บทบาทนโยบายการเงิน (ที่เป็น‘พระรอง’)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

บทบาทนโยบายการเงิน (ที่เป็น‘พระรอง’)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ธปท.ได้อธิบายว่า บทบาทของ ธปท.คือการเป็น “พระรอง” ที่ดูแลเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัจจัยหลังนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยพื้นฐานด้านโครงสร้างและอุปทาน เช่น ผลิตภาพของแรงงาน การลงทุนและเทคโนโลยี เป็นต้น
ประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อนปัจจัยดังกล่าว เพื่อทำให้จีดีพีขยายตัวได้มากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ประมาณ 3% ต่อปี ไม่ใช่การมาคาดหวังว่าควรจะลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งระดับดอกเบี้ยปัจจุบันนั้น ธปท.ยืนยันว่ามีความเหมาะสมและเปิดทางให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องดีอยู่แล้ว

ดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมนั้น หากมองในระยะเวลาสั้นๆ จะดูได้ยากมาก ต้องดูกันยาวๆ 4-5 ปี ว่าได้ผลตามที่คาดหมายหรือไม่ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย คือการปรับดอกเบี้ยนโยบายให้ขึ้น-ลง หรืออยู่ที่เดิม เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท.กำหนดเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว คือ เงินเฟ้อ (วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค) จะต้องอยู่ในกรอบ 1-3% ต่อปี

รูปภาพ

ดังนั้น เราจึงต้องกลับไปดูว่าในอดีตนโยบายการเงินของไทยทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% ต่อปีมากน้อยเพียงใด โดยผมได้คัดลอกเอาข้อมูลเศรษฐกิจของไทยในอดีต 10 ปีที่ผ่านมาให้ดู ดังปรากฏในตาราง

คอลัมน์แรกคือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2557-2566 ซึ่งผมเริ่มต้นที่ช่วงปี 2557-2562 ที่น่าจะเป็นภาวะ “ปกติ” กล่าวคือ ช่วงก่อนที่ไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และ หลังการระบาด เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ก็ต้องเผชิญกับวิกฤติทางภูมิรัฐศาสตร์ คือสงครามยูเครน-รัสเซีย และสงครามอิสราเอล-ฮามาส

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2557-2562 เฉลี่ยเพียง 2.98% ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น คำถามคือมีสาเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปทานเป็นหลัก จริงหรือไม่ คำตอบคือน่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง คือการเมืองที่ถูกปฏิวัติรัฐประหาร และการที่เวียดนามผงาดขึ้นมายื้อแย่งเงินลงทุนจากต่างประเทศไปจากไทย เป็นต้น (ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุปี 2563 จึงจะยังไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการฉุดรั้งเศรษฐกิจในช่วงปี 2557-2562)

คราวนี้ มาดูบทบาทของ “พระรอง” คือ นโยบายการเงินกันบ้าง จะเห็นได้ว่าในช่วงดังกล่าวดอกเบี้ยนโยบายส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 1.5-2.0% หากคำนวณค่าเฉลี่ยก็ประมาณ 1.7% ต่อปี (คอลัมน์ 5) ในช่วงเดียวกัน เราจะเห็นว่าเงินเฟ้อของไทย (คอลัมน์ 2) นั้นต่ำมาก และมีติดลบในปี 2558 อีกด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยก็จะพบว่าเงินเฟ้อต่อปีเฉลี่ยในช่วงปี 2557-2562 (6 ปี) เท่ากับ 0.6% ต่อปี

หากมองในภาพยาวดังกล่าว จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ประมาณ 1.7% ต่อปีนั้น ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยที่ 0.6% ต่อปี ซึ่งทำให้ผมมีข้อสรุป 3 ข้อดังนี้

ดอกเบี้ยนโยบายจริงเท่ากับ 1.7-0.6 = 1.1% ต่อปี
ดอกเบี้ยนโยบายจริงดังกล่าว ทำให้เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง (ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดระดับดอกเบี้ยดังกล่าว) ต่ำกว่าเป้าที่ ธปท.ตั้งเอาไว้ให้ตัวเองที่ 1-3% (จุดกลางที่ 2%) อย่างมีนัยสำคัญ
การที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป น่าจะส่งผลในทางลบต่อการขยายตัวของจีดีพี และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะไปในลักษณะใดบ้าง? การที่ดอกเบี้ยนโยบาย (ที่เป็นดอกเบี้ยระยะสั้น) สูงเกินไป ย่อมทำให้ดอกเบี้ยโดยรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาวสูงเกินไปพร้อมกัน ดอกเบี้ยคือต้นทุน ทั้งสำหรับการผลิตและการบริโภคสินค้าถาวร แปลว่า กำลังซื้อในประเทศน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

ผลที่ตามมาคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากและต่อเนื่องทุกปีในช่วงปี 2557-2562 เท่ากับ 7.1% ของจีดีพีต่อปีโดยเฉลี่ย แปลว่าคนไทยผลิตสินค้าและบริการ 100 แต่บริโภคและลงทุนในประเทศเพียง 92.9

ส่วนเกินนั้น คนไทยขนเงินไปลงทุนในต่างประเทศ หรือทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น (เอาเงินไปกองเอาไว้เฉยๆ) จำนวน 7.1% ของจีดีพีนั้น หากเป็นจีดีพีปีนี้ ก็จะมีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

อีกด้านหนึ่งที่สะท้อนว่านโยบายการเงินในประเทศ “ตึง” เกินไป คือการที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อของโลกค่อนข้างมากและต่อเนื่อง กล่าวคือ ข้อมูลเงินเฟ้อของโลก (จากธนาคารโลก) ในช่วงปี 2557-2562 เฉลี่ยเท่ากับ 2.1% ต่อปี

เมื่อนโยบายการเงินของไทย “ตึง” เกินไปเป็นเวลานาน เงินเฟ้อของไทยก็จะต่ำกว่าเงินเฟ้อของโลก ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากดัชนี Nominal Effective Exchange Rate (NEER) ซึ่งเป็นดัชนีค่าเงินบาทที่ ธปท.คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทย และถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการค้ากับประเทศนั้นๆ (คอลัมน์ 4) จะเห็นได้ว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอดจาก 103 ในปี 2557 มาเป็น 123 ในปี 2562 หมายความว่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 3% ต่อปีในช่วง 6 ปีดังกล่าว

ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมานี้ทำให้สรุปได้ว่า ดอกเบี้ยนโยบายจริงที่ประมาณ 1.1% น่าจะสูงเกินไป เพราะทำให้เงินเฟ้อในประเทศต่ำเกินไป การใช้จ่ายในประเทศต่ำเกินไปและบาทแข็งค่ามากเกินไป

หากกลับมามองนโยบายดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ก็จะเห็นได้ว่า ปีที่เงินเฟ้อสูงมากคือปี 2022 (ที่ 6.08%) นั้น ธปท.ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพียง 0.75% ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยจริงติดลบ 4.1% เราจึงเห็นการอ่อนค่าเงินบาทและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (เป็นใช้จ่ายมากกว่ารายได้ในปี 2565) ตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นนโยบายที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่มาปี 2566 จะเห็นได้ว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีก NEER เพิ่มจาก 115 เป็น 119 (ประมาณ 3.5%) ไทยเริ่มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีก และดอกเบี้ยนโยบายจริงกลับมาเป็นบวกที่ 2.5-1.23 = 1.27%

คำถามคือถ้า “พระรอง” ทำแบบนี้ จะช่วยให้ “พระเอก” ฟื้นตัวได้จริงหรือ หากเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา?
โพสต์โพสต์