำโดยวอน-เปโซ หลังตลาดหุ้นปรับตัวลดลง

สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าลงโดยการนำของเงินวอนเกาหลีใต้และเงินเปโซฟิลิปปินส์ หลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงส่งผลให้นักลงทุนขาดความกระตือรือร้นที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

โดย 7 จาก 10 สกุลเงินที่มีการซื้อขายมากสุดในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นอ่อนค่าลงเมื่อเทียบเงินดอลลาร์ หลังนักลงทุนบางส่วนเห็นว่าดัชนี MSCI Asia Pacific ปรับตัวสูงขึ้นมากเกินไปในช่วง 6 วันที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันยอดส่งออกของจีนก็ร่วงหนักในเดือนเม.ย. ส่วนยอดส่งออกฟิลิปปินส์ก็ร่วงลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันแล้ว นอกจากนั้น เจเนอรัล มอเตอร์ ยังเผยว่าแนวโน้มที่บริษัทอาจล้มละลายมีมากกว่าที่คิด
        "สกุลเงินเอเชียน่าจะมีการปรับฐานลงอย่างหนักในสัปดาห์นี้" แดเรียส โควัลซิค นักยุทธศาสตร์จากบริษัท SJS Markets Ltd. ในฮ่องกง กล่าว
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินวอนอ่อนค่าลงถึง 1.4% แตะ 1,254.75 วอนต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1,241.65 วอนต่อดอลลาร์ ณ เวลา 11:52 น.ตามเวลากรุงโซล ด้านเงินเปโซอ่อนค่าลง 0.2% แตะ 47.48 เปโซต่อดอลลาร์ ส่วนเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลง 0.2% แตะ 1.4612 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อดอลลาร์สหรัฐ
        ในขณะเดียวกัน ดัชนี MSCI Asia Pacific ปรับตัวลดลง 1.1% ในวันนี้
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 44

โพสต์

เยอรมนีเผยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย.ขยับขึ้น 0.7%

สำนักงานสถิติเยอรมนีเผยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเม.ย.สูงขึ้น 0.7% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับที่ทรงตัว

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนเม.ย.นั้นเป็นผลมาจากอีสเตอร์ปีนี้ตรงกับเดือนเม.ย. ขณะที่ปีที่แล้วเทศกาลอีสเตอร์ตรงกับเดือนมี.ค. ซึ่งช่วงเทศกาลดังล่าว ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นมาก รวมทั้งแพคเกจท่องเที่ยว ปริมาณการเดินทางทางอากาศ และที่พักต่างๆ
        สำนักงานสถิติระบุว่า ราคาที่สูงขึ้นนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยราคาสินค้าประเภทน้ำมันและน้ำแร่นั้นยังคงมีผลกระทบในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องกับอัตราเงินเฟ้อ โดยรวมแล้ว ราคาพลังงานตกลงไป 5.2% ในเดือนเม.ย. ส่วนราคาอาหารนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปีที่แล้ว
[/b]
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 45

โพสต์

อังกฤษเผยผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ลดลงแค่ 0.1% ส่งสัญญาณภาวะถดถอยคลี่คลาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษอ่อนตัวลง 0.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์กได้สำรวจความคิดเห็นและคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว 0.8% และยังเป็นตัวเลขที่อ่อนตัวลงน้อยที่สุดนับตั้งแต่ภาคการผลิตของอังกฤษเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลงเมื่อ 13 เดือนก่อน นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะเริ่มคลี่คลายตัวลงแล้ว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษได้ขยายโครงการซื้อคืนสินทรัพย์ด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพื่อรับมือกับเงินฝืด และชี้ว่ามีสัญญาณที่ดีที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง
        จีฟวอน โลเลย์ นักเศรษฐศาสตร์ของทีเอสบี มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า เงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงอาจมีส่วนสำคัญ เราใกล้จะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้วและคาดว่าไตรมาส 2 เงินปอนด์จะดีกว่าในไตรมาสแรก
        ทั้งนี้ เงินปอนด์ซื้อขายกันอยู่ที่ 1.5217 ปอนด์ต่อดอลลาร์เมื่อเวลา 9.41  น.ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงลอนดอน และแข็งค่าขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ หลังจากที่มีการเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม
        สำนักงานสถิติระบุว่า ภาคการผลิตที่อ่อนตัวลงมากที่สุดคือ ธุรกิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนโลหะพื้นฐานและโลหะทั่วไป
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 46

โพสต์

อินเดียเผยผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ร่วงหนักสุดในรอบ 16 ปีหลังถูกกระทบจากศก.โลกถดถอย

 สำนักงานสถิติแห่งชาติอินเดียรายงานในวันนี้ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของอินเดียประจำเดือนมี.ค.ร่วงลงหนักสุดในรอบ 16 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยบีบให้บริษัทหลายแห่งในอินเดียลดกำลังการผลิตและการลงทุน โดยผลผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ดิ่งลง 2.3%ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีพ.ศ.2536  หลังจากขยับลงเพียง 0.7% ในเดือนก.พ.
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายในแผนกระเต้นเศรษฐกิจซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 7% ของตัวเลขจีดีพี ซึ่งความพยายามดังกล่าวกำลังเห็นผลในขณะนี้ โดยดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของกลุ่มผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งจัดทำโดยธนาคารเอบีเอ็น อัมโร มีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในเดือนเม.ย. ซึ่งจะเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
        ฟิลิป ไวเอท นักวิเคราะห์จากยูบีเอส เอจี กล่าวว่า "กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แม้เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมในอินเดียจะฟื้นตัวขึ้น"
        นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า และปิโตรเลียม มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน โดยยอดขายรถยนต์โดยสารในอินเดียพุ่งขึ้น 4.2%ในเดือนเม.ย. หลังจากขยับขึ้น 1% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์พุ่งขึ้น 10.1%ในเดือนมี.ค. และผลผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.9% สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 47

โพสต์

ดอลล์แข็งค่าเทียบยูโรที่ตลาดโตเกียวเช้านี้ หลังตลาดหุ้นเอเชียซบเซา

เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเป็นวันที่ 2 เมื่อเทียบกับเงินยูโร ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยกระตุ้นความต้องการของนักลงทุนให้เข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง

เงินยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์หลังจากที่มาร์โก ครานเจก เจ้าหน้าที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า ธนาคารอาจขยายโครงการรับซื้อสินทรัพย์รวมถึงขยายขอบเขตการซื้อพันธบัตรเพิ่มมากขึ้น
        ด้านเงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนค่าลงเป็นวันที่ 3 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์หลังยอดค้าปลีกในสหรัฐดิ่งหนักเกินคาดซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่  
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 10:24 น.ตามเวลาโตเกียว เงินดอลลาร์แข็งค่าแตะ 1.3576 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับ 1.3600 ยูโร/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวใกล้ 95.57 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 95.30 เยน/ดอลลาร์ ส่วนเงินเยนเทรดที่ 129.41 ยูโร/เยน จากระดับ 129.61 ยูโร/เยน
        ด้านเงินวอนอ่อนค่าลง 0.7% ไปอยู่ที่ระดับ 1,252.75 ต่อดอลลาร์ ส่วนดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลง 2.4% ส่วนดัชนี S&P500 เมื่อวานนี้ดิ่งลง 2.7%
         ดานิก้า แฮมป์ตัน นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ นิวซีแลนด์กล่าวว่า "ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในช่วงที่ผ่านมาสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่ตั้งความหวังว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่ต้องการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทำให้สกุลเงินเยนและดอลลาร์มีแรงซื้อเข้ามาในช่วงนี้"
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 48

โพสต์

เงินวอนอ่อนค่านำสกุลเงินเอเชียตกต่ำ ขณะนลท.วิตกศก.โลกฟื้นตัวช้า

สกุลเงินเอเชียเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงโดยเฉพาะสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้ เนื่องจากทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นได้บดบังสัญญาณบ่งชี้ที่ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำจะเริ่มคลี่คลายลง
ดัชนีสกุลเงินเอเชียซึ่งชี้วัดความเคลื่อนไหวในสกุลเงินเอเชียซึ่งไม่นับรวมเงินเยนปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบเดือน และดัชนี MSCI Asia Pacific Index ชะลอตัวลงจากระดับที่เคยพุ่งสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์
        โดยยอดชาวสหรัฐที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งสูงเกินคาด ขณะที่สถาบันพัฒนาแห่งเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะหดตัว 2.3% ในปีนี้ ซึ่งทำสถิติติดลบครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
        นักวิเคราะห์จากเอสเจเอส มาร์เก็ตส์ในฮ่องกงกล่าวว่า "การปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์นี้ยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้นนักลงทุนยังมองเห็นช่องทางในการกระจายความเสี่ยงด้วยการปลีกตัวออกจากตลาดที่เคลื่อนไหวในช่วงขาลงโดยเฉพาะสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่"
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินวอนอ่อนค่าลง 0.9% ในสัปดาห์นี้ โดย ณ เวลา 11:45 น.เงินวอนเคลื่อนไหวลงไปแตะ 1,258.05 ต่อดอลลาร์ ขณะที่เงินเปโซของฟิลิปปินส์ร่วงลง 0.9% สู่ระดับ 47.68 ต่อดอลลาร์ ส่วนเงินริงกิตมาเลเซียตกลง 0.7% อยู่ที่ 3.5427 ต่อดอลลาร์
        ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเผยว่า ตัวเลขชาวอเมริกันผู้ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานเพิ่มขึ้น 32,000 รายสู่ระดับ 637,000 รายในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 9 พ.ค. ขณะที่ไครสเลอร์ แอลแอลซี และเจนเนอรัล มอเตอร์ อาจปลดพนักงานมากขึ้นซึ่งจะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากที่เผชิญภาวะตกต่ำหนักสุดในรอบ 50 ปี
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 49

โพสต์

World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2552

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไปเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 0.3% หลังจากดิ่งลง 1.2% ในเดือนมี.ค. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. โดยก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี PPI ทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนเม.ย. และดัชนี PPI พื้นฐานอาจเพิ่มขึ้น 0.1%

-- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 9 พ.ค.พุ่งขึ้น 32,000 ราย แตะระดับ 637,000 ราย จากรอบสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 605,000 ราย ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 610,000 ราย

        --เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมทบทวนกฎข้อบังคับซึ่งปัจจุบันเอื้อประโยชน์ต่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ อาทิ มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส, สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายริชาร์ด บลูเมนทัล อัยการรัฐคอนเน็กติกัตระบุว่า กฎข้อบังคับของเฟดเอื้อประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมต่อบริษัทที่เป็นต้นตอของวิกฤตการเงิน

        -- เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในจีนร่วงลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังภาคเอกชนต่างลดการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
        โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติร่วงลง 22.5% แตะ 5.89 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังจากที่ลดลง 9.5% ในเดือนมี.ค. และสำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี ตัวเลขดังกล่าวลดลง 21% เหลือ 2.767 หมื่นล้านดอลลาร์

        -- นายฮิโรฟูมิ นาคาโซเนะ รมว.ต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีที่รัฐบาลทหารพม่าคาดโทษจำคุกนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) หลังจากถูกกักบริเวณในบ้านพักมานานนับสิบปี

        -- เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (Temasek Holdings Pte) กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในแบงก์ ออฟ อเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ตามที่ระบุในเอกสารที่เทมาเส็กยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ

        -- เจเนอรัล มอเตอร์ คอร์ป เปิดเผยว่า บริษัทมีแนวโน้มว่าจะต้องขายสินทรัพย์เกือบทั้งหมดให้กับบริษัทใหม่ ส่วนสินทรัพย์ที่เหลือจะนำไปชำระหนี้หากบริษัทต้องยื่นขอความคุ้มครองจากการล้มละลาย
        จีเอ็มเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะล้มละลายหากไม่สามารถลดหนี้สินลงได้ด้วยการชักชวนผู้ถือพันธบัตรสว็อปพันธบัตรมูลค่า 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์เป็นหุ้นแทน

        -- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 หดตัวลงมากที่สุดในรอบกว่า 40 ปี หลังจากที่วิกฤตการเงินโลกส่งผลกระทบต่อดีมานด์สินค้าส่งออกและการลงทุน โดย GDP หดตัวลง 3.8% จากระดับไตรมาส 4 ที่ร่วงลง 2.2% ซึ่งถือเป็นสถิติที่ร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลเมื่อปี 2513 และเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่บลูมเบิร์กได้สำรวจความคิดเห็นและคาดการณ์ว่า จะอ่อนตัวลง 3% และยังเป็นสถิติที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

        -- กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียยืนยันผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รายแรกในประเทศ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐ โดยนักศึกษาชายรายนี้อายุ 21 ปี เดินทางด้วยเที่ยวบินของมาเลเซีย แอร์ไลน์ส จากเมืองนิวอาร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ และมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 50

โพสต์

สิงคโปร์ไม่หยุดสร้าง ย่านการเงิน แห่งใหม่
เอเอฟพี - สิงคโปร์กำลังทุ่มเทเงินทองนับหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อยกระดับย่านการเงินแห่งใหม่ให้กลายเป็นวอลล์สตรีทแห่งเอเชีย ซึ่งมีกลิ่นอายของลาสเวกัสผสมผสานด้วย ถึงแม้เศรษฐกิจของประเทศกำลังถดถอยอย่างรุนแรงสุดๆ
     
      มารินา เบย์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินที่เกิดจากการถมทะเล แสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันของสิงคโปร์ที่จะขยายภาคการเงินของตนเองออกไป รวมทั้งต้องการจะดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนให้เข้ามาที่นี่มากขึ้น
     
      รัฐบาลและบริษัทเอกชนสิงคโปร์ ได้ร่วมกันลงทุนเป็นเงินถึง 22,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (14,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 517,000 ล้านบาท) เพื่อทำให้พื้นที่ขนาด 360 เฮกตาร์ (ราว 2,250 ไร่) แห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินในภูมิภาคนี้ในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสิงคโปร์ก็กล่าวว่าเม็ดเงินใหม่จะถูกระดมเข้ามาอีกในไม่ช้านี้
     
      มารินา เบย์ เป็นโครงการสร้างเขตใหม่ของเมืองที่รัฐบาลสิงคโปร์ฝันเอาไว้มานาน แผนการนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1969 เมื่อเริ่มมีการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายย่านการเงินเก่า ซึ่งอยู่ในเขตของเจ้าอาณานิคมอังกฤษแต่เดิม
      .
      เราเริ่มเห็นความคืบหน้าจากสิ่งที่ทุ่มเทลงไปเมื่อหลายปีก่อน หม่าโบวตัน รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติ กล่าว
     
      หนึ่งในบรรดาโครงการสำคัญๆ ของ มารินา เบย์ ย่อมได้แก่ กาสิโน คอมเพล็กซ์ ที่ได้รับความสนับสนุนทางการเงินถึง 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก เชลดอน อะเดลสัน มหาเศรษฐีผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการพนันซึ่งเป็นเจ้าของลาส เวกัส แซนด์ส
     
      มารินา เบย์ แซนด์ส เป็นกาสิโน รีสอร์ตซึ่งคาดหมายว่าจะเปิดบริการได้ภายในสิ้นปีนี้ ในโครงการนอกจากสถานกาสิโนแล้ว จะประกอบด้วยโรงแรมขนาด 2,600 ห้อง ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง รวมทั้งสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ
     
      ย่านธุรกิจใหม่นี้ยังสามารถดึงดูดความสนใจของลีกาชิง บุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกง โดยเขาเป็นหนึ่งในสามผู้ร่วมลงทุนในโครงการ มารินา เบย์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ โดยผ่าน บริษัทเฉิงคง โฮลดิงส์ ของเขา
     
      มารินา เบย์ ไฟแนนเชียล เซ็นเตอร์ จะสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2012 โดยจะให้บริการเช่าออฟฟิศ เกรดเอ ในสามช่วงตึกที่ขนานไปกับชายน้ำ รวมทั้งมีอพาร์ตเมนต์หรูหราอีก 649 ห้อง ซึ่งออกแบบโดยวางพื้นฐานจากแนวคิด ทำงาน-ใช้ชีวิต-รื่นรมย์
     
      ภายในกลางปีหน้า ทางเดินเท้าที่เชื่อมระหว่างจุดน่าสนใจต่างๆ รอบอ่าวมารีนาก็จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้เขตนี้ดึงดูดผู้คนมากขึ้น ในตอนนี้มีโครงการไม่น้อยที่เริ่มขึ้นแล้วในรอบๆอ่าว รวมทั้งคอนโดมิเนียมอาคารคู่สูง 70 ชั้นที่ใช้ชื่อว่า เซล แอต มารินา เบย์
     
      ทางด้านธุรกิจบันเทิงและสันทนาการต่างๆ ก็เริ่มให้บริการไปแล้ว อย่างเช่น สิงคโปร์ ฟลายเออร์ ที่กล่าวกันว่า เป็นชิงช้าสวรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเมื่อขึ้นไปแล้วก็จะเห็นย่านใจกลางเมืองทั้งหมด ในขณะที่ศูนย์การแสดงเอสพลานาด ก็จะมีการแสดงทั้งระดับโลก ระดับเอเชียและในประเทศผลัดเปลี่ยนกันมาตลอดทั้งปี
     
      สำหรับผู้ที่ชอบธรรมชาติ สามารถไปยัง การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะสามแห่งที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกัน โดยมีเนื้อที่รวมกันทั้งหมดถึง 101 เฮกตาร์ และจะเปิดให้บริการได้ในช่วงสิ้นปี 2011
     
      เมื่อดูจากโครงการทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับสิงคโปร์เป็นอย่างยิ่ง ฉั่วหยางเหลียง หัวหน้าฝ่ายวิจัยของโจนส์ แลง ลาซาล ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์กล่าว
     
      รัฐบาลสิงคโปร์ ลงทุนไปแล้วราว 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และก็คาดว่า จะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปอีก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อทำถนน สะพาน และอื่นๆ ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า
     
      นักวิเคราะห์บอกว่า แม้ว่าสิงคโปร์กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ดูไม่มีอะไรที่จะหยุดโครงการที่อ่าวมารินาได้เลย
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 51

โพสต์

ศก.ไม่ฟื้นทำ สายการบิน เอเชียทรุด
เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ ชี้ สายการบินชั้นนำในเอเชียกำลังต้องปรับตัว เพื่อฝ่าวิกฤตที่ทำท่ารุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากผลประกอบการในไตรมาสแรกทรุดดิ่งอย่างไร้วี่แววว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไร หนำซ้ำยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และถูกสายการบินต้นทุนต่ำมาชิงตลาดเพิ่มด้วยการเปิดเส้นทางบินไกลมากขึ้น
     
       สิงคโปร์แอร์ไลน์ (เอสไอเอ) เป็นสายการบินของเอเชียรายล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลประกอบการ โดยระบุว่าผลกำไรสุทธิในไตรมาสซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ดิ่งลงถึง 92 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 41.9 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
     
       โดยในระหว่างไตรมาสดังกล่าว รายรับลดลงต่อปีราว 19.1 เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ 3,320 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ในปีการเงินที่เพิ่งสิ้นสุด (เม.ย.2008-มี.ค.2009) ผลกำไรสุทธิตกลง 48.20 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 1,060 ล้านดอลลาร์
     
       ชิวชุนเส็ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเอสไอเอ กล่าวว่า ภาวะทรุดดิ่งของธุรกิจสายการบินดูเหมือนจะกำลังคงที่แล้ว แต่ยังไม่มีร่องรอยบ่งชี้ว่าสถานการณ์กำลังเริ่มกระเตื้อง ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นช่วงของอาการทรงๆ และการฟื้นตัวอย่างแท้จริง ยังคงมองไม่เห็นในขณะนี้
     
       เอสไอเอนั้น มีรายได้ราว 40 เปอร์เซ็นต์ จากผู้เดินทางในชั้นพิเศษ นั่นคือ ชั้นธุรกิจ และเฟิร์สต์-คลาส แต่ธุรกิจส่วนนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ภาคธุรกิจต่างกำลังลดการเดินทางลง ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับที่สายการบินคาเธย์ แปซิฟิกของฮ่องกง และแควนตัสของออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่
     
       นักวิเคราะห์บอกว่า ที่ผ่านมา สายการบินทั้งสามได้ประกาศมาตรการเพื่อประหยัดต้นทุนไปแล้ว เช่น การให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และลดพนักงานลง
     
       ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีอะไรมาช่วยธุรกิจการบินได้ ... พวกเขาก็ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว จิม เอคเคส กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทที่ปรึกษาอินโดสวิส เอวิเอชัน ในฮ่องกง บอกและเสริมว่า สิ่งที่ธุรกิจนี้ต้องการก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจนบัดนี้เราก็ยังไม่เห็นเลย
     
       เอคเคส ระบุว่า การเดินทางในชั้นพิเศษนั้นลดลงราว 30-40 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ทุกวันนี้ไม่มีใครเลือกใช้เที่ยวบินเฟิร์สต์คลาสหรือชั้นนักธุรกิจอีกแล้ว ... ธุรกิจที่ทำกำไรสูงนี้อันตรธานไปเลย
     
       นอกจากนั้น เอคเคส ยังชี้ว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งล่าสุดมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไป 72 คนแล้วน้น มีส่วนทำให้ธุรกิจการบินทรุดลงไปอีกด้วย
     
       มันยากที่จะบอกว่าไวรัสนี้ส่งผลต่อธุรกิจการเดินทางอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มันไม่ช่วยอะไรสายการบินเลยในขณะที่ธุรกิจกำลังตกต่ำ และตอนนี้ธุรกิจสายการบินก็ตกต่ำจริงๆ เสียด้วย
     
       ดีเรค ซาดุบิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์การบินเอเชียแปซิฟิก (ซีเอพีเอ) ในซิดนีย์ ก็บอกว่าสายการบินชั้นนำที่ให้บริการเต็มรูปแบบกำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากพวกสายการบินต้นทุนต่ำด้วย
     
       เราถูกบีบจากทั้งสองด้าน ซาดุบิน กล่าว ความหวังเดียวที่มี ก็คือว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบางส่วนแล้วกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกกลับเข้าที่เข้าทาง
     
       ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน คาเธ่ย์ แปซิฟิค รายงานผลประกอบการว่ารายรับประจำไตรมาสซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมตกลง 22 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ สายการบินแห่งนี้ก็เพิ่งประกาศขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในปี 2008 ซึ่งนับเป็นการประสบขาดทุนตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ
     
       ส่วน แควนตัส นั้น เมื่อเดือนที่แล้วก็ประกาศแผนการปลดพนักงานเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจตกต่ำ และยังคาดว่า จะมีผลกำไรในปีการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และสายการบินยังได้ชะลอการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ไว้ด้วย
       
       อนึ่ง สายการบินเอเชียที่ใหญ่ที่สุดอย่าง แจแปน แอร์ไลน์ ก็รายงานผลประกอบการในเดือนพฤษภาคมว่ามียอดขาดทุนสุทธิ 63,200 ล้านเยน (664.30 ล้านดอลลาร์) ในช่วง 12 เดือนนับถึงมีนาคมที่ผ่านมา โดยในปีก่อนหน้านี้มีผลกำไร 16,900 ล้านเยน และจะลดพนักงาน 1,200 คน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 52

โพสต์

World Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 200 จุดเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าภาวะถดถอยในตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาคการธนาคารจะฟื้นตัวขึ้นในไม่ช้านี้ นอกจากนี้ ดาวโจนส์ยังดีดตัวขึ้นขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัท โลว์ส คอส ซึ่งเป็นบริษัทซ่อมแซมบ้านรายใหญ่อันดับสองของสหรัฐ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 235.44 จุด หรือ 2.85% แตะที่ 8,504.08 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 26.83 จุด หรือ 3.04% แตะที่ 909.71 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 52.22 จุด หรือ 3.11% แตะที่ 1,732.36 จุด

        -- สัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าชาวอเมริกันจะนำยานยนต์ออกไปขับขี่กันมากขึ้นในช่วงเทศกาล Memorial Day แม้เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเผชิญกับภาวะถดถอยก็ตาม นอกจากนี้ นักลงทุนยังทุ่มซื้อสัญญาน้ำมันดิบอย่างคับคั่งหลังจากมีรายงานความไม่สงบในไนจีเรีย และข่าวเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ของบริษัทซูโนโคของสหรัฐ
        สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 2.69 ดอลลาร์ หรือ 4.77% ปิดที่ 59.03 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.ปีที่แล้ว

        -- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นนิวยอร์กได้กระตุ้นนักลงทุนให้ย้ายฐานการลงทุนออกจากตลาดทองคำและเข้าเทรดอย่างคึกคักในตลาดหุ้น หลังจากสหรัฐรายงานว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวขึ้น
        สำนักข่าวเอพีรายงานว่า  สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย.ปิดที่  921.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 9.60 ดอลลาร์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 918.10-934.10 ดอลลาร์

        -- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เพราะได้รับแรงหนุนจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ทะยานขึ้นกว่า 200 จุด ขณะที่เงินเยนดิ่งลงอย่างหนักหลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดความร้อนแรงของสกุลเงินเยน
        สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์พุ่งขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 96.360 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 95.190 เยน/ดอลลาร์ แต่อ่อนตัวลง 0.58% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.1144 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.1209 ฟรังค์/ดอลลาร์

        -- ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอย่างคึกคัก หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลกอาจฟื้นตัวขึ้นในเร็วๆนี้
        สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนี FTSE 100 พุ่งขึ้น 98.34 จุด ปิดที่ 4,446.45 จุด หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 4,307.72-4,446.45 จุด
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 53

โพสต์

สหรัฐเผยความเชื่อมั่นบริษัทสร้างบ้านเดือนพ.ค.พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน

สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทสร้างบ้านในสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนในเดือนพ.ค. โดยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยของ NAHB/เวลส์ ฟาร์โก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 16 จุด ในเดือนพ.ค. จากระดับ 14 จุด ในเดือนเม.ย. ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และทำให้นักวิเคราะห์มองว่าภาวะตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจสิ้นสุดลงเร็วๆนี้

เจอร์รี่ โฮเวิร์ด ประธาน NAHB กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ลอส แองเจลิสว่า ความเชื่อมั่นของบริษัทสร้างบ้านที่พุ่งขึ้นเหนือความคาดหมายช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุดขานรับข้อมูลดังกล่าว ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของบริษัทสร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0 - 0.25% และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลายครั้ง
        แซค แพนเดิล นักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ ซิเคียวริตีส์ อินเตอร์เนชันแนล ในนิวยอร์ก กล่าวว่า "วิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มคลี่คลายลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ราคาบ้านที่ปรับตัวขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะหนุนดัชนีชี้นำเศรษฐกิจให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย" สำนักข่าวเอพีรายงาน
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 54

โพสต์

ตัวเลขว่างงานเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ... ลดลงเพราะผลจากฤดูกาล


ตัวเลขว่างงานเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ... ลดลงเพราะผลจากฤดูกาล

จากรายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทยล่าสุดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานขยับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 2.4 ในเดือนม.ค. 2552 ซึ่งอาจทำให้มองดูเหมือนว่าตลาดแรงงานเริ่มมีเสถียรภาพ และภาวะการว่างงานอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่คาด อย่างไรก็ตาม การปรับลดของอัตราการว่างงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล (Seasonal Effect) ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศยังคงเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมือง ทำให้สถานการณ์แรงงานที่ดีขึ้นในเดือน ก.พ. 2552 ที่ผ่านมายังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นวิเคราะห์สำคัญ มีดังนี้

 การมีงานทำและการทำงานต่ำระดับในเดือนก.พ. ปรับตัวดีขึ้น ... ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านฤดูกาล ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ยังคงถดถอยจากไตรมาส 4/2551

 ผู้มีงานทำในเดือนก.พ. 2552 มีจำนวน 36.67 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่าเดือนม.ค.ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (Y-o-Y) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในนอกภาคเกษตรที่เติบโตเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือนม.ค. มาที่ร้อยละ 3.8 ในเดือนก.พ. ในขณะที่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 0.06 ในเดือนก.พ. ชะลอลงเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนม.ค.

แต่ตัวเลขผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. มีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทำให้ต้องระมัดระวังในการตีความ เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลการมีงานทำในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า จำนวนผู้มีงานทำในเดือนก.พ.มักจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าของทุกปี และมักจะกลับมาลดลงอีกในเดือนถัดไป ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในเดือนก.พ ทำให้ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง แม้ตัวเลขผู้มีงานทำในเดือนก.พ.ของปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ถึงร้อยละ 1.3 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ในช่วง 3 ปีก่อน แต่จากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้มีงานทำในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 ยังคงชะลอลงจากในช่วงไตรมาส 4/2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8

 การทำงานต่ำระดับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนของผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชม.ต่อสัปดาห์ และพร้อมที่จะทำงานเพิ่มพลิกกลับมาติดลบร้อยละ 2.9 (YoY) ในเดือนก.พ. 2552 หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ในเดือนม.ค. แต่ในภาพรวมช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ภาวะการทำงานต่ำระดับยังคงรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 (จากที่เคยติดลบร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 4/2551 พลิกกลับมาเป็นบวกร้อยละ 11.3 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้)

 ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงในเดือนก.พ. ... แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเช่นกัน

 จำนวนผู้ว่างงานมีอัตราการเพิ่มที่ชะลอลง โดยมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 (Y-o-Y) ในเดือนก.พ. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 39.2 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดลงในกลุ่มผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเฉพาะในภาคเกษตร (หดตัวร้อยละ 16.0 ในเดือนก.พ. พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 418.2 ในเดือนม.ค.) และภาคบริการและการค้า (ขยายตัวร้อยละ 38.8 ในเดือนก.พ. ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 54.0 ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนการว่างงานในภาคการผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งขึ้นจากร้อยละ 44.5 (Y-o-Y) ในเดือนม.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ในเดือนก.พ.

แต่อัตราการขยายตัวของการว่างงานในเดือนก.พ.ที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านฤดูกาล ซึ่งเมื่อย้อนไปดูข้อมูลในอดีต จะพบว่าผู้ว่างงานในเดือนก.พ.มักจะลดลงจากเดือนม.ค.ของทุกปี โดยผู้ว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 18.7 (M-o-M) เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีก่อนที่ลดลงประมาณร้อยละ 15.7 ขณะที่การวิเคราะห์ตัวเลขผู้ว่างงานในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการว่างงานรวม (ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และเคยทำงานมาก่อน) ขยายตัวร้อยละ 33.5 สูงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน จะพบว่าสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังคงทวีความรุนแรงกว่าในช่วงไตรมาส 4/2551 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ในไตรมาส 4/2551) โดยเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานในภาคการผลิตที่เติบโตในอัตราที่เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในช่วงไตรมาส 4/2551 มาอยู่ที่ร้อยละ 50.2 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552

 ขณะที่ การว่างงานในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนยังเติบโตในอัตราที่เร่งขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 13.8 (YoY) ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ในเดือนม.ค. ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ว่างงานในกลุ่มนี้เป็นผู้จบการศึกษาใหม่ และไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน ทำให้โอกาสในการได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานมีน้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่มีประสบการณ์ / เคยทำงานมาก่อน

 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นในทุกภาคเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันก็ยังมีอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลด้วย ทั้งนี้ แม้อัตราการว่างงานในเดือนก.พ. 2552 ที่ร้อยละ 1.9 หรือ 7.1 แสนคน จะลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 2.4 หรือ 8.8 แสนคน แต่ส่วนหนึ่งก็สะท้อนอิทธิพลจากปัจจัยด้านฤดูกาลเหมือนกับข้อมูลการมีงานทำและการว่างงาน ขณะที่อัตราการว่างงานดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.5 หรือ 5.6 แสนคน และภาพรวมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 2.2 หรือ 8 แสนคน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานของไทยทวีความรุนแรงขึ้นจากไตรมาส 4/2551 ที่มีอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 1.3 หรือ 5 แสนคน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 1.4 รองลงมาเป็นภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ภาคเหนือ และภาคกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และ 0.5 ตามลำดับ ส่วนในเขตกรุงเทพฯ มีอัตราการว่างงานเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.04

 แนวโน้มสถานการณ์แรงงานในระยะที่เหลือของปี 2552 ยังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง

สำหรับในเดือนมี.ค. 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สถานการณ์การจ้างงานมีโอกาสที่จะยังทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในลักษณะเดียวกันกับในเดือนก.พ. ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมในเดือนมี.ค. 2552 ลดลงเหลือ 80,000 คน จากเดือนก่อนที่มีจำนวน 101,939 คน (เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2551) ซึ่งอาจเป็นเครื่องชี้เบื้องต้นว่าตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนมี.ค.ที่จะมีการรายงานในครั้งถัดไปอาจชะลอลงได้

ส่วนสถานการณ์แรงงาน โดยเฉพาะตัวเลขว่างงานในระยะหลังจากไตรมาส 1/2552 เป็นต้นไป นอกจากจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักศึกษาจบใหม่ที่คาดว่าจะมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 4 แสนคนในแต่ละปี ที่กำลังจะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจสูงเกินความต้องการของตลาดแรงงาน / หรือความสามารถในการรองรับของภาคเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังจะขึ้นกับปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือ Influenza A (H1N1) สถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยถ้าหากเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏสัญญาณบวกในลักษณะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และมีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ไม่ให้ทวีความรุนแรงขึ้นได้ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อยและไม่มีเหตุการณ์อันไม่คาดคิด รวมทั้งมีการเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ก็อาจมีผลให้การชะลอการเลิกจ้างและปัญหาการว่างงานอาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ผลักดันให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับร้อยละ 4.4 ในปี 2541 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สืบเนื่องจากภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ อัตราการว่างงานในช่วงที่เหลือของปีอาจจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเข้าหาระดับร้อยละ 3.0-3.7 เฉลี่ยในปี 2552 โดยจำนวนผู้ว่างงานอาจจะอยู่ในช่วง 1.1-1.4 ล้านคน จากในปี 2551 ที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และผู้ว่างงานอยู่ที่ 5.2 แสนคน 

. . .
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 55

โพสต์

การประชุม 20 พ.ค. ... นโยบายการเงินยังคงเผชิญกับดักสภาพคล่อง

ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมรอบที่สี่ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 1.25% หลังจากที่ กนง.ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้วรวม 2.50% ในการประชุมสี่รอบก่อนหน้า (3 ธันวาคม 2551, 14 มกราคม 2552, 25 กุมภาพันธ์ 2552 และ 8 เมษายน 2552 โดยปรับลดในอัตรา 1.00%, 0.75%, 0.50% และ 0.25% ตามลำดับ) ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง.คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาที่ 1.00% ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความคิดเห็นต่อประเด็นการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ดังนี้

 กนง.เผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญเกี่ยวกับปัญหากับดักสภาพคล่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.มีทางเลือกสองทางในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 นี้ คือ

 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25%
ภายใต้สถานการณ์ที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักอยู่มากและชัดเจนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หาก กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามการคาดการณ์ของตลาดอีก 0.25% จาก 1.25% มาที่ 1.00% ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 ก็น่าจะยังคงมีพื้นที่และเหตุผลมากพอให้สามารถดำเนินการได้ เพราะนอกจากจะเป็นการดำเนินการเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยโดยรวมแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลสัมฤทธิ์จากการเลือกแนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจจะมีน้อย เนื่องจากในภาวะที่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังคงมีอยู่สูงในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและความจำเป็นต้องรักษาผลประกอบการหรือมาร์จิ้นไว้ คงจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ถ้าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็คงจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขา คือ ทั้งขาดอกเบี้ยกู้และขาดอกเบี้ยฝาก ซึ่งในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงอีกนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าสินเชื่อจะขยายตัวได้มากขึ้น เพราะในยามที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายกิจการของภาคเอกชนก็ย่อมมีทิศทางที่ชะลอตัวเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ออมเงินโดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุซึ่งหวังพึ่งพิงผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินฝากในการประทังชีวิต รวมถึงผู้ออมเงินที่ไม่สะดวกจะโยกย้ายเงินออมของตนไปลงทุนในช่องทางอื่นๆ แทนการฝากเงินไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การที่ผู้ออมกลุ่มเหล่านี้มีรายได้หรือผลตอบแทนลดลง ก็อาจทำให้จำเป็นต้องลดการใช้จ่ายหรือประหยัดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว ความมุ่งหวังของ กนง.ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจทำให้ในท้ายที่สุดกลายเป็นว่าภาคเอกชนเกิดชะลอการใช้จ่าย หรืออาจกล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คงมีจำกัด

 การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม

ในขณะเดียวกัน หาก กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กนง.ก็สามารถตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ได้เช่นกัน ถ้าหาก กนง. มองว่า สภาวะเลวร้ายที่สุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ผ่านพ้นไปแล้ว อีกทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่แม้อาจยังเบาบางในระยะอันใกล้นี้ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงปีหน้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดการเงินบางส่วนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้ กนง.ก็อาจมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงประการเดียว อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนักด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางนี้ ย่อมหมายความว่า บทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ คงจะตกอยู่ที่การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมนั้นก็กำลังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ยังต้องรอการอนุมัติจากสภาฯ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยให้เลวร้ายลงไปอีก ฉะนั้นแล้ว การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ อาจทำให้ กนง.ต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนถึงเหตุผลที่เลือกแนวทางนี้

 ถึงเวลาหรือยัง.. ถ้าจะทบทวนกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินไทย

จากข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า กนง.กำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายอีกครั้งในการตัดสินใจนโยบายการเงินสำหรับการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เพราะไม่ว่า กนง.จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยลงอีก ผลสัมฤทธิ์จากนโยบายดังกล่าว คงจะมีจำกัดต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของไทย (Real Sector) ยังคงอาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก และเมื่อเกิดภาวะวิกฤตที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำงานได้ตามกลไกปกติ เพราะผู้เล่นในตลาดการเงินและธนาคารพาณิชย์ต่างพากันหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในขณะที่ ระบบการค้ำประกันสินเชื่อที่ทางการนำมาใช้ผ่านการดำเนินการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ยังมีขอบเขตของธุรกรรมที่ค่อนข้างจำกัดและอาจไม่สามารถรองรับความต้องการของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินในประเทศได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การขาดช่องทางในการกระจายความเสี่ยงนี้ จึงทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเดียวกันอย่างทันท่วงที ระบบเศรษฐกิจจึงถูกผลักดันให้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินด้อยประสิทธิภาพลง

ท่ามกลางภาวะกับดักสภาพคล่องในลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างของธนาคารกลางที่สามารถผลักดันการดำเนินนโยบายการเงินจนส่งผลให้ภาวะการตึงตัวของตลาดเงินค่อยๆ คลายตัวลง คงจะได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่นอกจากจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมาอย่างมากและรวดเร็วจนเข้าสู่กรอบ 0.00-0.25% ณ ปัจจุบัน จาก 5.25% ในช่วงกลางปี 2550 แล้ว เฟดยังเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องผ่านการทำธุรกรรม Open Market Operations กับตัวกลางทางการเงิน การรับซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ (Commercial Paper) และการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงปริมาณเพิ่มเติม (Unconventional Quantitative Easing) ซึ่งรวมถึงการรับซื้อตราสารหนี้ที่หนุนหลังด้วยสัญญาจำนองที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Agency Mortgage-Backed Securities) การรับซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานด้านการจำนองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล (Housing Related Government Sponsored Enterprises) และการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จนกระทั่งล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของเฟดได้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับที่อยู่ที่เพียง 8.94 แสนล้านดอลลาร์ฯ ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ธปท.อาจจะไม่สามารถขยายขอบเขตการดำเนินนโยบายการเงินไปได้มากเท่ากับเฟด เพราะภายใต้กรอบของกฎหมายแล้ว การเข้าซื้อตราสารของ ธปท.จะถูกจำกัดไว้เฉพาะตราสารที่มีระดับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเท่านั้น ซึ่งมักจะเป็นตราสารที่ออกหรือค้ำประกันโดยภาครัฐเป็นส่วนใหญ่


ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า หากแม้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ แต่ประเด็นสำคัญยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิผลของนโยบายและการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังภาคเศรษฐกิจจริง ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่สำคัญว่า กนง. หรือ ธปท. ควรจะหยิบยกประเด็นกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (Monetary Transmission Mechanism) ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขยายขอบเขตด้านการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหรือการอัดฉีดสภาพคล่องไปสู่มือของภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนด้วยช่องทางที่หลากหลายหรือกว้างขวางมากขึ้นกว่าการพึ่งพาเพียงช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลักเช่นในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า ประเด็นคำถามนี้ ธปท.คงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความต้องการที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคเอกชนโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงผ่านช่องทางใหม่ที่ครอบคลุมและเข้าถึงภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจได้มากกว่าแบบดั้งเดิมที่อาศัยช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก กับความสามารถในการรับความเสี่ยงภายใต้กรอบของกฎหมายที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ ว่า อะไรมีน้ำหนักมากกว่ากัน หรือจุดสมดุลของสองสิ่งนี้อยู่ที่ตรงไหน 

. . .
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 56

โพสต์

รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2552

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2552

- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมีนาคม 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552  อย่างไรก็ตามดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับจากเดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นมา คือ หดตัวร้อยละ -17.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีผลผลิตมีการหดตัวในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก ได้แก่ การผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 51.5, -35.4 และ -7.5 ตามลำดับ จึงทำให้ดัชนีผลผลิตรวมหดตัวมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนดังกล่าว
        - อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงมาตลอดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 หากพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 50

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนเมษายน 2552

        อุตสาหกรรมอาหาร
        - การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน คาดว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน จากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับเช็คช่วยชาติจากรัฐบาลเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น

        อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
        - แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย รวมถึงการส่งออกสิ่งทอที่เป็นผ้าผืนอาจจะติดลบ เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีคำสั่งซื้อลดลง สำหรับการจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มผลิตเสื้อยืด และการจำหน่ายในประเทศ ยังมีศักยภาพอยู่และยังต้องการแรงงานเพิ่ม ประกอบกับผลจากการทำความตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งทำให้สิ่งทอไทยขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น และการทำความตกลงภายใต้กรอบ AJCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายญี่ปุ่นและไทยว่าจะทำให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น

        อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
        - แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

                                      สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2552

        ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 146.1 หดตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.9) ร้อยละ -12.0 และหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (187.4) ร้อยละ -22.1 ซึ่งเป็นการ หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมาแล้ว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการหดตัวในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่มีการส่งออกมาก
        อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ผ้าทอ เป็นต้น
        สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผ้าทอ เป็นต้น

        อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 52.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (56.5) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (67.5) โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 แล้ว
        อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ ด้ายฝ้ายผสม โทรทัศน์สี เป็นต้น
        สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ โพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเหล็กแผ่นรีดเย็น โทรทัศน์สี เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2552
        ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรมปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ (-10.0) (-8.0) จาก ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9
        ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2552 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ (-12.0) (-10.0) จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9
        แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี 2552 เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากข้อมูลรายเดือนในไตรมาสที่ 1 ที่การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลดน้อยลง สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อในหลายอุตสาหกรรมที่เริ่มมีกลับเข้ามา อาทิ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรว์ ส่งผลต่อการจ้างแรงงานเพิ่ม ทั้งนี้คาดว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ยังมีโอกาสที่จะลดลงในอัตราน้อยกว่าในช่วงไตรมาสแรก และหากปัญหาความสงบในประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นส่งผลให้นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลขับเคลื่อนไปได้ จะช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวเร็วขึ้น

        สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
        - ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
                  ก.พ. 52 = 139.8
                  มี.ค. 52 = 159.2
        โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัวได้แก่
                  - Hard Disk Drive
                  - เบียร์
                  - น้ำมันปิโตรเลียม

        - อัตราการใช้กำลังการผลิต
                  ก.พ. 52 = 50.0
                  มี.ค. 52 = 54.5
        โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
                  - น้ำมันปิโตรเลียม
                  - Hard Disk Drive
                  - ยานยนต์

1.อุตสาหกรรมอาหาร
        ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนมีนาคม แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นการผลิตสต็อกไว้ แต่คาดว่าจะชะลอตัวลงในเดือนเมษายนตามฤดูกาล สำหรับการจำหน่ายในประเทศจะยังขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช็คช่วยชาติของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเพิ่มปริมาณการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

        1. การผลิต
        ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.7 แบ่งเป็น
        กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง และข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 13.0 55.8 และ 80.3 จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ส่วนทูน่ากระป๋อง มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 จากการผลิตเพื่อสำรองไว้เพิ่มขึ้นก่อนจะมีวันหยุดเทศกาลในเดือนหน้า
        กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการกลั่นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.2 และ 11.7 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองมีการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 32.6 และ 20.5 เนื่องจากราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง ประกอบกับผลิตเพื่อทดแทนสต็อกที่ลดลงในเดือนก่อน

        2. การตลาด
        1) ตลาดในประเทศ เดือนมีนาคม สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.3 เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจึงลดปริมาณการอุปโภคและบริโภคลง
        2) ตลาดต่างประเทศ เดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6.9 เนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

        3. แนวโน้ม
        การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารในเดือนเมษายน คาดว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน จากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากประชาชนได้รับเช็คช่วยชาติจากรัฐบาลเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
        ...แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย...
        1. การผลิต
        ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนมีนาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (+5.9%) ผ้าผืน(+1.4%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก(+11.2%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (+8.9%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (-22.0%), ผ้าทอ (-30.2%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (-34.0%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (-11.2%) สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศของไทย ทำให้ลูกค้าต่างประเทศไม่กล้าที่จะเดินทางมาเจรจาซื้อขาย

        2. การจำหน่าย
        การจำหน่ายในประเทศ เดือนมีนาคม 2552 ส่วนใหญ่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าผู้บริโภคจะประหยัดรายจ่ายแต่สินค้าแฟชั่นในกลุ่มสตรียังมีความต้องการเพิ่มขึ้น
        การส่งออก เดือนมีนาคม 2552 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.3 ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำ ได้แก่ ด้ายฝ้าย (+26.1%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+15.9%) เคหะสิ่งทอ (+13.7%)เส้นใยประดิษฐ์ (+9.3) และสิ่งทออื่นๆ (+13.0%) ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป(-6.4%) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกสิ่งทอปรับตัวลดลงร้อยละ 15.9 ซึ่งปรับลดลงในทุกตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน ยกเว้นเพียงตลาดญี่ปุ่น ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

        3. แนวโน้ม
        แนวโน้มการผลิตในระยะ 2-3 เดือนถัดไปจะยังคงทรงตัวหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย รวมถึงการส่งออกสิ่งทอที่เป็นผ้าผืนอาจจะติดลบ เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องจากเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีคำสั่งซื้อลดลง สำหรับการจำหน่ายโดยเฉพาะกลุ่มผลิตเสื้อยืด และการจำหน่ายในประเทศ ยังมีศักยภาพอยู่และยังต้องการแรงงานเพิ่ม ประกอบกับผลจากการทำความตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งทำให้สิ่งทอไทยขยายตัวได้ในตลาดญี่ปุ่น และการทำความตกลงภายใต้กรอบ AJCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายญี่ปุ่นและไทยว่าจะทำให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
        กระทรวงการคลังอินเดียได้ประกาศเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดซึ่งจะเรียกเก็บจากเหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็นที่นำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย อัฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน-21 ตุลาคม 2008

        1.การผลิต
        ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 90.67 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.42 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของลวดเหล็ก ร้อยละ 26.23 รองลงมาคือ เหล็กลวดและเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.73 และ 15.69 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อพิเศษของลูกค้าบางรายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 3.34 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ที่ลดลง ร้อยละ 27.88 เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ ผู้ผลิตได้เร่งการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าไปในเดือนกุมภาพันธ์ จึงทำให้เดือนมีนาคมการผลิตจึงปรับเข้าสู่ภาวะปกติ รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 2.08 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงถึง ร้อยละ 44.35 โดยเหล็กทรงยาว มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 38.58 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 48.72 และเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 47.24 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 47.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 51.80 และเหล็กแผ่นรีดเย็น มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 51.56

        2.ราคาเหล็ก
        การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนเมษายน 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญเกือบทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงดังนี้ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง จาก 470 เป็น 420 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 10.64 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง จาก 390 เป็น 349 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลง ร้อยละ 10.47 เหล็กแท่งแบน ลดลง จาก 320 เป็น 310 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 3.13 ในขณะที่เหล็กเส้น มีราคาที่ทรงตัว คือ 398 เหรียญสหรัฐต่อตัน และเหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 304 เป็น 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.23

        3. แนวโน้ม
        สถานการณ์เหล็กในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าในส่วนของการผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความต้องการของผู้ใช้ในธุรกิจก่อสร้างลดลง ประกอบกับผู้ผลิตยังคงสต๊อกเก่าอยู่ ในขณะที่เหล็กทรงแบนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่าการผลิตจะทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังคงชะลอตัวอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์
        รถยนต์
        อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้
        - การผลิตรถยนต์ จำนวน 65,449 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 133,943 คัน ร้อยละ 51.14 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 7.18
        - การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 41,328 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 66,107 คัน ร้อยละ 37.48 โดยขณะนี้สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 20.28 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการจัดงานมอเตอร์โชว์ 2552
        - การส่งออกรถยนต์ จำนวน 44,742 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 72,972 คัน ร้อยละ 38.69 ตามสภาพเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นการลดลงในทุกตลาดส่งออก ยกเว้นตลาดตะวันออกกลางที่มีการขยายตัวร้อยละ 27 แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 0.30
        - แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53

        รถจักรยานยนต์
        อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้
        - การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 126,184 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 158,601 คัน ร้อยละ 20.44 แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 4.92
        - การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 126,875 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 144,797 คัน ร้อยละ 12.38 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 6.19
        - การส่งออกรถจักรยานยนต์ จำนวน 17,367 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 15,511 คัน ร้อยละ 11.97 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ร้อยละ 23.21
        - แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2552 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 เนื่องจากมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 89 และส่งออกร้อยละ 11

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
        อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซา สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มทรงตัว แต่มีปัจจัยลบที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการส่งออกคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น ประเทศในแถบอาเซียน ด้วย

        1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
        ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือนมีนาคม 2552 เทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 และ 7.05 ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ในช่วงของฤดูกาลก่อสร้าง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 14.33 และ 9.67ตามลำดับ ตามภาวะของธุรกิจการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน อาจทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ก็ทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นส่วนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังคงไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาสถียรภาพทางการเมือง อาจทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆมีความล่าช้าออกไปอีก

        2.การส่งออก
        มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมีนาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.35 และ 25.11 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ บังคลาเทศ กัมพูชา พม่า และเวียดนามซึ่งประเทศเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์เนื่องจากมีกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

        3.แนวโน้ม
        การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม 2552 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในเดือนเมษายนมีช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐก็ยังไม่มีโครงการใหม่เกิดขึ้น
        สำหรับการส่งออกยังมีแนวโน้มทรงตัว แต่ในปี 2552 มีปัจจัยลบที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการส่งออกคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งกระทบไปถึงภูมิภาคที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น ประเทศในแถบอาเซียน ด้วย

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
        - แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

        ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มี.ค. 2552
        เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์             มูลค่า      %MoM     %YoY
        อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                 1,168.86     17.09   -25.49
        IC                               499.77     37.62   -25.72
        เครื่องปรับอากาศ                    235.90     45.02   -38.62
        เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                   117.69     31.51   -24.25
        รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์    3,772.89      4.02   -30.81
        ที่มา กรมศุลกากร

        1.การผลิต
        ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2552 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 278.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 17.49 เนื่องจากการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ตามกำลังซื้อที่หดตัวในตลาดส่งออก ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07 ซึ่งมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในระยะสั้นทำให้การผลิตมีแนวโน้มมากกว่าเมื่อเดือนก่อน
        อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 42.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 90.42 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.35 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.47โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 385.60 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ซึ่งเริ่มมีภาวะการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาสที่4/2551 ที่มีการผลิตและส่งออกที่เป็นลบ ต่อเนื่องถึง 2 เดือนแรกของปีนี้
        2. การตลาด
        มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 21.13 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 27.96 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,162.05 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย โรงงาน มีมูลค่าการส่งออก 235.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,168.86 ล้านเหรียญสหรัฐ
        3. แนวโน้ม
        แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2552 พบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 30.05 โดยการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน จากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรม HDD และชิ้นส่วน IC ซึ่งประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 8.73 และ 34.20 เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยกว่าในเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาและมีสัญญาณที่ดีในการจ้างงานที่อาจมีปรับเพิ่มขึ้น

        - ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2552 มีค่า 159.2 ขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (139.8) ร้อยละ 13.9 แต่หดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (193.6) ร้อยละ -17.7
                  - อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ น้ำมันปิโตรเลียม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ
                  - อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์สี

        - อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 (ร้อยละ 50.0) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 68.3)
                  - อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม Hard Disk Drive ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เบียร์ เป็นต้น
                  - อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ด้ายฝ้ายบริสุทธิ์ โพลีเอสเตอร์ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวดเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น Hard Disk Drive ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น๊อต ตะปู สปริง เป็นต้น

                            สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2552

        - ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 288 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 223 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 29.15 การจ้างงานรวมมีจำนวน 7,070 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,870 คน ร้อยละ 20.44 และมียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,104.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีการลงทุน 7,262.88 ล้านบาท ร้อยละ 25.36
        - ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 350 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ -17.71 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 8,186.47 ล้านบาท ร้อยละ 11.21 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,851 คน ร้อยละ 3.20
                  - อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมขุดตักดิน 24 โรงงาน และอุตสาหกรรมผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ จำนวน 23 โรงงาน
                  - อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรม ผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง เงินทุน 2,111.10 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ เช่นแผงวงจรพิมพ์ เงินลงทุน 1,791.12 ล้านบาท
                  - อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรม ผลิตถุงพลาสติก จำนวนคนงาน 1,544 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ เช่นแผงวงจรพิมพ์ จำนวนคนงาน 1,268 คน
        - ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 145 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 107 ราย คิดเป็นร้อยละ 35.51 มีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,977 คน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 2,262 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการจำนวน 2,614.79 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,682.56 ล้านบาท

        - ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 216 ราย คิดเป็นร้อยละ -32.87 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,828.67 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,771 คน
                  - อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปและอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ ทั้งสองอุตสาหกรรมเท่ากัน จำนวน 13 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวดทรายหรือดิน จำนวน 9 ราย
                  - อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คืออุตสาหกรรมผลิตแก้ว เส้นใยแก้ว ผลิตภัณฑ์แก้ว เงินทุน 800 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง เงินทุน 551 ล้านบาท
                  - อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ คนงาน 539 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำชิ้นส่วนพิเศษสำหรับรถยนต์หรือรถพ่วง คนงาน 462 คน

        - ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 112 โครงการ มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีจำนวน 53 โครงการ ร้อยละ 111.32 และมีเงินลงทุน 26,900 ล้านบาท มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่มีเงินลงทุน 2,700 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 896.30
        - ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมีนาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.มากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่มีจำนวน 101 โครงการ ร้อยละ 10.89 และมีเงินลงทุนมากกว่าเดือนมีนาคม 2551 ที่มีเงินลงทุน 6,000 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 348.34
                  - การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม- มีนาคม 2552

        การร่วมทุน                        จำนวน(โครงการ)    มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
        1.โครงการคนไทย 100%                  66                  13,300
        2.โครงการต่างชาติ 100%                 87                  10,800
        3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ           60                   8,300

                  - ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - มีนาคม 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 10,700 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 7,200 ล้านบาท

        --สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 57

โพสต์

Asia Markets: สรุปภาวะตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียประจำวันที่ 19 พ.ค. 2552

ดัชนีเวทเต็ดตลาดหุ้นไต้หวันปิดไต่ระดับขึ้นในวันนี้ โดยได้อานิสงส์จากตลาดวอลล์สตรีทที่ปิดดีดขึ้นเมื่อคืนนี้และจุดประกายความหวังให้กับนักลงทุนว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยกำลังคลี่คลาย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มการเงิน

ดัชนีเวทเต็ดปิดปรับตัวขึ้น 77.78 จุด หรือ 1.18% แตะ 6,784.26 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 8 เดือน

        - ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดขึ้นกว่า 200 จุดในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจะสิ้นสุดลงเร็วๆนี้ หลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ และสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออกดีดตัวขึ้น นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อวานนี้ยังเป็นอีกปัจจัยที่หนุนตลาดหุ้นโตเกียวทะยานขึ้นด้วย
        ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดพุ่ง 251.60 จุด หรือ 2.78% แตะที่ 9,290.29 จุด

        - ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียปิดตลาดวันนี้พุ่งสูงขึ้น หลังจากที่ตลาดมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลก โดยหุ้นกลุ่มเหมือง อาทิ หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน มีส่วนช่วยดึงตลาดขึ้นหลังจากที่อ่อนตัวลงเมื่อวานนี้
        ดัชนี S&P/ASX 200 ปิดพุ่งขึ้น 81.7 จุด หรือ 2.2% แตะ 3,817.3 จุด

        - ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดเพิ่มขึ้นในวันนี้ จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเหล็ก กลุ่มต่อเรือ และหุ้นกลุ่มการเงิน เพราะเทรดเดอร์เริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังเคลื่อนไหวตามทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดบวกแข็งแกร่งเมื่อคืนที่ผ่านมา
        ดัชนีคอมโพสิตปิดทะยานขึ้น 41.53 จุด หรือ 2.99% แตะที่ 1,428.21 จุด โดยดัชนีพุ่งทะลุ 1,400 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 1 สัปดาห์ โดยมีปริมาณการซื้อขายที่ 759.78 ล้านหุ้น มูลค่า 7.54 ล้านล้านวอน (6.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

        -  ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปิดตลาดวันนี้ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่ในรอบ 9 เดือน นับเป็นการดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 3 วันแล้ว
        ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตบวก 23.9 จุด หรือ 0.9% ปิดที่ 2,676.68 จุด มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นแตะ 2.27 แสนล้านหยวน หรือ 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์

        - ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกใกล้ฟื้นตัวแล้ว
        ดัชนีฮั่งเส็งทะยาน 521.12 จุด หรือ 3.06% ปิดที่ 17,544.03 จุด มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นแตะ 8.372 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง (1.081 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 58

โพสต์

น้ำมันทำสถิติสูงสุดรอบ6เดือนครั้งใหม่-หุ้นดิ่งตามแรงฉุดภาคการเงิน
เอเจนซี - ราคาน้ำมันขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันอังคาร(19) แต่ทำสถิติสูงสุดรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ หลังเกิดปัญหากับโรงกลั่นของสหรัฐฯที่ก่อความกังวลเกี่ยวกับอุปทาน ด้านวอลล์สตรีทปรับลดตามแรงฉุดของหุ้นกลุ่มภาคการเงินและตัวเลขสร้างบ้านใหม่
     
      น้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ ปิดที่ 59.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังช่วงหนึ่งของการซื้อขายก้าวขึ้นไปแตะ 60.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ขณะที่เบรนต์ลอนดอน เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ ปิดที่ 58.92 ดอลลาร์
     
      การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันมีขึ้นหลังจากเกิดไฟไหม้แผนกผลิตน้ำมันเบนซิน ณ โรงกลั่นฟลินต์ ฮิลล์ส ในเท็กซัส ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้ 288,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อความกังวลด้านอุปทานก่อนหน้าฤดูกาลแห่งการขับขี่ช่วงฤดูร้อนนี้ที่กำลังมาถึง ทั้งนี้ช่วงเวลาดังกล่าวอุปสงค์ทางพลังงานจะทะยานถึงขีดสุด
     
      เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากเกิดไฟไหม้โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทซูโนโค ในมาร์คุสฮูค เพนซิลเวเนีย ทำให้ทางบริษัทปิดแผนกผลิตน้ำมันเบนซินและต้องชะลอกระบวนการผลิตน้ำมันดิบลง
     
      ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดาวโจนส์และเอสแอนด์พี ปิดในแดนลบเมื่อวันอังคาร(19) ทรุดตามหุ้นกลุ่มการเงินและจากความผิดหวังต่อตัวเลขยอดขายบ้าน ทว่าแนสแดกสามารถปิดบวกได้ เหตุนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อเก็งกำไรก่อนหน้าการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทฮิวเลตต์ แพคการ์ด
     
      หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินลดลงหลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านกฎหมายควบคุมอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตและค่าธรรมเนียมปิดบังอื่นๆ ผลักให้ดาวโจนส์และเอสแอนด์พี ร่วงลงในช่วงบ่ายของการซื้อขายหลังจากขยับอยู่ในแดนบวกเกือบทั้งวัน
     
      ทั้งนี้รายงานตัวเลขยอดการสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯ ที่ดำดิ่งสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งตลาด หลังกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่ายอดการสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯลดลงถึง 12.8 เปอร์เซ็นต์ แตะระดับ 458,000 ยูนิต เมื่อเดือนก่อน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 1959 เลยทีเดียว
     
      อย่างไรก็ตามในส่วนของแนสแดก สามารถปิดในแดนบวกได้ จากนักลงทุนเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก่อนหน้าการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทฮิวเลตต์ แพคการ์ด โดยเชื่อว่าบริษัทแห่งนี้น่าจะเป็นบริษัทล่าสุดที่มีผลประกอบการทำกำไรเหนือกว่าที่คาดคะเนไว้
     
      ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ ลดลง 29.23 จุด (0.34 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 8,474.85 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 1.58 จุด (0.17 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 908.13 จุด แนสแดก เพิ่มขึ้น 2.18 จุด (0.13 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,734.54 จุด
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 59

โพสต์

เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวติดลบเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกปี 2009
เอเอฟพี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในไตรมาสแรกของปี 2009 นี้ เนื่องจากความต้องการรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอื่นๆ ลดลงฮวบฮาบท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย
     
      สำนักงานคณะรัฐมนตรีเผยว่า เศรษฐกิจ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกแห่งนี้ หดตัวลงถึง 4.0% ใน 3 เดือนแรกของปี จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้น ทำให้ตัวเลขตลอดทั้งปีตกลง 15.2%
     
      ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่สองของปี 2008 เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกหยุดซื้อของสิ้นเปลือง ในช่วงเศรษฐกิจขาลง
     
      รายงานข้อมูลของสำนักรัฐมนตรีระบุว่า ยอดการส่งออกของญี่ปุ่นใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ตกลง 26% จากในไตรมาสก่อน ขณะที่การลงเงินทุนร่วมก็ลดไปถึง 10.4%
     
      ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้อาจผ่านช่วงย่ำแย่ที่สุดมาแล้ว โดยตัวเลขการส่งออกได้แสดงให้เห็นถึงจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
     
      ไตรมาสแรกจะเป็นจุดที่ต่ำสุดของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ระยะการหดตัวของเศรษฐกิจไม่ควรรุนแรงในไตรมาสที่สองข้างหน้านี้ เกลน แมกไกวร์ หัววหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของโซซิเอต เจเนอรัลกล่าว
     
      อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่นั้นยังคงเลือนราง เนื่องจากความต้องการสินค้าภายในประเทศยังอ่อนกำลัง รวมถึงความเปราะบางในตลาดต่างประเทศด้วย
ภาพประจำตัวสมาชิก
pavilion
Verified User
โพสต์: 1726
ผู้ติดตาม: 0

วิเคราะห้ข่าวเศรษฐกิจรอบวัน

โพสต์ที่ 60

โพสต์

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2552

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 พ.ค. 2552

SUMMARY:
        1. โตโยต้าประเทศไทยเปิดเผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบเดือน เม.ย.ลดลงร้อยละ 27.4
        2. ธปท. แจงเงินไหลกลับจากการเกินดุลการค้าทำให้ตลาดเงินผันผวน
3. ครุกแมนชี้เศรษฐกิจโลกใกล้ต่ำสุด

HIGHLIGHT:
1. โตโยต้าประเทศไทยเปิดเผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบเดือน เม.ย.ลดลงร้อยละ 27.4
        -  บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เผยยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในเดือน เม.ย. ลดลงร้อยละ 27.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 จากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในเดือน เม.ย. โดยภาคตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวลงมากได้แก่รถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวถึงร้อยละ 39.7 ต่อปี ในขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.2 โดยได้รับอานิสงค์จากฐานที่ต่ำในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาจากการรอการเปิดตัวของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ที่หดตัวลงมาจากรถยนต์เชิงพาณิชย์ตามการการลงทุนในประเทศที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ตามการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ  (Mega Project) ที่จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าในประเทศ และจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น (Crowding in effect) ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติและจำนวนวันทำการที่น้อยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาและปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังปี 51

2. ธปท. แจงเงินไหลกลับจากการเกินดุลการค้าทำให้ตลาดเงินผันผวน
        -  รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ เกิดขึ้นจากจากหลายสาเหตุ เช่น การเกินดุลบัญชีการค้า และบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีการเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และยังมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค และยังอยู่ในช่วงที่ไม่แข็งมากหรืออ่อนมาก หากมีความจำเป็น ธปท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทแต่จะไม่ฝืนแนวโน้มหรือทิศทางของตลาดในขณะนั้น

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับ 35.03 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ มาสู่ระดับ 34.53 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.42 ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินในภูมิภาคเช่นค่าเงินวอน, รูเปีย,เปโซ, ดอลล่าร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 1.33, 0.59, 0.58, ,0.25 ตามลำดับ ส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออก โดยทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบด้านราคากับประเทศคู่แข่งที่กล่าวมา จึงจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ภาคการส่งออกซึ่งอ่อนแออยู่ในขณะนี้ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถฟื้นตัวได้

3. ครุกแมนชี้เศรษฐกิจโลกใกล้ต่ำสุด
        -  นายพอล ครุกแมน เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกรวมถึงสหรัฐว่า อาจหลุดพ้นจากภาวะถดถอย (recession) อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายไตรมาส 3 ย่างเข้าสู่ไตรมาส 4 ปี อย่างไรก็ตาม ครุกแมนเชื่อว่าการหลุดพ้น  จากก้นบึ้งของภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นในขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มจะย่ำแย่ต่อเนื่องซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอาจจะยังอยู่อีกยาวนานไม่น้อยกว่า 5 ปี

        -  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดได้ เพราะหลายประเทศได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ นโยบายการคลังขาดดุล และมาตรการทางการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น อยู่ระหว่างการเสนอโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 (2553-2555) ต่อศาลรัฐธรรมนูญและโครงการดังกล่าวคาดว่าจะมีการเพิ่มการจ้างงานผ่านโครงการลงทุนขนาดเล็ก กลางและใหญ่ของรัฐบาลไปยังส่วนภูมิภาคและชนบท ประมาณ 1.6-2 ล้านคน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาการว่างงานของไทยได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2552 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ว่างงาน 714,000 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า