เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับทฤษฎี “กบต้ม” /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับทฤษฎี “กบต้ม” /ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งนี้ผมขอระลึกถึง อาจารย์วีรพงษ์ รามางกูร ที่ผมเคารพอย่างยิ่ง ท่านเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2560 ตั้งประเด็นที่แหลมคมเมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะ “กบต้ม” หรือไม่
“ทฤษฎี “กบต้ม” เสนอโดยนักวิชาการอเมริกาชื่อ โนเอล ทิกี้ หรือ Noel Tichy พยายามอธิบายว่าเหตุใดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศค่อยๆ เกิดขึ้นโดยที่ประชาชนจะไม่รู้ตัว จึงไม่สามารถป้องกันตัวเองหรือกระโดดออกจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจได้ทัน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่ประชาชนไม่ทันรู้ตัว สถานการณ์ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นแล้วเหมือนกับกบที่อยู่ใน "น้ำเย็น" ที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น แทนที่กบจะกระโดดหนีจากความหายนะเช่นว่า กลับไม่รู้สึกและปรับตัวทนต่อน้ำอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกบตาย กลายเป็น "กบต้ม"

...ต่างกับสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นทันที เหมือนกับน้ำเย็นที่ร้อนขึ้นทันที กบรู้ตัวก็สามารถกระโดดออกได้ทันการณ์โดยปลอดภัย"

วันนี้คำถามคือประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะ “กบต้ม” หรือไม่? ผมขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีก่อนโควิด-19 (ปี 2015-2019) ในตาราง 1 (แหล่งข้อมูลมาจาก World Bank เว้นคอลัมน์แรกจากสภาพัฒน์)

คอลัมน์แรกที่เรียกว่า Gross Fixed Capital Formation หมายถึงการขยายตัวของการลงทุนของประเทศไทยในช่วงปี 2015-2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19

หากเปรียบเทียบกับการขยายตัวของจีดีพีไทยในช่วงเดียวกัน ก็จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของการลงทุนโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2015-2019 นั้น ต่ำกว่าการขยายตัวของจีดีพี (คอลัมน์ 3) กล่าวคือ การลงทุนโตเฉลี่ย 3.0% ต่อปีในช่วงปี 2015-2019 ต่ำกว่าการขยายตัวของจีดีพีในช่วงเดียวกันที่ 3.4%

การที่การลงทุนโตช้ากว่าจีดีพี แปลว่าสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีจะค่อยๆ ลดลง ดังที่ปรากฏในคอลัมน์ 2 กล่าวคือจาก 25% ของจีดีพีในปี 2015 มาเหลือเพียง 23% ของจีดีพีในปี 2019

ผมได้เขียนในบทความก่อนหน้าถึงความสำคัญของการลงทุน ในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การที่การลงทุนโตช้ากว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นสัญญาณว่า หากเป็นไปอย่างนี้ต่อไป การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยก็มีแต่จะชะลอตัวลง ไม่มีทางที่จีดีพีจะสามารถขยายตัวได้สูงขึ้น

รูปภาพ

คอลัมน์สุดท้ายคือคอลัมน์ 4 ซึ่งเป็นตัวเลขสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีของทั้งโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของโลกนั้นกำลังค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 25% มาเป็น 26% ในช่วงปี 2015-2019 ในขณะที่สัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีของไทย (คอลัมน์ 2) ปรับตัวลดลงจาก 25% มาเป็น 23% ในช่วงเดียวกัน ประเด็นคือประเทศไทยกำลังล้าหลังโลกไปอย่างช้าๆ (กบต้ม) ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวหลังจากนั้นคือปี 2020-2022 (ตัวเลขเต็มปีล่าสุด) ปรากฏว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย ดังปรากฏในตาราง 2 การที่การลงทุนต่อจีดีพีของไทย ต่ำกว่าการลงทุนต่อจีดีพีของโลกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาอย่างน้อยเกือบ 10 ปีนั้น

ย่อมจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนภัยอันตรายต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงที่สรุปได้ว่า ปัญหาใหญ่และเร่งด่วนของไทยนั้น คือการต้องรีบจัดการกับขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากมีปัจจัยรอบด้านอื่นๆ เช่น การที่เงินเฟ้อตกต่ำจนติดลบและเริ่มเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ก็แปลว่าปัจจัยอื่นๆ เป็นปัจจัยรองในเชิงของความสำคัญ หมายความว่า หากเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน ก็จะไม่ได้ส่งผลลบ

เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจจนกระทั่งปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น (เพราะปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเงินเฟ้อ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อสะท้อนความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากกว่า)

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดคือ ข้อมูลจีดีพีของไทยในสามไตรมาสแรกของปี 2023 ที่ผ่านมานั้น ก็ตอกย้ำว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากตัวเลขของปี 2023 ดังนี้ ไตรมาส 1 จีดีพีขยายตัว 2.6% (การลงทุนขยายตัว 3.1% การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 2.1%)

ไตรมาส 2 จีดีพีขยายตัวลดลงเป็น 1.8% (การลงทุนขยายตัว 0.4% และการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 0.6%) ไตรมาส 3 จีดีพีขยายตัวลดลงไปอีกเป็น 1.5% (การลงทุนขยายตัวเพียง 1.5% และการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเหลือเพียง 0.2%)

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยนั้น ยิ่งดูก็ยิ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าเข้าลักษณะทฤษฎี “กบต้ม” ที่อาจารย์วีรพงษ์ เคยกล่าวเตือนเอาไว้กว่า 6 ปีที่แล้วครับ.
โพสต์โพสต์