60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1987
ผู้ติดตาม: 426

60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปยังภูมิภาคของประเทศไทย จากเดิมที่มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2460 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2477 และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) และมหาวิทยาลัยศิลปากรในปีเดียวกันคือ พ.ศ. 2486 ทุกแห่งล้วนอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น

มีการเรียกร้องให้เปิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 และมาสัมฤทธิ์ผลเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2503 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2507 และในปี 2508 รัฐบาลได้โอนคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2504 มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เชียงใหม่อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 24 มกราคม 2508 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย

ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูป ช้างอยู่ในท่าก้าวย่าง ใช้งวงชูคบเพลิงรัศมีแปดแฉก สุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย คือ "อตุตานํ ทมยนฺติ ปณฺทิตา" ซึ่งแปลความว่า "บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน" และสีประจำของมหาวิทยาลัยคือ สีม่วงดอกรัก

ในโอกาสที่ มหาวิทยาลัยครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนาในปีนี้ ดิฉันจึงขอถือโอกาสเล่าเรื่องผลงานและคุณูปการหลักๆที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สร้างและดำเนินการ ให้ท่านผู้อ่านค่ะ

ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงภาระหน้าที่หลักในการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อพัฒนาประเทศ และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นหลัก ในการส่งเสริมองค์ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย เพื่อชุมชนและสนับสนุนหน่วยราชการในภาคเหนือ และในภายหลังขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆด้วย (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 และได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเมื่อปี 2553)

เนื่องจากในช่วงแรก มหาวิทยาลัยมีคณะหลักๆเพียง 3 คณะคือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ และรับโอนคณะแพทยศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) และได้จัดการเรียนการสอนสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นในรูปภาควิชาสังกัดในคณะแพทยศาสตร์คือภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ภาควิชาทันตแพทยศาสตร์ ภาควิชาเภสัชศาสตร์ และภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ชื่อเสียงในเบื้องต้น จึงมาจากสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และศาสตร์พื้นฐาน คือศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Arts and Science) ซึ่งเป็นที่นิยมศึกษาในสากลเพื่อต่อยอดยังศาสตร์อื่น แม้กระทั่งในปัจจุบัน

หลังจากนั้นจึงมีการก่อตั้งศาสตร์ที่เจาะลึกในวิทยาการด้านต่างๆ เช่น คณะเกษตรศาสตร์ แยกออกมาจากคณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาต่างๆของวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ

การเป็น residential university คือนักศึกษาต้องพักอยู่ด้วยกัน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น และบางครั้งยาวนานไปตลอดชีวิต

เมื่อมหาวิทยาลัยมีความมั่นคงมากขึ้นก็มีการขยายการศึกษาไปยังระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม ทั้งส่วนรวมของประเทศและส่วนของเขตพัฒนาภาคเหนือ นำความเจริญมาสู่ประเทศชาติในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเป็นอยู่ และสวัสดิภาพของประชาชนในเขตพัฒนาภาคเหนือ 17 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

โดยมหาวิทยาลัยรับนักเรียนในเขตพัฒนาภาคเหนือ 17 จังหวัด เข้าศึกษาต่อเป็นพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นการรับนักศึกษาตามระบบโควตา และได้ให้โควตาตามโครงการความร่วมมือเพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชนบทด้วยอีกระบบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

นอกจากนี้ก็มีการขยายการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆเพิ่มขึ้น จัดให้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน ได้สร้างฐานความพร้อมด้านงานวิจัย ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาวิจัย เสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลเชิงคุณภาพสู่สาธารณชนในการต่อยอดการใช้ประโยชน์และมุ่งพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย มีโครงการวิจัยนิวตรอนพลังงานสูง วัสดุศาสตร์ด้านเซรามิก วิทยาศาสตร์สุขภาพ และเป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งของชุมชน ให้จังหวัดทางภาคเหนือตลอดเวลา 60 ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากมหาวิทยาลัยจะเป็นที่พึ่งของชุมชนแล้ว ชุมชนยังเป็นที่พึ่งของมหาวิทยาลัยด้วย ตั้งแต่ที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างมหาวิทยาลัย ได้รับการบริจาคจากตระกูล “นิมมานเหมินท์” และมีการสนับสนุนของคนในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนืออยู่เนืองๆ จนกระทั่งมีการจัดตั้ง”คณะกรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัย” คอยให้คำแนะนำในกิจการของมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วยคณะต่างๆ 27 คณะ และนับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงสิ้นปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษารวม 241,113 คน โดยในปีล่าสุดมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา 7,849 คน ปัจจุบันมีนักศึกษา 37,560 คน มีจำนวนอาจารย์และบุคลากรทั้งหมด 13,417 คน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และได้รับรางวัลคุณภาพมากมาย รวมถึงรางวัลจากผลงานวิจัย คุณภาพในการจัดการหน่วยงาน และคุณภาพในการศึกษา ปัจจุบัน ได้รับการจัดอันดับโดย Time Higher Education (THE)-World เป็นที่ 4 ของมหาวิทยาลัยไทย และเป็นที่ 1,001 ของโลก และจัดอันดับโดย QS – World เป็นที่ 3 ของประเทศไทย เป็นที่ 567 ของโลก

ในทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานในลักษณะเชิงรุก ทั้งนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ล้านนาสร้างสรรค์ นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม มีคุณภาพและมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก วิจัยเพื่อความเป็นเลิศและนวัตกรรม นำไปสู่การขยายผลและใช้งานได้จริง บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม และพัฒนาการบริหารจัดการให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับการจัดอันดับด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของ THE (Impact) เป็นที่ 3 ของไทย และเป็นที่ 75 ของโลก

มหาวิทยาลัยมุ่งปรับการเรียนการสอนเป็นแบบพหุศาสตร์ (Multi-Disciplinary) และเน้นนวัตกรรม นอกจากนี้ นักศึกษาสามารถเรียนข้ามศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้บัณฑิตมีองค์ความรู้และมีความสามารถในการปรับใช้ และสนับสนุนการนำงานวิจัย ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ธุรกิจ และสังคม

ขอแสดงความยินดีกับ 6 ทศวรรษที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภูมิใจที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยคุณภาพเช่นนี้ และขอฝากความหวังให้เป็นมหาวิทยาลัยของไทยที่เป็นที่พึ่งพิงของสังคมไทย และผงาดยิ่งใหญ่ในโลกยิ่งๆขึ้นต่อไป สมกับปณิธานของมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม

หมายเหตุ : ข้อมูลส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สนใจข้อมูลอย่างละเอียดเชิญรับชมประวัติทั้งหกทศวรรษ ในเรื่องเล่า มช. 60 ปี ผ่านยูทูป และ เฟซบุ้คของมหาวิทยาลัย มีงานนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งทางการแพทย์ อาหาร สุขภาพ เกษตรกรรม วิศวกรรม และศิลปะ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 6
โพสต์โพสต์