ผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกมั่งคั่งลดลง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลกมั่งคั่งลดลง/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปกติในช่วงกลางปี ดิฉันต้องนำเสนอพอร์ตของผู้มีความมั่งคั่งสูงที่ทำการวิจัยโดย Capgemini ใน World Wealth Report 2023 ซึ่งในปีนี้รายงานก็ออกมาแล้ว พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้คือ ในปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวนเศรษฐีเงินล้านเหรียญลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี โดยลดลงไปถึง 3.3% ทั่วโลก จาก 22.5 ล้านคน ในปี 2564 เหลือ 21.7 ล้านคน ในปี 2565 และความมั่งคั่งโดยรวมลดลงไป 3.6% จาก 86 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 2,967 ล้านล้านบาท เหลือประมาณ 83 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 2,863.5 ล้านล้านบาท (ตัวเลขมีการปัดเศษ และแหล่งข้อมูลไม่ได้ให้ตัวเลขเต็มไว้ จึงนำเสนอตัวเลขและร้อยละของการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลที่ปรากฏในรายงานการวิจัย)

ทั้งนี้ในช่วงปี 2558 ถึงปี 2565 ทั้งจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูง และผลรวมของความมั่งคั่งยังเติบโตที่อัตราเฉลี่ย 5.1% ต่อปีค่ะ

ผู้มีความมั่งคั่งสูงในทวีปอเมริกาเหนือ มีจำนวนลดลงไปมาก คือลดไปถึง 6.9% จาก 7.9 ล้านคน ลดเหลือ 7.4 ล้านคน ในขณะที่ความมั่งคั่งลดลงจาก 27.7 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 955.6 ล้านล้านบาท เหลือประมาณ 25.6 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 883.2 ล้านล้านบาท หรือลดลง 7.4%

สำหรับประเทศในส่วนอื่นๆของโลก ผู้มีความมั่งคั่งสูงที่มีทั้งจำนวน และความมั่งคั่งเพิ่มในโลกในปี 2565 มีเพียงสามกลุ่มคือ ประเทศกลุ่มตะวันออกกลางมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2.8% ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 1.5% กลุ่มละตินอเมริกา จำนวนเพิ่ม 4.7% ความมั่งคั่งเพิ่ม 2.1% และกลุ่มอัฟริกา จำนวนเพิ่มขึ้น 4.3% ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 1.6%

กลุ่มที่เจ็บปวดสูงกว่าอเมริกาเหนือ คือประเทศกลุ่มนอร์ดิกค่ะ โดยผู้มีความมั่งคั่งสูงในสวีเดนมีความมั่งคั่งลดลง 7.1% ในเดนมาร์กมีความมั่งคั่งลดลง 7.5% และในฟินแลนด์มีความมั่งคั่งลดลง 8.3%

ส่วนผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศใหญ่ๆในยุโรปต่างก็มีความมั่งคั่งลดลงเช่นกัน โดยความมั่งคั่งของเศรษฐีสเปนลดลง 4.5% อิตาลีลดลง 2.7% เยอรมนีลดลง 2.2% สหราชอาณาจักร ลดลง 1.1% และฝรั่งเศสลดลง 0.5%

ผู้มีความมั่งคั่งสูงของญี่ปุ่น มีความมั่งคั่งลดลง 3.5% และมีจำนวนลดลง 2.8% เป็นผลมาจากการที่เงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 32 ปี เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ททท. เพิ่งออกมาแถลงว่า ไทยเราขาดดุลท่องเที่ยวให้กับญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นจำนวน 497,700 คน และนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาเยือนไทยมีจำนวน 326,347 คน แต่ก็เป็นสัดส่วน 12% ของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ไปต่างประเทศทั้งหมด และเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยเพียง 10% ของที่ไปต่างประเทศ ก็ถือว่าไทยเรายังเป็นจุดมุ่งหมายที่คนญี่ปุ่นนิยมมาอยู่ค่ะ เพียงแต่คนญี่ปุ่นเดินทางไปต่างประเทศน้อยลง เพราะค่าเงินอ่อนมาก เวลาไปเที่ยวก็จะแพงขึ้น

ท่านอาจจะสงสัยว่าคนมั่งคั่งสูงระดับบน กับมั่งคั่งสูงระดับต้น ใครมีความมั่งคั่งหดหายมากกว่ากัน รายงานมีการแจงให้ดูด้วยค่ะ

ผู้มีความมั่งคั่งระดับต้น หรือเศรษฐีเงินล้าน จะเริ่มที่ 1 ถึง 5 ล้านเหรียญ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 ประมาณว่ามีจำนวน 19.524 ล้านคน มีจำนวนคนลดลง 3.3% และมีความมั่งคั่งลดลง 3.4%

ระดับถัดไปคือ ความมั่งคั่ง 5 ถึง 30 ล้านเหรียญ ในโลกนี้ประมาณว่ามีจำนวน 1.977 ล้านคน มีจำนวนคนลดลง 3.8% และมีความมั่งคั่งลดลง 3.8% เช่นกัน

ระดับบนสุดคือ ความมั่งคั่ง 30 ล้านเหรียญขึ้นไป มีจำนวน 210,000 คน มีจำนวนคนลดลง 4.6% และมีความมั่งคั่งลดลง 3.7%

สรุปจำนวนคนรวยก็ลดลง และความรวยก็ลดลงถ้วนหน้าค่ะ

มาถึงเรื่องสำคัญคือ เขาจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร พบว่า ณ ต้นปี 2566 การลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูง จะลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง โดยการลงทุนในหุ้นลงไปค่อนข้างมาก เหลือเพียง 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 29% และปี 2563 ที่ 30% และลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกลดลงจาก 14% เหลือ 13% ตราสารหนี้ลดลงจาก 18% เหลือ 15% โดยนำไปเพิ่มเงินสดและตราสารเทียบเท่าเงินสด จาก 24% เป็น 34%

ข้อมูลนี้คงทำให้ท่านพอเห็นแล้วว่า พอร์ตการลงทุนต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะบรรเทาลง และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในรอบนี้ซึ่งต่อเนื่องมายาวนาน น่าจะจบลงในครึ่งหลังของปี ธุรกิจในสหรัฐอเมริกาที่ไม่รอดก็จะหายไป ส่วนธุรกิจที่อยู่รอด น่าจะค่อยๆฟื้นตัว จึงเป็นช่วงที่อาจทยอยเข้าลงทุนในหุ้นทุนที่มีพื้นฐานดี ในตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และเป็นช่วงเวลาที่ควรลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะได้ดอกเบี้ยที่น่าจูงใจขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ส่วนยุโรปน่าจะยังสาหัสกับผลทางลบที่เกิดจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวขึ้น หลายท่านอาจจะเห็นข่าวที่เขาทำการศึกษาพบว่าประชากรของสหราชอาณาจักรมีฐานะความเป็นอยู่แย่ลงมาก จากผลกระทบด้านลบของการออกจากการเป็นสมาชิกอียู ซึ่งส่งผลตั้งแต่มีประชามติให้ออกจนถึงปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย ก็ได้แต่ภาวนาว่า นักการเมืองและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการบ้านเมืองทุกคนทุกหน้าที่ จะปฏิบัติหน้าที่ของตน และพิจารณาตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการ โดยคำนึงถึงผลที่จะกระทบในทางบวกในระยะยาวต่อประเทศและประชาชน และให้มีผลกระทบหรือผลสืบเนื่องในทางลบกับประเทศและประชาชนน้อยที่สุด เพราะเราเห็นมามากต่อมากแล้วว่า การตัดสินใจผิดเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้ประเทศยับเยินได้ดังที่เกิดในหลายๆประเทศในปัจจุบัน
โพสต์โพสต์