มองต่างมุมเรื่อง Digital Wallet/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

มองต่างมุมเรื่อง Digital Wallet/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมไม่ได้สนับสนุนนโยบาย Digital Wallet มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีนักเศรษฐศาสตร์ไทยนับร้อยคน นำโดยอดีตผู้บริหารระดับสูงของธปท.ต่อต้านรัฐบาลที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน (และยังไม่ได้ใช้เงินเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ เลย) ผมก็ต้องขอออกมาแสดงความเห็น
การออกมาคัดค้านรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เหมือนกับสมัยเมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจ การยึดอำนาจล้มประชาธิปไตยเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น

เราเห็นผลแล้วว่าทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างมาก แต่ตอนนั้น หากมีนักวิชาการหรือคนไทยคนใดออกมาแสดงท่าทีต่อต้าน ก็จะถูกจับตัวขึ้นศาลทหารโดยทันที เช่นที่คุณจาตุรนต์ ฉายแสงโดนมาแล้ว

ดังนั้น การออกมาต่อต้านรัฐบาลเรื่อง Digital Wallet นั้น มองได้ว่าเป็นการรีบเร่งต่อต้านรัฐบาล เพื่อให้เสื่อมเสียและสูญเสียความน่าเชื่อถือ

หากรัฐบาลสูญเสียความน่าเชื่อถือตั้งแต่ต้นไปแล้ว ก็จะทำให้ฝ่ายต่างฯ ขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ อายุของรัฐบาลจะสั้น ทำให้ไม่สามารถทำนโยบายอื่นๆ

เพื่อประโยชน์ของประชาชนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก จากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธอามาส ที่อาจขยายตัวออกเป็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้

ประเด็นหลักที่นักเศรษฐศาสตร์ตำหนิรัฐบาลคือ การทำให้เสียวินัยทางการคลัง โดยกล่าวว่า หากแจกเงิน 560,000 ล้านบาทแล้ว ก็จะทำให้หนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 62.97% ของจีดีพีต้องเพิ่มขึ้นไปเกิน 65% ของจีดีพี

หากอ้างการคาดการณ์จีดีพีของรัฐบาลที่ 19.08 ล้านล้านบาทในปี 2024 ก็จะคำนวณได้ว่า 560,000 ล้านบาทจะเทียบเท่ากับ 2.95% ของจีดีพี

ผมจึงกลับไปดูในรายละเอียดของการคำนวณของรัฐบาลซึ่งปรากฏในตาราง โดยขอให้ดูประมาณการจีดีพีในปี 2566 (2023) และปี 2567 (2024) จะเห็นได้ว่า รัฐบาลคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 5.0% ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวที่รวมเงินเฟ้อด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐบาลก็เลยคำนวณว่าการขาดดุลงบประมาณที่ 693,000 ล้านบาท (ที่รวม Digital Wallet แล้วส่วนหนึ่ง?) จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 12.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64% ของจีดีพี

ตารางข้างล่างนี้ เรามาดูการคาดการณ์จีดีพีและเงินเฟ้อของ ธปท.ที่มองได้ว่า เป็นแกนนำในการคัดค้านเรื่อง Digital Wallet ของธปท.ประเมินจีดีพีและเงินเฟ้อสรุปได้

รูปภาพ

มองต่างมุมเรื่อง Digital Wallet | ศุภวุฒิ สายเชื้อกนง.ประเมินว่า จีดีพีประเทศไทยในปี 2024 จะขยายตัวมากถึง 4.4% (เพราะได้แรงกระตุ้นจาก Digital Wallet?) และเงินเฟ้อก็ขยับขึ้นเป็น 2.4% ในปีเดียวกัน

หากเรานำเอาการคาดการณ์ดังกล่าวของ ธปท. (กนง.) มาคำนวณจากตัวเลขจีดีพีในปี 2023 คือ 18.17 ล้านล้านบาท ก็จะพบว่า จีดีพีในปี 2024 จะเท่ากับ 19.41 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าที่รัฐบาลคำนวณ (19.08 ล้าน) ถึง 330,000 ล้านบาท

ผลที่ตามมาคือ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2024 ก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 62.24% ของจีดีพี กล่าวคือต่ำกว่าสัดส่วนในปี 2023

แล้วทำไมจึงจะกลัวว่า Digital Wallet จะกระทบวินัยทางการคลัง และทำไมบริษัทจัดอันดับจะลดความน่าเชื่อถือของไทย?

จริงๆ แล้ว หากการคาดการณ์ของ กนง.ถูกต้อง (และของรัฐบาลต่ำเกินไป) การขยายตัวของจีดีพีที่สูงกว่าก็จะต้องช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้นกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 2.79 ล้านล้านบาท การคาดการณ์ดังกล่าวประเมินว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 14.62% ของจีดีพี

หากนำเอาสัดส่วนดังกล่าว มาคำนวณกับจีดีพีที่ กนง.คาดการณ์ รายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.84 ล้านล้านบาท กล่าวคือ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท

หากดูจากมุมมองนี้ ผมจึงไม่ได้กลัวปัญหาวินัยทางการคลัง แต่ที่ผมคิดว่า น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการคาดการณ์ของ กนง.ว่าจะถูกต้องมากน้อยเพียงใด เพราะในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อปรับตัวลงอย่างรุนแรงมากคือ
  • เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเท่ากับ 5% ลดลงมาเหลือเพียง 0.3% ในเดือนกันยายน
  • เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมกราคมเท่ากับ 3% ลดลงเหลือเพียง 0.6% ในเดือนกันยายน
  • แต่ธปท.คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นเป็น 2.4% และ 2.0% ในปี 2024
ประเด็นคือ การยืนยันของ ธปท.ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้กนง.เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเท่าตัวในปีนี้คือจาก 1.25% มาเป็น 2.5% เกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ประมาณ 0.50% เรื่องนี้ บวกกับการที่เงินเฟ้อลดลงอย่างมาก ทำให้ดอกเบี้ยจริงของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4-5%

ในช่วงที่ทุกๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาใหญ่ของคนไทยคือมีหนี้สินมาก (ๆ) กล่าวโดยสรุปคือ ผมไม่เคยเห็นธนาคารกลางของประเทศใด ปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในภาวะที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงอย่างรุนแรงจาก 5% เหลือไม่ถึง 0.5%

ที่สำคัญคือ นโยบายการเงินนั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจให้หลัง (impact lag) ประมาณ 6-9 เดือน แปลว่านโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นอย่างมากในปีนี้ จะส่งผลในการกดเศรษฐกิจลงประมาณกลางปีหน้าที่ Digital Wallet คลอดออกมา

หาก Digital Wallet ถูกสกัดกั้นสำเร็จ และจีดีพีไม่ได้ขยายตัวอย่างที่ กนง.คาดการณ์ ต้องถามว่า วันนั้นประชาชนจะโทษใคร?

หลายคนคงจะไม่ไป กล่าวโทษ ธปท. เพราะมีความน่าเชื่อถือสูง และแม้ว่า ธปท.อาจต้องประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ (เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.25% เป็น 2.5% ได้ทำให้ธปท.มี “policy space” ตามที่ต้องการ) ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และจะไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้
โพสต์โพสต์