20 ปี Money Pro/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

20 ปี Money Pro/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ “ผู้ลงทุนโลก” หรือ World Investor Week 2023 ซึ่งสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก หรือ World Federation of Exchanges ได้กำหนดให้มีการรณรงค์เรื่องของ “การให้ความรู้ทางการเงิน” (Financial Literacy)

จริงๆแล้วคำว่า Financial Literacy มีความหมายมากกว่า ความรู้ทางการเงินอย่างเดียว เหมือนกับการรู้หนังสือ ที่เราใช้ว่า Literacy ภาษาไทยเราใช้แทนด้วยคำว่า “รู้หนังสือ” หรือ “อ่านออกเขียนได้” ซึ่งหมายถึงรู้และเข้าใจ เพื่อที่จะเอาไปใช้ในชีวิตด้วย

ความรู้ทางการเงินก็เหมือนกันค่ะ ถ้าจะให้จัดว่ารู้หรือไม่รู้ ต้องแบ่งกันด้วยความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้ และทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันทั้งนั้น จึงหวังว่าต่อจากนี้ไป ประเทศไทยจะเอาจริงเอาจังกับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและเยาวชน และอยากฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า วิชาการเงินส่วนบุคคล ควรเป็นหลักสูตรภาคบังคับในโรงเรียนได้แล้วค่ะ

นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นสัปดาห์ครบรอบ 20 ปีของการเกิดขึ้นของคอลัมน์นี้ ชื่อ Money Pro มาจากกองบรรณาธิการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการให้มีเรื่องการเงินที่คนทั่วๆไปเข้าถึง อ่านง่าย หลายๆท่านในกองบรรณาธิการ ได้กลายเป็นลูกค้าซื้อกองทุนรวมครั้งแรกกับบริษัทจัดการลงทุนที่ดิฉันทำงานอยู่ หลายท่านต้องอ่านบทความของดิฉันเพื่อทำการแก้ไขให้บทความราบรื่นขึ้น อ่านไปอ่านมา ก็จัดการการเงิน เก็บออมเงิน บริหารเงิน จนมีความมั่นคง และมั่งคั่งทางการเงินจนทุกวันนี้

เมื่อ 20-30 ปีก่อน ความรู้ทางการเงินยังไม่แพร่หลาย ศัพท์ทางการเงินก็นิยมใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และคนในแวดวงการเงินยังมีศัพท์แสงของตัวเองเยอะมาก คนทั่วไปจึงรู้สึกว่า การเงินเป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าใจ และพลอยไม่สนใจไปด้วย การเกิดคอลัมน์ที่คนอ่านเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันนี้ ดิฉันดีใจว่า มีผู้สนใจการเงินมากขึ้น เกิดมีคอลัมน์ มีรายการวิทยุ มีรายการโทรทัศน์ มีพอดคาสต์ มีช่องยูทูป เกี่ยวกับการเงินเพื่อให้ความรู้กับทุกๆคน เยอะมากทีเดียว

แต่เดิมดิฉันเขียนสัปดาห์เว้นสัปดาห์ แต่แล้วท่านอื่นที่เขียนสลับเกิดไม่สามารถเขียนต่อได้ ดิฉันจึงเขียนทุกๆสัปดาห์อยู่ช่วงหนึ่ง สรุปรวมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ดิฉันเขียนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600 บทความ ได้นำบทความเฉพาะที่ไม่ได้เกี่ยวกับสถานการณ์ขณะใดขณะหนึ่ง รวบรวมเป็นเล่มได้ 7 เล่ม

การเป็นนักเขียนมีทั้งข้อดีและข้อเสียค่ะ ข้อเสียคือ ทำให้เรากังวล ว่าจะเขียนอะไร โดยเฉพาะการลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน หัวข้อต้องสด ต้องอยู่ในความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งก่อนเขียน เราต้องใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆพอสมควร และดิฉันไม่สามารถเขียนตุนเอาไว้ล่วงหน้าได้นานนัก ดังนั้นปีแรกๆ ดิฉันแทบไม่ได้ไปงานเลี้ยงในคืนวันศุกร์ เพราะต้องส่งบทความก่อนเที่ยงวันเสาร์ นอกจากนี้ หากดิฉันจะต้องเดินทางไปต่างประเทศนานและคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาส่งบทความ ดิฉันมักจะใช้วิธีแนะนำหนังสือดีๆ ซึ่งสามารถเขียนไว้ล่วงหน้าได้ ไม่น่าเกลียดแต่ประการใด

แต่พอมาถึงยุคที่คนไม่ค่อยอ่านหนังสือกันแล้ว การเขียนแนะนำหนังสือก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ดิฉันจึงมีการเขียนหัวข้อที่มาจากประสบการณ์แทน ซึ่งก็ทำให้เอาตัวรอดไปได้ และพบว่าคนจะชอบอ่านประสบการณ์และข้อคิดมากพอสมควรทีเดียว มีกดไลค์กดแชร์มากกว่าเรื่องที่เขียนจากข้อมูลสถิติ หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ที่นำมาใช้เป็นบทเรียนในบทความ

ส่วนข้อดีของการเขียนคอลัมน์คือ เราสามารถบันทึกความรู้สึกนึกคิดของเราในช่วงเวลาต่างๆไว้ได้ เมื่อกลับมาอ่าน หลายครั้งที่รู้สึกดี และนอกจากนั้น ตั้งแต่เริ่มเขียนบทความลงในคอลัมน์ Money Pro นี้ ไปไหนมาไหนก็มีคนทักทาย บางครั้งชวนสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อที่เราเขียน ทำให้ได้มุมมองและข้อคิดเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นอีก

ผู้อ่านหลายท่านเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เป็นผู้นำองค์กร เป็นระดับปรมาจารย์ ท่านก็อ่านบทความของดิฉัน และหลายท่านกรุณาให้คำชมเชย ซึ่งคำชมเชยจากท่านเหล่านี้ทำให้หัวใจพองฟูค่ะ ผู้ใหญ่บางท่านบอกดิฉันว่า บางตอนเขียนได้ถูกใจ ท่านส่งไปเวียนให้พนักงานอ่านทั้งบริษัทเลย เมื่อคราวที่ได้พบกับอดีตผู้บังคับบัญชาซึ่งทุกคนเกรงกลัว และท่านตำแหน่งใหญ่มากตอนที่ดิฉันเริ่มเข้าทำงานเป็นพนักงานตัวเล็กๆ ท่านแจ้งว่าเป็นแฟนคอลัมน์ ติดตามอ่านเป็นประจำและกล่าวชมเชย จนดิฉันปลื้มใจ แทบจะอิ่มคำชมไปทั้งวัน

ข้อคิดเห็นที่สะท้อนกลับมาแล้วปลื้มใจอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่นำแนวทางไปใช้ ไปทำ และประสบความสำเร็จ มีความมั่นคงในชีวิตค่ะ พอมีโลกโซเชียล แฟนๆคอลัมน์กลุ่มนี้ส่งข้อความส่วนตัวมาขอบคุณและเล่าเรื่องของตัวเองมาให้รับทราบบ้าง ขอยกตัวอย่างบางรายนะคะ

“อ่านติดตามบทความ และทำตามที่แนะนำตลอดตนตอนนี้เกษียณได้ก่อนกำหนด 5 ปีค่ะ”
“หนูซื้อหนังสือเงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงินอ่านตั้งแต่จบปริญญาตรี ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด 10 ปีผ่านไป ชีวิตหนูมั่นคงแล้ว ขอบคุณมากค่ะ”
“น้องช่วยเปิดโลกทัศน์ให้พี่ได้รู้จักการลงทุนหลากหลายและแบ่งสัดส่วนตามอายุ พี่ก็ค่อยๆทำตาม ก็นับว่าดีค่ะ พี่เป็นข้าราชการ เงินเดือนน้อย ก็ใช้แต่รายได้พิเศษมาซื้อหุ้น ขาดทุนก็ไม่กระเทือนวิถีชีวิต อย่างไรก็ตาม การลงทุน การอ่านหนังสือ ช่วยเรื่องโลกทัศน์ และ mindset ของเรา หุ้นตกก็ไม่ต้องวิตกอะไร ตกได้เดี๋ยวก็ขึ้นได้ (หากลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี) การลงทุนช่วยให้เราใช้เงินได้สบายขึ้นกว่าการใช้เงินเดือนหรือใช้บำนาญเพียงอย่างเดียวค่ะ ขอบคุณความรู้ที่น้องส่งผ่านมาถึงพวกเราและคนรุ่นใหม่ค่ะ”

ป.ล. ขอแก้ข่าวในโลกโซเชียล ผู้ทำหลักสูตรเงินทองของมีค่า คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจัดทำในสมัยที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้จัดการตลาด ส่วนดิฉันเป็นกรรมการตลาดฯในยุคนั้น หลายท่านฟังไม่ดีแล้วนำไปโพสต์ต่อ ทำให้ข้อมูลผิดไป
โพสต์โพสต์