Soft Power กับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

Soft Power กับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อปลายเดือน ก.พ. Brand Finance องค์กรที่เป็นผู้สำรวจและทำรายงานดัชนี Soft Power โลก (Global Soft Power Index) ได้ตีพิมพ์ผลสำรวจปี 2567
โดยจัดให้ประเทศไทยได้คะแนน 44.8 คะแนน เป็นอันดับที่ 40 ของโลก ขยับขึ้นจาก 41 เมื่อปีที่แล้ว โดยไทยได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 22 ได้ 54.4 คะแนน) และมาเลเซีย (อันดับ 35 ได้ 45.7 คะแนน)

ดัชนีซอฟต์พาวเวอร์มีตัวชี้วัดหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความคุ้นเคย (Familiarity) ชื่อเสียง (Reputation) และอิทธิพลที่มีต่อประเทศอื่น (Influence) โดยประเมินจาก 8 เสาหลักของซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่

ธุรกิจและการค้า (Business and Trade)
การปกครอง (Governance)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)
วัฒนธรรมและมรดก (Culture & Heritage)
สื่อและการสื่อสาร (Media and Communication)
การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education and Science)
ประชาชนและค่านิยม (People & Values)
อนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Future)

จะเห็นได้จาก 8 เสาหลักดังกล่าวว่า การประเมินซอฟต์พาวเวอร์ให้ครอบคลุมนั้น ต้องพิจารณาหลายมิติ ทั้งในเชิงของการทำธุรกิจ การปกครอง วัฒนธรรม การสื่อสาร การศึกษา ประชาชนและค่านิยม นอกจากนั้น Brand Finance อธิบายว่าปัจจัยใหม่ที่ “มาแรง” คืออนาคตที่ยั่งยืน

ในปี 2567 นี้ Brand Finance เพิ่มตัววัดใหม่คือ “Recommendation” แปลว่า คุณพร้อมจะแนะนำประเทศใดให้ญาติมิตรไปท่องเที่ยว ทำธุรกิจ ทำงานและศึกษาต่อ

ซึ่งน่าสนใจเพราะหมายถึงความประทับใจในหลายๆ มิติของประเทศดังกล่าว ทั้งในเชิงของการทำธุรกิจ และความอยู่ดีมีสุขในประเทศดังกล่าว

ประเทศที่ได้ลำดับสูงสุดในตัวชี้วัดนี้คือ สวิตเซอร์แลนด์ (น่าไปทำงานและลงทุน) ตามมาด้วยประเทศอังกฤษ (ประเทศที่น่าไปศึกษาต่อ) ประเทศอิตาลี (วัฒนธรรมและมรดก อาหารอร่อยที่สุดในโลกและทิวทัศน์ที่งดงาม) เยอรมนีที่เป็นประเทศที่สินค้าและบริการมีคุณภาพสูงสุด เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากตัวแปรดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยน่าจะมีข้อได้เปรียบและมีศักยภาพในบางด้านที่จะติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังที่เราพูดกันบ่อยครั้งเกี่ยวกับความนิยมของอาหารไทยและมวยไทย ตลอดจนกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมของไทย เช่น สงกรานต์และความเป็นมิตรของคนไทย เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น แม้ว่าสหรัฐจะยังมาเป็นอันดับ 1 ของโลก (78.8 คะแนน) ในเชิงของซอฟต์พาวเวอร์โดยรวม แต่คะแนนในบางแขนง ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในด้านความน่าอยู่ เช่น “great place to visit, safe and secure และ friendly”

กล่าวคือจุดแข็งของสหรัฐ คือ leader in science, influential in arts and entertainment และ support global efforts to counter climate change เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น หากจะดูในรายละเอียดเกี่ยวกับจุดอ่อนและจุดแข็งของประเทศในเชิงของซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่างๆ ก็อาจสรุปได้ ดังนี้

จุดแข็งของไทยในเชิงเปรียบเทียบ ได้แก่ “ความคุ้นเคย” (Familiarity) ซึ่งไทยได้ 6.8 คะแนน ไม่ห่างจากสหรัฐที่ 9 คะแนน ไม่แตกต่างจากเนเธอร์แลนด์ที่ 6.9 คะแนน “อิทธิพล” ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ซึ่งไทยได้ 4.2 คะแนนมากกว่าอินเดียที่ 4.1 คะแนน และ "ชื่อเสียง” ที่ไทยได้ 6.3 คะแนน เทียบกับอินเดียที่ได้ 6.0 คะแนน

นอกจากนั้นในด้านของ “ประชาชนและค่านิยม” (people and values) นั้น ประเทศไทยได้คะแนนค่อนข้างสูงคือ 4.3 คะแนน เท่ากับเกาหลีใต้ที่ 4.3 คะแนน และไม่ห่างมากจากสหรัฐที่ 4.4 คะแนน และจีนที่ 3.6 คะแนน

จุดอ่อนของไทย ข้อที่ไทยได้คะแนนต่ำที่สุด 2 ด้านคือ “ธรรมาภิบาล” (Governance) ที่ 2.9 คะแนน เท่ากับคะแนนของอินเดีย และ “การศึกษาและวิทยาศาสตร์” (Education and Science) ที่ 2.7 คะแนน เท่ากับเวียดนาม อีกจุดอ่อนหนึ่งคือ “สื่อและการสื่อสาร” (Media and Communication) ซึ่งไทยได้คะแนนเพียง 3.1 คะแนน เท่ากับอินโดนีเซีย

การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยนั้นเพิ่งเริ่มต้น และยังคงจะพบเจอกับอุปสรรคอีกหลายด้าน เช่น ด่านแรกคือการรวบรวมเอางบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ที่ปัจจุบัน กระจายอยู่กับหน่วยงานต่างๆ มาไว้ที่เดียวกัน คือ THACCA หน่วยงานใหม่ที่จะต้องจัดตั้งขึ้นโดยการออกพระราชบัญญัติ

นอกจากนั้นคงจะยังต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ที่ยังไม่ได้มีความเห็นพ้องต้องกัน

โดยบางฝ่ายยังแย้งว่า สิ่งที่เคยทำอยู่แล้ว คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) นั้นจะตรงประเด็นมากกว่า แต่ creative economy นั้น เป็นการมองในมุมที่แคบกว่า เมื่อเทียบกับซอฟต์พาวเวอร์ในความเห็นของผม

เพราะซอฟต์พาวเวอร์ตามที่รัฐบาลนำเสนอนั้นให้น้ำหนักกับอีก 2 มิติ ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย คือ

1.ซอฟต์พาวเวอร์นั้นเป็นการแพร่ขยายอำนาจ (ละมุน) ออกไปทั่วโลกและต้องมองออกไปสู่ตลาดโลกเป็นหลัก แต่ creative economy นั้นอาจคิดจำกัดตัวเองเพียงแต่ความสร้างสรรค์เฉพาะในประเทศก็ได้

2.ซอฟต์พาวเวอร์ที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนาศักยภาพของประชาชนคนไทยที่มีความประสงค์จะพัฒนาตัวเองภายใต้โครงการ upskill, reskill นั้น

หากทำได้อย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่นอกเหนือไปจาก creative economy ที่จะมองในกรอบที่แคบกว่า คือการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์เป็นหลัก

ประเด็นที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ แนวคิดที่ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่สามารถขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย จากการใช้ประเทศไทยและแรงงานไทย เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติ

เพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไปขายในตลาดโลก (แต่ประเทศไทยอาจได้มูลค่าเพิ่มไม่สูงมาก) โดยที่ไทยเองก็ได้ประโยชน์ ตราบเท่าที่ไทยสามารถสรรหาแรงงานและทรัพยากร มารองรับการลงทุนดังกล่าว

แต่เมื่อทรัพยากรเริ่มขาดแคลน (ก๊าซธรรมชาติและที่ดิน) และเมื่ออัตราการเกิดของคนไทยลดลงจากปีละ 1 ล้านคนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหลือเพียงปีละ 5 แสนคน ก็จำเป็นที่ประเทศไทยและคนไทยจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ครับ.
โพสต์โพสต์