สรุปหนังสือ "กุญแจอ่านงบการเงิน" สำหรับนักลงทุนหุ้น [PART 1]

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Introverted investor
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 117
ผู้ติดตาม: 270

สรุปหนังสือ "กุญแจอ่านงบการเงิน" สำหรับนักลงทุนหุ้น [PART 1]

โพสต์ที่ 1

โพสต์

noname.png
💲“ราคาหุ้นจะสัมพันธ์กับผลประกอบการของกิจการเสมอในระยะยาว” งบการเงินเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์อนาคตได้ทั้งหมด แต่เพียงพอที่จะคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้🔓
...........................................
🟢 3 สิ่งที่ต้องรู้จากการอ่านงบการเงิน คือ
...
☑ กิจการทำมาหากินเก่งไหม? (ทำกำไรดี มีแนวโน้มพัฒนาขึ้นจากปีก่อนๆ)
☑ กิจการมีความแข็งแกร่งไหม? (มีหนี้สินเยอะรึเปล่า มีความพร้อมในการขยายธุรกิจไหม)
☑ ภาพจริงของกิจการเป็นอย่างไร? (รู้สถานการณ์และแนวโน้มของกิจการในอนาคต)
...
⚠ ลงทุนในบริษัทที่เราเข้าใจเท่านั้น หากอ่านงบการเงินบริษัทใดแล้วยาก ไม่เข้าใจ ให้หลีกเลี่ยง
...........................................
🟢"ส่วนประกอบของงบการเงิน มี 5 ส่วน"
...
✴ งบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) : ทราบถึงสถานะของกิจการ (สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของเจ้าของ)
✴ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ : ทราบถึงผลการดำเนินงาน (รายได้ – รายจ่าย = กำไร)
✴ งบกระแสเงินสด : ทราบถึงเงินสดที่หมุนเวียนจากกิจกรรมดำเนินงาน ลงทุน และการจัดหา
✴ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ
✴ หมายเหตุประกอบงบการเงิน : รายละเอียดเพิ่มเติม เกณฑ์การจัดทำงบการเงิน
...........................................
1⃣ งบแสดงฐานะทางการเงิน (Statement of Financial Position)
...
▶ สินทรัพย์รวม
▪ สินทรัพย์รวม = หนี้สินรวม+ส่วนของผู้ถือหุ้น
▪ ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
...
▶ ลูกหนี้การค้า
▪ เปรียบเทียบระหว่างงวดนี้กับงวดที่แล้ว หากตัวเลขใกล้เคียงกันถือว่าปกติ หากตัวเลขแตกต่างกันอย่างมีนัยยะให้หาสาเหตุเพิ่มเติม (มีลูกหนี้การค้ามากกว่าปกติก็ไม่ดี เสี่ยงต่อการเก็บหนี้ไม่ได้ ทำให้ขาดสภาพคล่อง)
▪ หากมีลูกหนี้การค้าเยอะ แต่ก็มีเจ้าหนี้การค้าเยอะด้วยเช่นกัน อาจไม่น่ากลัว (ตรวจสอบเพิ่ม) แสดงว่าบริษัทมีอำนาจต่อรองสูง
▪ ตรวจสอบอายุของลูกหนี้การค้า หากมีลูกหนี้การค้าเกินกำหนดชำระไม่เกิน 3 เดือนมากเกินไปต้องเริ่มระวัง (ตรวจสอบได้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน)
▪ มูลค่าลูกหนี้การค้าที่เก็บเงินไม่ได้จะถูกตั้งสำรองเป็นหนี้สูญ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน ทำให้งบออกมาแย่ กำไรน้อยลงกว่าปกติ
▪ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ควรจะไม่เกิน 3 เดือน หากบริษัทมีลูกหนี้การค้าส่วนใหญ่อายุเกิน 12 เดือนถือว่าไม่ดี ขายของเก็บเงินไม่ได้
▪ ลูกหนี้การค้าที่อายุเกิน 12 เดือน ควรถูกตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมด
...
▶ สินค้าคงเหลือ
▪ เปรียบเทียบระหว่างงวดนี้กับงวดที่แล้ว หากเปลี่ยนแปลงเกิน 10% มีนัยยะต้องตรวจสอบ (ปกติสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นจะสัมพันธ์กับยอดขายที่เพิ่มขึ้น) หากมีสินค้าคงเหลือมากกว่าปกติแสดงว่าขายสินค้าได้น้อยลง
▪ ยอดขายเพิ่ม สินค้าคงเหลือเพิ่ม คือปกติ / ยอดขายนิ่งหรือลดลง แต่สินค้าคงเหลือเพิ่ม คือขายของไม่ได้
▪ สินค้าคงเหลือควรมีพอประมาณเพียงพอสำหรับการขาย
▪ สินค้าคงเหลือประเภทเทคโนโลยีจะล้าสมัยเร็ว ด้อยค่าเร็ว ขายได้ในราคาต่ำลง การด้อยค่าจะถูกบันทึกเป็นรายจ่ายในงบกำไรขาดทุน
...
▶ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
▪ เปรียบเทียบระหว่างงวดนี้กับงวดที่แล้ว หากเพิ่มขึ้นมากอาจแสดงว่ามีการลงทุนเพื่อขยายกิจการ จะมีสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น ดูได้จากยอดซื้อเพิ่ม ว่ามีอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง (ดูในหมายเหตุประกอบงบการเงิน)
▪ สินทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างติดตั้งจะยังไม่ถูกตัดค่าเสื่อมราคา แต่เมื่อมีการใช้งานสินทรัพย์นั้นแล้วจะถูกตัดค่าเสื่อมไปเรื่อยๆซึ่งถูกบันทึกเป็นรายจ่ายในงบกำไรขาดทุน
▪ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ในส่วนของที่ดินนั้นไม่ต้องคิดค่าเสื่อมราคา
▪ การพิจารณาว่ากิจการมีการเติบโตหรือขยายธุรกิจอยู่หรือไม่ ให้ดูการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนนี้ว่าในอดีตที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร
...
▶ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
▪ ค่าความนิยม (Goodwill) เกิดจากการที่บริษัทซื้อกิจการมาด้วยราคาที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรม เช่น บริษัท A มีมูลค่ายุติธรรม 1ล้านบาท แต่เป็นบริษัทที่ได้รับความนิยม ลูกค้าเยอะ เมื่อบริษัท B สนใจซื้อกิจการจึงยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับความฮิต ในราคา 5ล้านบาท เมื่อซื้อมาแล้วมาดูในงบแสดงฐานะทางการเงินจะถูกบันทึกว่า เงินสดหายไป 5 ล้านบาท / สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 1ล้านบาท / ค่าความนิยม 4ล้านบาท
▪ ค่าความนิยมที่เห็นในงบการเงินคือ มูลค่าที่บริษัทไปซื้อกิจการอื่นมาสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมเท่าไร ยิ่งมากก็คือยิ่งซื้อมาแพง ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ต้องไปวิเคราะห์ต่อเอง
...
▶ หนี้สิน
▪ หนี้สินหมุนเวียน+หนี้สินไม่หมุนเวียน = หนี้สินรวม
▪ กิจการที่มีหนี้สินมาก มีความเสี่ยงมาก ต้องทำมาหากินเพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น หากกิจการทำกำไรได้ไม่ดีพอก็อาจมีการเพิ่มทุนในอนาคต
▪ ตรวจสอบการตั้งสำรองหนี้สูญ (NPL) ควรใกล้เคียงเดิม หากเพิ่มขึ้นก็ควรเพิ่มตามสัดส่วนของรายได้
▪ ตรวจสอบความสัมพันธ์ของตัวเลข โดยปกติต้องเหลื่อมกัน เช่น ปล่อยหนี้ไปวันนี้ / NPL ก็จะไปเพิ่มสูงขึ้นในงบการเงินอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ไม่ใช่ปล่อยหนี้วันนี้ NPL ก็เพิ่มสูงขึ้นทันที ตรงนี้ต้องตรวจสอบ ไม่สมเหตุสมผล
...
▶ เจ้าหนี้การค้า
▪ เป็นหนี้สินที่ไม่มีดอกเบี้ย หากบริษัทยืดเวลาชำระหนี้ได้นานเท่าไร ก็เป็นประโยชน์ต่อกิจการได้ เพราะบริษัทไม่ต้องใช้เงินสดมากนัก ยิ่งถ้ากิจการมีความได้เปรียบกว่าคู่ค้า การมีเจ้าหนี้การค้ามากก็ไม่น่ากังวล
...
▶ เงินกู้ยืมระยะสั้น
▪ มักใช้หมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ไม่ควรนำไปลงทุนในโครงการระยะยาว เช่น สร้างโรงงาน ซึ่งอีกนานกว่าจะเกิดรายได้กลับมา ถือว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ หนี้สินระยะสั้นอาจมีมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายคืนก็ไม่น่ากังวล
▶ หนี้สินระยะยาว
▪ ต้องพิจารณาหนี้สินระยะยาวที่ใกล้ครบกำหนดชำระว่ามีมากหรือไม่ โดยเฉพาะกำหนดชำระภายใน1ปี ต้องมาดูว่าบริษัทมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ เอาแหล่งเงินจากไหนมาชำระคืน (ส่วนใหญ่จะเป็นการกู้เงินใหม่เพื่อมาจ่ายเงินกู้เก่า)
▶ ส่วนของเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น)
▪ ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี โดยที่มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วเท่าเดิมตลอดไม่เปลี่ยนแปลง
▪ ควรเติบโตมากกว่าปีละ 10% และมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว
▪ ส่วนของเจ้าของ หากมากกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด อาจแสดงว่าราคาหุ้นยังไม่แพง
▪ ส่วนของเจ้าของ = สินทรัพย์ – หนี้สิน
▪ ประกอบด้วยทุนเรือนหุ้น คือเงินลงทุนของเจ้าของกิจการ
▪ ทุนจดทะเบียน คือเงินทุนที่เจ้าของนำไปจดทะเบียนตั้งบริษัทตามกฎหมาย
▪ ทุนที่ออกและชำระแล้ว คือหุ้นและมูลค่าหุ้นที่นำออกจำหน่ายและเรียกชำระแล้ว
▪ ส่วนเกินมูลค่าหุ้น คือเงินค่าหุ้นส่วนที่สูงกว่าราคาพาร์ของหุ้นสามัญ หากกิจการมีการเพิ่มทุน หรือขายหุ้น IPO เงินส่วนที่ขายได้เกินมูลค่าราคาพาร์ คือส่วนเกินมูลค่าหุ้น
▪ ทุนจดทะเบียน (มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว) คือเงินที่เจ้าของใส่เข้าไปในบริษัท ถ้าจำนวนเท่าเดิมตลอดไม่เปลี่ยนแปลงจะดีมาก แสดงว่าบริษัทเติบโตได้ด้วยตัวธุรกิจเอง ไม่ต้องใส่เงินไปเพิ่ม
▪ ประกอบด้วยกำไรสะสม คือกำไรที่สะสมมาตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ ลดลงได้เมื่อจ่ายปันผล หรือกิจการขาดทุน
▪ กำไรสะสมจัดสรรแล้ว คือสะสมไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ เช่น สำรองตามกฎหมาย
▪ กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร คือคงเหลือจากที่จัดสรรแล้ว นำไปจ่ายเงินปันผลได้
▪ บริษัทที่จะจ่ายเงินปันผลได้ต้องมีกำไรสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการเท่านั้น
▪ บริษัทที่มีกำไรสะสมมาก แสดงว่าพื้นฐานกิจการดี มีโอกาสจ่ายปันผลในอัตราสูง
▪ ควรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี และนำไปลงทุนต่อเพื่อขยายกิจการ
...
✴ งบแสดงฐานะทางการเงิน ทำให้ทราบถึงจำนวนสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด ทำให้สามารถประเมินสภาพคล่องในการชำระหนี้ระยะสั้น / ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ / ประเมินความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินทุนว่ามาจากส่วนของเจ้าของหรือหนี้สินมากกว่ากัน / ทราบถึงโครงสร้างหนี้สินว่ามีมากน้อยเพียงใด
...........................................
2⃣ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (Statement of Comprehensive Income)
...
▶ รายได้รวม
▪ รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร (ขาดทุน)
▪ การนำเงินสดมาลงทุนเพิ่มของเจ้าของไม่ถือเป็นรายได้
...
▶รายได้จากการขายและการให้บริการ (รายได้หลัก)
▪ ธุรกิจที่ดีรายได้หลักควรต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
▪ หากรายได้ไม่โตเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะตามมา
...
▶ รายได้อื่น (รายได้พิเศษ)
▪ เช่น การขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งาน ที่ดิน อุปกรณ์ เงินลงทุน
▪ ไม่ควรให้น้ำหนักกับส่วนนี้มากนัก เพราะมีความไม่แน่นอน การคำนวณอัตราการเติบโตของรายได้รวมควรตัดรายได้พิเศษทิ้งไป
▪ รายได้รวม ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สม่ำเสมอ
▪ เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ควรเติบโตปีละ 7-8% ขึ้นไป
▪ รายได้ควรเติบโตมากกว่าต้นทุนขาย (เปรียบเทียบ YoY)
▪ รายได้ควรเติบโตมากกว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (เปรียบเทียบ YoY)
▪ รายได้ควรเติบโตมากกว่าลูกหนี้การค้า (เปรียบเทียบ YoY)
▪ <5% โตช้า / >7-10% แข็งแกร่ง / >15-20% โตเร็ว
▪ ควรเติบโตขึ้นทั้งปีต่อปี (YoY) และ ไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ)
▪ วิเคราะห์โดยการตัดรายได้อื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออก และตัดรายการพิเศษที่ไม่ใช่รายได้ประจำ
▪ ควรต้องรู้ว่าบริษัทมีรายได้ชนิดใดบ้าง รายได้มาจากไหน และรายได้เพิ่มหรือลดเพราะเหตุใด
...
▶ ค่าใช้จ่าย
▪ ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง การจ่ายปันผลไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย
...
▶ ต้นทุนขายและการให้บริการ
▪ มักเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของยอดขาย (รายได้)
▪ ควรเติบโตน้อยกว่ารายได้รวม (YoY)
▪ หากสัดส่วนต้นทุนต่อยอดขายลดลงถือว่าดี แสดงถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุน และการได้เปรียบจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
...
▶ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A)
▪ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าคอมมิชชั่น เงินเดือนฝ่ายบริหาร ค่าโฆษณา ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ หนี้สูญ
▪ มักเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของยอดขาย (รายได้)
▪ ควรเติบโตน้อยกว่ารายได้รวม (YoY)
▪ ตัวเลขยิ่งต่ำยิ่งดี
▪ หากสัดส่วนค่าใช้จ่ายนี้ต่อยอดขายลดลงถือว่าดี แสดงถึงความสามารถในการบริหาร
▪ หากมีการตั้งสำรองต่างๆ เช่น หนี้สูญ การด้อยค่าสินค้าคงเหลือ บางครั้งก็แยก แต่บางครั้งก็นำมารวมอยู่ในส่วนนี้ หากอ่านงบแล้วเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้นมาก ต้องไปตรวจสอบต่อว่ามีรายการพิเศษพวกการตั้งสำรองรวมอยู่ด้วยมากน้อยแค่ไหน (ดูในงบกระแสเงินสด)
...
▶ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย
▪ คือค่าใช้จ่ายที่ตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ถาวรที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เป็นเงินสดปัจจุบัน แต่เนื่องจากสินทรัพย์มีราคาสูง อายุการใช้งานยาวนาน ถ้านำมาบันทึกทีเดียวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมากในงวดบัญชีนั้น จึงใช้วิธีตัดจ่ายเฉลี่ยไปเรื่อยๆทุกๆงวดจนครบมูลค่า
▪ การตัดค่าเสื่อมราคาในแต่ละงวดถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด เพราะจ่ายไปหมดแล้วตั้งแต่งวดแรก บริษัทไม่ต้องจ่ายอีกต่อไปแล้ว เป็นการบันทึกทางบัญชีเท่านั้น
▪ ที่ดินไม่มีการคิดค่าเสื่อมราคา
▪ งานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง/ติดตั้ง จะยังไม่คิดค่าเสื่อม จนกว่าจะพร้อมใช้งานจึงค่อยตัดค่าเสื่อมไปเรื่อยๆตามปกติ
▪ วิธีคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง (มีหลายวิธี แต่วิธีนี้นิยมมากที่สุด) คือ ค่าเสื่อมราคาต่อปี = (ราคาทุน – มูลค่าคงเหลือ) / อายุการใช้งาน (ปี)
▪ เป็นการตัดค่าเสื่อมราคาเท่าๆกันทุกปีตลอดอายุการใช้งาน
▪ มูลค่าคงเหลือ = เมื่อสิ้นสุดการใช้งานจะขายทิ้งได้กี่บาท (ราคาซาก)
▪ ดูวิธีคิดค่าเสื่อมราคาแต่ละบริษัทได้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน นโยบายที่ต่างกันจะทำให้กำไรสุทธิต่างกันไปด้วย
▪ ค่าตัดจำหน่าย
▪ หลักการเดียวกับค่าเสื่อมราคา แต่ใช้กับสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น โปรแกรม ลิขสิทธิ์ สัมปทาน
...
▶ กำไรขั้นต้น (Gross Profit)
▪ กำไรขั้นต้น = รายได้จากการขาย – ต้นทุนขาย
▪ บอกความสามารถในการควบคุมต้นทุน ถ้ากิจการมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า จะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้
▪ บอกการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีการแข่งขันกันรุนแรง กำไรขั้นต้นจะค่อนข้างสูง และผันผวนน้อย
▪ ลักษณะที่ดีคือ กำไรขั้นต้นต้องเพิ่มขึ้นตามรายได้ NPM มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
▪ กิจการที่มีกำไร บริษัทจะโตขึ้นเรื่อยๆ มูลค่ากิจการเพิ่มมากขึ้น สินทรัพย์ (เงินสด) เพิ่มขึ้น ส่วนของผู้ถือหุ้น (กำไรสะสม) เพิ่มขึ้น
▪ ถ้ากำไรขั้นต้นขึ้นลงไม่แน่นอนจะเป็นหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock)
...
▶ EBITDA (Earnings Before Interest Tax Depreciation & Amortization)
▪ ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
▪ คือ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
▪ EBITDA = กำไรก่อนภาษี + ดอกเบี้ย + ค่าเสื่อมราคา
▪ ดูได้จากสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน (Set)
▪ ใช้เปรียบเทียบความสามารถในการทำกำไรของบริษัท บนพื้นฐานที่ปรับให้เท่าเทียมกัน
▪ ใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างบริษัท หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่างกัน โดยคำนวณเฉพาะรายได้-รายจ่ายจากการดำเนินงานจริง ทำให้สะท้อนกำไรที่เป็นเงินสดได้ดีกว่า
▪ ธุรกิจที่ขาดทุนอาจเป็นเพราะมีการตัดค่าเสื่อมราคามาก แม้จะขาดทุนแต่ไม่ได้แปลว่ากระแสเงินสดจากธุรกิจจะแย่เสมอไป
...
▶ กำไรสุทธิ (Net Profit)
▪ กำไรสุทธิ = รายได้รวม – ต้นทุนขายและบริการ – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร – ดอกเบี้ยจ่าย – ภาษี
▪ กำไรสุทธิควรเติบโตมากกว่ารายได้รวม (เปรียบเทียบ YoY)
...
▶ กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
▪ กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ = กำไรสุทธิ (+/-) กำไรขาดทุนอื่น
▪ คือรายได้/รายจ่ายที่เกิดจากการตีมูลค่าใหม่ของสินทรัพย์และหนี้สิน หรือการปรับปรุง/จัดประเภทรายการใหม่ ที่ไม่อนุญาตให้รับรู้ในงบกำไรขาดทุนปกติ
▪ มักเป็นประมาณการ ยังไม่เกิดขึ้นจริง อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น เงินลงทุนหุ้น
▪ จะไม่นำมาคำนวณกำไรต่อหุ้น (EPS)
▪ ดูผ่านๆก็พอ ยกเว้นจะมีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ ค่อยไปตรวจสอบ
...
▶ กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS )
▪ กำไรสุทธิ / จำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว = (บาท)
▪ ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี (เฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ควรเติบโตปีละ 10% ขึ้นไป)
▪ ควรมีค่าตัวเลขใกล้เคียง CFO/S
▪ <7% โตช้า / 7-15% โตปานกลาง / >15% โตเร็ว
▪ ใช้เปรียบเทียบกับตัวกิจการเองย้อนหลังในอดีต ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นได้
...
✴ งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ทำให้ทราบถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่ง รายได้ ค่าใช้จ่าย สุทธิแล้วมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร / ทราบถึง GPM, NPM แสดงที่ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความสามารถของผู้บริหาร / กำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกำไรสะสม ใช้คาดการณ์เงินปันผลที่จะได้รับ / แสดงภาระดอกเบี้ย / วิเคราะห์แนวโน้มของกิจการเพื่อวางแผนธุรกิจในอนาคต
...........................................
📌📌ยาวเหลือเกิน ไม่สามารถจบบริบูรณ์ในโพสต์เดียวได้ เดี๋ยวจะเบื่อกันเสียก่อน ไว้มาต่อกันคราวหน้า ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ ราตรีสวัสดิ์ 🙂
......
🔗ขอขอบคุณส่วนหนึ่งจากหนังสือ "กุญแจอ่านงบการเงิน" กุญแจไขรหัสลับวิธีการอ่านงบการเงินที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นให้สามารถจับจุดวิธีการอ่านงบการเงินทีละขั้นตอน
ผู้เขียน : เอิญ สุริยะฉาย (Mr.LikeStock)
Try to be : Full Time Investor, Reader, Writer, Learner & Cultural observer.
......................................
I have a passion for keeping things simple.
......................................
https://www.facebook.com/Introverted.investor
โพสต์โพสต์