อย่าล้อมกรอบตัวเอง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

อย่าล้อมกรอบตัวเอง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ยี่สิบกว่าปีก่อน ดิฉันไปสัมมนาในฮ่องกง ในช่วงพักดื่มน้ำชากาแฟ มักจะมีคนหนุ่มสาว (ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม) เดินเข้ามาทักทาย แจกนามบัตรแนะนำตัวเอง เพื่อขอทำความรู้จักกับผู้เข้าฟังการสัมมนาและวิทยากร ซึ่งนามบัตรที่แจกมักจะมีดีกรีและประกาศนียบัตร อยู่ใต้ชื่อเต็มไปหมด พวกเราคนไทยคุยกันว่า คนรุ่นใหม่ฮ่องกงเขากระตือรือร้น เขาใฝ่รู้ และเขาพยายามสร้างโอกาสให้กับตัวเองมากมาย

ฉายภาพย้อนไปสิบกว่าปีก่อน คนหนุ่มสาวจากจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันนี้ แววตาของพวกเขาเป็นประกาย มีความกระตือรือร้น และใฝ่รู้เต็มเปี่ยม เราวิเคราะห์กันว่า ถ้าอยู่ในประเทศที่ประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน หากไม่โดดเด่น อย่างเห็นได้ชัด ก็ยากที่จะมีคนเห็น คนหนุ่มสาวเหล่านี้ จึงต้องขวนขวายพยายาม เพื่อให้ตนเองมีคุณสมบัติที่เด่นกว่าคนอื่นในการสมัครเรียน การสมัครงาน ฯลฯ

หันกลับมาเมืองไทย คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งชอบวิพากษ์วิจารณ์ ชอบขุดคุ้ยเรื่องราวของผู้อื่น บางทีฟังหรืออ่านเรื่องราว ยังไม่จบ ก็วิจารณ์แล้ว และเป็นที่น่าสังเกตว่า การวิจารณ์ในเชิงเสียดสี จะมีคนชอบใจติดตามมากกว่าแบบอื่นๆ กดไลค์กดแชร์กันมากมาย ความกระตือรือร้นและใฝ่รู้จะอยู่ในวงแคบๆของผู้ที่สนใจและมีความใฝ่รู้จริงๆ

หลายครั้งที่เรามีโอกาสเข้ามาในชีวิต แต่เราไม่ได้คว้าเอาไว้ เพราะเราตีกรอบให้ตัวเอง เรากำหนดขอบเขตความสนใจของตัวเอง ไม่ได้มองออกไป หรือก้าวออกไปจากกรอบที่ตีเอาไว้ ทั้งๆที่การมองออกไปไกลเกินกว่ากรอบ อาจช่วยให้เราได้รับโอกาสในการทำงาน ในการเรียนรู้ หรือในการทดลองสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตของเรา เหมือนดังที่ดิฉันเปลี่ยนชีวิตของตัวเองด้วยการออกนอกกรอบการเรียนภาษาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ไปสอบชิงทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนด้านการเงิน และได้รับผลดีอันคาดไม่ถึงจากการออกไปนอกกรอบครั้งนั้น

ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง จากข้อมูลรายงาน Bridging the Gap : Inequality and Jobs in Thailand ของ World Bank สำนักงานประเทศไทย แสดงไว้ว่า Credit Suisse เคยทำงานวิจัยเอาไว้และดิฉันนำมาแจกแจงใหม่เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงสุด หนึ่งเปอร์เซ็นต์แรกของประเทศไทย มีส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 39%ของความมั่งคั่งโดยรวม ในขณะที่ผู้มีความมั่งคั่งสูง สี่เปอร์เซ็นต์ถัดมา มีส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 17% และอีกห้าเปอร์เซ็นต์ถัดลงมา มีส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 10% สรุปรวมได้ว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก มีส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 66% ของทั้งประเทศ แปลว่าที่เหลืออีก 90% ของคนทั้งหมด มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งเพียง 34%ของความมั่งคั่งรวมเท่านั้น

ในการทำวิจัยของธนาคารโลก พบด้วยว่า คนไทยที่ถูกสำรวจ 82% เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างมากว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะกระจายความมั่งคั่ง ขณะที่ดิฉันเชื่อว่า ถ้าไปสำรวจความเห็นของคนในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตของรายได้สูง เช่น คนจีน และคนเวียดนาม จะพบว่า เขาเชื่อว่า“ตัวเอง”มีหน้าที่สร้างโอกาสและความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ด้วยการตั้งใจเรียนหนังสือ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตั้งใจทำงานอย่างหนักและอย่างดี เพื่อยกระดับฐานะของตนเอง เขาจะหวังพึ่งพาให้รัฐเป็นผู้กระจายความมั่งคั่งน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะเขาเห็นคนรุ่นเก่าได้ดีเพราะขยันขันแข็งและอดทน

จากการสำรวจยังพบว่าคนไทยมองเห็นว่าเพื่อยกระดับฐานะ การทำงานหนักมีความจำเป็น มีความสำคัญถึงสำคัญมาก 78% ซึ่งก็ถือว่าพอใช้ได้ แต่ก็ยังมี 7-8% ที่เห็นว่าการทำงานหนักไม่สำคัญในการยกระดับฐานะ

ในด้านการศึกษา การสำรวจทุกงานพบสิ่งเดียวกันคือ กลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงกว่า มักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาสูง โดยเฉพาะอย่างเมื่อทำการสำรวจค่าตอบแทน จะพบว่าค่าตอบแทนของงานที่ใช้ทักษะสูง หรืออาศัยความเฉพาะของความรู้ความชำนาญ จ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่างานทั่วไปที่ไม่ต้องใช้ทักษะหลายสิบหลายร้อยเท่า

รัฐของประเทศต่างๆ ต่างก็พยายามทำหน้าที่ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ แต่การยกให้เป็นหน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ต้องดูแลให้คนมีการศึกษาที่ดี มีงานทำและสามารถยกระดับฐานะของตนได้ คงจะไม่มีทางทำให้ฝันที่ต้องการสานเป็นจริง เพราะรัฐส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับการจัดการโควิดค่อนข้างมาก เรียกได้ว่ารัฐของหลายประเทศ ​“ถังแตก” แล้ว และบทบาทของภาครัฐในอนาคตจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆเนื่องมาจากภาระหนี้สินของทุกประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยลำพังก็หนักอยู่แล้ว และเมื่อมาถูกซ้ำเติมด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างบ้าคลั่งของเฟดในปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศต่างๆสูงขึ้น ภาระดอกเบี้ยก็ทำให้เม็ดเงินที่รัฐจะนำมาใช้พัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนต้องลดน้อยลงไป รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาจึงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะส่วนต่างของดอกเบี้ยที่รัฐของประเทศที่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ดีต้องจ่ายนั้น สูงขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา จนเกรงกันว่าอาจมีประเทศที่หนี้ท่วม และความสามารถในการกู้ยืมลดลง

ทราบอย่างนี้ พ่อแม่ทุกคน ควรจะต้องพยายามด้วยตนเองอย่างเต็มที่ที่จะให้ลูกหลานมีความรู้ ได้เรียนรู้มากๆ เพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น และผู้มีความมั่งคั่งสูง ควรต้องเอื้อเฟื้อให้โอกาสแก่กลุ่มที่ลำบาก เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเขาให้ดีขึ้นด้วยค่ะ มิฉะนั้น สังคมจะอยู่อย่างเป็นสุขไม่ได้

อยากเห็นสังคมของการรักเรียน รักความก้าวหน้า แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน สมัยทำงานเคยได้ยินผู้ใหญ่วิจารณ์เด็กๆลูกหลานว่า เขาให้ไปเรียน ไปทำงาน ความก้าวหน้าอยู่ที่ใครสามารถพัฒนาตนเองให้เรียนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล เขาไม่ได้ส่งเข้าไปประชันความงามเป็นนางงามกัน หรือไม่ได้ให้ไปมั่วสุมทำตัวเป็นแก้งก์อิทธิพล เพราะฉะนั้น ทุกคนควรจะรู้ตัวว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการทำแต่ละสิ่งนั้น คืออะไร จะได้จัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง
โพสต์โพสต์