โลกสวยด้วย “การให้”/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1993
ผู้ติดตาม: 430

โลกสวยด้วย “การให้”/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดิฉันเคยเขียนถึงการให้แบบมียุทธศาสตร์ไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และดูว่าอภิมหาเศรษฐีของโลกเขาบริจาค หรือ “ให้” เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไร พร้อมกับตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคนไทยนิยมให้เป็นฤดูกาล และให้ด้วยแรงกระตุ้น ในวันนี้จะมาขอเล่าความคืบหน้าของการ “ให้” และการเปลี่ยนแปลงที่เห็น ที่สังเกต และที่มีผู้ทำวิจัยมาค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอย้อนไปอธิบายอีกครั้งหนึ่งว่า ดัชนีการให้ของโลก (World Giving Index) จัดทำโดยมูลนิธิ Charities Aid Foundation หรือ CAF ซึ่งก่อตั้งมาครบ 100 ปีพอดี เขาเริ่มจัดอันดับประเทศต่างๆตั้งแต่ปี 2010 เพื่อดูว่าคนในประเทศนั้นใจดีเพียงใด โดยการพิจารณาจากสามองค์ประกอบ คือ การบริจาคเงิน การให้เวลาในการทำงานสาธารณกุศลในลักษณะ “จิตอาสา” และการให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้า

ในปีล่าสุดคือการจัดอันดับในปี 2024 อินโดนีเซีย ได้อันดับที่หนึ่ง ด้วยคะแนน 74 โดยอยู่อันดับหนึ่งต่อเนื่องมา 7 ปีแล้ว ไทยเรามาอันดับที่ 14 ด้วยคะแนน 52 เราเคยมีอันดับขึ้นสูงสุด ในปี 2011 โดยมาเป็นที่ 9 ด้วยคะแนน 51 เพราะปีนั้นเรามีน้ำท่วมใหญ่ มหาอุทกภัยอย่างไรคะ ทุกท่านคงจำกันได้ดี รายงานที่เผยแพร่ล่าสุด แสดงให้เห็นถึงคะแนนโดยรวมของโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 31.6 ในปี 2010 ปัจจุบันอยู่ที่ 40 แปลง่ายๆก็คือ 40% ของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มีการ “ให้” ในหนึ่งเดือนที่ทำการสำรวจ ไม่ว่าจะให้เงิน ให้เวลา หรือให้ความช่วยเหลือกับคนแปลกหน้า

คะแนนเฉลี่ยของโลกโดยทั่วไปสูงขึ้นเกือบทุกปี อาจมียกเว้นปีที่เกิดวิกฤติ ซึ่งวิกฤติหนักๆเช่น การระบาดของโควิด-19 เขาไม่ได้สำรวจค่ะ เว้นไปหนึ่งปี

แต่ความใจดีนี้ก็ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติเสียทีเดียว ระยะหลังสังเกตเห็นว่า รัฐมีบทบาทมากขึ้นที่จะส่งเสริม ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ อินโดนีเซียและสิงคโปร์

ขอยกตัวอย่างสิงคโปร์ก่อนนะคะ ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทำการสำรวจ สิงคโปร์ได้ลำดับที่ 91 (ในขณที่ไทยได้ที่ 25) ภาครัฐของสิงคโปร์ทำอะไรหลายอย่าง เช่น ส่งเสริมให้มี “โครงการอาสาสมัครบริษัท” ซึ่งให้ประโยชน์ทางภาษีกับ “เวลา” ที่พนักงานบริษัทสละไปใช้ในการทำงานแบบจิตอาสา ทำให้เพิ่มสัดส่วนจำนวนคน “ให้เวลา” มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการหักลดหย่อนที่จูงใจมากๆ คือ 1 ดอลลาร์ที่บริจาคกับองค์กรที่อยู่ในรายชื่อที่รัฐกำหนด จะสามารถนำไปหักลดหย่อนรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีได้ถึง 2.5 เท่า และมีโครงการ Matching Fund ของ Change for Charity (CFC) หากองค์กร หรือบุคคลบริจาคในโครงการที่เข้าข่าย รัฐมีกองทุนที่จะสมทบถึง 20 ล้านเหรียญ ต่อปี (เท่าที่ดูจะสมทบประมาณครึ่งหนึ่งของที่บริจาค อย่างไรไปค้นหาอ่านได้ค่ะ) และสำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูง รัฐบาลยอมให้นำเงินที่บริจาคในต่างประเทศ มาหักลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

เรียกว่ายิงทีเดียวได้นกหลายตัวคือ ทำให้ประชากรคิดถึงส่วนรวมมากขึ้น วัยรุ่นมีสิ่งอื่นทำที่เป็นประโยชน์ (มากกว่าการรวมแก้งค์เพื่อความบันเทิงและก่อกวน) เพิ่มสัดส่วนผู้บริจาคเงิน ช่วยภาพลักษณ์ของประเทศทั้งด้านธุรกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิต ลดช่องว่างระหว่างประชากร (ทั้งช่องว่างทางฐานะ วัย และความคิด) และที่สำคัญคือ ลดภาระของรัฐในการดูแลสังคมในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 คนรุ่นใหม่ออกมาช่วยงานอาสาสมัคร และช่วยคนแปลกหน้ามากขึ้น สิงคโปร์มีศูนย์อาสาสมัครและจิตอาสาแห่งชาติ คอยดูแลเรื่องเกี่ยวกับการจัดการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับจิตอาสาด้วยค่ะ

ในปี 2024 อันดับการให้ของสิงคโปร์ จึงเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ได้คะแนน 61 (ผู้ให้เงินบริจาค 68% อาสาสมัครเวลา 40% และช่วยเหลือคนแปลกหน้า 75%ของประชากร)

ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นแชมป์อันดับหนึ่งของการให้ 7 ปีซ้อนนั้น ไต่เต้าจากลำดับที่ 50 ในปี 2010 ที่มีคะแนน 36 (บริจาคเงิน 45% ให้เวลา 27% และช่วยเหลือคนแปลกหน้า 35%) ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีคะแนนในปี 2024 เท่ากับ 74 (บริจาคเงิน 90% ให้เวลา 65% และช่วยเหลือคนแปลกหน้า 66%) หมายถึงหากพบคนอินโดนีเซีย 10 คน 7.4 คนจะเคยบริจาคเงิน หรือเวลา หรือช่วยคนแปลกหน้าในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มมาค่อนข้างเยอะ

ส่วนของประเทศไทยเรานั้น เมื่อตอนปี 2010 ที่เริ่มสำรวจและเราได้ที่ 25 นั้น เราได้คะแนน 42 คือหากพบคนไทย 10 คน 4.2 คนจะเคยให้ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา (บริจาคเงิน 73% ของประชากรผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป และคนที่บริจาคเวลาทำงานอาสาสมัคร 18% และช่วยเหลือคนแปลกหน้า 36%)

ในปีที่แล้ว เราได้ที่ 14 ด้วยคะแนน 52 คือหากพบคนไทย 10 คน 5.2 คนจะเคยให้ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา(บริจาคเงิน 67% ของประชากรผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป บริจาคเวลาทำงานอาสาสมัครมี 24% ของประชากรผู้ใหญ่ ช่วยเหลือคนแปลกหน้า 64%) ถ้ามองว่าของเราเป็นไปตามธรรมชาติ ก็ถือว่าขึ้นมามากพอสมควรค่ะ

ถ้าจะให้ดิฉันให้ความเห็น ก็ต้องบอกว่า สำหรับประเทศไทย ควรมุ่งไปสองจุดเลยคือ หนึ่ง พยายามให้คนรุ่นใหม่มาทำงานอาสาสมัครมากขึ้น เพื่อสร้างเยาวชนให้มีจิตสำนึกสาธารณะเพิ่ม ให้เขาอยู่ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่ ลดปัญหาอาชญากรรมไปในตัว ทั้งนี้อาจนำเวลาที่ทำกิจกรรมจิตอาสา ไปคิดเป็นผลประโยชน์อื่นๆได้ เช่น แต้มสำหรับลดราคาในการซื้ออาหารและของใช้จำเป็น

จุดที่สอง เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ ก็ควรจะมีการเพิ่มองค์กรหรือมูลนิธิที่สามารถนำการบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยเล็กๆในสังคมได้ทำดี ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส สามารถลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมลง แม้จะเล็กน้อยแต่ก็ยังดี และสร้างตัวอย่างให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆได้เห็นตัวอย่างการคิดและทำเพื่อส่วนรวม เพื่อผู้อื่น

ประการนี้ดิฉันสัมผัสด้วยตนเอง มีมูลนิธิแพทย์อาสาแห่งหนึ่ง รวบรวมศิษย์เก่าของสถาบัน และเพื่อนหรือครอบครัวของศิษย์เก่าที่เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ อาสาไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจนตามชนบทห่างไกลที่เข้าถึงการสาธารณสุขได้ยาก แม้จะมีบุคลากรทางการแพทย์อาสาด้วยเวลาและความรู้ความสามารถ แต่การออกหน่วยแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงิน ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ มีผู้ใจดีบริจาคเงินให้ แต่เงินบริจาคไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนเงินได้เพื่อเสียภาษีได้ จึงไม่ค่อยได้รับเงินบริจาคก้อนใหญ่ๆ หากรัฐเข้าไปดูและปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการขอเป็นหน่วยบริจาคที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ เชื่อได้แน่ว่า จะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนไทยทุกคนค่ะ

วันนี้ ท่าน “ให้” หรือยังคะ?
โพสต์โพสต์