ผู้ลงทุนไทยกับการใช้สิทธิทางภาษี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

ผู้ลงทุนไทยกับการใช้สิทธิทางภาษี/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สัปดาห์ที่แล้วดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับตลาดทุน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC Capital Market Symposium 2023) ซึ่งมีวิทยากรมาบรรยายและนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจหลายหัวข้อ

หัวข้อที่ดิฉันมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นคือหัวข้อเกี่ยวกับ พฤติกรรมการออมเพื่อการเกษียณในระบบภาษี ของประเทศไทย โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ และ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นประโยชน์มากในการนำเสนอเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย

การวิจัยนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกศึกษาพฤติกรรมการออมเพื่อการเกษียณของประชากรวัยแรงงานไทย จำนวน 23.2 ล้านคน จากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีของกรมสรรพากรตั้งแต่ ปี 2552 ถึงปี 2561 โดยกลุ่มที่นำมาศึกษามีอายุ 25-60 ปี และมีการเสียภาษีอย่างน้อย 3 ปี ในช่วง 10 ปีที่ศึกษา พบว่า ผู้ลงทุนที่เสียภาษีมีการออมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเกษียณ คือ ประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี 72.9% (ที่เหลือ 27.1% อนุมานได้ว่า ไม่ได้ซื้อหรือซื้อแต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์)

การศึกษาพบความสัมพันธ์ของการออมกับลักษณะส่วนบุคคลของผู้ออมหลายประการ อาทิ คนทั่วไปมีอัตราการออมผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นตามอายุ จนถึงวัย 46-48 ปี และจะเริ่มมีการออมเป็นสัดส่วนลดลงเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ ยกเว้นกลุ่มรายได้สูงที่ออมเพิ่มขึ้นจนถึงอายุ 49-51 ปี หลังจากนั้นจึงลดลง

โดยอัตราการออมเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 1.2% ของรายได้ และค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในช่วงอายุ 37-39 ปี หลังจากนั้นลดลงจนเหลือ 0.5% ของรายได้ในช่วงอายุ 58-60 ปี กลุ่มนี้ดิฉันสันนิษฐานว่าต้องใช้เงินไปดูแลสุขภาพ จึงทำให้อัตราการออมลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนนั้นแทบจะไม่มีกองทุนรวมเลยค่ะ

สำหรับกลุ่มรายได้ปานกลาง อัตราการออมเฉลี่ยจะเริ่มตั้งแต่ 2.7% ขึ้นไปสูงสุดที่ 4.7%ในวัย 40-45 ปี และลดลงเหลือ 2.8% ในวัย 58-60 ปี ก่อนเกษียณ ดิฉันสันนิษฐานว่าอยากใช้ชีวิตสบายขึ้น จึงออมน้อยลง แบ่งเงินไปใช้ท่องเที่ยวบ้าง ผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนจะมีกองทุนรวมบ้างในวัย 31-54 ปี และแทบไม่มีกองทุนรวมเลยในวัย 55-60 ปี สันนิษฐานว่าพอครบกำหนดเงื่อนไขที่ให้ถอนได้ คือ อายุ 55 ปี ก็ถอนกันไปทำอย่างอื่น ซึ่งน่าเสียดาย

ส่วนกลุ่มรายได้สูง อัตราการออมเฉลี่ยจะเริ่มตั้งแต่ 5.1% ขึ้นไปสูงสุดที่ 6.9%ในวัย 40-51 ปี และลดลงเหลือ 5.7% ในวัย 58-60 ปี ก่อนเกษียณ กลุ่มนี้มีการลงทุนในกองทุนรวมเป็นสัดส่วนสูงอย่างเห็นได้ชัด (เพราะกองทุนรวมช่วยเพิ่มเพดานการออมโดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้)

ผู้วิจัยได้ทำการประมาณการออมเพื่อการเกษียณตลอดอายุการทำงาน และประมาณรายได้ก่อนเกษียณของประชากรวัยแรงงานเหล่านี้ เพื่อหาดูว่า ณ ตอนเกษียณ จะมีเงินเป็นสัดส่วนเท่าใดของรายได้เดิมก่อนเกษียณ พบว่า เฉลี่ยทุกระดับรายได้ เท่ากับ 23.6% แต่หากมาแบ่งกลุ่มดูก็น่าหนักใจนะคะ กลุ่มรายได้น้อย จะมีเงินออมผ่านกลุ่มได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมเป็นเงินที่จะใช้ได้หลังเกษียณเพียง 16.9% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งยังห่างไกลจาก 70-80% ที่นักวางแผนการเงินใช้เป็นหลักในการตั้งเป้าหมายความพอเพียงของเงินที่จะใช้หลังเกษียณ

สำหรับกลุ่มรายได้ปานกลาง จะมีเงินออมผ่านการออมรูปแบบที่สามารถนำมาใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีได้ ประมาณ 22% ของรายได้ก่อนเกษียณ และสำหรับกลุ่มรายได้สูง จะมีเงินออมใช้หลังเกษียณ 30.8%

ผลของการวิจัยนี้ อาจนำมาแปลความได้ว่า ประชากรที่อยู่ในระบบภาษี เมื่อเกษียณแล้ว หากจะพึ่งพาเงินที่ออมและลงทุนไว้ตามสิทธิที่รัฐให้นั้น ยังไม่เพียงพอ จะต้องออมเพิ่มนอกเหนือจากการออมที่ได้สิทธิทางภาษีอีก อย่างน้อย 3 เท่า สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ และเพิ่มอีก 2 เท่าสำหรับกลุ่มรายได้ปานกลาง และเพิ่มอีก 1.2 เท่าสำหรับกลุ่มรายได้สูง (ดิฉันคำนวณจาก เงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ 70% ของรายได้ก่อนเกษียณ) รัฐสามารถนำข้อมูลนี้ไปออกแบบเพิ่มสิทธิ์ในการลดหย่อนให้เกิน 15% สำหรับผู้มีรายได้ต่ำและปานกลางได้ค่ะ ซึ่งผู้วิจัยก็นำเสนอในประเด็นการพิจารณาสิทธิในการลดหย่อนให้แตกต่างระหว่างกลุ่มรายได้ที่แตกต่างนี้

จากประสบการณ์ที่ดิฉันพบปะกับผู้ลงทุนมา 30 ปี ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ ไม่ออมเงินมากกว่าที่ได้สิทธิทางภาษีค่ะ แม้จะรู้ตัวว่าอาจจะไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่สนใจที่จะออมเพิ่ม และผู้ลงทุนไทยไม่ชอบความซับซ้อน และไม่ชอบความเสี่ยง ซึ่งงานวิจัยสองชิ้นนี้ ได้ผลลัพธ์ออกมาตรงกัน

สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทุกกลุ่มรายได้มีการลงทุนคือ การประกันภัย (ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป) สาเหตุมาจากความง่ายของเงื่อนไขการลดหย่อน คือ ทุกคนมีสิทธิ์นำมาลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใดก็ตาม

อาจารย์อธิพัฒน์ และอาจารย์ธานี ยังได้ทำการสำรวจเชิงพฤติกรรมของคนในวัยทำงานในอีกมุมหนึ่งคือ การตัดสินใจลงทุน โดยพบว่า คนไทยในกลุ่มที่ทำการสำรวจ จำนวน 1,013 คน ที่มีอายุระหว่าง 25-55 ปี ส่วนใหญ่ เลือกวิธีการลดหย่อนภาษีแบบง่าย ไม่ซับซ้อน นอกจากนั้น ในการศึกษาระดับของการคิด จาก Cognitive Reflection Test (CRT) พบว่าส่วนใหญ่ คือ 95%ของกลุ่มที่ได้รับการสำรวจ ตัดสินใจโดยพึ่งพาสัญชาตญาณ และมีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้ความคิดแบบไตร่ตรองและหาเหตุผล จึงเสนอแนะให้ภาคการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างและเพิ่มทักษะการคิดแบบไตร่ตรอง

ซึ่งอันนี้ดิฉันว่าสำคัญมากค่ะ เป็นการตอกย้ำว่า เหตุใดคนไทยจึงตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการล่อลวงทางการเงินง่ายและมากมายขนาดนี้ หากคนไทยมีการคิดแบบไตร่ตรองมากขึ้น มีสติมากขึ้น การถูกล่อลวงทางการเงิน หรือแม้แต่ล่อลวงอื่นๆในชีวิตจะลดน้อยลงไป หรืออาจจะหายไปจากสังคมไทยเลยก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังพบประเด็นเรื่อง social proof คือ คนไทยรู้สึกเชื่อใจกับความคิดเห็นของผู้อื่นในสังคม และปล่อยให้ความคิดเห็นนั้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจ โดยคำแนะนำเรื่องการลงทุนจากบุคคลรอบข้างจะมีน้ำหนักพอสมควร แต่คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ จะมีน้ำหนักมากกว่าในการตัดสินใจลงทุน เราจึงควรต้องสร้างบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในการลงทุนให้เพียงพอ

ประเด็นสุดท้ายที่สำรวจคือ การชอบหรือไม่ชอบความเสี่ยง ซึ่งพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ชอบความเสี่ยง ซึ่งตรงกับข้อสังเกตของดิฉัน

พื้นที่หมดแล้ว หวังว่าการวิจัยนี้จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายทบทวนนโยบายและมุ่งให้คนไทยมีทักษะในการคิดแบบไตร่ตรอง
โพสต์โพสต์