Stocks Challenge-เกมดวลหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

Stocks Challenge-เกมดวลหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันที่ 1 มกราคม ปี 2008 บัฟเฟตต์ประกาศ “ท้าพนัน” คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งเขาบอกว่าตั้งค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุน “แพงเกินความสามารถ” และส่วนใหญ่ก็จะใช้สูตร “2-20” คือค่าธรรมเนียมแน่นอนที่ 2% ต่อปีของเงินกองทุนหรือ NAV และอีก 20% ของกำไรในแต่ละปี โดยที่บัฟเฟตต์ท้าว่า ผลตอบแทนของเฮดจ์ฟันด์จะแพ้ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนอิงดัชนีที่ไม่ต้องมีคนเลือกหุ้น และเขาเลือกกองทุน S&P 500 ของแวนการ์ดกรุปที่คิดค่าธรรมเนียม “ต่ำที่สุด” ที่ 0.04% ต่อปี

คนที่รับคำท้าคือ Ted Seides ผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Protégé ซึ่งเป็น “Fund of Fund” คือกองทุนที่ลงทุนในเฮดจ์ฟันด์อื่น ๆ โดย จะมีการวัดผลตอบแทนเมื่อครบ 10 ปี ตอนสิ้นปี 2017 เงินพนันคือ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และนี่ก็คือเรื่องที่จะ “ท้าพิสูจน์” ว่า ระหว่างการลงทุนแบบ “Active” หรือการลงทุนที่อาศัยการเลือกหุ้นของ “เซียน” ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูง กับการลงทุนแบบ “Passive” ที่มีค่าธรรมเนียมการบริหารต่ำ แบบไหนจะให้ผลตอบแทนดีกว่ากันในระยะยาว คือ 10 ปี



การเดิมพันเริ่มขึ้นไม่นาน สถานการณ์ตลาดหุ้นก็พลิกผัน ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ดัชนี S&P ลบไป 37% แต่กองทุนเฮดจ์ฟันด์ลบลงเพียง 23.9% แต่หลังจากนั้นกองทุน S&P 500 ก็เอาชนะมาได้ทุกปีจนถึงปี 2014 โดยที่ NAV หรือมูลค่าสุทธิของกองทุน S&Pกลับมานำได้ตั้งแต่ปี 2012 หรือพูดง่าย ๆ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ “ชนะ” ในช่วงแรกแค่ 4 ปี

ปี 2015 เฮดจ์ฟันด์กลับมาทำได้ดีกว่า S&P500 ทำผลตอบแทนได้ 1.7% เทียบกับ 1.4% แต่ปี 2016 หุ้นฝั่งบัฟเฟตต์กลับเติบโต 7.1% เทียบกับ 2.2% ของเฮดจ์ฟันด์ พอถึงสิ้นปี 2017 วันสิ้นสุดการแข่งขัน ผลตอบแทนโดยรวมของเฮดจ์ฟันด์คือ 22% ในขณะที่กองทุนดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนรวมถึง 85.4% เป็นชัยชนะที่ “ขาดลอย” ของการลงทุนแบบ Passive เหนือ Active เงิน 1 ล้านเหรียญที่ได้รับ บัฟเฟตต์ยกให้กับชมรม “เพื่อนของผลตอบแทนรวมสูงสุดสำหรับเด็ก”

ฝ่ายของเฮดจ์ฟันด์นั้นยอมรับความพ่ายแพ้ แต่ก็บอกว่าน่าจะเป็นผลจากการที่หุ้นสหรัฐดีมากหรืออาจจะเป็นปีทองหลังวิกฤติ ในขณะที่เฮดจ์ฟันด์ส่วนใหญ่มีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศมาก ไม่ได้เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมอะไรมากนัก

ผมเขียนเรื่องนี้แม้ว่าการเดิมพันจบไปนานแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าตอนนี้ในใจผมเกิดความรู้สึก อยากเดิมพันกับความคิดของผมว่า “หุ้นแบบไหนหรือหุ้นที่ไหนจะมีผลงานที่ดีที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า”



การมีความคิดในเรื่องของการพนันนั้น อาจจะช่วยให้เราตื่นตัวและตระหนักถึงประเด็นได้ดีกว่าการอยู่เฉย ๆ นอกจากนั้นมันก็คงสนุกดีถ้ามีคนอื่นมาพนันด้วย อย่างน้อยก็อาจจะช่วยลดความน่าเบื่อหน่ายสำหรับนักลงทุนหลาย ๆ คนที่ “ไม่รู้จะทำอะไร เล่นไปก็หาวนอนไป” เพราะหุ้นเงียบเหงา ไม่ขึ้นไม่ลงมาหลายปีแล้ว

เดิมพันที่ผมคิดก็คือ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ระหว่างกองทุนรวมหุ้นทั้งที่อิงดัชนีและกองทุนแบบแอคทิบฟันด์ และกองทุนสมมุติที่ผมตั้งขึ้น ดังต่อไปนี้ กองไหนที่จะให้ผลตอบแทนสูงสุด?
กองทุนแรกนั้นผมจะให้เป็นกองทุนอิงดัชนีและคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ จากตัวดัชนีเลยก็คือ ดัชนี SET หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งล่าสุดวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 1,543 จุด อีก 10 ปีคือ ประมาณวันที่ 29 กรกฎาคม 2576 จะอยู่ที่เท่าไรและให้ผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์

กองทุนที่ 2 และ 3 ซึ่งก็คิดจากตัวดัชนีเป็นหลักก็คือ ดัชนี S&P500 ที่เริ่มจาก 4,582 จุด และดัชนี NASDAQ Composite ที่เริ่มที่ 14,316 จุด ในวันเดียวกัน และนี่ก็คือกองทุนของสหรัฐที่เป็นกองทุนของบริษัทที่มักจะมีธุรกิจทั่วโลกและเติบโตไปกับโลก

กองทุนที่ 4 และ 5 ก็คือกองทุนอิงดัชนีของจีนและเวียตนามที่อยู่ใกล้บ้านเราและมีคนไปลงทุนค่อนข้างมากในปัจจุบัน ของจีนนั้นผมจะใช้ตลาดฮ่องกงคือดัชนี HANG SENG ที่ 19, 916 จุด และนี่ก็คือบริษัทของจีนที่กำลังจะก้าวขึ้นมาท้าทายอเมริกาใน 10 ปี รวมถึงราคาหุ้นที่ “ถูกมาก” สำหรับหลาย ๆ คนในปัจจุบัน ในส่วนของเวียตนามก็คือ VN Index ที่ 1,207 จุด ซึ่งก็จะเป็นตัวแทนของประเทศที่กำลังเป็น “ดาวรุ่ง” ในทศวรรษที่กำลังถึงนี้



กองทุนที่ 6 คือกองทุนกึ่ง Active ที่น่าสนใจและมีคนไปลงทุนพอสมควรก็คือ “กองทุน Diamond” ของตลาดหุ้นเวียตนามที่มีราคา 26,290 ด่อง และนี่คือหุ้นเวียตนามที่เป็นที่นิยมสูงมากของนักลงทุนต่างชาติซึ่งทำให้เราหาซื้อหุ้นได้ยากและต้องจ่ายในราคาแพงกว่าราคาตลาด

กองทุนสุดท้ายก็คือกองทุนแบบที่ผมเลือกเองที่ตั้งใจให้เป็นแนวหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” โดยหุ้นที่เลือกประกอบไปด้วยหุ้น 8 ตัวดังต่อไปนี้ คือ หุ้นตัวใหญ่ 4 ตัว ประกอบไปด้วยหุ้น FPT ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ราคาปัจจุบันคือ 84,400 ด่อง หุ้น REE ที่เป็นโฮลดิ้งทำธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า น้ำ และระบบไฟฟ้าและความเย็นในอาคารขนาดใหญ่ ที่ 68,000 ด่อง หุ้น MWG ที่ทำธุรกิจค้าปลีกมือถือและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ที่ 54,500 ด่อง และตัว ETF หรือกองทุน Diamond ที่ 26,290 ด่อง โดยที่ทั้ง 4 ตัวนี้ จะมีน้ำหนักตัวละ 20% ของพอร์ต

และหุ้นขนาดกลางอีก 4 ตัวคือ ACV หรือหุ้นสนามบินเกือบทั้งหมดของเวียตนามที่ราคาปัจจุบันที่ 79,600 ด่อง หุ้น VRE หรือหุ้นที่ทำช็อปปิงมอลให้เช่าทั่วประเทศที่ราคา 28,800 ด่อง หุ้น VSH ที่ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ 44,900 ด่อง และหุ้น NT2 ที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากแก๊สธรรมชาติ ที่ราคา 29,250 ด่อง โดยที่แต่ละตัวจะมีสัดส่วนตัวละ 5% ของพอร์ต

พอร์ตหุ้นซุปเปอร์สต็อกนี้สามารถปรับได้ปีละหนซึ่งผมจะพยายามบอกให้ทราบ แต่ความตั้งใจก็คือ น่าจะคงอยู่ประมาณ 5 ปีโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร และจะถือไปจนครบ 10 ปีเพื่อที่จะสรุปว่าพอร์ตโตขึ้นเป็นเท่าไร ซึ่งก็จะเป็นวันที่สรุปว่าพอร์ตไหนใน 7 พอร์ตจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันหรือการเดิมพันการเลือกหุ้นลงทุน



สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือ นี่ไม่ใช่การชักชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนอะไรทั้งนั้น แม้ว่าผมเองก็ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ด้วยอย่างมีนัยสำคัญและใกล้เคียงกับที่เสนอในพอร์ตที่จะใช้เดิมพัน ความเป็นจริงก็คือ หุ้นทั้งหมดนั้นเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ หลายตัวมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาทและทุกตัวมี Free Float สูงมาก การที่จะมีใครไปทำราคาหรือแรงซื้อจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะไปทำให้ราคาเบี่ยงเบนไปจากพื้นฐานที่แท้จริงนั้น เป็นไปไม่ได้เลย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นี่เป็นพอร์ตที่จะถือเป็นระยะเวลายาวนานมาก ไม่มีการซื้อขายในระยะสั้นหรือแม้แต่ในระยะเวลาเป็นปี

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ผมจะไม่พนันกับใครเหมือนอย่างที่บัฟเฟตต์ทำ แต่ที่จริงผมก็พนันอยู่แล้วกับตลาดและตัวหุ้น ถ้าพอร์ตหุ้นที่ผมเลือกโตขึ้นเหนือกว่าพอร์ตอื่น ผมชนะหรือกำไรอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน ใครก็ตามที่อยากจะพนัน ก็ทำได้อยู่แล้วโดยการลงทุนในพอร์ตที่เห็นว่าน่าจะชนะในระยะยาว ไม่ต้องมาพนันกับผม

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การวัดผลงานการเดิมพันในครั้งนี้ ผมจะยึดถือผลตอบแทนเป็นเงินบาทเสมอ และเพื่อเป็นสถิติที่ไม่ต้องกลับไปค้นอีก อัตราแลกเปลี่ยนวันนี้คือ 34.44 บาท เท่ากับ 1 ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ฮ่องกง เท่ากับ 4.37 บาท และเงินเวียตนาม 1 ด่อง เท่ากับ 0.001442 บาท หรือ 1000 ด่องเท่ากับ 1.442 บาท

ว่าที่จริง “เกมดวลหุ้น” ครั้งนี้ทุกคนสามารถที่จะเสนอหุ้นหรือกองทุนอื่น ๆ เข้ามาร่วมได้ ตัวอย่างเช่น อาจจะมีคนอยากที่จะ “ท้าทาย” ด้วยหุ้นอินเดียหรืออินโดนีเซีย บางคนอาจจะเสนอหุ้นยักษ์ที่เป็นเมกาเทรนด์โลก 10 ตัวที่มีกองทุนบริหารอยู่ น่าสนุกครับ แม้ว่าอาจจะต้องเล่นหรือรอนานมากกว่าเกมจะจบ
ภาพประจำตัวสมาชิก
IndyVI
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 17934
ผู้ติดตาม: 938

Re: Stocks Challenge-เกมดวลหุ้น/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

FM 96.5 | รู้ใช้เข้าใจเงิน | Stocks Challenge-เกมดวลหุ้น | 31 ก.ค. 66

คุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

https://www.youtube.com/watch?v=HWCMsAV8qLA&t=1780

phpBB [video]
Investment success doesn’t come from “buying good things,” but rather from “buying things well.
# Howard Mark #
โพสต์โพสต์