ความยั่งยืนทางการเงิน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

ความยั่งยืนทางการเงิน/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ระยะนี้แฟนคอลัมน์กำลังติดตามดิฉันในยูทูป หลายท่านแจ้งมาว่า ชอบแนวคิดในการบริหารเงินของดิฉัน จริงๆแล้วไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การมุ่งหวังผลในเรื่อง “ความยั่งยืน” ค่ะ ในบทความนี้ ดิฉันขอแบ่งปันประสบการณ์สร้างความยั่งยืน จากข้อมูลที่ได้จากการอ่าน จากการสั่งสอนอบรมของผู้ใหญ่ และประสบการณ์ส่วนตัวในการได้ประสบ ได้แก้ไข ได้ผ่านมาแล้ว หรือได้ยินได้ฟังจากประสบการณ์ชีวิตของผู้อื่น

แนวคิดของความยั่งยืนมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าทรงแนะแนวทาง “ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม” หรือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของปัจจุบัน มี 4 ข้อ คือ 1. มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักจัดการงานในการหาทรัพย์ 2. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ 3. รู้จักคบคนที่จะเกื้อกูลแก่การงาน และทำให้ชีวิตมีความดีงามเจริญก้าวหน้า และ 4. หลักการใช้จ่ายอย่างพอดี ที่เรียกว่า สมชีวิตา

ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้หลัก “สมชีวิตา” มีน้อยใช้น้อย มีมากก็สามารถใช้มากได้ ตราบใดที่ไม่ใช้เกินกว่าที่หาได้ เช่นที่ดิฉันเคยเขียนไปเกือบยี่สิบปีแล้วว่า “คนรวยหาเงินได้มากกว่าที่ใช้ และ คนจนใช้เงินมากกว่าที่หาได้” เพราะฉะนั้นไม่ว่าท่านจะมีรายได้เท่าใด หากท่านใช้น้อยกว่าที่หาได้ ท่านก็เป็นคนรวย และไม่ว่าท่านจะมีรายได้มากมายเพียงใด หากท่านใช้เงินมากกว่าที่หาได้ ท่านก็เป็นคนจนค่ะ

เมื่อท่านใช้เงินน้อยกว่าที่หาได้ ท่านก็จะมี “เงินออม” และเงินออมนี้ก็สามารถนำไป “ลงทุน” เพื่อความมั่นคงของชีวิตได้

อยากให้ท่านแยกแยะระหว่าง “การใช้จ่าย” กับ “การลงทุน” เพราะหากท่านสับสนกับสองคำนี้ ท่านอาจจะใช้จ่ายเพลินเกินไป และคิดว่าตัวเองกำลังลงทุน พอทำไปนานๆ หายนะอาจมาถึงท่านได้

หลักการของความยั่งยืนนี้ใช้ได้ทั้งกับบุคคล กับธุรกิจ กับหน่วยงานใหญ่น้อยทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งใช้กับ “ประเทศ”

การใช้จ่าย คือการใช้เงินหรือทรัพยากรต่างๆไป เพื่อประโยชน์ในการบริโภค (กิน ใช้ แจก รวมถึงเหลือทิ้ง) ซึ่งจะหมดไป
การลงทุน คือการใช้เงินหรือทรัพยากรต่างๆไปเพื่อหวังผลตอบแทนที่จะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะได้ตามคาด น้อยกว่าที่คาด หรือมากกว่าที่คาด หรือขาดทุนหดหายไปก็ได้ แต่ในขณะที่เราตัดสินใจลงทุน เราต้องพิจารณาดีแล้วว่าเรามีโอกาสได้รับผลตอบแทน/ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน/ผลลัพธ์ทางการเงิน ทางสังคม ทางสิ่งแวดล้อม หรือทางวัฒนธรรม

คน องค์กร หรือประเทศ จะเติบโตเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคงได้ ต้องมีการลงทุน (ทั้งเงินและทรัพยากรอื่นๆ)

ทรัพยากรที่ใช้ในการลงทุน อาจมาจากการเก็บออม หากเงินออมไม่พอ ก็อาจต้องมีการกู้ยืมเพิ่มเติม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี ดิฉันเคยเรียนไปว่า ของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน บางทีเก็บเงินออมอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้ซื้อไม่ได้ เพราะเก็บได้ไม่ทันราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นไป

สำหรับคนทั่วไปแล้ว การวางแผนการใช้จ่ายให้ดี โดยใช้เทคนิคการจดบันทึก เพื่อนำมาตรวจสอบความจำเป็นหรือไม่จำเป็น เพื่อตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเพิ่มสัดส่วนการออม เป็นสิ่งที่ควรทำค่ะ และเมื่อมีรายได้เพิ่ม ควรจะออมเงินเพิ่ม

หากรายรับไม่พอกับค่าใช้จ่าย และตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่จะทำได้มีอยู่ทางเลือกเดียวคือ หารายได้เพิ่มค่ะ อาจจะหารายได้พิเศษด้วยการทำงานพิเศษ การขายของ ฯลฯ

องค์กรหรือประเทศก็เหมือนกันค่ะ หากการลงทุนนั้นจะส่งผลต่อการเพิ่มของรายได้ในอนาคต ต่อความเป็นอยู่ในทางที่ดีของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลิตภาพ และคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เราอาจต้องกู้ยืมมาลงทุน ตราบเท่าที่เราคำนวณแล้วว่า เรามีแหล่งรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้คืนหนี้

หากบุคคล องค์กร หรือภาครัฐ มีแผนในการลงทุนที่ชัดเจน มีที่มาของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้คืน เจ้าหนี้ หรือผู้ถือหุ้น หรือผู้เกี่ยวข้อง ก็จะสบายใจ อยากให้กู้ยืม หรืออยากลงทุนในกิจการ (กรณีเป็นองค์กร) ยิ่งหากแผนนั้นมีแนวโน้มที่จะยกระดับฐานะของบุคคล องค์กร หรือรัฐ ให้ดีขึ้น เจริญก้าวหน้าขึ้น เจ้าหนี้หรือผู้ลงทุนก็พร้อมที่จะให้กู้หรือลงทุนเพิ่มเติม เศรษฐกิจก็จะแข็งแรง ค่าเงินก็จะมีเสถียรภาพค่ะ

หากบุคคล องค์กร หรือภาครัฐ มีแผนใช้จ่าย โดยไม่มีแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่าย เจ้าหนี้ หรือผู้ลงทุน ก็จะไม่สบายใจ โดยในโลกปัจจุบัน หากเป็นบุคคล ความไม่สบายใจก็จะออกมาในรูปแบบของการไม่ให้กู้ยืม หรือชะลอการให้กู้ยืม

หากเป็นองค์กร ความไม่สบายใจจะสะท้อนออกมาที่ เจ้าหนี้อาจขอหลักประกันเพิ่ม เริ่มคิดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น (คิดพรีเมียมของค่าความเสี่ยง) หยุดการให้กู้เพิ่ม หรือแม้กระทั่งหยุดการเบิกจ่ายเงินกู้กลางคัน หรือกรณีมีการกู้ยืมจากประชาชน ก็อาจจะสะท้อนในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจถูกปรับลดลง ซึ่งหมายความว่าเงินกู้ก้อนถัดไปต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงขึ้น หรือสำหรับผู้ถือหุ้น ก็จะสะท้อนมาในราคาหุ้นของบริษัทที่จะตกลงไป เพราะผู้ลงทุนบางรายขายหุ้นออกมา

หากประเทศใดมีแผนการใช้เงินมากมาย แต่แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ไม่ชัดเจน ความไม่สบายใจของผู้ลงทุนจะสะท้อนมาได้หลายจุด เช่น ค่าเงินของประเทศนั้นๆอาจอ่อนค่าลง อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเพิ่มขึ้น (หมายถึงราคาพันธบัตรตกลง) หรือถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หมายถึงการกู้เงินงวดต่อๆไป ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับองค์กรเอกชนที่กล่าวไปข้างต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าหนี้ ผู้ลงทุน ตลาดการเงิน ต่างก็ชอบและอยากเห็น “ความยั่งยืน” ค่ะ
โพสต์โพสต์