การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ว่าผู้ประกอบการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังสร้างบ้านไม่เสร็จ ในอีกด้านหนึ่งก็มี บ้านสร้างเสร็จรอขาย (finished but unsold) อีกเป็นจำนวนมาก มีการประเมินตอนต้นปีนี้ว่าน่าจะประมาณ 4 ล้านหลัง
ปัญหานี้จะรุนแรงที่สุดในเมืองขนาดเล็กระดับสาม (3rd tier cities) อย่างน้อยประมาณ 640 แห่ง และคาดการณ์อีกว่าอาจต้องใช้เวลานาน 20 เดือนที่จะขายบ้านเสร็จแล้วในเมืองใหญ่ 50 เมืองของจีน

เปรียบเทียบกับสต๊อกบ้านที่รอขายที่สหรัฐจะต้องใช้เวลาประมาณ 2.9 เดือน ปัญหาในเมืองใหญ่ของจีนจะมีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองเล็ก เช่น เซี่ยงไฮ้ต้องใช้เวลา 7 เดือน (แต่ที่กรุงปักกิ่งต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี)

ปัญหาส่วนเกินของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนนั้น จะแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก เพราะสัดส่วนของประชาชนที่ไหลเข้ามาในเมือง (urbanization rate) ปัจจุบันอยู่ที่ 65% ของประชาชนทั้งหมด จึงค่อนข้างสูงมากแล้ว เช่น สัดส่วน urbanization ของประเทศไทยอยู่ที่ 53% ของประชากรทั้งหมด

ที่สำคัญคือ ประชากรในวัยทำงานของจีนนั้นได้ค่อยๆ เริ่มลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา และประชากรของจีนโดยรวมก็ได้เริ่มลดลงมาแล้วตั้งแต่ปี 2021 ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่า อัตราการขยายตัวของความต้องการที่อยู่อาศัยในอนาคตจะชะลอตัวลงอย่างมาก เพราะการปรับตัวลดลงของประชากรดังนี้

รูปภาพ

จะเห็นได้ว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองของจีนนั้นจะปรับตัวลดลงใน 10 กว่าปีข้างหน้า โดยรวมประมาณ 3% ต่อปีและปัญหาจะหนักหน่วงที่สุดในเมืองระดับ 3

ผลกระทบที่จะตามมานั้นไม่ใช่จะเกิดเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์และความมั่นใจของภาคครัวเรือน แต่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไปอีกกับรัฐบาลท้องถิ่น (local government) ที่อาศัยการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ คือการขายที่ดิน

เพื่อให้นำไปพัฒนาและการลงทุนร่วมเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน น้ำ ไฟ สะพาน สนามบิน ระบบขนส่งมวลชน ฯลฯ)

โดยรัฐบาลท้องถิ่นดังกล่าว นิยมการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (special funding vehicles) หรือ local government funding vehicles (LGFV) เพื่อกู้ยิมเงินเพื่อการลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ไอเอ็มเอฟประเมินว่า LGFV ของจีนเป็นหนี้ประมาณ 9 ล้านล้านเหรียญหรือ 50% ของจีดีพี กล่าวคือน่าจะมีรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งเผชิญปัญหาทางการเงินอยู่ในขณะนี้

อีกภาคการเงินที่ได้รับผลกระทบคือภาคการเงินที่เรียกว่า ภาคการเงินเงา (shadow banking) เปรียบเทียบเสมือนกับบริษัทเงินทุนที่ระดมเงินจากคนรวยมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยได้มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16% ของจีดีพี

ดังนั้น หากรวมภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนทั้งหมดแล้ว ก็อาจสูงถึง 114% ของจีดีพี กล่าวคือภาคอสังหาริมทรัพย์เท่ากับ 45% ของจีดีพี (แบ่งออกเป็นสินเชื่อให้ผู้ซื้อบ้าน 32% และสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ 16%) ภาครัฐท้องถิ่นอีก 50% และภาคการเงินเงาอีก 16%

ทั้งนี้ Bank for International Settlement ประเมินว่าหนี้สินทั้งหมดของจีน (total credit to non-financial sector) ในปลายปี 2022 นั้นสูงถึง 297% ของจีดีพี

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นธนาคารกลางของจีนปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย กล่าวคือดอกเบี้ยกู้ยืม 1 ปีถูกปรับลดลง 4 ครั้งจากต้นปี 2022 ที่ 3.8% มาเป็น 3.45% ในขณะนี้ นอกจากนั้น ก็ยังได้มีการปรับลดเงินสำรองของธนาคารเพื่อให้มีการเพิ่มสภาพคล่องในระบบด้วย

แต่โดยรวมแล้ว ก็ต้องยอมรับว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลจีนยังไม่ “ถูกใจ” นักลงทุนมากนักและเสียงส่วนใหญ่ ยังอยากเห็นมาตรการที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ และตรงเป้ามากกว่านี้ ในเชิงของการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ตลอดจน การเข้าไปช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ และรัฐบาลท้องถิ่นที่จริงจังมากกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนั้น มาตรการด้านการเงินดังกล่าวข้างต้น ก็ดูเหมือนว่า จะส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งค่าเงินบาทอีกด้วย

ปัจจุบันจึงเริ่มมีการแสดงความกังวลอยู่บ้างว่า จะมีการอาศัยนโยบายการเงินที่ส่งผลให้เงินหยวนอ่อน เพื่อเป็นการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของจีน ผ่านการกระตุ้นการส่งออกหรือไม่และเพียงใด ซึ่งอาจสร้างปัญหาขึ้นได้ในอนาคต

เพราะจีนเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว และยังเกินดุลการค้ามูลค้ามหาศาลอีกด้วย เช่น ตัวเลขการค้าไทย-จีนที่ปรากฏในตารางข้างล่าง

รูปภาพ

จะเห็นได้ว่า การส่งออกของไทยไปจีนปี 2022 นั้นลดลงเกือบ 3 พันล้านเหรียญ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า (2021) แต่การนำเข้าของไทยจากจีนนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านเหรียญ ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 7 พันล้านเหรียญ รวมทั้งสิ้นสูงถึง 36,340 ล้านเหรียญ

และดูแนวโน้มในครึ่งแรกของปีนี้ก็จะเห็นว่า การส่งออกของไทยไปจีนและการขาดดุลการค้ากับจีนก็จะยังไม่ดีขึ้นครับ.
โพสต์โพสต์