เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ผมเห็นบทวิเคราะห์ของนักวิชาการของสหรัฐคือ Evan Medeiros ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Georgetown ซึ่งผมเห็นว่ามีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินท่าทีและแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการบริหารความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งผมขอนำมาสรุปดังต่อไปนี้
หากแนวนโยบายของทรัมป์กับจีนจะดูเสมือนว่า มีทั้งความไม่แน่นอนและความย้อนแย้ง ก็ต้องขอบอกว่านโยบายของสี จิ้นผิงนั้น มีทั้งความชัดเจนและความมุ่งมั่น และไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด กล่าวคือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เรียนรู้จากการรับมือมาตรการของทรัมป์ในสมัยแรก จึงเตรียมตัวและไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี และได้ส่งสัญญาณออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า จีนจะโต้ตอบสหรัฐอย่างไร
จีนมีสมมติฐานดังนี้
1.ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีสถานะทางการเมืองที่แข็งแกร่ง และเศรษฐกิจจีนก็ได้ลดทอนการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐลงไปอย่างมากแล้ว ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยแรกในปี 2559
2.จีนมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบันเปราะบางกว่าแต่ก่อน และการเมืองก็มีความแตกแยกสูงมาก
3.บารมีของสหรัฐ ในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ตกต่ำลง โดยเฉพาะในส่วนของความสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาและเอเชีย ในขณะที่บารมีของจีนกำลังเพิ่มพูนขึ้น
ดังนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงจะดำเนินความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีทรัมป์แบบ หมูไปไก่มา หรือแบบ “เจ้าพ่อ” กับ “เจ้าพ่อ” (กล่าวคือไม่รีบเข้าหา และแสดงความเคารพทรัมป์ หรือพยายามประจบประแจง เช่นที่ผู้นำของบางประเทศพยายามทำอยู่ในขณะนี้) เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ปฏิเสธคำเชิญของประธานาธิบดีทรัมป์ ให้มาร่วมงานรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค. แต่ก็จะส่งผู้แทนระดับสูงไปร่วมงาน ซึ่งจะถือโอกาสได้พูดคุยกับทีมของทรัมป์
กล่าวคือ จีนพร้อมที่จะเจรจาพูดคุยกับทรัมป์ โดยกำลังพยายามสืบหาข้อมูลอย่างเงียบๆ ว่า แท้จริงแล้วทรัมป์ต้องการอะไรกันแน่จากจีน ทั้งนี้ จีนรับรู้ว่าสหรัฐและพันธมิตรนั้นไม่มีความจริงใจกับจีน และต้องการสกัดความเจริญรุ่งเรืองของจีน แต่จีนก็ต้องพร้อมเจรจาเพื่อ “ซื้อเวลา” และผ่อนหนักให้เป็นเบา เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาวของจีน
ดังนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจน และกล่าวเตือนประธานาธิบดีไบเดน ตอนที่พบกันที่ประเทศเปรูเมื่อปลายปีที่แล้ว (เพื่อส่งสัญญาณต่อไปให้ทรัมป์) โดยตอกย้ำไม่ให้สหรัฐละเมิด “เส้นแดง” 4 เส้นของจีน คือ เรื่องไต้หวัน การกล่าวหาจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน การต่อต้านระบบการปกครองของจีน และการสกัดการพัฒนาของจีน
นโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงต่อสหรัฐ : ตอบโต้ ปรับตัว และกระจายความเสี่ยง (retaliation, adaptation, diversification)
การตอบโต้: จีนได้ปรับนโยบายการค้า เพื่อตอบโต้นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐแบบ “หมัดต่อมัด” บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า การไม่โต้ตอบสหรัฐ คือการแสดงความอ่อนแอ ตัวอย่างเช่น เมื่อสหรัฐควบคุมไม่ให้จีนเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องมือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย
จีนก็โต้ตอบโดยการห้ามการส่งออกแร่หายากที่สหรัฐใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และริเริ่มการสอบสวนบริษัท Nvidia รวมทั้งตรวจสอบบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐ เช่น Boeing, Lockheed และ PVH (ผู้ผลิต Calvin Klein, Tommy Hilfiger) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทที่พึ่งพาไม่ได้ (Unreliable Entity’s List) ซึ่งนอกจากจะเป็นการโต้ตอบแล้ว ก็ยังจะสามารถนำเอาไปใช้เป็นอำนาจต่อรองกับสหรัฐในอนาคตอีกด้วย
การปรับตัว: จากไตรมาส 3 ของปี 2567 รัฐบาลจีนออกมาตรการทางการเงินและการคลังที่เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและส่งเสริมการส่งออก นโยบายดังกล่าว ยังไม่ได้ส่งผลที่เห็นได้ชัด แต่ น่าจะมีการ “เก็บกระสุน” ซึ่งสามารถเพิ่มเติมได้อีก เมื่อจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถ “รับมือ” กับการทำสงครามทางการค้ากับสหรัฐได้
การกระจายความเสี่ยง: โดยการส่งเสริมและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น
1.จีนกำลังพิจารณาลดภาษีศุลกากรแบบฝ่ายเดียว ให้สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา
2.ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เดินทางด้วยตัวเอง ไปเปิดท่าเรือของจีนที่ประเทศเปรู ซึ่งจีนจะใช้เป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารจากทวีปละตินอเมริกา ซึ่งจะเป็นการลดทอนการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐได้อีกด้วย
3.ช่วงปลายปี 2567 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการประชุมระหว่างประเทศ โดยได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมของ 10 องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า จีนจะเป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก ตลอดจนส่งเสริมความเจริญ ความมั่งคั่ง และการเปิดกว้างของทุกภาคส่วน (ไม่เหมือนกับทรัมป์ที่จะใช้นโยบายกีดกันการทางการค้าและแบ่งแยกโลก)
ศ.Medeiros สรุปว่า “much can go wrong” เพราะทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่างฝ่ายต่างก็มีความมั่นใจในตัวเองสูง และมองตัวเองว่าถือไพ่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างมาก จึงเชื่อว่าตัวเองจะไม่เจ็บตัว แต่จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามเสียหายและเจ็บตัวอย่างมาก ดังนั้น สงครามเย็นที่เคยเกิดขึ้นสมัยสหรัฐกับสหภาพโซเวียต จึงอาจจะดูสงบและ “กระจุ๋มกระจิ๋ม” (quaint) เมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้และปีต่อๆ ไปครับ
แนวทางจีนบริหารความสัมพันธ์กับสหรัฐ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1996
- ผู้ติดตาม: 430