FTA news

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

FTA news

โพสต์ที่ 1

โพสต์

topics นี้มีไว้รวมข่าวความเคลื่อนไหวและผลกระทบด้านต่างๆเกี่ยวกับการทำ fta กับประเทศต่างครับ
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news09/11/07

โพสต์ที่ 2

โพสต์

FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ลงนาม ก.พ. ปีหน้า - ข่าว 22.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Friday, November 09, 2007
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-ญี่ปุ่น สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว หลังจากยืดเยื้อมาเป็นเวลานานถึง 4 ปี โดยผู้นำทั้ง 11 ประเทศ พร้อมร่วมแถลงการณ์ความสำเร็จการเจรจาในการประชุมสุดยอดอาเซียน วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ และหลังจากนั้นจะปรับถ้อยคำทางกฎหมายตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เพื่อบังคับใช้ต่อไป

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น จะทำให้เกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 152,203 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการสร้างเครือข่ายการผลิตขนาดใหญ่ที่มีแหล่งวัตถุดิบร่วมกัน และนำมาซึ่งผลประโยชน์ในด้านการค้าและการลงทุน

รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศบอกอีกว่า หลังจาก FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น มีผลบังคับใช้ จะทำให้สินค้าอาเซียนจำนวน 90% ของมูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่น จะลดภาษีเป็น 0% ทันที และไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในอีก 71 รายการสินค้า คิดเป็นมูลค่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พลังงาน สารสนเทศและการสื่อสาร และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news09/11/07

โพสต์ที่ 3

โพสต์

กระตุ้นส่งออกใช้สิทธิ์ภาษีเอฟทีเอ

โพสต์ทูเดย์ ธนาคารไทยพาณิชย์เผยผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์ จากข้อตกลงทางการค้าเพียง 30% กระตุ้นใช้โอกาสทางภาษีของประเทศคู่สัญญามาลดต้นทุนและผลกระทบค่าเงิน


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้า ธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว ในงานสัมมนา แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการเงินปี 2551 ว่า เมื่อเข้าไปดูผลจากข้อตกลงทางการค้า (เอฟทีเอ) ที่ทำไว้กับประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ หรือจีน พบว่าผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีน้อยมากเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายโอกาสอีก 70% ที่เหลือ เพราะเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สำคัญ

เราพูดกันว่า ค่าเงินบาท แข็งค่า 5-6% ทำให้เราเสียรายได้ไป 5-6% แต่การเข้ารับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงการค้าจะช่วยลดภาระภาษีลงได้ 15-20% ทันที นอกจากจะช่วยชดเชยขาดทุนจากค่าเงินบาท ทำให้มีรายได้มากขึ้น ด้วย นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า อยาก กระตุ้นให้ผู้ประกอบการได้ใช้ ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 พ.ย. ที่ผ่านมาทำให้อัตราภาษีสินค้าไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นลดเหลือ 0% ทันที

ขณะที่หลายได้รับโควตาพิเศษสำหรับสินค้าส่งออกของไทยบางรายการ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่จะ ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องเข้าไป ตรวจสอบรายการสินค้าที่เข้าร่วมว่าตัวเองเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์หรือไม่ ผ่านทางกระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้า

ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศที่มี สินค้าประเภทเดียวกับสินค้าจาญี่ปุ่น ก็ต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบ แม้ว่าข้อตกลงได้ให้เวลาปรับตัว 5 ปี

นอกจากนี้ กำลังจะมีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ซึ่งถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้น จากเดิมคือปี 2563 ขณะที่มาตรการ ลดภาษีสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกให้เหลือ 0% จะถูกเร่งให้เกิดขึ้นในปีนี้เลย จากเดิมคือปี 2553

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังไม่ได้รับสิทธิ์ เพราะยังไม่มีรัฐบาลเข้ามารับรอง แต่เมื่อใดที่มีรัฐบาลเข้ามารับรอง ผู้ประกอบการไทยจะได้ประโยชน์ทันที

ทั้งนี้ เออีซี มีเป้าหมายเพื่อให้ มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี เพื่อ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน ดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา

นายวิรไท กล่าวว่า คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ ที่ 4-5% โดยการส่งออกจะขยายตัวได้ดีอยู่แม้จะไม่ดีเท่าปีนี้ที่โตได้ถึง 16-17% เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ถึง 4.5-4.8% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5.2% ซึ่งต้อง อาศัยเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่จากประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=202468
noooon010
Verified User
โพสต์: 2712
ผู้ติดตาม: 2

FTA news

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณมากๆสำหรับข้อมูลดีๆที่มีให้เสมอนะครับ

อยากขอบคุณหลายทีแล้วครับ เลยขอมา post ปาดขั้นรายการนิดๆล่ะกันนะครับ  :D

ถ้าผมทราบอะไรดีๆจะรีบมาช่วย post นะครับ
(แต่ผมไม่ค่อยทราบเท่าไหร่เลยอ่ะ)  :D
อย่าลืมให้เวลากับครอบครัว และสังคมรอบๆข้างของคุณนะครับ

มีสติ และมีความสุขกับการลงทุนนะครับผม


นักลงทุนที่เก่งที่สุดมิใช่คนที่ซื้อขายไวที่สุด
แต่คือคนที่นำสติกลับมาได้เร็วที่สุด
หลายครั้งส่งคำสั่งซื้อทางไปรษณีย์ได้ผลตอบแทนมากกว่าซื้อผ่านnetหากเราขาดสติ
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news12/11/07

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ผู้ส่งออกตื่นแห่ขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดฯใช้สิทธิเจเทปปา

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 16:45:00
 
ผู้ส่งออกแห่ขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าส่งออกกรอบเจเทปป้า สัปดาห์แรกกว่า 1,500 ฉบับ พาณิชย์มั่นใจผลักดันการค้า 2 ฝ่ายขยายตัวพุ่ง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าทันทีมากกว่า 7,000 รายการ


นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางรายการที่ไทยและญี่ปุ่น ให้โควตาระหว่างกัน โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นให้โควตาแก่สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ กล้วย สับปะรด เนื้อหมูแปรรูป กากน้ำตาลและแป้งมันสำปะหลังแปรรูป

ส่วนไทยให้โควตานำเข้าแก่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการผลิต ได้แก่ เหล็กกัดกรดเคลือบน้ำมัน เหล็กแผ่นหน้ากว้าง และเหล็กเพื่อผลิตยานยนต์ รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO รวม 21 รายการ

สินค้าไทยที่ได้โควตาจากญี่ปุ่น โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้บริหารและจัดสรร ได้แก่ กล้วย สับปะรด และเนื้อหมูแปรรูป โดยในปีแรกของความตกลง (พย.50 - มีค. 51)ไทยได้โควตาปลอดภาษีกล้วย 1,667 ตัน (ภาษีปกติ 20-25%) สับปะรด 42 ตัน (ภาษีปกติ 17%) ส่วนเนื้อหมูแปรรูป ซึ่งได้รับการจัดสรรโควตาภาษีในปี 2550 จำนวน 500 ตัน โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีจาก ภาษีปกติ 20% ลงเหลือ 16%

ทั้งนี้ ผู้ขอรับการจัดสรรโควตาส่งออกสำหรับสินค้ากล้วย และสับปะรด ต้องมีประวัติการส่งออกระหว่างปี 2547-2549 กรณีไม่เคยส่งออกต้องได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องมีการตรวจโรคพืช

ส่วนเนื้อหมูแปรรูป ผู้ได้รับการจัดสรรโควตาส่งออก ได้แก่ โรงงานแปรรูปเนื้อหมูตามรายชื่อของกรมปศุสัตว์ จำนวน 23 โรงงาน ซึ่งวิธีการจัดสรรโควตาสินค้าทั้ง 3 ชนิดจะใช้วิธี FIRST COME, FIRST SERVED.

ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับโควตาจากญี่ปุ่น อีก 2 รายการ คือ แป้งมันสำปะหลังแปรรูป และกากน้ำตาล ฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นผู้บริหารโควตาเอง โดยสินค้าแป้งมันสำปะหลังแปรรูป จำนวน 200,000 ตัน จะได้รับโควตาปลอดภาษี (จาก 6.8% เหลือ0) ส่วนกากน้ำตาล จะได้รับโควตาภาษีในปีที่ 3 โดยลดหย่อนภาษีจาก 15.3 เยนต่อกิโลกรัม เหลือ 7.65 เยนต่อกิโลกรัม

สินค้าเหล็กที่ไทยให้โควตานำเข้าแก่ญี่ปุ่น ไทยได้ออกประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้สินค้าเหล็กที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ภายใต้โควตา ต้องมีหนังสือรับรองแสดง การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร จากกรมการค้าต่างประเทศ แสดงต่อกรมศุลกากร ประกอบกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากญี่ปุ่น โดยในปีแรกของความตกลง (พย.-ธค.50) ไทยจัดสรรปริมาณการนำเข้า 74,000 ตัน สำหรับสินค้าเหล็กรีดร้อน โดยผู้ได้รับการจัดสรรจะต้องเป็นนิติบุคคลและเป็นผู้ประกอบการเหล็กเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ส่วนเหล็กรีดร้อนสำหรับรีดเย็น ไทยจัดสรรในปริมาณ 40,000 ตัน ซึ่งผู้ได้รับการจัดสรรต้องเป็นโรงงานผลิตเหล็กรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนเหล็กรีดร้อนสำหรับรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ได้รับการจัดสรร 47,000 ตัน ซึ่งผู้ได้รับการจัดสรรยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถาบันเหล็ก

ตั้งแต่วันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2550 มีผู้ส่งออกของไทยให้ความสนใจขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเพื่อส่งสินค้าออกไปยังประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,500 ฉบับ โดยสินค้าที่ขอใช้สิทธิภายใต้ JTEPA ได้แก่ กุ้งแปรรูป สิ่งทอ และแป้งมันสำปะหลังแปรรูป เป็นต้น

ความร่วมมือในการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย - ญี่ปุ่น จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ประโยชน์จากความตกลง JTEPA กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และแนวปฎิบัติในการขอใช้สิทธิภายใต้ JTEPA มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA ให้ได้มากที่สุด
http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/1 ... sid=201444
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news14/11/07

โพสต์ที่ 6

โพสต์

เท200ล.ผลิตเพิ่มอานิสงส์เอฟทีเอ

โพสต์ทูเดย์ คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค หวังผลเอฟทีเอเปิดประตูส่งออกทั่วเอเชีย ทุ่ม 200 ล้านขยายกำลังผลิตรับมือ ดันรายได้ทะลุ 5 พันล้านบาทปีหน้า


นายเดวิด ออสบอร์น กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตเพื่อการส่งออกของโรงงานคิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค จ.สมุทรปราการ โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออก จากปัจจุบัน 5% เป็น 35% จากรายได้รวม 3.5 พันล้านบาทในปีนี้ และเพิ่มเป็น 5.5 พันล้านบาทในปีหน้า

นอกจากนี้ กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จากทั้ง 2 โรงงานเป็น 1.6 ล้านหีบ เมื่อเต็มกำลังการผลิตในอีก 5 ปีจากนี้ จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ในประเทศ 55% และส่งออก 45%

การตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกครั้งนี้ นอกจากจะเพราะมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ทำเล และมีศักยภาพโดดเด่นแล้ว ยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้การส่งออกได้รับประโยชน์จากภาษีที่ลดลง ดังนั้น บริษัทจะใช้โรงงานในประเทศไทยผลิตสินค้าป้อนตลาดออสเตรเลียนิวซีแลนด์ และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยมีวิสัยทัศน์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง ยั่งยืนในกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2553 จะลดการใช้น้ำอีก 50% ลดขยะและของเสียให้เหลือ 0% และ ลดการใช้พลังงานลง 15%
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=203456
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news22/11/07

โพสต์ที่ 7

โพสต์

อียูหวังเปิดเขตการค้าเสรีกับอาเซียนภายใน 2 ปี

โดย ผู้จัดการออนไลน์
22 พฤศจิกายน 2550 17:42 น.

      อียู คาดหวัง 2 ปีบรรลุผลเปิดเขตการค้าเสรีกับ อาเซียน ตั้งเป้าเปิดทุกอย่างตั้งแต่ ภาคการบริการ-จัดซื้อจัดจ้าง-การสื่อสารโทรคมนาคม หยอดคำหวานเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 กลุ่มมากกว่า 20-24% ต่อปี ส่งผลจีดีพีของทั้งสองกลุ่มประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 2%
     
      นายฟิลิปป์ เมเยอร์ เจ้าหน้าที่เจรจาการค้าระดับสูง คณะกรรมการการค้าสหภาพยุโรป(อียู) เปิดเผยถึงกรอบการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอียูกับอาเซียนว่า การเจรจาเปิดเขตการค้าระดับภูมิภาคของทั้งสองกลุ่มประเทศจะเป็นเรื่องของข้อตกลงแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเป็นการเจรจาการค้าในระดับภูมิภาค โดยเนื้อหาของการเปิดเขตการค้าเสรีจะไม่จำเพาะเจาะจงอยู่เพียงแค่การเปิดเสรีในสินค้าและบริการด้วยการยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันเท่านั้น
     
      ทว่าในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีในครั้งนี้ ได้ขยายขอบเขตการเจรจาครอบคลุมไปถึง การกำหนดกรอบเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(Non-tariff barrier) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การสื่อสารโทรคมนาคม ทรัพย์สินทางปัญญา และ การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ
     
      นายเมเยอร์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับจากการเปิดเขตการค้าเสรีในครั้งนี้คือ มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ภูมิภาค ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดิมในทันทีภายหลังบรรลุผลการเจรจาประมาณ 20-24% ซึ่งจะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งสองภูมิภาค เพิ่มขึ้นประมาณ 2%
     
      ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับอียูอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยกลุ่มประเทศอาเซียนส่งออกสินค้าไปยังอียูอยู่ในอันดับที่ 5 คิดเป็น 13% ของยอดการส่งออกรวม ในขณะที่อียูเองส่งออกสินค้ามายังกลุ่มประเทศอาเซียนประมาณ 4% ของยอดส่งออกรวมเท่านั้น
     
      อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มได้กำหนดกรอบการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีเพื่อให้บรรลุผลภายใน 2 ปี โดยในปี 2551 จะมีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างกันประมาณ 4 ครั้ง แต่ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือความเห็นที่แตกต่างของประเทศสมาชิก อาจจะทำให้การเจรจาเกิดความล่าช้าออกไปได้
http://www.manager.co.th/Business/ViewN ... 0000138828
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news22/11/07

โพสต์ที่ 8

โพสต์

เอกชนรุมทึ้งกองทุนเอฟทีเอ กว่า10โปรเจ็กต์ชิงดำธ.ค.นี้  
เอกชน-เกษตรกรแห่ใช้กองทุนเอฟทีเอ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถกอล์ฟ โคเนื้อ ผลไม้ ปลา ชักแถวยื่นเสนอโครงการขอใช้งบ 134 ล้านบาท อนุกรรมการกลั่นกรองเตรียมพิจารณาอนุมัติล็อตสอง กลาง ธ.ค.นี้ เผยกว่า 10 โครงการร่วมชิงดำผ่าน-ไม่ผ่านอนุมัติ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในกลางเดือนธันวาคมศกนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเอฟทีเอ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือในล็อตที่สอง คาดจะมีโครงการสู่การพิจารณาไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ หลังจากกลั่นกรองเสร็จแล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุนชุดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในต้นเดือนมกราคม 2551 เพื่อพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้ายต่อไป ทั้งนี้ล่าสุดในปีงบประมาณ 2551 กองทุนยังมีเงินอยู่ทั้งสิ้น 134 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ เปิดเผยว่า สำหรับโครงการที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในครั้งนี้อาทิ โครงการตรวจสอบความนุ่มของเนื้อโคพันธุ์กำแพงแสนเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตเนื้อโคขุน ของสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย โครงการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ของสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการที่จะได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือจะต้องเข้ากับหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่นเป็นสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด หรือมีสัญญาณบ่งชี้ หรือคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ผลิตภายในประเทศหลังจากเปิดเสรี รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง มีการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องลดลง และต้องไม่เป็นโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นแล้ว

"สำหรับรูปแบบของเงินช่วยเหลือจะมุ่งเน้นนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการปรับปรุงธุรกิจ การฝึกอบรมอาชีพใหม่ให้กับคนงาน การจัดกิจกรรมที่มีผลโดยรวมต่อการสนับสนุนการบริโภค การตลาดและอื่นๆ ในภาคการผลิตและบริการนั้นๆ และการจัดอบรมเสริมสร้างให้มีความรู้เพื่อการปรับตัวซึ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี"

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ"พบว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการในหลายสินค้าได้เตรียมเขียนโครงการเพื่อนำเสนอขอใช้งบกองทุนฯเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิค กลุ่มผู้ผลิตรถกอล์ฟ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าจำหน่ายในประเทศ เป็นต้น

ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้เตรียมเขียนโครงการเพื่อของบสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการพัฒนามาตรฐานสินค้า และการโปรโมตสินค้าในท้องตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการทำเอฟทีเออาเซียน-จีน มีผลทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก คุณภาพต่ำ จากประเทศจีนทะลักเข้ามาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมาก และกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศในกลุ่มเครื่องรับโทรทัศน์ อุปกรณ์ส่องสว่าง แบตเตอรี่ต่างๆ

ขณะที่นายสุชาติ หิรัญชัย ผู้ช่วยประธานกรรมการ บริษัท ที เอส วีฮิเคิล จำกัด ผู้ผลิตรถกอล์ฟ ยี่ห้อ "CARIO" จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุน(JTEPA)ที่ภาษีนำเข้ารถกอล์ฟจะต้องลดลงเป็น 0 ในอนาคต คาดจะมีผลให้รถกอล์ฟนำเข้าจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่ง อาทิ ยามาฮ่า มิตซูบิชิ จะถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้นและกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศซึ่งมีอยู่ 4-5 ราย ทางผู้ประกอบการไทยได้เตรียมเขียนโครงการของบจากกองทุนเอฟทีเอเพื่อจัดกิจกรรมโปรโมตแบรนด์รถกอล์ฟไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น

อนึ่ง คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติให้ความเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 โดยในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารเงินกองทุนได้อนุมัติเงินช่วยเหลือจำนวน 2 โครงการจาก 21 โครงการที่นำเสนอ วงเงินรวม 5 ล้านบาท
http://www.thannews.th.com/detialnews.p ... issue=2272
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news27/11/07

โพสต์ที่ 9

โพสต์

สถาบันอาหารจี้เร่งใช้เจเทปาเจาะตลาดเกษตร-อาหารญี่ปุ่น

27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 11:57:00

สถาบันอาหาร เผย ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ช่วยผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสินค้าเกษตร-อาหารในตลาดญี่ปุ่น เร่งผู้ประกอบปรับตัวชิงความได้เปรียบ เพิ่มขีดแข่งขันหนีเวียดนาม

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) หรือเจเทปา ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 มีเนื้อหาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีนั้น ถ้ามองในเรื่องของภาษีไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเดิมอัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น แต่เมื่อมีการเปิดเสรีรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต้องยกเลิกหรือลดภาษีให้แก่กัน

อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา ในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารนั้น สินค้าที่ฝ่ายไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มประมง โดยเฉพาะกุ้ง และกลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว รวมทั้งน้ำผลไม้ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น ลดภาษีให้ทันที หรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี

นอกจากนี้ยังมีไก่ปรุงสุก ซึ่งแม้จะไม่มีการยกเลิกภาษี แต่ญี่ปุ่นได้เปิดให้ลดภาษีจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 3 ภายใน 5 ปี และกล้วยสด สับปะรดผลสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูป ที่ญี่ปุ่นได้จัดสรรให้ในรูปของโควตาภาษีสินค้าเกษตร

ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและแตงชนิดอื่นๆ ซึ่งไทยทยอยลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ภายใน 2 ปี มันฝรั่งสด ทยอยลดจาก 35% เป็น 0% ภายใน 8 ปี หอมแดงและกระเทียมสด ที่ไทยยกเลิกภาษีในโควตาภายใต้ WTO ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

ขณะเดียวกันในส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 7 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร คือ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ทางการตลาดสำหรับอาหารไทย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และกรมส่งเสริมการ ส่งออก เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

โครงการที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการส่งออก ในขณะที่สถาบันอาหารรับผิดชอบในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถ ในการตรวจ Positive Lists ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับ งบประมาณสนับสนุนจาก JETRO

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ในหมวดสินค้าเกษตร- อาหาร มูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วงปี 2545-2549 มีประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2549 มีประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 4.16 จาก 96,000 ล้านบาท ในปี 2545 ในขณะที่มูลค่านำเข้ามีประมาณ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 จาก 4,500 ล้านบาท ในปี 2545 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ไก่ กุ้ง มันสำปะหลัง ข้าว อาหารทะเล และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ ปลาทะเล ประเภท ปลาสคิปแจ็ก ปลาแอลบาคอร์ ปลาแมคเคอเรล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2549 ได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ไม่เกินสิ้นปี 2550 โดยในกลุ่มสินค้าเกษตร-อาหารมีสินค้าหลายรายการที่เหมือนกับไทย เน้นเปิดเสรีผลไม้ นอกจากนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับเวียดนาม ที่เน้นเปิดตลาดผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส และอินโดนีเซียที่เน้นเปิดตลาดสินค้าประมงและอาหารสัตว์

การเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นเน้นเปิดตลาดในสินค้าที่ไม่แตกต่างจากสินค้าไทยของไทย แต่หากมองในมุมกลับแม้ไทยจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียมากกว่าหากไทยไม่ลงนาม ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เพราะผู้ประกอบการไทยอาจสูญเสียความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน กับประเทศคู่แข่ง

ทั้งนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยจะมีโอกาสชิงความได้เปรียบจากการได้รับสิทธิพิเศษในการยกเลิกและการลดภาษี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ในตลาดญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ไปประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม จะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้เช่นกัน

ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารของไทยควรเร่งเจาะตลาดญี่ปุ่นให้ได้ก่อนที่ เวียดนามจะเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยผู้ประกอบการไทย ควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น เตรียมข้อมูลด้านแหล่งกำเนิดสินค้าให้พร้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในขั้นตอนการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งต้องเตรียมขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้

ส่วนการแข่งขันในระยะยาวนั้นผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมเกษตร-อาหารของไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม คือ ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก รวมถึงเรื่องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของสินค้าที่จะต้องผลิตให้สามารถส่งออกได้ตลอดเวลา
http://www.bangkokbiznews.com/2007/11/2 ... sid=206069
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news27/11/07

โพสต์ที่ 10

โพสต์

FTA อียู - อาเซียน อาจล่าช้า ข่าว 12.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Tuesday, November 27, 2007
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกถึงการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่าง อาเซียน และกลุ่มสภาพยุโรป (อียู) ว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของการหารือกรอบข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีประเด็นใดบ้าง โดยได้มีการเจรจาไปแล้ว 2 รอบ ซึ่งทางอียูได้กำหนดระยะเวลาในการเจรจาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาจะมีความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงใด

นายชนะบอกว่า ในการเจรจาเขตการค้าเสรีครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าจะใช้เวลามากกว่าปกติ เนื่องจากประเทศในแถบอาเซียนมีมากกว่า 10 ประเทศ จึงทำให้ไม่เป็นเสียงเดียวเหมือนอียู การเจรจาจึงอาจทำได้ไม่รวดเร็วเหมือนการเจรจาแบบทวิภาคี แต่ก็หวังว่า อียู จะเข้าใจและไม่บีบให้อาเซียนยินยอมในข้อตกลงตามที่กำหนดกรอบเวลาเอาไว้

สำหรับกรอบการเจรจา FTA อียู - อาเซียน นั้นจะมีความคล้ายคลึงกับ FTA  อื่น ๆ เช่น การค้า การลงทุน และการบริการ แต่อียูอาจเสนอให้มีการเจรจาเพิ่มในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มั่นใจว่าอาเซียนยังไม่มีการตกลงว่าจะร่วมเจรจาด้วยหรือไม่ เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย เชื่อว่า การเจรจา FTA ระหว่างอียูและอาเซียน จะทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น เพราะอียูถือเป็นตลาดหลักของอาเซียน แต่ยอมรับว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้การเจรจาสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องเจรจา FTA  ระหว่างยุโรปและอาเซียนให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านความเห็นชอบก่อน ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 50
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news01/12/07

โพสต์ที่ 11

โพสต์

ใช้ประวัติย้อนหลังแย่งกันขายญี่ปุ่น พาณิชย์เร่งจัดสรรโควตาเหล็กJTEPA

กรมการค้าต่างประเทศประกาศจัดสรรโควตานำเข้าเหล็กภายใต้ JTEPA ให้กับ 65 บริษัทนำ เข้าเหล็ก ผู้ประกอบการเหล็กชี้ กลุ่ม 1 มีปัญหา มากที่สุด เหตุผู้นำเข้าแย่งโควตา แถมใช้ประวัติย้อนหลัง 3 ปี ปิดทางรายใหม่ เผยบริษัทญี่ปุ่น บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น แบ่งเค้กกันเอง ได้โควตาเพียบ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน กรมการค้าต่างประเทศได้ออกประกาศ 2 ฉบับ เกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่จะนำเข้าตามโควตาภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่จะออกหนังสือรับรองการนำเข้าประจำปี 2550 ใน 3 กลุ่มสินค้า โดยมีผลบังคับ ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2550 ทั้งนี้การจัดสรรโควตาการนำเข้าพิจารณาจากประวัติการนำเข้าจากญี่ปุ่น ย้อนหลัง 3 ปี (2547-49)

โดยสินค้ากลุ่มที่ 1 จัดสรรให้ผู้ประกอบการ ค้าเหล็กหรือเหล็กกล้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อ เนื่อง จำนวน 62 ราย ปริมาณรวม 74,000 ตัน สัดส่วนโควตาที่ได้รับจัดสรรมีจำนวนตั้งแต่ 0.019-19,077 ตัน โดยผู้ที่ได้รับการจัดสรรนำเข้าในปริมาณสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท จำกัด โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) ปริมาณ 19,077 ตัน บริษัท เอ็มซี เมทัลเซอร์วิสเอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด 9,637 ตัน บริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมทีเรียล จำกัด 6,613 ตัน บริษัท ยูไนเต็ดคอยล์เซ็นเตอร์ จำกัด 4,454 ตัน บริษัท สยามบุณฑริก จำกัด 4,415 ตัน บริษัท สยามนิปปอนสตีลไพพ์ จำกัด 3,285 ตัน บริษัท สยามมัตสุชิตะสตีล จำกัด 3,211 ตัน บริษัท นานาชาติเทรดเดอร์ส คอนซอลิเดชั่น จำกัด 2,046 ตัน และบริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) 1,756 ตัน

สินค้ากลุ่ม 2 จัดสรรให้กับโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องรายเดียวคือ บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ปริมาณ 40,000 ตัน โดยพิจารณาจากประวัติการส่งออกและยังเพิ่มเงื่อนไขจัดสรรให้ตามผลการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำเข้าและสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ส่วนสินค้ากลุ่ม 3 จัดสรรให้โรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นที่นำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ หรือ เป็นโรงงานผลิตยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์ ปริมาณรวม 47,000 ตัน จัดสรรให้กับ 2 ราย คือ บริษัท สยามยูไนเต็ดสตีล (1995) จำกัด ปริมาณ 19,787 ตัน และบริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย จำกัด (มหาชน) ปริมาณ 27,213 ตัน

แหล่งข่าวจากวงการเหล็กแผ่นรีดร้อนเปิดเผยว่า การจัดสรรโควตาสินค้าเหล็กกลุ่มที่ 1 มีจำนวนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่การกำหนดคุณสมบัติในการจัดสรรโควตาโดยพิจารณาจากประวัติการนำเข้าจากญี่ปุ่นย้อนหลัง 3 ปี ถือว่าเป็นอุปสรรคของผู้นำเข้ารายใหม่ๆ

แต่กรมการค้าต่างประเทศได้ชี้แจงว่า การจัดสรรโควตานำเข้าดังกล่าวจะทำให้เกิดการ ใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการมีผลบังคับใช้ของ JTEPA ซึ่งเหลือเพียง 2 เดือนจะสิ้นปี จากนั้นจะต้องจัดสรรโควตาในปี 2551 ใหม่อีกครั้ง ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะปรับมาใช้ระบบจัดสรรโควตานำเข้าตามลำดับก่อนหลัง (first come first serve) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต่อไป

"แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ความจริงแล้วการจัดสรรโควตาไม่ว่าจะให้กับผู้ประกอบการ รายใดก็จะส่งผลดีต่อญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่ เป็นบริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นอยู่แล้ว และที่สำคัญบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเหล็กกลุ่มที่ 1 นั้น ในญี่ปุ่นก็มีเพียง 2 ราย คือ นิปปอนสตีล และเจเอสอี ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งและเบอร์สอง ดังนั้นไม่ว่าจะจัดสรรให้ใคร สุดท้ายสองรายนี้ก็ จะไปแบ่งสัดส่วนกันว่าจะส่งออกมาเท่าไหร่" แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่มีการตั้งข้อสังเกตคือ การอนุญาตให้โรงงานผลิตผลิต เหล็กแผ่นรีดเย็นที่นำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ หรือเป็นโรงงานผลิตยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์มีโอกาสนำเข้าได้นั้น เป็นคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงในเจเทปา เพราะระบุให้เพียงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์เท่านั้นที่นำเข้าได้ ดังนั้นจำเป็นต้องไปแก้ไขข้อตกลง หรือต้องตี ความว่าเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศระบุนั้น สามารถทำได้หรือไม่
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0203
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news01/12/07

โพสต์ที่ 12

โพสต์

อาเซียน-อียู ครบ 30 ปี เดินหน้า FTA-ลดโลกร้อน

30 ปี แห่งความเป็นมิตรระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) มุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือ ขยายความสัมพันธ์ผ่านการค้า การให้ความช่วยเหลือ การแก้ปัญหาของโลก ทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษอาเซียน-อียู เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ณ ประเทศสิงคโปร์ นายโฮเซ่ มานูเอล บาโรโซ ประธาน คณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในระหว่างการแถลงผลการประชุมว่า ความพยายามบูรณาการประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ ด้วยกัน ย่อมมีคุณค่าเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความมั่นคง ได้มากขึ้น และเชื่อมั่นว่ากฎบัตรอาเซียนที่ผู้นำทั้ง 10 ประเทศได้ร่วมลงนามไปนั้น จะเป็นอีกเครื่องมือทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

"ปัจจุบันอาเซียนไม่ได้เป็นเพียงพันธมิตรทาง การค้าของอียูเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการช่วยผลักดันในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศ (climate change) และการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน" นายโฮเซ่ มานูเอล บาโรโซ กล่าว

ขณะที่ นายโฮเซ่ โซคราเตส ประธาน สหภาพยุโรปและนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเวลาของอาเซียนที่จะสร้างความร่วมมือและพัฒนาเป็นตลาดเดียวและแหล่งผลิตเดียวตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งจะบรรลุได้ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า ตนเชื่อว่าภายใต้กระแสธารของโลกาภิวัตน์ จะมีส่วนทำให้ประเทศต่างๆ เกิดการผลักดันด้านเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนาภายในประเทศ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 4 วันของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกมาหารือและกล่าวถึงมากที่สุดคือ สถานการณ์ในพม่า ซึ่งการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษอาเซียน-อียู เป็นอีกหนึ่งนัดที่ อียูเข้ามามีความเห็นกับเรื่องนี้

แม้ว่าในปัจจุบันอียูได้ประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่าด้วยการห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการจากพม่าเข้าไปในสหภาพยุโรป เช่น หินมีค่า ท่อนซุง และยกเลิกการให้วีซ่าแก่ผู้นำพม่าบางคน แต่ในการประชุมระดับผู้นำอาเซียน-อียูหนนี้ อียูยังมีภารกิจสานต่อความร่วมมือในการทำความตกลงเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) อาเซียน-อียู

นางเบนิต้า เฟอเรอโร-วาลด์เนอร์ กรรมาธิการยุโรป ฝ่ายการต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เราไม่ควรรวมเรื่องหนึ่งเข้ากับอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากอาเซียนยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ยังต้องการการพัฒนา ซึ่งผู้นำในประเทศเหล่านี้ได้เห็นพ้องกันว่า ควรมีการหารือเพื่อสร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยอียูจะเริ่มต้นการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค แม้จะรู้ดีว่ายังมีปัญหาในกรณีของพม่าอยู่และยังอีกนานกว่าเรื่องนี้จะจบลง"

นายฟิลิปป์ เมเยอร์ หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ทางการค้ากับเอเชียใต้ เกาหลี และอาเซียน คณะกรรมาธิการการค้ายุโรป กล่าวถึงการพบกันของกรรมาธิการการค้ายุโรป นายปีเตอร์ แมนเดลสัน กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เป็นอีกครั้งที่เราได้หารือกันถึงความชัดเจนของการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าระหว่างอียู-อาเซียน ซึ่งขณะนี้ยังล่าช้าอยู่

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปคาดหวังทำเอฟทีเอกับอาเซียนให้ครอบคลุมถึงการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา อุปสรรคทางการค้าทางเทคนิค (TBT) และเรื่องสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)

"ในส่วนของสหภาพยุโรปแล้ว เรื่องเหล่านี้ต้องหยิบยกขึ้นมาหารือไปพร้อมๆ กัน จะละทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้" นายเมเยอร์กล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า "เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีมูลค่า ถึง 70% ของจีดีพีแล้ว ส่วนมูลค่าการค้าที่จะเพิ่มขึ้นหลังการเจรจา สหภาพยุโรปประเมินว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 18-24% ตามขนาดการพัฒนาของแต่ละประเทศและอิงกับสถานการณ์ของมูลค่าการค้าในปีที่เริ่มมีผลบังคับใช้ความตกลง" นายฟิลิปป์ เมเยอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเมเยอร์ได้ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะนำเรื่องของคาร์บอนเครดิตมาอยู่ในเนื้อหาของการเจรจา เอฟทีเอเพื่อลดปัญหาโลกร้อน ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันว่า เรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดของผู้เจรจา และขณะนี้การเจรจายังไม่เริ่มต้น อีกทั้งเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกหรือการซื้อขายคาร์บอน เป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเจรจาเอฟทีเอ

ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน นายฟิลิปป์ เมเยอร์ ได้เข้าร่วมการสัมนาในประเทศไทยในหัวข้อ "Roles of trade intermediaries in the ASEAN-EU Free Trade Agreement" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ โดยศูนย์ข้อมูลธุรกิจสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0203
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news06/12/07

โพสต์ที่ 13

โพสต์

ชี้เปิดเอฟทีเอ ผักและผลไม้ ไทยได้ดุลจีน

โพสต์ทูเดย์ พาณิชย์ แจง ไทยได้ดุลการค้าผักและผลไม้กับจีน หลังเปิดเอฟทีเอ ยันกระเทียมและหอมหัวใหญ่ที่ทะลัก ส่วนใหญ่นอกโควตา


น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลการลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ภายใต้เขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ซึ่งได้เปิดเสรีนำร่องก่อนกรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2546 ปรากฏว่า การค้ามีการขยายตัวมาโดยตลอด และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจีนทั้งผักและผลไม้

ทั้งนี้ ในส่วนของผักช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2547-2549) การส่งออกขยายตัวสูงถึง 41.10% ต่อปี ส่วนการนำเข้าขยายตัว 30.15% ต่อปี และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกได้สูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.88% และนำเข้า 66.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.23% โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 234 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับผลไม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัว 16.81% ต่อปี การนำเข้าขยายตัว 13.65% ต่อปี โดยในช่วง 10 เดือนแรก ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนแล้ว 107 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.82% นำเข้า 85.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.14% ไทยได้ ดุลการค้า 21.60 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเสรีผักและผลไม้กับจีน แม้ว่ากระเทียมและหอมหัวใหญ่ จะเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการลดภาษี และถูกโจมตีมาตลอดว่ามีสินค้าจากจีนทะลักเข้ามา จนกระทบกับเกษตรกรภายในประเทศของไทย

ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริง สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีโควตาภาษี ซึ่งอาเซียนและจีนตกลงจะลดภาษีเฉพาะในโควตาเท่านั้น โดยกระเทียมมีโควตานำเข้าปีละ 65 ตัน หอมหัวใหญ่ 365 ตัน และต้องขออนุญาตนำเข้า ดังนั้นสินค้าที่ทะลักเข้ามาส่วนใหญ่เป็นสินค้านอกโควตาและเสียภาษีในอัตราที่สูง
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=207508
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news06/12/07

โพสต์ที่ 14

โพสต์

"เกริกไกร"ชี้ FTA ช่วยดันส่งออก คาดสิ้นปี 50 โตทะลุเป้า 16%  
 
รมว.พาณิชย์ย้ำ FTA เป็นเครื่องมือสำคัญดันส่งออกไทยขยายตัวเพิ่ม เชื่อปี 2550 ตัวเลขส่งออกโตทะลุ 16%

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเดินทางไปร่วมงานสัมมนา "เวทีสาธารณะ กรอบเจรจาการค้าเสรีไทย อาเซียน-คู่เจรจา" ที่โรงแรมอโนมา เช้าวันที่ 6 ธ.ค. 2550 ที่ผ่านมาว่า การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก้ประชาชนเกี่ยวกับการเปิดเขตการค้าเสรี หรือการเจรจาการค้าในระดับต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะปัจจุบัน การเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA เป็นสิ่งสำคัญที่ทีประเทศต้องตระหนัก หลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มีการจับคู่เจรจาการค้าอย่างต่อเนื่อง ในกรณีประเทศไทยเองจึงต้องศึกษาเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการทำ FTA ให้มากที่สุด

นายเกริกไกรกล่าวอีกว่า ตัวเลขส่งออกของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจานั่นเอง และเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไป แม้จะว่าเผชิญปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนบ้างก็ตาม

สำหรับตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยในปี 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จะเติบโตสูงกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้ ร้อนละ 12 โดยคาดว่าอาจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 16 ในสิ้นปี 2550 นี้
http://matichon.co.th/prachachat/news_d ... 21&catid=2
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news06/12/07

โพสต์ที่ 15

โพสต์

อาหาร-แม่พิมพ์-เครื่องจักรกล/ชิ้นส่วน BOIชู3อุตฯดาวรุ่งดึงนักลงทุนญี่ปุ่น

BOI ลุยชักจูงการลงทุนญี่ปุ่น ระบุจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข การเมืองวุ่นวาย/ค่าเงินบาทแข็ง ชูจุดแข็งไทยเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมโอกาสอุตสาหกรรมรองรับในอนาคต ไมว่าจะ เป็นอาหาร/แม่พิมพ์/เครื่องจักร/อากาศยาน ชี้ JTEPA ช่วยอำนวยความสะดวกการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ เร่งจัดโรดโชว์ชวนนักลงทุนญี่ปุ่นปีหน้า 11 ครั้งรวด

นายชิตวร วรศักดิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแผนการและทิศทางชักจูงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ว่า จากสถิติตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในประเทศไทย ปรากฏในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยสูงถึง 88,812 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้นแผนการชักจูงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณาถึงจุดอ่อน-จุดแข็ง และโอกาสของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

โดยในส่วนของจุดอ่อนที่เกิดกับประเทศไทยในขณะนี้คือ การเมืองภายในประเทศยังไม่มีความชัดเจน แม้จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี แต่ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ก็อาจจะเป็นผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนภายในประเทศได้ ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ "เงินบาท" ที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามหรือมาเลเซีย ซึ่งก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย ดังนั้นก็จะต้องแก้ไขจุดอ่อนนี้

สำหรับจุดแข็งก็คือ ประเทศไทย มีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีสุดเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรองรับ การผลิตสามารถทำได้ตามออร์เดอร์ ขนส่งได้ตามกำหนดเวลา (just in time) ไม่ต้องผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าเหมือนกับการไปลงทุนในเวียดนาม อีกทั้งค่า "เงินเยน" ในขณะนี้เริ่มแข็งค่าขึ้น จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มคิดถึงการลงทุนมาสู่ประเทศไทยมากขึ้นด้วย

"อุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ BOI ก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งประหยัดพลังงาน หรืออีโคคาร์ ก็ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่นอกเหนือจะทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นนโยบายการผลิตสินค้าตามกระแสโลกในอนาคต คือเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน-อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นนอกเหนือจากฮอนด้า ก็สนใจเสนอการขอรับส่งเสริมการลงทุนมาแล้ว 2-3 ราย" นายชิตวรกล่าว

ทางด้านโอกาสการลงทุนภายในประเทศ พบว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนในอนาคตได้ ประกอบด้วย
1)อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเดิมประเทศไทยอาจสู้จีนไม่ได้ แต่เนื่องจากสินค้าจีนเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย ประกอบกับญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยมาก ดังนั้นจึงทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารจีนลดลงและพยายามหาแหล่งนำเข้าแห่งใหม่ ซึ่งสินค้าของไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ญี่ปุ่นจะนำเข้า

2)อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จะเป็นตัวเสริมการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเราก็มีแผนพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
3)อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเครื่องจักร ในส่วนนี้ต้องชี้ให้นักลงทุนญี่ปุ่นเห็นความสำคัญถึงการขยายการลงทุน เพราะถ้าไม่รีบขยายก็จะถูกประเทศจีนบุกเข้าไปลงทุนตีตลาดได้ ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ก็มีผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรเข้ามาลงทุนแล้ว 2-3 ราย อาทิ โซดิ, อะดูโมโระ ที่มีศักยภาพพอที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องจักรได้
และ
4)อุตสาหกรรมอากาศยาน/ชิ้นส่วนอุปกรณ์ของอากาศยานบางชิ้น ข้อดีของการมีอุตสาหกรรมนี้ก็คือ อะไหล่ทุกชิ้นของเครื่องบินมีอายุการใช้งาน ไม่ต้องรอให้เสียก่อนแล้วค่อยเปลี่ยน นั้นหมายถึงการมีความต้องการที่แน่นอนทำให้ผู้ผลิตวางแผนการผลิตได้ หากประเทศไทยจะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ก็จะต้องมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอุปกรณ์รองรับไว้ด้วย

"แผนของ BOI ในการชักจูงหรือส่งเสริมการลงทุน ตอนนี้จะต้องคิดถึงอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีในอนาคต เพราะปัจจุบันแม้เราจะมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดี แต่ก็เหมือนกับต้นไม้ที่ปลูกแล้ว เมื่อโตเราก็ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ถึงที่สุดก็จะต้องมีวันที่โรยรา ไม่มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวอีก ดังนั้น จึงต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ ปลูกต้นไม้ต้นใหม่ เพื่อเก็บผลต่อไปอีกในอนาคต และการชักจูงการลงทุนต่อไปก็เน้นในเรื่องของการลงทุนที่มีนวัตกรรม มีเทคโนโลยีใหม่ๆ โครงการลงทุนที่มีคุณภาพ ไม่ชักจูงแบบเหวี่ยงแหอีกต่อไปแล้ว" นายชิตวรกล่าว

ส่วนกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) นั้น นายชิตวรกล่าวว่า อาจจะไม่ ส่งผลโดยตรงในเรื่องของการลงทุน แต่อาจจะส่งผลด้านการอำนวยความสะดวก ทำให้ต้นทุนการ นำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้าต่ำลง และการทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นด้วย

"ผมเคยเป็นหัวหน้าประจำสำนักงานส่งเสริมการลงทุนที่โตเกียวและโอซากา รวมแล้วประมาณ 5 ปี พอจะรู้สภาพการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น กล่าวคือ กลุ่มบริษัทใหญ่จะมีความยอดเยี่ยมเรื่องของข้อมูลมาก เขาจะมีแผนกต่างประเทศมีข้อมูลของเขาเอง ไม่ได้เชื่อข้อมูลของเราทั้งหมด ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาจจะมีข้อมูลไม่มาก ตรงนี้เราก็จะใช้กลวิธีชักจูงโดยผ่านธนาคารเจ้าหนี้ ให้ธนาคารเป็นผู้แนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าของธนาคารได้รับทราบ รวมถึงเวลาการจัดสัมมนา ก็จะให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยในปัจจุบันไปเล่าประสบการณ์ให้ฟังด้วย" นายชิตวรกล่าว
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0203
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news07/12/07

โพสต์ที่ 16

โพสต์

ระดมเปิดประชาพิจารณ์ค้าเสรีอาเซียน

โพสต์ทูเดย์ ระดมทำประชา พิจารณ์ค้าเสรีกรอบอาเซียน รอชงผลสรุปส่งรัฐบาลใหม่สานต่อ


น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในงาน ประชาพิจารณ์เวทีสาธารณะ : กรอบการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย : อาเซียน- คู่เจรจา ว่า กรมได้นำทุกกรอบ การเจรจาเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ของอาเซียนกับประเทศคู่ค้ามาเปิด รับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยเฉพาะกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-อินเดีย จะนำผลที่ได้ให้รัฐบาลใหม่เห็นชอบ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการต่อไปสำหรับการเจรจาเอฟทีเอกรอบอาเซียน-อียูนั้น จะ นำกรอบที่ไทยเตรียมไปเจรจากับอียู เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่ากรอบอาเซียน-อียู จะเจรจาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ ไทยต้องการคือ การลดภาษีสินค้า ในกลุ่มข้าว ปลาทูน่า ไก่ และ มันสำปะหลัง

นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้อง เปิดเสรีการค้า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้ ถ้าไม่เปิดจะเสียเปรียบคู่แข่ง ที่ทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะปีหน้าที่การส่งออกของไทยยังต้องพึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐอยู่

ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบประเทศที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ปีนี้เชื่อว่าการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีอยู่ คาดว่า จะเติบโต 15-16%

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่าการเปิดเสรีการค้าของไทยในอนาคต ข้างหน้าจะมีอุปสรรคจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 วรรค 2 ที่รัฐบาลต้องเสนอ กรอบเจรจาการค้าทั้งก่อนและหลังเจรจาให้สภานิติบัญญัติเห็นชอบ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดที่ทำให้ไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่น

นายจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยโครงการศึกษาและปฏิบัติงานพัฒนาสถาบันทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้าจำเป็นกับไทย แต่ต้องจัดลำดับความสัมพันธ์ในการเจรจา ให้ดีกว่านี้ ต้องมีกลไกรับฟังความ คิดเห็น ดังนั้นจึงเสนอให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแล ควรแยกจัดทำการเจรจาเป็นรายกลุ่ม ไม่เหมารวม เพราะเอฟทีเอแต่ละประเทศ มีรายละเอียดต่างกัน

นายวีรชัย วงศ์บุญสิน ประธานคณะทำงานติดตามผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรา 190 แม้มีเจตนาที่ดี แต่ยังมีข้อบกพร่อง ควรให้เอกชนมีส่วนร่วม
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=207669
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news08/12/07

โพสต์ที่ 17

โพสต์

เผยยอดส่งออกกรอบเจเทปา1เดือน300ล้านดอลล์

7 ธันวาคม พ.ศ. 2550 15:57:00
 
พาณิชย์เผยยอดขอใช้สิทธิส่งออก- นำเข้าภายใต้เจเทปาครบ 1 เดือน ขอส่งออกรวม 323 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เหล็กมีการขอโควตานำเข้าแล้ว 860 ตันมูลค่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อการใช้สิทธิลดภาษีส่งออกภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(เจเทปา)ในช่วง 1เดือนที่ผ่านมา (1-30 พ.ย.50) นั้นรวม7,000 ฉบับหรือคิดเป็นมูลค่ารวม 323 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยสินค้าสำคัญที่ขอใช้สิทธิ ได้แก่ กุ้ง แปรรูป สิ่งทอ และแป้งมันสำปะหลังแปรรูป เป็นต้น

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่ญี่ปุ่นให้โควตาปลอดภาษีทันทีในปีแรกของความตกลง(พ.ย.50-มี.ค.)ได้แก่ กล้วย จำนวน1,667 ตัน(ภาษีปกติ20-25%)นั้น กรมออกหนังสือรับรองแล้ว 117.5 ตันเนื้อหมูแปรรูป จำนวน 500 ตัน(ภาษี ปกติ20%) ออกหนังสือรับรองแล้ว 8.5 ล้านตัน และสับปะรดได้โควตาภาษี 42 ตัน(ภาษีปกติ17%)ยังไม่มีผู้ขอหนังสือ รับรองเพื่อส่งออก ส่วนสินค้าที่ไทยให้โควตานำเข้าแก่ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นสินค่าเกาตรที่ไทยผูกพันไว้กับWTO รวม 21

รายการ เช่นน้ำนมดิบและนมพร้อมดื่ม มะพร้าว ถั่วเหลือง ซึ่ง 1 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีผู้มายื่นขอโควตาน้ำเข้า

ส่วนสินค้าเหล็กที่ไทยให้โควตานำเข้า 3 กลุ่มเหล็กรีดร้อน(Q9)เหล็กรีดร้อนสำหรังบรีดเย็น (Q10) และเหล็กรีด ร้อนสำหรับรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์(Q11) นั้น กรมฯออกหนังสือรับรองแสดงการได้ รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าเหล็กแผ่นในกลุ่ม Q11 ปริมาณรวม 860 ตันรวมมูลค่า 5 แสนเหรียญสหรัฐ ส่วนกลุ่มอื่นยังไม่มีการขอโควตา
http://www.bangkokbiznews.com/2007/12/0 ... sid=209365
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news08/12/07

โพสต์ที่ 18

โพสต์

โกลด์ไมน์-บิวตี้เจมส์โตรับJTEPA + ยักษ์ค้าปลีกการ์เมนต์/อัญมณีญี่ปุ่นแห่ลงออเดอร์ล็อตใหญ่  
ส่งออกการ์เมนต์-อัญมณีรายใหญ่ รับอานิสงส์ JTEPA เต็มๆ ล่าสุดโกลด์ไมน์การ์เม้นท์ส้มหล่น "ยูนิโคล"ยักษ์ค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่สุดจากแดนซามูไร สั่งออเดอร์ล็อตใหญ่ส่งขาย 750 ช็อปทั่วประเทศ ชี้ปี 2552 แค่ลูกค้ารายเดียวคาดดันส่งออกการ์เมนต์ไทยไปญี่ปุ่นโตกว่า 10% ขณะที่บิวตี้เจมส์ได้ 4 ลูกค้ารายใหม่ช่วยดันยอดขายอัญมณีกว่า 300 สาขา

จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา ส่งผลให้สินค้าหลายกลุ่มที่ได้เริ่มทยอยลดภาษี รวมถึงกลุ่มที่ต้องยกเลิกภาษีทันทีได้รับประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ได้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพิ่มมากขึ้น

นายสุชาติ จันทรานาคราช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลด์ไมน์ การ์เม้นท์ จำกัด บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปแนวหน้าของเมืองไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับบริษัท ยูนิโคล จำกัด(UNICLO) บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในการสั่งผลิตเสื้อผ้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่น และตลาดอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ UNICLO โดยจะเริ่มส่งสินค้าได้ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของปีหน้า

ทั้งนี้ยูนิโคลได้ตั้งเป้าหมายที่จะสั่งซื้อจากบริษัทจำนวน 3 แสนตัว/เดือน หรือ 3.6 ล้านตัว/ปี โดยเสื้อผ้าที่สั่งผลิตจะอยู่ในกลุ่มเสื้อเชิ้ตสุภาพบุรุษ เพื่อนำไปจำหน่ายในร้านค้าปลีกของยูนิโคลซึ่งมีอยู่ประมาณ 750 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 95% ของปริมาณที่สั่งผลิต ส่วนอีก 5% จะส่งไปจำหน่ายในร้านค้าปลีกของบริษัทในจีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และยุโรปอีกประมาณ 30 สาขารวมแล้วเกือบ 800 สาขาทั่วโลก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทางยูนิโคลได้มาสั่งซื้อเสื้อผ้าจากบริษัทในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญปัจจุบันยูนิโคลมีการสั่งซื้อเสื้อผ้าจากโรงงานผลิตในประเทศจีนสัดส่วนกว่า 89% ของการสั่งซื้อจากทั่วโลก ดังนั้นจึงต้องการลดการพึ่งพาการสั่งซื้อจากจีนลง ขณะที่จากข้อตกลง JTEPA การค้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างไทย-ญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีเป็น 0 ทันทีนับแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้ จึงเป็นโอกาสที่ยูนิโคลจะย้ายฐานการสั่งซื้อมาไทยมากขึ้น

"ญี่ปุ่นเขาทำอะไรมีการวางแผนอย่างดี โดยเสื้อผ้าที่สั่งจากเราเขาจะค่อยๆ ลงออเดอร์และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายจะซื้อจากโกลด์ไมน์ฯ 3 แสนตัวต่อเดือน ซึ่งในอดีตยูนิโคลเคยเข้ามาดิวกับเราหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีธุรกรรมระหว่างกันเกิดขึ้น เพราะยังไม่มีสิ่งจูงใจ แต่จากความตกลง JTEPA เป็นแรงจูงใจให้เขาหันมาสั่งซื้อจากไทยมากขึ้นจากก่อนหน้ามีการสั่งซื้อเสื้อผ้าจากผู้ผลิตไทยอยู่แล้วรายหนึ่งคือไนซ์กรุ๊ปเป็นกางเกงลำลอง ซึ่งการย้ายฐานจากจีนมาซื้อจากไทยแค่ 1-2% ก็ถือว่าเยอะมากแล้วสำหรับเรา" นายสุชาติ กล่าวและว่า

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเสื้อเชิ้ตสุภาพบุรุษ และชุดชั้นในสุภาพสตรี 550,000-600,000 ตัว/เดือน การได้ออเดอร์ล็อตใหญ่ดังกล่าวบริษัทต้องลงทุนในการเพิ่มจักรและเพิ่มคนงานอีกจำนวนหนึ่งรองรับ และจากคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นปี 2551 ในสัดส่วนประมาณ 25% ของการส่งออกในภาพรวมของบริษัท จากในปีนี้และในปีที่ผ่านมามีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาสัดส่วน 60% สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และตลาดอื่นๆ สัดส่วน 40% ซึ่งการขยายตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นจะช่วยลดผลกระทบตลาดสหรัฐที่อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากปัญหาซับไพรม์(หนี้ด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์)ได้เป็นอย่างดี แม้เวลานี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทในสหรัฐจะยังสั่งซื้อเป็นปกติก็ตาม

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า จากคำสั่งซื้อของญี่ปุ่นคาดจะมีผลให้ยอดขายของบริษัทในปี 2551 ขยายตัวจากปี 2550 ประมาณ 20-25% จากปีนี้คาดจะขยายตัวจากปี 2549 ประมาณ 15% (ปี 2549 โกลด์ไมน์ฯมียอดขาย 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,216 ล้านบาท คำนวณที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 38 บาท/ดอลลาร์)และในปี 2552 หากบริษัทสามารถผลิตป้อนให้กับยูนิโคลได้เต็มเพดานที่ 300,000 ตัว/เดือน ยอดขายของบริษัทเพียงบริษัทจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของการส่งออกการ์เมนต์ไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวม(ปี 2549 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปญี่ปุ่น 218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ด้านสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งเป็นสินค้าอีกรายการหนึ่งที่ได้รับการการลดภาษีลงเป็น 0% ทันทีตามข้อตกลง JTEPA นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้เจมส์กรุ๊ป จำกัด ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับผู้ค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับรายใหญ่ในญี่ปุ่นรวม 4 ราย ซึ่งมีเอาต์เลต(ร้านค้าปลีก)รวมกันกว่า 300 แห่งทั่วเกาะญี่ปุ่นหนึ่งในจำนวนนั้นคือบริษัท ซาซามิ จำกัด(SASAMI)ซึ่งมีเอาท์เลตอยู่กว่า 70 แห่ง ปัจจุบันบริษัทส่งออกไปญี่ปุ่นในสัดส่วน 20% ของยอดขาย(ปี 2550 บิวตี้เจมส์คาดมียอดขายรวมทุกตลาด 7,650 ล้านบาท)ใน 2551 เฉพาะตลาดญี่ปุ่นวางเป้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15%  
http://www.thannews.th.com/detialNews.p ... issue=2276
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news10/12/07

โพสต์ที่ 19

โพสต์

เจาะนโยบาย "เควิน รัดด์" เมินสหรัฐดัน FTA จีน-ออสเตรเลีย

ออสเตรเลียได้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 ปรากฏว่า จากผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการของออสเตรเลีย เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคแรงงาน ซึ่งมีนายเควิน รัดด์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้ครองเสียงข้างมากในสภา เป็นจำนวน 86 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Liberal ของ นายจอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมายาวนานถึง 11 ปี 5 เดือน ได้ที่นั่งในสภาเพียง 59 ที่นั่ง

ส่งผลให้ออสเตรเลียได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อว่า "เควิน รัดด์" ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคแรงงานในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญคือ นโยบายที่นายรัดด์นำขึ้นมาหาเสียง และแน่นอนว่า นโยบายหลายเรื่องจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครซิดนีย์ วิเคราะห์ผลกระทบจากผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศออสเตรเลียต่อไทย

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น คาดว่า นายเควิน รัดด์ จะดำเนินนโยบายไม่ต่างจาก นายจอห์น โฮเวิร์ด มากนัก นอกจากเรื่องการที่จะให้สัตยาบัน พิธีสารเกียวโต และการถอนทหารจากอิรัก อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดการณ์ว่า การดำรงตำแหน่งของเควิน รัดด์ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีนแนบแน่นมากขึ้น เนื่องจากเควิน รัดด์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาจีน เคยดำรงตำแหน่งทางการทูตในจีน ต่างจากสมัยจอห์น โฮเวิร์ด ที่เน้นสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ

ทั้งนี้ เควิน รัดด์ ยังมีบุตรเขยเป็นชาวจีนในออสเตรเลีย บุตรคนกลางกำลังศึกษาอยู่ที่นคร เซี่ยงไฮ้ และบุตรชายคนเล็กที่กำลังเริ่มเรียนภาษาจีนอีกด้วย คาดว่าจะมีผลอย่างยิ่งในการขยายความสัมพันธ์ทางการค้า และการเจรจา FTA จีน-ออสเตรเลีย ซึ่งได้เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2548 หากการเจรจาสามารถจบได้เร็วจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดออสเตรเลีย

ส่วนธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้ คือ ธุรกิจ child care, health providers, infrastructure companies, construction companies, the renewable energy sector และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วน เป็นต้น เนื่องจากนโยบายของพรรคแรงงานเน้นในการให้บริการสวัสดิการสังคม มากกว่าการมุ่งเน้นการหารายได้เข้ารัฐ จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายภาครัฐในปีหน้าจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่กล่าวมาข้างต้น

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับรัฐบาลไทย ในการจะบุกเบิกขยายความสัมพันธ์กับรัฐบาลออสเตรเลียใหม่ให้แนบแน่นมากขึ้น เพื่อขยายช่องทางทางการค้าให้กับภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งคู่แข่งสำคัญคือ จีน

นโยบายสำคัญที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของเควิน รัดด์ และพรรคแรงงาน ที่มีอย่างท่วมท้นเหนือพรรค Liberal นั้น ได้แก่

1)การได้รับการสนับสนุนจากแรงงานและสหภาพแรงงานจากการประกาศปรับปรุงกฎหมายแรงงาน industrial relations หรือที่เรียกว่า work choices policy ที่มีขึ้นในสมัยรัฐบาลของจอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งนายจ้างมีสิทธิ์ที่จะต่อรองสัญญาว่าจ้างเป็นรายบุคคลได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานแรงงานทั่วไป แต่แรงงานและสหภาพแรงงานต่างๆ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างได้

2)นโยบายปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ โดยพรรคแรงงานได้ตั้งงบประมาณ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงพยาบาลรัฐ 755 แห่งทั่วประเทศ 3)ปรับปรุงคุณภาพและระบบการศึกษา 4)การ integrate นโยบายการทำงานของรัฐบาลในระดับต่างๆ โดยประกาศให้มี conference ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น ระดับรัฐ และรัฐบาลกลาง

5)แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ย และสภาพการเช่าที่อยู่อาศัย โดยเริ่มแรกจะลดภาษีรายได้ส่วนบุคคลลง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 3 ปี

6)ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางคมนาคมต่างๆ นอกจากนี้จะพัฒนาระบบ บรอดแบนด์ โดยจะลงทุนในระบบบรอดแบนด์เป็นมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญ เพื่อสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูงทั่วประเทศ

7)ความเป็น multicultural diversity ของ เควิน รัดด์ ซึ่งสอดคล้องกับสังคมออสเตรเลีย ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติ
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0203
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news12/12/07

โพสต์ที่ 20

โพสต์

เจเทปป้านิติกรรมอำพราง [ ฉบับที่ 853 ประจำวันที่ 12-12-2007 ถึง 14-12-2007]  
> หมกเม็ดดัดหลังเกษตรกร

นายกสมาคมผลไม้โอด เจเทปป้า หมก เม็ดฆ่าชาวสวนไทย ตั้งเงื่อนไข มหาโหดยากที่จะทำได้ไม่คุ้มค่า กับการลงทุนเหตุผลหลักเพราะ ญี่ปุ่นต้องการบล็อกตลาดให้ฟิลิปปินส์ แถมเปิดช่องโควตาส่งออกให้กลุ่มบริษัทยุ่นที่เข้ามาตั้งรกรากในไทย

เมืองไทยก่อน ด้านผอ.สถาบันอาหารจี้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวชิงความได้เปรียบ ตีกันก่อนประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียร่วมแชร์ตลาด ยอมรับถ้าไทยไม่เซ็นเอฟทีเอกับญี่ปุ่นจะยิ่งเสียเปรียบ ขณะที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศยังฝันค้างสุดท้ายผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรไทย

นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผย สยามธุรกิจ ว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) เพิ่มมูลค่าทางการค้าด้วยการลดภาษีระหว่างกัน หรือ เจเทปป้า นั้นในทางปฏิบัติถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 5 ปี แต่กลับพบว่ามีเงื่อนไขที่ซ่อนเร้นหมกเม็ดจนไม่สามารถส่งไปจำหน่ายได้

ยกตัวอย่างเช่นสับปะรด ข้อตกลงคือส่งออกไปได้แต่ให้โควตานิดเดียว และมีเงื่อนไขว่าสับปะรดแต่ละลูกต้องมีขั้วติดและชั่งน้ำหนักไม่เกิน 900 กรัม ซึ่งสับปะรดเมืองไทยมีน้ำหนักอย่างต่ำคือ 1.2 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นต่อให้ลดภาษีเหลือ 0 % ก็ส่งไปขายไม่ได้ และเท่าที่สืบทราบมาการที่เขากำหนดเช่นนั้นเพราะต้องการบล็อกตลาดผลไม้ประเภทนี้ให้กับประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงกล้วยหอมซึ่งเพิ่มโควตาจากเดิม 400 ตันเป็น 500 ตัน เพิ่มแค่ 100 ตัน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ส่งออกไปขายได้มากถึง 2 แสนตันต่อปี แต่ให้โควตาไทยแค่ 500 ตันถามว่าคุ้มหรือเปล่ากับการที่จะต้องเสียเวลาพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาดิน พัฒนาแวร์เฮ้าส์ ผิดกับการส่งออกไปขายที่ประเทศจีนหรือฮ่องกงซึ่งมีปริมาณมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ขนาดบริษัทของผมรายเดียวยังส่งไปขายใน 2 ประเทศดังกล่าวสัปดาห์ละ 70 ตัน ปีหนึ่ง 3.5 พันตัน มากกว่าทุกบริษัทรวมกันส่งไปขายที่ญี่ปุ่นเสียอีก นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ยังกล่าวอีกว่านอกจากจะให้โควตาน้อยแล้ว ในเงื่อนไขยังมีการกำหนดอีกว่า 90 % ของโควตาที่ให้จะให้สิทธิกับบริษัทเก่าที่เคยได้โควตาอยู่แล้ว อีก 10 % เป็นของรายใหม่ ซึ่งบริษัทรายเก่านั้นส่วนใหญ่เป็นของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งบริษัทอยู่ในเมืองไทย ซึ่งสามารถไปกดราคาในการรับซื้อจากชาวสวนในราคาถูกได้ ในขณะที่บริษัทใหม่ที่ได้ส่วนแบ่ง 10 % นั้นก็ต้องเจอกับระบบตรวจสอบการนำเข้าที่เข้มข้นจนไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยง จำเป็นต้องขายผ่านให้กับบริษัทญี่ปุ่นเพื่อนำไปส่งออกแทน หรือไม่ก็หาตลาดอื่นที่ผ่อนคลายกว่าส่งออกไปแทน

การเซ็นเอฟทีเอดังกล่าวถือว่าไทยไม่ได้รับความจริงใจจากญี่ปุ่น ใครก็ตามที่จะส่งออกต้องมีชาวญี่ปุ่นมาตวจสอบก่อนว่าดีหรือไม่ดี ทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเปิดเสรีแล้วเราควรส่งไปขายได้อย่างเสรีโดยไม่มีเงื่อนไขซ่อนเร้น ผมจึงคิดว่าการเซ็นสัญญาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราต้องการเอาเกษตรไปแลกเปลี่ยนกับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า อย่างมะม่วงน้ำดอกไม้กว่าจะส่งออกได้ก็ต้องผ่านการอบไอน้ำ ผ่านการตรวจสาร และรายละเอียดอื่นๆอีกจิปาถะ ทำให้ส่งไปขายได้น้อนยมาก ชาวสวนไม่อยากเสี่ยง เพราะไม่คุ้ม จึงพยายามหาตลาดอื่นส่งไปขายแทน เช่นส่งไปขายที่ประเทศไต้หวันเป็นต้น ผมเคยทำหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบก็เงียบหาย อาจเป็นเพราะรัฐบาลอยู่ในช่วงสุญญากาศเลยไม่มีใครมาดูแลเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ผมยังหวังให้มีการเจรจาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเหล่านี้ เพื่อให้การส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเสรีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่าเราจะตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบและปล่อยให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมสถานการณ์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเจเทปป้าเท่านั้นที่เราเสียเปรียบ เอฟทีเอกับหลายประเทศก็มีสภาพไม่ต่างกัน

นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงผลไม้ 6 ชนิด อาทิ มะม่วง ทุเรียน ที่ได้รับไฟเขียวให้นำเข้าไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าหรือส่วนแบ่งทางการตลาดแต่อย่างใด เพราะระยะทางค่อนข้างไกล ถ้านำส่งทางเรือกว่าจะไปถึงผลไม้ก็เน่าเสียก่อนวางจำหน่าย ในขณะที่การขนส่งทางอากาศแม้จะควบคุมเวลาได้แต่ค่าขนส่งแพง เมื่อขายในราคาแพงก็สู้ผลไม้ที่ส่งจากประเทศใกล้ ๆ อย่างเม็กซิโกไม่ได้ ในขณะที่ผลไม้จากสหรัฐฯเช่นแอปเปิลเป็นผลไม้เมืองหนาว เก็บได้นาน 2 - 3 เดือน จึงสามารถขนส่งทางเรือมาขายในเมืองไทยได้อย่างสบายๆ

นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกที่รัฐบาลโชว์ตัวเลขสวยหรูโตเกินเป้าหมายว่า ไม่ทราบว่าการส่งออกโดยรวมเป็นอย่างไร แต่ในกลุ่มผลไม้ไม่โตกว่าเดิม เพราะปัญหาธรรมชาติในปีที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตเสียหายจำนวนมาก

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีนั้นถ้ามองในเรื่องของภาษีไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเดิมอัตราภาษีนำเข้าของไทยสูงกว่าญี่ปุ่น แต่เมื่อมีการเปิดเสรีรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายต้องยกเลิกหรือลดภาษีให้แก่กัน

อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา ในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรอาหารนั้นสินค้าที่ฝ่ายไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มประมง โดยเฉพาะกุ้ง และกลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว รวมทั้งน้ำผลไม้ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ยังมีไก่ปรุงสุกซึ่งแม้จะไม่มีการยกเลิกภาษีแต่ญี่ปุ่นได้เปิดให้ลดภาษีจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 3 ภายใน 5 ปี และกล้วยสด สับปะรดผลสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูปที่ญี่ปุ่นได้จัดสรรให้ในรูปของโควตาภาษีสินค้าเกษตร ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและแตงชนิดอื่นๆ ซึ่งไทยทยอยลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ภายใน 2 ปี มันฝรั่งสด ทยอยลดจาก 35% เป็น 0% ภายใน 8 ปี หอมแดงและกระเทียมสด ที่ไทยยกเลิกภาษีในโควตาภายใต้ WTO ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

ขณะเดียวกันในส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 7 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร คือ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ทางการตลาดสำหรับอาหารไทย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมการส่งออก ในขณะที่สถาบันอาหารรับผิดชอบในส่วนของโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการตรวจ Positive Lists ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก JETRO

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี ในหมวดสินค้าเกษตร อาหาร มูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยในช่วงปี 2545-2549 มีประมาณ 95,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรอาหารของไทยไปญี่ปุ่นในปี 2549 มีประมาณ 92,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 4.16 จาก 96,000 ล้านบาทในปี 2545 ในขณะที่มูลค่านำเข้ามีประมาณ 6,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.82 จาก 4,500 ล้านบาท ในปี 2545 สินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ไก่ กุ้ง มันสำปะหลัง ข้าว อาหารทะเล และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ คือ ปลาทะเล ประเภท ปลาสคิปแจ็ก ปลาแอลบาคอร์ ปลาแมคเคอเรล

ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเซ็นเอฟทีเอกับเวียดนามที่เน้นเปิดตลาดผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส และอินโดนีเซียที่เน้นเปิดตลาดสินค้าประมงและอาหารสัตว์ ซึ่งการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นเน้นเปิดตลาดในสินค้าที่ไม่แตกต่างจากสินค้าไทย แต่หากมองในมุมกลับแม้ไทยจะไม่ได้ประโยชน์มากนักจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่น แต่ผู้ประกอบการไทยจะสูญเสียมากกว่าหากไทยไม่ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เพราะผู้ประกอบการไทยอาจสูญเสียความได้เปรียบในด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง คาดว่าอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของไทยจะมีโอกาสชิงความได้เปรียบจากการได้รับสิทธิพิเศษในการยกเลิกและการลดภาษี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นๆ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าไม่เกินหนึ่งปีนับจากนี้ไปประเทศคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม จะสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้เช่นกัน นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารของไทยควรเร่งเจาะตลาดญี่ปุ่นให้ได้ก่อนที่เวียดนามจะเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลก่อนการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น เตรียมข้อมูลด้านแหล่งกำเนิดสินค้าให้พร้อมเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในขั้นตอนการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งต้องเตรียมขอหนังสือรับรองการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้ สำหรับการแข่งขันในระยะยาวนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการแข่งขันที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามคือ ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก รวมถึงเรื่องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของสินค้าที่จะต้องผลิตให้สามารถส่งออกได้ตลอดเวล

ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้การทำเขตการค้าเสรีเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ เป็นนโยบายเชิงรุกที่จะใช้เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศต่าง ๆ รักษาตลาดดั้งเดิมและขยายการค้ากับประเทศคู่ค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งไทยได้ทำความตกลงเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้วหลายประเทศ เช่น อาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ และ เจเทปป้า จึงเป็นอีกความตกลงหนึ่งที่ประเทศไทยทำกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า และเพิ่มโอกาสในการขยายการลงทุนไปยังประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคใกล้เคียง

ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นชาติที่ลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 เป็นประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่าร้อยละ 60 ของความต้องการบริโภค ดังนั้นการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น จึงน่าจะเป็นการขยายโอกาสให้แก่เกษตรกรไทยโดยตรง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... ws_id=9633
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news15/12/07

โพสต์ที่ 21

โพสต์

ลุ้นสนช.เห็นชอบFTAอาเซียน-ญี่ปุ่น + พาณิชย์ข้ามช็อตไม่เสนอกรอบแต่เสนอผลเจรจาเลย  
พาณิชย์ลองของรัฐธรรมนูญใหม่ ชง สนช.ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการนำเสนอกรอบเจรจาก่อน ชี้เสียเวลาเพราะคืบถึงขั้นเตรียมลงนามกันแล้ว เตรียมเสนอกรอบเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีของไทยต่อรัฐสภาใหม่ต้นปีหน้า


จากบทบัญญัติมาตรา 190 วรรค 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2550 บัญญัติไว้ว่า ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.)ต้องให้ข้อมูล และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้ ครม.เสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

ต่อบทบัญญัติดังกล่าว นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดกรมได้นำเสนอกรอบการเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ของไทยที่ทำในนามกลุ่มอาเซียนทุกกรอบต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบในวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งครม.จะเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่ทำหน้าที่รัฐสภาในรัฐบาลปัจจุบันเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ สนช.ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมศกนี้ เพราะหากแล้วเสร็จไม่ทัน หลังเลือกตั้ง สนช.อาจไม่รับพิจารณาเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาในรายละเอียด ขณะที่เริ่มต้นปี 2551 มีหลายเอฟทีเอที่อาเซียนได้กำหนดกรอบเวลาในการเจรจาอย่างต่อเนื่องไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากขั้นตอนของไทยมีความล่าช้าประเทศอาเซียนอื่นๆ คงไม่รอ ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสและเสียเปรียบในการเจรจาต่อรองได้

สำหรับกรอบการเจรจาเอฟทีเอที่จะนำเสนอต่อ สนช.ครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 6 กรอบเจรจารวม7 ประเทศ ประกอบด้วย เอฟทีเออาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน-สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งแต่ละกรอบขณะนี้มีความคืบหน้าที่แตกต่างกัน กรอบทเจรจาที่นำเสนอจึงอาจมีความต่างกันเรื่องสาขาในการเจรจา แต่จุดยืนของไทยในแต่ละเรื่องจะไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีตามในส่วนของเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว และผู้นำทั้ง 11 ประเทศได้ออกแถลงการณ์ถึงความสำเร็จในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายที่จะลงนามความตกลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2551

ต่อกรณีของเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นที่ได้ผ่านขั้นตอนการเจรจาไปแล้วทางกรมเห็นว่าคงไม่ต้องนำเสนอกรอบเจรจาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ย้อนหลังอีก แต่ได้ขอให้ ครม.นำเสนอผลการเจรจาให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณากรอบเจรจา

"มาตรา 190 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้ขบวนการขั้นตอนต่างๆ มีความชัดเจนโปร่งใส และทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งในเรื่องกรอบเจรจาภายใต้รัฐบาลชุดก่อนเราก็มีกรอบเจรจาแต่ละเรื่องอยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำกรอบเจรจาเหล่านี้มาเปิดเผยให้ทุกคนทราบ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดขึ้นมาเราก็ยินดีที่จะทำตามกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนข้อเสียคือ ขั้นตอนที่มากขึ้นมาก ทำให้ความคล่องตัวในการเจรจาหายไป เพราะหากเรามัวมาถกเถียงกันก็จะเสียเวลามาก และอาจเสียเปรียบในการเจรจาได้เพราะประเทศอื่นเขาไม่รอเรา"อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวและว่า

ในกรอบการเจรจาเอฟทีเอที่ทางกรมได้นำเสนอต่อครม.ได้มีการหารือแล้วกับหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นักวิชาการ กลุ่มเกษตรกร สมาคม องค์กรต่างๆ คณะกรรมาธิการ 9 คณะของสนช. และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้ระดมความเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับกรอบในการเจรจา โดยกรอบเจรจานี้ถือเป็นจุดยืนของไทยในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะนำไปรวมกับจุดยืนของประเทศอาเซียนอื่นๆ เพื่อกำหนดเป็นท่าทีร่วมในการเจรจากับประเทศนอกกลุ่มอีกครั้ง

ทั้งนี้กรอบเจรจาที่ไทยได้กำหนดไว้มีทั้งสิ้น 16 สาขาซึ่งครอบคลุมทุกหัวข้อเจรจาประกอบด้วย การค้าสินค้า พิธีการศุลกากร กฎแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาด้านการค้า มาตรการสุขอนามัย มาตรการกีดกันทางเทคนิค การค้าบริการและการลงทุน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อโดยรัฐ ความโปร่งใส การแข่งขัน สิ่งแวดล้อม และแรงงาน อย่างไรก็ดีหากกรอบเจรจาทุกกรอบภายใต้อาเซียนได้ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้ว ในเร็วๆ นี้ทางกรมจะได้จัดทำกรอบเจรจาเอฟทีเอระดับทวิภาคีในนามประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ที่การเจรจายังค้างอยู่ หรือเตรียมเปิดเจรจาใหม่เสนอต่อครม. และรัฐสภาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ต่อไป  
http://www.thannews.th.com/detialnews.p ... issue=2278
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news21/12/07

โพสต์ที่ 22

โพสต์

ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ JTEPA กว่า 10,600 ลบ. ข่าว 16.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Friday, December 21, 2007
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่า ผู้ส่งออกไทยได้ยื่นขอให้สิทธิภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น (JTEPA) หลังจากที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้วกว่า 7,000 ฉบับ หรือคิดเป็นมูลค่า 10,600 ล้านบาท

โดยสินค้าที่ขอใช้สิทธิมาก ได้แก่ กุ้งแปรรูป สิ่งทอ และแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่ญี่ปุ่นให้โควตาส่งออกแก่ไทย โดยเก็บภาษีในอัตรา 0% ได้แก่ กล้วย 1667 ตัน สัปปะรดสด 42 ตัน และโควตาภาษีสำหรับเนื้อหมูแปรรูป 500 ตัน  
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news09/01/08

โพสต์ที่ 23

โพสต์

ติงเอกชนใช้ประโยชน์ค้าเสรีน้อย

โพสต์ทูเดย์ ผลศึกษาการแสวงหาประโยชน์จากเอฟทีเอ พบไทยใช้สิทธิข้อตกลงอาเซียน-จีน น้อยกว่าข้อตกลงอาฟตา อย่างน่าตกใจ


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง การแสวงหาผลประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรี ว่าปี 2549 ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มากกว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าที่ได้รับแต้มต่อทางภาษี มีการนำเข้าจากอาเซียนถึง 1.12 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนำเข้าจากจีนเพียง 6.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับการส่งออกที่ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 9.52 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ส่งออกไปจีนเพียง 3.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทย ยังไม่ได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรีดังเท่าที่ควรจะเป็น

เมื่อพิจารณาลงลึก จะพบว่าผู้ประกอบการไทย ใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงฯ อาเซียน-จีนน้อยมากอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีนที่มีสัดส่วนเพียง 0.12% ของมูลค่าการค้ารวมในรายการที่ได้รับแต้มต่อทางภาษี ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ส่วนการนำเข้าจากอาเซียนมีสัดส่วน 4.08% นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อแยกพิจารณาอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรี พบว่า ภาคการส่งออกของไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกไปยังอาเซียน 50.84% ไปจีน 38.02% ส่วนภาคการนำเข้าผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์นำเข้าจากอาเซียน 26.84% และจากจีน 3.32%

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำในบางสินค้า เนื่องจากแต้มต่อทางภาษียังไม่จูงใจมากพอ โดยข้อตกลงอาฟตาควรให้แต้มต่อทางภาษีมากกว่า 25% นอกจากนี้ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า เข้มงวดเกินไปหรือไม่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิต อีกทั้งบางประเทศมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ขณะเดียวกันเป็นไปได้ว่าผู้นำเข้ามีความต้องการนำเข้าสินค้าชนิดนั้นน้อย เนื่องจากผู้บริโภคนิยมใช้สินค้าที่ผลิตได้เองในประเทศหรือไม่นิยมใช้สินค้านำเข้า

นายธราธร รัตนนฤมิตศร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาลงรายกลุ่มสินค้า ยังพบว่าอุตสาหกรรมเหล็กผู้ประกอบการไทย ใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงอาฟตาค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและถูกกีดกันจากมาตรการที่มิใช่ภาษี
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=213495
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news11/01/08

โพสต์ที่ 24

โพสต์

เจรจาจีนลดภาษียาง กรอบค้าเสรีอาเซียน

โพสต์ทูเดย์ ถกแก้เอฟทีเอกรอบอาเซียน-จีน ครบรอบ 3 ปี ไทยขอลดภาษียางพาราเร็วขึ้น จีนขอกลับ เพิ่มโควตาหอม-กระเทียม


แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล รายการสินค้าที่จะนำไปทบทวนตามกรอบเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน หลังจากที่มีการเปิดเสรีในกรอบดังกล่าวมาแล้ว 3 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2548 คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะขอยืดหยุ่นบัญชีสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง ที่ทั้งไทยและจีนมีศักยภาพในการส่งออกให้ลดภาษีเร็วขึ้น

เบื้องต้นไทยจะขอลดภาษีกลุ่มยางพารา เพราะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก โดยจะขอให้จีนลดภาษีนำเข้ายางพาราให้เหลือ 5% เท่ากับอัตราภาษีนำเข้าที่จีนเก็บจากยางสังเคราะห์

สำหรับข้อตกลงเอฟทีเอที่ผ่านมากำหนดให้สินค้ายางธรรมชาติเป็นสินค้าอ่อนไหวไปจนถึงปี 2558 จึงจะลดภาษี และปัจจุบันจีนเก็บภาษีนำเข้ายางแผ่นรมควันและยางแท่ง 20% ส่วนน้ำยางข้นเก็บภาษี 7.5%

ขณะที่จีนจะขอให้ไทยลดภาษีสินค้ากลุ่มหอม กระเทียม ซึ่งขณะนี้กำหนดโควตานำเข้ากระเทียมไว้ที่ปีละ 65 ตัน และหอมใหญ่กำหนดไว้ 365 ตัน ภายใต้ภาษี 0% แต่ไม่มีการใช้โควตามากนัก ทำให้สินค้าที่นำเข้านอกโควตาต้องเสียภาษีสูง โดยกระเทียมเสียภาษีอัตรา 57% และหอมใหญ่ 147%

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องไปจัดทำท่าทีการเจรจาขอแต่ละประเทศ เพื่อมาหารือกันอีกครั้ง
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=213944
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news15/01/08

โพสต์ที่ 25

โพสต์

ถกการค้าเสรี กรอบอาเซียน เน้นทันกระแส

โพสต์ทูเดย์ ไทยร่วมวงถกอาเซียน ปรับปรุงข้อตกลงเปิดเสรีใหม่ ครอบคลุมการค้า บริการ ลงทุน


นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (ซีออม) ซึ่งจะมีขึ้น ณ เมืองบาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 19-22 ม.ค.นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาจัดทำความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนฉบับใหม่ให้ทันสมัย และทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

การทำความตกลงอาเซียนฉบับใหม่ จะใช้แทนความตกลงว่าด้วยอัตราภาษีพิเศษร่วมสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (ซีอีพีที) ซึ่งอาเซียนได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2535 และได้ปรับปรุงแก้ไขมาหลายครั้ง โดยตั้งเป้าหมายที่จะเจรจาสรุปความตกลงการค้าสินค้าฉบับใหม่ให้เสร็จภายในปลายปีนี้

นอกจากนี้ จะหารือเรื่องการค้า บริการ และการลงทุน สำหรับประเทศสมาชิกที่ยังไม่สามารถเปิดตลาดสาขาบริการได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และการจัดทำความตกลงด้านการลงทุนแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งครอบคลุมการคุ้มครอง ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และการเปิดเสรีการลงทุนในอาเซียน ตั้งเป้าจะสรุปความตกลงด้านการลงทุนฉบับใหม่ในปลายปีนี้เช่นกัน
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=214669
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news22/01/08

โพสต์ที่ 26

โพสต์

JTEPA หนุนส่งออกโต 60.03% - ข่าว 12.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Tuesday, January 22, 2008
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกของไทยได้รับประโยชน์จากระบบสิทธิพิเศษทางภาษีทางศุลกากร (GSP) ญี่ปุ่นโดยตลอด และเมื่อรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นร่วมกันจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างกัน (JTEPA) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ทิศทางการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2550 - 9 ม.ค. 2551 การส่งออกภายใต้ความตกลง JTEPA มีมูลค่า 1,157.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.03% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปญี่ปุ่น โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขอใช้สิทธิพิเศษ JTEPA ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง ยานยนต์และชิ้นส่วน กุ้งปรุงแต่ง น้ำมันเบนซิน และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

ส่วนการส่งออกภายใต้ระบบ GSP ญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 พบว่า กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดฯ Form A ทั้งสิ้น 38,916 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 1,120.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.94% โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 16.49% เนื่องจากสินค้าส่งออกที่สำคัญหลายรายการ โดยเฉพาะโมดิไฟด์สตาร์ช เดกซ์ทริน ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ฯลฯ ถูกระงับสิทธิ GSP จากญี่ปุ่น เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยเกินเพดานที่กำหนดไว้  
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news23/01/08

โพสต์ที่ 27

โพสต์

เจรจาเอฟทีเอไทย-อินเดียจบไม่ลง

โพสต์ทูเดย์ อินเดียยังยื้อส่งพิกัดภาษีสินค้าให้ไทย ส่งผลให้การเจรจาขยายตลาดสินค้าภายใต้กรอบเอฟทีเออีก 5 พันรายการ ยังจบไม่ลง


นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อินเดีย ในรายการสินค้าที่เหลือกว่า 5 พันรายการ ว่า แม้ทั้งสอง ฝ่าย จะได้ข้อสรุปรายการลดภาษีระหว่างกันแล้ว แต่ติดปัญหาที่อินเดียยังไม่เปลี่ยนพิกัดภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกับพิกัดศุลกากรปี 2550 ซึ่งไทยจะเร่งรัดให้อินเดียจัดส่งพิกัดศุลกากรให้ได้ภายในเดือน ม.ค. นี้

หลังจากนั้นจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาก่อนลงนามจริงไม่เกินเดือน มี.ค.

สาเหตุที่อินเดียยังไม่ส่งพิกัดศุลกากรให้ไทย ทั้งๆ ที่ไทยส่งให้อินเดียตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาแล้ว เป็นเพราะอินเดียให้ความสำคัญกับเอฟทีเอกรอบอาเซียนมากกว่า จึงยังคงสงวนท่าทีในการรอผลการเจรจาในกรอบดังกล่าวว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้หรือไม่ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาการทำ เอฟทีเอกับไทยว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินสถานการณ์ความคืบหน้าการเจรจาเอฟทีเอกรอบอาเซียน-อินเดียนั้น มองว่ายังล่าช้ามากหากไม่มีความคืบหน้าภายในเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งกำหนดการประชุมเป็นรอบสุดท้าย อาเซียนคงจะยกเลิกการเจรจาทันที เพราะปล่อยยืดเยื้อมานานแล้ว

ประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้คือ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เสนอให้มีการเพิ่มรายการสินค้าอ่อนไหวที่จะยกเว้นไม่ดำเนินการเปิดเสรี และขอให้อินเดียเพิ่มรายการสินค้าลดภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าปาล์มน้ำมัน พริกไทย ชา และกาแฟ หากอินเดียไม่ยินยอมก็ขอให้ยอมชดเชย เพราะเป็นสินค้าที่ทำรายได้จากการส่งออกของประเทศเหล่านี้ เนื่องจากจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

การเจรจาที่จะเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. หากอาเซียนและอินเดียยังตกลงกันไม่ได้ การเจรจาเอฟทีเอกรอบนี้ก็จะจบลงทันที แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย. ด้วย เพื่อความชัดเจน นายชนะ กล่าว

นายชนะ กล่าวต่อว่า การเจรจากรอบอาเซียน-อินเดียค่อนข้างยาก เพราะอินเดียต้องการปกป้องสินค้าอ่อนไหวมาก คือน้ำมันปาล์ม พริกไทย กาแฟ และชา โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มกลับเป็นสินค้าสำคัญที่อาเซียนบางประเทศต้องการให้อินเดียเปิดตลาด

ฝ่ายไทยเห็นว่า อาจทำให้การเจรจายากขึ้นไปอีก เพราะในส่วนของไทยพอใจแล้ว แต่เมื่ออาเซียนยืนยันเช่นนี้ไทย ก็จะหาสินค้าอ่อนไหวสูงไปเสนอตามหลัก การในฐานะสมาชิกอาเซียน คาดว่าน่าจะเป็นสินค้าสิ่งทอ รถยนต์

ท่าทีของไทยคงต้องรอดูนโยบายจาก รมว.พาณิชย์คนใหม่ด้วย ว่าจะมีความเห็นในทิศทางนี้หรือไม่ เนื่องจากหากการเจรจาอาเซียน-อินเดียได้ข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะสร้างความชัดเจนให้กับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากรอบเจรจาใดจะได้ข้อสรุปก่อน ไทยก็จะยังได้ประโยชน์จากทั้ง 2 ด้าน แต่การที่อาเซียนไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนขณะนี้ จะส่งผลให้การเจรจาทั้งหมดยืดเยื้อต่อไป และในที่สุดอาจพลาดโอกาสทางการค้าที่ไทยและอาเซียนควรได้รับ เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดการค้าสำคัญมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก คาดว่าหากการเจรจาเอฟทีเอมีผลบังคับใช้การค้า 2 ฝ่าย จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 3 ปี หรือจาก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=216375
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news31/01/08

โพสต์ที่ 28

โพสต์

การค้าไทย จีน 10 เดือนแรก ปี 50 โต 31% - ข่าว 16.00 น.
--------------------------------------------------------------------------------
Posted on Thursday, January 31, 2008
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่า การค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่าทั้งสิ้น 27,198 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 31% ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

ทั้งนี้ หากดูจากสถิติการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าพบว่า มีผู้มายื่นขอใช้สิทธิลดภาษีสินค้านำเข้าจีนต่อกรมการค้าต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึง 1,482 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 25% โดยสินค้าเกษตรมีมูลค่า 556 ล้านเหรียญฯ สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 926 ล้านเหรียญฯ

สำหรับการทำ FTA อาเซียน จีน จะส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีน ขยายตัวปีละประมาณ 30% และคาดว่า ในสิ้นปี 2550 การส่งออกไทยไปจีนจะขยายตัวประมาณ 35% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก ไม่น้อยกว่า 16,000 ล้านเหรียญฯ
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Mon ... fault.aspx
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news04/02/08

โพสต์ที่ 29

โพสต์

โรเบิร์ท ดี กริฟฟิธส์ สหรัฐพร้อมที่จะเจรจา FTA กับรัฐบาลใหม่

ในฐานะคู่ค้า สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดหลักของไทย แต่ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การค้าของทั้งสองประเทศต้อง เผชิญกับอุปสรรค ทั้งการเมือง การยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในสินค้าบางรายการ การหยุดชะงักของการเจรจาการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) เงินบาทแข็งและปัญหาซับไพรมในสหรัฐอเมริกา

ถึงวันนี้ไทยกลับเข้าสู่การบริหารโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของ นายโรเบิร์ท ดี กริฟฟิธส์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจคนใหม่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จึงเป็นเวลาสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่และการ แลกเปลี่ยนถึงแนวนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐที่มีต่อประเทศไทย

อุปสรรคในไทยต่อสินค้าสหรัฐ

การค้าไทย-สหรัฐโดยปกติไม่มีปัญหา แต่ในบางสิ่งน่าจะทำได้ดีขึ้น ในสหรัฐมีจุดแข็งคือ ด้านการบริการมากกว่าสินค้า ขณะที่ในเมืองไทยมีบริการบางสาขาที่ไม่ให้คนต่างชาติมาเข้าร่วมด้วย อีกอย่างคือทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิด โดยเข้าใจง่ายๆ ว่า ของที่มาจากสหรัฐมันแพง ดังนั้นไม่ต้องเสียเงินซื้อของจากสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่รวยอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ตรงกับปัญหาเรื่องสิทธิทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกับความปลอดภัยของสังคม

เพราะความจริงแล้วทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกุญแจสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรมที่ต้องมีความเคารพต่อสิทธิทางปัญญา ซึ่งเป็นกุญแจให้มีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นและนวัตกรรมที่ดีย่อมเป็นกุญแจเพื่อสร้างความสำเร็จในตลาดโลก

ดังนั้นในขณะที่ประเทศไทยกำลังเติบโต กำลังไต่บันไดของมูลค่าเพิ่ม ต้องคิดถึงเรื่องนี้ด้วย และถ้าไม่มีบรรยากาศที่จะสนับสนุนให้มีนวัตกรรมที่ดี เมืองไทยจะหาทางเติบโตทางเศรษฐกิจจากที่ไหนได้ สู้กับอินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลี ไม่ได้แน่ เพราะในเวลานี้ไต้หวัน เกาหลี ไม่มีปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เศรษฐกิจของเขาจึง แข็งแรงด้วย ฉะนั้นประเทศไทยต้องคิดถึงเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นอุปสรรคของหลายบริษัทของอเมริกันที่จะเข้ามาค้าขายกับไทย

การปราบปรามการละเมิด IPR ของไทย

เรารู้ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยกำลังทำงานหนัก รู้ว่ามีตำรวจบางหน่วยที่กำลังเคร่งครัดในด้านนี้ด้วย แต่ถ้าจะพูดถึงผล บางครั้งก็มองเห็นผลยากหน่อย อย่างชาวบ้านไปพันธุ์ทิพย์ พลาซา ก็มองเห็นของเถื่อนทั่วไป ถนนสุขุมวิทก็มีของละเมิดลิขสิทธิ์อยู่

เรารู้ว่ามีเจ้าหน้าที่พยายามแก้ปัญหาอยู่จริงๆ จริงใจด้วย เรารู้ แต่ถ้าพูดถึงผลตามถนน เราจึงยังไม่ค่อยพอใจเท่าที่อยากให้เป็น แต่ถ้าถามว่าจะให้ทางการไทยปรับปรุงการปราบปรามอย่างไรบ้าง ก็เห็นว่า ในฐานะคนต่างชาติ เราจึงไม่มีทางเข้าใจวิธีทำและสังคมไทยเท่าที่คนไทยเข้าใจได้ แม้เราจะเสนอวิธีแก้ปัญหาได้ แต่ที่สุดแล้ว สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือผล ดังนั้นจะใช้วิธีไหนแล้วได้ผลดี จึงเป็นเรื่องที่คนไทยน่าจะคิดเองดีกว่าที่เราจะพูดได้

ความคืบหน้าในการทบทวน ม.301

สำหรับการดำเนินการ 301 review ในปี 2551 ขึ้นอยู่กับการพิจารณาหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญา และการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ของไทย เหตุผลในการเลื่อนสถานะคู่ค้าของไทยเมื่อปี 2550 จากประเทศจับตามอง (watch list) เป็นประเทศถูกจับตามองเป็น พิเศษ (priority watch list) ความจริงแล้ว ตามที่ผมเข้าใจไม่ใช่เรื่องซีแอลเพียงอย่างเดียว

แต่เนื่องจากก่อนหน้านั้น ไทยกับสหรัฐมีการเจรจาเปิดการค้าเสรี และเพื่อไม่ให้กระทบ กับการเจรจา สหรัฐจึงเอาปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเก็บไว้ก่อน ทั้งที่ปัญหานั้นมีมานานแล้ว แต่เมื่อหยุดการเจรจาการค้าเสรีไป ปัญหา ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทยจึงกลับเข้ามาและไม่ใช่เรื่องซีแอลอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสำหรับเราคือ ตามกฎหมายเรามีหน้าที่ดูสถานการณ์ทรัพย์สินทางปัญญาของทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ที่ประเทศไทย เราเข้าใจด้วยว่า ความสามารถที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในด้านนี้ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาด้วย และไม่มีความคาดหวังว่าสถานการณ์ในเมืองไทยจะเหมือนกับที่ญี่ปุ่น

แต่สิ่งที่เราต้องการเห็นคือความจริงใจและทัศนคติต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร และจะวัดความจริงใจจากการพูด จากการกระทำ และเราจะต้องเห็นผลด้วย ซึ่งอย่างที่ผมพูดว่าเราเห็นเจ้าหน้าที่ไทยพยายามจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ในด้านผล เรายังขาดความพอใจอยู่

ความคืบหน้าเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ

เราหวังว่า หลังจากไทยมีรัฐบาลชุดใหม่จะได้นำการเจรจาการค้าเสรีกลับมาอีกครั้ง แต่ในการเจรจามันไม่ง่าย เพราะมันละเอียด มีผล ประโยชน์หลายๆ ด้าน มีหลายคนเป็นห่วง มันจึงไม่ง่าย

ดังนั้นจึงต้องมีความตั้งใจทั้ง 2 ฝ่าย จึงจะทำได้ ด้านสหรัฐอเมริกา เราต้องมั่นใจว่าไทยมีรัฐบาลเข้มแข็งพอที่จะสามารถผลักดันเอฟทีเอนี้ได้ ส่วนฝ่ายไทย ต้องมีความตั้งใจว่าต้องการเปิดการค้าเสรีจริงๆ เพราะตามทฤษฎี ทุกคนรู้ว่าการค้าเสรีจะทำให้สังคมยกระดับขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ แต่จะมี บางคนเสียเปรียบด้วย เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ

สำหรับรัฐบาลใหม่ของไทย สหรัฐหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมองเห็นความสำคัญของการค้าเสรี แต่การจะกลับมาเจรจากันต่อในเร็วๆ นี้หรือจะหยุดไว้ก่อน เรื่องนี้จึงอยู่ที่การพิจารณาของฝ่ายไทยที่จะตัดสินใจเอง ส่วนฝ่ายสหรัฐ เรายินดี แต่ต้องรู้ประเด็นการเจรจาที่ชัดเจนก่อน

ด้านสหรัฐ แม้อำนาจพิเศษในการเจรจาการค้าของประธานาธิบดี หรือทีพีเอ (trade promotion authority) จะหมดอายุไปแล้วเมื่อกรกฎาคม 2550 ไทยกับสหรัฐก็ยังเจรจาเอฟทีเอกันต่อได้ เพียงแต่กระบวนการภายในของสหรัฐจะไม่ได้ ราบรื่นเหมือนตอนมีฟาสต์แทร็ก

อีกทั้งเนื่องจากการเจรจาต้องใช้เวลาหลายปี และถ้าทั้งสองฝ่ายพร้อม เราก็เริ่มเจรจากันได้แล้ว โดยไม่ต้องรอให้ประธานาธิบดีได้รับฟาสต์แทร็ก จากรัฐสภา และเมื่อมีความมั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายมีความตั้งใจจะทำความตกลงกัน ก็ทำเอฟทีเอได้เลย ซึ่งเมื่อตกลงกันได้ก็ต้องคิดถึงวิธีทำที่จะ ผ่านรัฐสภาสหรัฐได้
http://matichon.co.th/prachachat/pracha ... ionid=0203
chartchai madman
Verified User
โพสต์: 7514
ผู้ติดตาม: 6

news04/02/08

โพสต์ที่ 30

โพสต์

ค้าไทยกับ5คู่สัญญาเอฟทีเอพุ่ง ขาดดุลจีน-ญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่อง  
พาณิชย์สรุปผลการค้ากับ 5 ประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอรอบปี 2550 ภาพรวมขยายตัวทุกตลาด ไทยยังเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าเกือบทุกประเทศ ยกเว้นจีน-ญี่ปุ่นที่ยังขาดดุลในอัตราที่ลดลง ขณะที่การค้ากับสหรัฐฯยังน่าห่วงยอดหล่นวูบ กรมเจรจาฯเตรียมชง 2 เอฟทีเอเสนอ ครม.และรัฐสภาใหม่ให้ความเห็นชอบก่อนลงนาม

แหล่งข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ผลสรุปการค้าระหว่างประเทศของไทยรอบปี 2550 กับ 5 ประเทศคู่สัญญาที่ได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ระหว่างกัน และข้อตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วว่า ในภาพรวมมูลค่าการค้าระหว่างกันมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน และญี่ปุ่นโดยการค้ารวมขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.40, 10.37, 25.26 และ 0.24% ตามลำดับ(ดูตารางประกอบ)

ขณะเดียวกันในภาพรวมไทยยังเกินดุลการค้ากับทุกประเทศ ยกเว้นจีนที่ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าแต่เป็นการขาดดุลในอัตราที่ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากการส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัวมากขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 510,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 564,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ไทยขาดดุลการค้าจีน 53,835 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วนการค้าไทย-ญี่ปุ่นที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ(JTEPA) และข้อตกลงได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ในภาพรวมการค้าระหว่างกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าญี่ปุ่นมูลค่า 363,475 ล้านบาท โดยขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0.46% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ อย่างไรก็ดีจากผลความตกลง JTEPA คาดในปีนี้การค้าไทย-ญี่ปุ่นจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและการขาดดุลน่าจะลดลงเพราะเชื่อว่าผลจากความตกลงจะทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าหลายรายการได้ลดภาษีนำเข้าลงเป็น 0% ทันที ส่วนเอฟทีเอไทย-สหรัฐอเมริกา ที่การเจรจาได้หยุดชะงักลงในรัฐบาลที่ผ่านมา ภาพรวมการค้าไทย-สหรัฐในรอบปี 2550 ทั้งในแง่ การค้ารวม การส่งออก การนำเข้าระหว่างกันขยายตัวลดลง และการเกินดุลการค้าไทยกับสหรัฐก็ได้ลดลงด้วย

นายนพดล สระวาสี รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกับ"ฐานฐานเศรษฐกิจ"ว่า เอฟทีเอถือเป็นแต้มต่อ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะการลดภาษีนำเข้าระหว่างลงเป็น 0% ทันทีในหลายสินค้า รวมถึงการทยอยลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ลงเป็น 0% ภายใน 5-10 ปี จูงใจให้ภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่ายมีการทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น ส่วนกรณีการค้าไทย-สหรัฐฯที่ขยายตัวลดลงในปีที่ผ่านมามีส่วนสำคัญจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯอันเนื่องมาจากปัญหาซับไพรม์(สินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์) ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

"การส่งออกของไทยไปสหรัฐที่ชะลอตัวเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยไปเยอะ และส่วนหนึ่งหลายสินค้าเราถูกสหรัฐตัดจีเอสพี รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่เราไม่มีแต้มต่อคู่แข่งเพราะยังไม่ได้ทำเอฟทีเอกับสหรัฐ แต่ก็ไม่น่าตกใจมาก เพราะประเทศอื่นก็ส่งออกไปสหรัฐลดลงเช่นกัน"นายนพดล กล่าวและว่า

จากการที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในส่วนของกรมกำลังเฝ้าจับตามองว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายในเรื่องเอฟทีเออย่างไร หากรัฐบาลยังคงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเช่นเดียวกับในรัฐบาลทักษิณ และกำหนดลงมาอย่างชัดเจนว่าจะเปิดเจรจาต่อกับประเทศใดบ้าง ทางกรมก็พร้อมที่จะนำความคืบหน้า รวมถึงนำเสนอกรอบการเจรจาใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)และรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นได้เตรียมนำเสนอข้อตกลงเอฟทีเอที่ได้เจรจาเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างเตรียมลงนามเสนอให้ ครม.และรัฐสภาให้ความเห็นชอบได้แก่ เอฟทีเอไทย-เกาหลีใต้(ภายใต้กรอบอาเซียน-เกาหลีใต้)ที่ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่มีการลงนาม และเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นที่การเจรจาได้สิ้นสุดลงแล้ว  
http://www.thannews.th.com/detialnews.p ... issue=2293
โพสต์โพสต์