📊"อัตราส่วนทางการเงินควรรู้ สำหรับนักลงทุนหุ้นมือใหม่"📈

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Introverted investor
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 117
ผู้ติดตาม: 270

📊"อัตราส่วนทางการเงินควรรู้ สำหรับนักลงทุนหุ้นมือใหม่"📈

โพสต์ที่ 1

โพสต์

dd.png
............................................................

อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) ใช้สำหรับวิเคราะห์รายงานทางการเงินเพื่อเปรียบเทียบกับตัวกิจการเองในอดีต (ความเปลี่ยนแปลง) บริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน (ความสามารถในการแข่งขัน) หรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ใช้เปรียบเทียบกับเป้าหมายทางธุรกิจของผู้บริหารว่าเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
...................

การคำนวณอัตราส่วนทางการเงินนั้นควรตัดรายการพิเศษและการตั้งสำรองต่างๆออกไปก่อน เหตุเพราะอาจทำให้ได้ค่าตัวเลขที่ผิดเพี้ยนไปจากสถานการณ์ปกติ สิ่งสำคัญคือไม่ควรเปรียบเทียบตัวเลขข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีลักษณะธุรกิจแตกต่างกัน และต้องวิเคราะห์กิจการเชิงคุณภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าลงทุนด้วย
...................

🟢 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)

#⃣ [สูตรคำนวณ] : สินทรัพย์หมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
⚠ควรมากกว่า 1-2 เท่า

🔹แสดงว่าบริษัทมีสภาพคล่องดี เพราะมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนที่บริษัทต้องชำระภายใน 1 ปี มีเงินพอจ่ายหนี้ระยะสั้นทั้งหมดในปีนั้นๆ สำหรับธุรกิจค้าปลีกอาจมีอัตราส่วนนี้สูง เพราะมีเจ้าหนี้การค้าเยอะซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจ แต่มีระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้นาน ให้ใช้วงจรเงินสด (Cash Cycle) ในการวิเคราะห์

🔹หนี้สินหมุนเวียน : หนี้ที่ต้องชำระคืนภายใน 1 ปี
🔹สินทรัพย์หมุนเวียน : สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี
🔹ธุรกิจที่ต้องลงทุนในตึก อาคาร มักจะมีค่าต่ำกว่าธุรกิจที่ดำเนินการด้วยการเช่าพื้นที่เสมอ
........

◼Quick Ratio
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน
⚠ควรมีค่ามาก
............................................................

🟢 อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio : P/E)

#⃣ [สูตรคำนวณ] : ราคาต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น
⚠ควรน้อยกว่า 10 เท่า ใช้กับธุรกิจขนาดเล็ก Market Cap < 10,000 ล้านบาท
⚠ควรน้อยกว่า 15 เท่า ใช้กับธุรกิจขนาดกลาง Market Cap < 50,000 ล้านบาท
⚠ควรน้อยกว่า 20 เท่า ใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ Market Cap > 50,000 ล้านบาท
🔹แสดงให้เห็นว่าหากเราเข้าซื้อหุ้นบริษัท ณ ราคาตลาดตอนนี้ จะคืนทุนในระยะเวลากี่ปี กรณีที่บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรได้เท่าเดิมทุกปี
🔹ควรน้อยกว่า ROE
🔹ควรน้อยกว่า ค่าเฉลี่ย P/E กลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน น้อยกว่า SET และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของหุ้นตัวนั้นๆ
🔹เพื่อความแม่นยำอาจใช้กำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังในการคำนวณ P/E บริษัทที่มีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานสูง มักจะมี P/E สูงกว่า
🔹ควรให้ความสำคัญกับ Forward P/E (อนาคต) คือความสามารถ ความต่อเนื่องของกำไรบริษัท (เคยฟังเซียนฮงพูดว่าเขาชอบ Forward P/E < 15 เท่า)
............................................................

🟢 อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Price to Cash flow operation ratio: P/CFO)

#⃣ [สูตรคำนวณ] : ราคาต่อหุ้น / กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
🔹เพื่อคัดกรองคุณภาพของกำไรสุทธิ
🔹แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีทัศนคติต่อบริษัทอย่างไร หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูงแสดงว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นบริษัทนี้สูงกว่าบริษัทอื่น
............................................................

🟢 อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหุ้น (Cash flow operation per Share : CFO/S)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน / จำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว
🔹เพื่อคัดกรองคุณภาพของกำไรสุทธิ
⚠ควรมีค่าตัวเลขใกล้เคียง EPS
............................................................

🟢 อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio : P/BV)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : ราคาต่อหุ้น / มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
⚠ควรน้อยกว่า 1.5 เท่า
🔹P/BV น้อยกว่า 1 เท่า มักแสดงความหมายว่าหากเราซื้อหุ้นบริษัท ณ ราคาตลาดตอนนี้ เสมือนว่าเราได้ต้นทุนกิจการที่ต่ำกว่าเจ้าของบริษัทลงทุนเมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัท
🔹มูลค่าทางบัญชีคือส่วนของผู้ถือหุ้นที่เราจะได้รับทันทีที่บริษัทเลิกกิจการ
🔹ไม่ควรใช้กับธุรกิจบริการที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย
🔹ควรน้อยกว่า ROE / 5
............................................................

🟢 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity Ratio : D/E)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
⚠ควรน้อยกว่า 1 – 1.5 เท่า
🔹แสดงว่าบริษัทมีภาระหนี้สินน้อย ความเสี่ยงต่ำ กิจการจัดหาเงินทุนด้วยหนี้น้อยกว่าส่วนของทุน สามารถกู้เงินเพิ่มได้ง่ายหากธุรกิจต้องการขยายกิจการ บางธุรกิจที่มีค่า D/E สูง อาจไม่ใช่หนี้สินที่มีดอกเบี้ยทั้งหมด ถ้าหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้าก็พอยอมรับได้ แต่ต้องพิจารณาความสามารถว่าบริษัทจะขายสินค้าแล้วได้เงินมาเพียงพอชำระเจ้าหนี้การค้าคืนหรือไม่ (พิจารณาหนี้สินว่ามีดอกเบี้ยไหม)
🔹หาก D/E สูง ลองนำหนี้สินรวมมาหักลบเจ้าหนี้การค้าออกก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณอีกที หรือใช้หนี้ระยะยาวมาคำนวณแทนหนี้สินรวม
🔹สถาบันการเงินจะมีค่า D/E สูงเป็นธรรมชาติของธุรกิจ เช่น ธนาคารจะบันทึกเงินฝากเป็นหนี้สินของบริษัท บริษัทประกันภัยจะนำเบี้ยรับรายปีไปลงทุนต่อ และธุรกิจสินเชื่อจะใช้เงินกู้มาปล่อยกู้ต่อแล้วกินส่วนต่างดอกเบี้ย ต้องวิเคราะห์ด้วยวิธีการอื่นๆประกอบ
............................................................

🟢 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin : GPM)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรขั้นต้น*100) / รายได้จากการขาย
⚠ควรมากกว่า 30%
🔹แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรของกิจการ และมีการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ดี มีความได้เปรียบในการแข่งขันภายในอุตสาหกรรม การตั้งราคาขาย
🔹กำไรขั้นต้น คือ รายได้จากการขาย หักลบ ต้นทุนขายและบริการ กำไรขั้นต้นควรมีค่าสูง และผันผวนน้อย แสดงว่ามีความสามารถในการจัดการ และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีการแข่งขันกันรุนแรง กำไรขั้นต้นต้องเพิ่มขึ้นตามรายได้ มีความผันผวนน้อย และ GPM ควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
🔹ไม่ควรเปรียบเทียบธุรกิจที่อยู่ต่างอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีกมักมีกำไรขั้นต้นที่ต่ำโดยธรรมชาติ แต่ด้วยการขายสินค้าปริมาณมาก อัตราหมุนเวียนสูงก็ทำให้กำไรดีได้เช่นกัน หากมีอัตราที่สูงกว่าทุกบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันแสดงว่าเป็นผู้นำตลาด ดีมาก
............................................................

🟢 อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin : NPM)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรสุทธิ*100) / รายได้รวม
⚠ควรมากกว่า 10%
🔹กำไรสุทธิควรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังควรเพิ่มขึ้นมากกว่า 3-5% ต่อปี พยายามหาบริษัทที่เราคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 20% แสดงว่าเป็นหุ้นเติบโต หากเป็นบริษัทที่ทำจุดสูงสุดใหม่ของกำไรยิ่งดี
🔹<5% โตช้า / >7-10% แข็งแกร่ง / >15-20% โตเร็ว
🔹แสดงถึงความสามารถในการทำกำไร และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆได้ดี กำไรสุทธิ คือ กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ดอกเบี้ย และภาษีแล้ว
🔹ควรตรวจสอบว่ามีกำไร/ค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเข้ามาหรือไม่ เพราะจะทำให้ NPM เพี้ยนไปจากสถานการณ์ปกติ และทำความเข้าใจลักษณะของธุรกิจด้วย ต้องรู้ว่ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น บริษัทนั้นเก่งในด้านการเพิ่มรายได้ หรือลดต้นทุน หรือทั้ง 2 ด้าน จากนั้นต้องรู้ด้วยว่าบริษัททำได้อย่างไร เพราะอะไร หากมีอัตราที่สูงกว่าทุกบริษัทในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันแสดงว่าเป็นผู้นำตลาด ดีมาก
............................................................

🟢 อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Assets : ROA)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี*100) / สินทรัพย์รวมเฉลี่ย
⚠ควรมากกว่า 10%
🔹แสดงว่าธุรกิจนั้นให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมสูง ใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
🔹EBIT (Earnings before Interest Tax) คือ กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จจะให้กำไรก่อนภาษี ซึ่งหักดอกเบี้ยออกไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องนำดอกเบี้ยมาบวกกลับเข้าไปด้วย
🔹ธรรมชาติของแต่ละธุรกิจมีความจำเป็นในการใช้สินทรัพย์ไม่เท่ากัน เช่นบริษัทปล่อยสินเชื่อจะใช้สินทรัพย์น้อยกว่าโรงงานผลิตสินค้า ทำให้มี ROA สูงกว่า การเปรียบเทียบข้ามบริษัทจึงต้องระมัดระวัง เพราะลักษณะของสินทรัพย์ไม่เหมือนกัน เหมาะกับการนำไปเปรียบเทียบบริษัทเดียวกันในอดีตแต่ละงวด เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการได้
............................................................

🟢 อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรสุทธิ*100) / ส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย
⚠ควรมากกว่า 15- 20% สม่ำเสมอติดต่อกันมามากกว่า 3 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี (ใช้ค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง) แสดงความสามารถในการทำกำไร อัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของกิจการจะได้รับ ให้ผลตอบแทนจากส่วนทุนสูง มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง
🔹ระวังบริษัท ROE สูงๆที่เกิดจากการมีหนี้สินมาก เพราะการกู้เงินมาลงทุนคือการ Leverage หรือส่วนของผู้ถือหุ้นมีแนวโน้มลดลง ต้องประเมินความเสี่ยงจากหนี้สินของกิจการควบคู่ไปด้วย
🔹ROE ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิ / ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนหมุนเวียนทรัพย์สิน / ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นอย่าเลือกหุ้นเพียงแค่ว่า ROE สูง ต้องดูโครงสร้างทางการเงินด้วย
🔹หลักการที่ดีคือ หนี้น้อย ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น และรักษาระดับ ROE ไว้ได้สม่ำเสมอ ถ้า ROE เพิ่มมากขึ้นยิ่งดี
(ด้านล่างนี้คือประเด็นเรื่อง ROE ที่คุณกวี ชูกิจเกษม เคยพูดเอาไว้)
🔹ROE ควรสูงกว่า P/E
🔹ROE ควรสูงกว่า WACC (ต้นทุนบริษัทเฉลี่ยระหว่างทุน-เงินกู้ ปกติจะอยู่ที่ 8 – 10%)
🔹อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่แท้จริง : Real ROE
#⃣ [สูตรคำนวณ] : จำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว*ราคาหุ้นต้นทุน = มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาทุน (บาท)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรสุทธิ*100) / มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาทุน = (%)
🔹กำไรสุทธิคิดเป็นกี่ % ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาทุน นั่นคือ ROE ที่แท้จริง
🔹ควรมากกว่า 15% เช่นกัน การคำนวณวิธีนี้จะให้ภาพจริงมากกว่า
............................................................

🟢 อัตราส่วนหมุนเวียนทรัพย์สิน (Assets Turnover Ratio : AT)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : รายได้รวม / สินทรัพย์รวม
⚠ควรมีค่ายิ่งสูงยิ่งดี
🔹แสดงถึงความสามารถของบริษัทในการสร้างรายได้จากทรัพย์สินทั้งหมดที่ลงทุนไป ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทั้งหมดที่กิจการมี ทำให้เห็นว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ได้ดีและคุ้มค่า ทำให้ความสามารถในการทำกำไรก็จะดีขึ้นตาม
🔹อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม เช่นโรงงานผลิตมักมีค่าสูง งานบริการมักมีค่าต่ำเพราะพึ่งพิงสินทรัพย์น้อยกว่า ค่าที่ต่ำอาจหมายถึงกิจการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ไม่เต็มที่ หรือต้องลงทุนสูงเพื่อดำเนินกิจการ
............................................................

🟢 อัตราส่วน P/E ต่ออัตราการเติบโตของกำไร (P/E to Growth Ratio : PEG)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : P/E Ratio / อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยต่อปี
⚠ควรน้อยกว่า 1 เท่า แต่ไม่ควรติดลบ
🔹หากมีค่า 1 เท่า แสดงว่าราคาหุ้นนั้นสะท้อนการเติบโตของกำไรต่อหุ้นได้เหมาะสมแล้ว / หากมากกว่า 1 เท่าก็มีความเป็นไปได้ว่าราคาหุ้นนั้นซื้อขายในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (ตลาดเชื่อว่าบริษัทจะเติบโตสูงกว่านี้ในอนาคต)
🔹หากน้อยกว่า 1 เท่า เป็นไปได้ว่าหุ้นบริษัททีราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น (ตลาดเชื่อว่าบริษัทนี้จะไม่เติบโต) ประมาณว่าถ้าลงทุนในบริษัทที่ PEG น้อยกว่า 1 เท่า และต่อมาบริษัทดีมาก เติบโตสูง ก็เสมือนเราได้พบหุ้นดีราคาถูกก่อนที่คนอื่นจะมาเจอนั่นเอง
🔹ใช้อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในการคำนวณ
🔹หากเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่ P/E สูง ก็ไม่ควรสูงกว่า PEG
............................................................

🟢 Enterprise Value per EBITDA : EV/EBITDA
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (จำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด*ราคาหุ้นปัจจุบัน) + หนี้สินรวม = Enterprise Value (บาท)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : กำไรก่อนหักดอกเบี้ย + ภาษี + ค่าเสื่อมราคา + ค่าตัดจำหน่าย =EBITDA (บาท)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : Enterprise Value / EBITDA = (เท่า)
⚠ควรน้อยกว่า 10 เท่า
🔹แสดงความถูกแพงของกิจการ จัดเป็นการประเมินมูลค่าแบบสัมพัทธ์ (Relative valuation) เป็นตัวเลขเชิงเปรียบเทียบ ใช้เปรียบเทียบคร่าวๆกับบริษัทอื่นว่าหุ้นบริษัทไหนถูกกว่ากัน คือ ค่าที่ได้น้อย ถูกกว่า ค่ามาก
🔹EBITDA = กำไรจากการดำเนินงาน + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
🔹เหมาะกับใช้ประเมินมูลค่าบริษัทที่ยังมีผลขาดทุน แต่ EBITDA เป็นบวก เหมาะกับอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเยอะ มีผลต่อกำไรมาก กลุ่มที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมาก เช่น โทรคมนาคม โรงแรม โรงพยาบาล สนามบิน เหมาะกับใช้ประเมินมูลค่ากิจการที่กำลังอยู่ใกล้ช่วงจุดคุ้มทุน (Breakeven Point)
............................................................

🟢 วงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระหนี้
⚠ควรมีค่าน้อยกว่า 120 วัน / มีระยะเวลาที่สั้น
🔹เสมือนว่านำเงินของเจ้าหนี้มาหมุนในกิจการก่อนได้ เช่น ซื้อวัตถุดิบมาแต่ยังไม่ต้องจ่ายเงิน นำมาผลิต ขาย เก็บเงินลูกค้า ได้เงินเร็วเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่ต้องชำระหนี้ ทำให้มีเงินสดหมุนเวียนในกิจการ มีสภาพคล่องที่ดี
🔹วงจรเงินสดที่ดี
▪ลดระยะเวลาขาย - ให้สั้นที่สุด แสดงว่ามีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี
▪ลดระยะเวลาเก็บหนี้ - ให้สั้นที่สุด ให้เครดิตเทอมแก่ลูกค้าให้สั้นลง
▪ยืดระยะเวลาชำระหนี้ - ให้นานที่สุด แสดงถึงการอำนาจต่อรองกับ Supplier
◾ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (วัน)
🔹อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า (Account Receivable Turnover Ratio)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : รายได้จากการขาย / ลูกหนี้การค้าเฉลี่ย
🔹เฉลี่ย คือ (ต้นงวด + ปลายงวด) / 2
🔹ควรมีค่ามาก แสดงถึงจำนวนครั้งที่เก็บเงินได้มาก
◾ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (Average Collection Period)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : 365 / อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า = (วัน)
🔹ควรมีค่าน้อย แสดงถึงกิจการเก็บหนี้ได้เร็ว
◾ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (วัน)
🔹อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (เท่า)
🔹ควรมีค่ามาก แสดงถึงจำนวนครั้งที่ขายสินค้าได้มาก
◾ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย (Average Inventory Period)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : 365 / อัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ
🔹ควรมีค่าน้อย แสดงว่ากิจการสามารถขายสินค้าได้เร็ว ไม่จำเป็นต้องสต็อกสินค้าไว้ขายมากเกินไป
◾ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (วัน)
🔹อัตราส่วนหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า (Account Payable Turnover Ratio)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : ต้นทุนขาย / เจ้าหนี้การค้าเฉลี่ย = (เท่า)
🔹ควรมีค่าน้อย แสดงถึงจำนวนครั้งที่ชำระเงินเจ้าหนี้การค้า บริษัทได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้ค่อนข้างนาน จึงมีเจ้าหนี้การค้าในงบแสดงฐานะการเงินเยอะ
◾ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า (Average Payment Period)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : 365 / อัตราส่วนหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า
🔹ควรมีค่ามาก แสดงว่ากิจการสามารถยืดระยะเวลาการชำระหนี้ได้นาน (วัน) มีเงินสดเหลือในบริษัท สภาพคล่องดี มีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้สูง กิจการมีความได้เปรียบคู่ค้า
............................................................

🟢 อัตราส่วนเงินปันผลต่อปี (Dividend Yield)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (รวมเงินปันผลปีล่าสุด*100) หาร ราคาหุ้นต้นทุน
⚠ควรมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ คือมากกว่า 4-5% ต่อปีขึ้นไปถือว่าดี
🔹ต้องสม่ำเสมอ ไม่ผันผวน ตรวจสอบค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง หากได้ 7-8% ต่อปีอย่างสม่ำเสมอ แทบไม่ต้องสนใจความผันผวนของราคาหุ้น
🔹จ่ายปันผลต่อเนื่องทุกปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เงินปันผลที่ดีต้องมาจากกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน
🔹มีนโยบายจ่ายปันผลมากกว่า 50% จากกำไรสุทธิ : Payout Ratio (เงินปันผลทั้งหมดปีล่าสุด x 100) หาร กำไรต่อหุ้น = (%)
🔹หากได้ตัวเลขเกิน 100% ให้ระวังว่าบริษัทอาจไปกู้เงินหรือเพิ่มทุนเพื่อมาจ่ายปันผล ซึ่งไม่ดี หากนานๆทียังพอรับได้
............................................................

🟢 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหาร ต่อรายได้รวม
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (ค่าใช้จ่ายจากการขายและบริหาร*100) / รายได้รวม
⚠ควรมีค่าน้อยที่สุด น้อยกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน
🔹มีค่าสม่ำเสมอ ไม่ผันผวน ถ้าลดลงต่อเนื่องยิ่งดี ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น ค่าโฆษณา / ค่าขนส่ง / ค่าจ้างพนักงาน ควรน้อยแต่มีประสิทธิภาพ
............................................................

🟢 อัตราส่วนภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ต่อกำไร
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย*100) / กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี
⚠ควรมีค่าน้อยที่สุด สม่ำเสมอ หรือลดลงต่อเนื่อง ถ้าไม่มีได้ค่าเป็น 0 เลยยิ่งดี
............................................................

🟢 อัตราส่วนคุณภาพของกำไร (Quality of Earning)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน / กำไรสุทธิ
⚠ควรมากกว่า 1.5 เท่า ตัวเลขขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละธุรกิจ ซึ่งควรสม่ำเสมอ ไม่ผันผวน
............................................................

🟢 อัตราส่วนทรัพย์สินหมุนเวียนสุทธิต่อหุ้น (Net Current Asset Value per Share : NCAV)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (ทรัพย์สินหมุนเวียน – หนี้สินรวม) / จำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว = (บาท)
🔹ควรมากกว่าราคาหุ้นในตลาด ณ ปัจจุบัน หากราคาหุ้นในตลาด ณ ปัจจุบันน้อยกว่าค่านี้อาจแปลว่าหุ้นยังมีราคาถูก หากราคาหุ้นต่ำกว่า 30% ขึ้นไปอาจแปลว่าถูกมาก มีความปลอดภัย
🔹แสดงให้เห็นว่าต่อ 1 หุ้นมีสัดส่วนเป็นทรัพย์สินสภาพคล่องกี่บาท (เงินสด สินค้าคงเหลือ เงินลงทุนระยะสั้น)
............................................................

🟢 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (Return on Invested Capital : ROIC)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (กำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี*100) / (ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินระยะยาว)
⚠ควรมากกว่า 15% ควรมีค่าสม่ำเสมอ ไม่ผันผวน หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมากกว่า WACC
............................................................

🟢 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital : NWC)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : ทรัพย์สินหมุนเวียน / หนี้สินหมุนเวียน
🔹ดูว่าบริษัทมีเงินเหลือในการนำไปต่อยอดทำธุรกิจเพื่อสร้างรายได้มากน้อยแค่ไหน หากมีค่าน้อยก็เสี่ยงมากที่บริษัทจะดำเนินธุรกิจต่อไม่ได้เพราะไม่มีเงิน และอาจต้องสร้างหนี้
🔹ควรมีค่ามาก มีแนวโน้มคงที่หรือเพิ่มขึ้น
............................................................

🟢 Expect Value (ใช้ประกอบการประเมินมูลค่าหุ้น และตัดสินใจลงทุน ส่วนนี้เคยอ่านมาจากหนังสือของเซียนฮง)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (โอกาสชนะ*เมื่อชนะจะได้เท่าไหร่) – (โอกาสแพ้*เมื่อแพ้จะเสียเท่าไหร่)
#⃣ [สูตรคำนวณ] : (0.50*ราคาหุ้นพื้นฐานเฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามคาด) – (0.50*ราคาหุ้นพื้นฐานเฉพาะส่วนที่ลดลงเมื่อผิดคาด)
🔹ราคาหุ้นพื้นฐานเป็นไปตามคาด = ราคาหุ้นที่เหมาะสมจากการประเมินการเติบโตของกำไรปกติ
🔹ราคาหุ้นพื้นฐานผิดคาด = ราคาหุ้นที่เหมาะสมตามการประเมินที่การเติบโตของกำไรผิดคาด ไม่เป็นไปตามข้อมูล
🔹ควรมีค่าเป็นบวก และยิ่งมากยิ่งดี
...............................................
ขอให้มีความสุขกับการลงทุน ในทุกๆวันนะครับ🙂
......
🔗ขอขอบคุณส่วนหนึ่งจากหนังสือ "กุญแจอ่านงบการเงิน" กุญแจไขรหัสลับวิธีการอ่านงบการเงินที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นให้สามารถจับจุดวิธีการอ่านงบการเงินทีละขั้นตอน
.
ผู้เขียน : เอิญ สุริยะฉาย (Mr.LikeStock)
.
และขอขอบคุณองค์ความรู้จากนักลงทุนทุกท่านครับ
Try to be : Full Time Investor, Reader, Writer, Learner & Cultural observer.
......................................
I have a passion for keeping things simple.
......................................
https://www.facebook.com/Introverted.investor
โพสต์โพสต์