วิกฤตตลาดทุนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
bsk(มหาชน)
Verified User
โพสต์: 3206
ผู้ติดตาม: 0

วิกฤตตลาดทุนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วิกฤตตลาดทุนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี
คอลัมน์ ระดมสมอง  
โดย เพสซิมิสต์  
ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3971 (3171)

หัวข้อบทความวันนี้หยิบยืมมาจากหัวข้อบทความของนาย George Soros ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Financial Times เมื่อวันที่ 22 มกราคมนี้ ซึ่งสะท้อนความถดถอยและผันผวนของตลาดทุนสหรัฐและตลาดทุนโลกในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับการแสดงความเห็นในเชิงบวกของผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทยที่กล่าวชมผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ว่าตัดสินใจได้เด็ดขาด และทันท่วงที ในการประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.75% เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างมากเพราะลดดอกเบี้ยลงมากถึง 3 เท่าของการลดดอกเบี้ยปกติ

นอกจากนั้นยังเป็นการตัดสินใจก่อนการกำหนดการประชุมพิจารณานโยบายดอกเบี้ยของธนาคารเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้หลายคนในตลาดทุนตื่นตระหนกมากกว่ามั่นใจในการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐครั้งนี้ เพราะทำให้อดนึกไม่ได้ว่า "ธนาคารสหรัฐรู้อะไร (ที่แย่มากๆ) ที่พวกเรายังไม่รู้หรือไม่" ตัวอย่างเช่น นาย Bill Kramer นักวิจารณ์การลงทุนในโทรทัศน์ของ CNBC ซึ่งสรุปว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้า เราคงได้รู้กันว่าสถาบันการเงินใดในสหรัฐที่ประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องลดดอกเบี้ยลงอย่างปัจจุบันทันด่วน เพื่อช่วยมิให้สถาบันการเงินดังกล่าวต้องล่มสลายลง โดย Goldman Sachs นั้นวิเคราะห์ว่า การลดดอกเบี้ยลง 0.75% นั้นน่าจะมาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ

1.ธนาคารกลางสหรัฐรับทราบข้อมูลที่เป็นข้อมูลสาธารณะที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและ/ หรือสภาวการณ์ของระบบการเงิน กำลังถดถอยลงอย่างน่าเป็นห่วง เช่น การขาดทุนของบริษัทที่ค้ำประกันพันธบัตรของรัฐบาลท้องถิ่น ที่ขาดทุนจากการค้ำประกัน CDO จนทำให้บริษัทค้ำประกันเองกำลังจะถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้พันธบัตรมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ที่รับค้ำประกันต้องถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือลงจาก AAA เหลือ AA ไปด้วย ในกรณีดังกล่าว กองทุนที่มีกฎที่บังคับให้ลงทุนได้เฉพาะในพันธบัตร AAA ก็จะต้องขายพันธบัตรที่ถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว ทำให้มีผลต่อราคาหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่อาจปรับลดลงแบบทั้งแผงพร้อมกัน

2.ธนาคารกลางสหรัฐอาจได้รับข้อมูลภายใน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบสถาบันการเงินถดถอยมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดของนาย Kramer ที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ Goldman Sachs ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ไม่มากนัก

3.ธนาคารกลางสหรัฐอาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง 0.75% เพราะเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างรุนแรงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว รวมทั้งตลาดล่วงหน้าของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในวันเดียวถึง 4% ซึ่งการที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงและต่อเนื่องอาจทำให้เกิดการตื่นตระหนกและกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ซ้ำเติมตลาดทุนและเศรษฐกิจ คือตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรป และอื่นๆ ซึ่งจะปรับตัวลงตามตลาดสหรัฐในวันรุ่งขึ้นอีก Goldman Sachs เห็นว่าเหตุผลนี้มีน้ำหนักมากที่สุด

เราจึงมาถึงข้อสรุปว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจลดดอกเบี้ยอย่างเร่งรีบเพราะแอบทราบมาว่า ธนาคารหนึ่งธนาคารใด หรือหลายธนาคาร เริ่มมีปัญหาอย่างมาก หรือธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยอุ้มตลาดหุ้น ซึ่งในประเด็นหลังนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นาย Bernanke ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ได้โทรศัพท์ไปแจ้งผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น แต่ผลปรากฏว่ามีเพียงธนาคารกลางแคนาดาเพียงธนาคารเดียว ที่ลดดอกเบี้ยลงตามสหรัฐ แต่ลดลงเพียง 0.25% และเป็นการลดจากการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมตามปกติ

สำหรับธนาคารกลางยุโรปนั้นออกแถลงการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ลดดอกเบี้ยตามสหรัฐ และยังยืนยันว่า ธนาคารกลางยุโรปจะมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพของราคา (ควบคุมเงินเฟ้อ) และจะไม่เต้นตามความตื่นตระหนกของตลาดหุ้น (เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐ) ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่สามารถกล่าวชมการทำงานของนาย Bernanke ได้

แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าการถกเถียงว่าการกระทำของนาย Bernanke เหมาะสมหรือไม่ คือประเด็นที่นาย Soros นำเสนอในหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งผมจะขอนำมาสรุปให้อ่านในวันนี้ครับ

นาย Soros ชี้ว่า วิกฤตทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ซึ่งหากมองอย่างผิวเผินก็อาจเข้าใจว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับวิกฤตที่ได้เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบ 60 ปีที่ผ่านมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วิกฤตครั้งนี้จะเป็นจุดจบของการขยายสินเชื่อของโลก ในยุคที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก (ที่เริ่มต้นเมื่อ 60 ปีก่อนหน้า)

การที่เศรษฐกิจขยายตัวจนเกิดฟองสบู่ และต้องถดถอยลงหลังฟองสบู่แตกนั้น เป็นไปตามธรรมชาติของวัฏจักรของเศรษฐกิจ ที่มีทั้งขึ้นและลง แต่การขยายตัวของสินเชื่อโดยอาศัยเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกในช่วง 60 ปีที่ผ่านมานั้น นาย Soros เห็นว่าเป็น super boom ที่มีข้อแตกต่างที่มีนัยสำคัญคือ ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลความมั่นคง ของระบบการเงินการธนาคารสหรัฐนั้น หลงเชื่อความปรีชาสามารถของกลไกตลาดเสรีว่า จะสามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นระบบการเงินจึงสามารถเร่งขยายสินเชื่ออย่างไร้ขอบเขต

โดยการคิดค้นแนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริมให้เกิดการสร้างหนี้สิน และที่สำคัญคือเมื่อระบบการเงินการธนาคาร ประสบปัญหาหนี้เสีย ทางการก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบตลาดเสรี ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมความโลภของตัวเอง นอกจากนั้นการเข้ามาให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา ก็ยังเป็นการทำให้สถาบันการเงินกล้าเสี่ยงเกินขอบเขตที่เหมาะสม หรือเกิด moral hazard นั่นเอง ทั้งนี้เราต้องเข้าใจว่าแนวคิดนี้มาจากคนที่เป็นนักเก็งกำไรแนวหน้าของโลก ที่ทำเงินให้ตัวเองเป็นล้านล้านบาท และเคยเอาชนะธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางไทยมาแล้ว

ในขณะเดียวกันโลกาภิวัตน์ทางการเงินเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสหรัฐเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมทั่วโลก (โดยเฉพาะจากเอเชีย ตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออก) มาให้ชาวอเมริกันใช้จ่ายเกินตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐที่สูงถึง 6% ของจีดีพี สถาบันการเงินของสหรัฐ ส่งเสริมให้ชาวอเมริกันกู้หนี้ยืมสินอย่างไม่มีขอบเขตโดยการนำเสนอสินเชื่อ ตราสารและอนุพันธ์ประเภทต่างๆ มีดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน (ทั้งนี้เพราะนายธนาคาร "รู้" ว่า หากเกิดปัญหาอะไรขึ้น ธนาคารกลางก็จะรีบเข้ามาให้ความช่วยเหลือ)

แต่ super boom กำลังจะก่อให้เกิดวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 60 ปี เพราะตราสารหนี้อนุพันธ์ใหม่ๆ ที่สถาบันการเงินสรรค์สร้างขึ้นมานั้น มีความสลับซับซ้อน จนกระทั่งผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล ก็ไม่เข้าใจความเสี่ยงของตราสารดังกล่าว แต่ก็ยังปล่อยให้นำออกมาขายเป็นจำนวนมาก โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชน และผู้ซื้อ รวมทั้งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงเอง นาย Soros กล่าวโทษสถาบันจัดอันดับอย่างมากที่มิได้ทำการประเมินความเสี่ยงอย่างลึกซึ้งด้วยตัวเอง แต่กลับพึ่งพาข้อมูลของผู้ที่เสนอขายตราสารดังกล่าวเป็นหลัก ซึ่งนาย Soros สรุปว่าเป็นการสละความรับผิดชอบอย่างน่าตกใจ หรือ "shocking abdication of responsibility"

เมื่อราคาสินทรัพย์กำลังปรับลดลง ก็ทำให้ราคาของตราสารหนี้ และอนุพันธ์ที่อาศัยสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องปรับลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญคือระบบการเงินที่เปิดเสรีให้ผู้ซื้อ-ขายตราสารสามารถประกันความเสี่ยงกันเองผ่านตลาด credit default swap นั้นกำลังเผชิญปัญหาว่า ผู้ค้ำประกันตราสาร และอนุพันธ์มูลค่าหลายล้านล้านเหรียญนั้น กำลังจะล้มละลายเอง ทำให้ตลาดเงินและตลาดตราสารกำลังปั่นป่วนอย่างมาก เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าใครถือตราสารอะไร และมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงแค่ไหน เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าตราสาร และอนุพันธ์ที่มีอยู่นั้น จะสามารถนำออกไปขายในตลาดได้มากน้อยเพียงใด (มีสภาพคล่องมากเพียงใด) และจะต้องปรับราคาลงมากเท่าไหร่ ในขณะนี้ CDO ที่เดิมถูกจัดอันดับเป็น AAA หลายตราสารราคาลดลงถึง 40-50%

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือ การหดตัวอย่างรุนแรงและยืดเยื้อของสินเชื่อ (credit crunch) ในสหรัฐและยุโรป ในขณะเดียวกันหากธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มสภาพคล่องในระบบ (ลดดอกเบี้ยโดยการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น) ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จได้ เพราะประเทศอื่นๆ ในโลกจะไม่ต้องการถือเงินดอลลาร์อีกต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ทำให้คนสหรัฐไม่มีเงินซื้อสินค้าจากต่างประเทศ คนต่างประเทศก็ไม่อยากถือเงินดอลลาร์เพื่อลงทุนในสหรัฐ เพราะทราบดีว่าเงินดอลลาร์จะถูกพิมพ์ออกมาอีก จึงจะมีแต่เสื่อมค่าลงและการลดดอกเบี้ยลงทำให้ผลตอบแทนจากการถือเงินดอลลาร์ก็ไม่เป็นที่จูงใจ

จุดวิกฤตในสหรัฐจะเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยระยะสั้นลง จนถึงจุดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวเงินเฟ้อในสหรัฐ เมื่อถึงจุดนั้นดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐจะขยับตัวขึ้น ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อีก ส่วนการกระตุ้นโดยนโยบายการคลัง (ลดภาษี) ก็ทำได้ในขอบเขตที่จำกัดเพราะรัฐบาลสหรัฐขาดดุลงบประมาณมาหลายปีแล้ว และเมื่อรวมข้อผูกพันที่รัฐบาลสหรัฐ ต้องสมทบทุนกองทุนประกันสังคมและกองทุนประกันสุขภาพแล้ว รัฐบาลสหรัฐกำลังเดินเข้าสู่สภาวะล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถสร้างวินัยทางการคลังให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ความถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นกำลังเกิดขึ้นแล้ว แต่จะไม่ลามออกไปทำให้เกิดความถดถอยของเศรษฐกิจโลก แต่ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจของจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ กำลังแข็งแกร่งขึ้น กล่าวคือวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐครั้งนี้กำลังนำไปสู่การปรับดุลของอำนาจทางเศรษฐกิจจากสหรัฐไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองและกระแสการกีดกันทางการค้า ซึ่งสามารถนำเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในที่สุด

หน้า 38
121
Verified User
โพสต์: 843
ผู้ติดตาม: 0

วิกฤตตลาดทุนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ยังไม่ได้อ่าน  เดี๋ยวอ่าน

แต่ขอขอบคุณก่อนครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
MO101
Verified User
โพสต์: 3226
ผู้ติดตาม: 2

วิกฤตตลาดทุนที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี

โพสต์ที่ 3

โพสต์

บทความดีจริงๆ
โพสต์โพสต์