สหรัฐจำกัดจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปทันสมัย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

สหรัฐจำกัดจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปทันสมัย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สหรัฐจำกัดจีนเข้าถึงเทคโนโลยีชิปทันสมัย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เราจะเห็นข่าวที่สหรัฐพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ตกต่ำกับจีน โดยการไปเยือนประเทศจีนของบุคคลสำคัญในรัฐบาลของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน
เช่น การไปเยือนจีนของ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ นาย Antony Blinken ตามด้วยการเยือนจีนของ รมว.คลัง นาง Janet Yellen และผู้แทนพิเศษสหรัฐด้านสภาวะอากาศ นาย John Kerry

ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐให้ความหวังว่า กำลังดำเนินการปรึกษาหารือกับจีน เพื่อให้ประธานาธิบดีสหรัฐกับประธานาธิบดีจีนมีโอกาสพบปะกันแบบตัวต่อตัวภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสูงสุดของกลุ่มเอเปค

เมื่อกลางปีนี้ รมว.กลาโหมสหรัฐพยายามนัดพบตัวต่อตัวกับ รมว.กลาโหมจีน ที่การประชุม Shangri-la Dialogue แต่ฝ่ายจีนปฏิเสธความพยายามของสหรัฐ ที่จะให้มีมาตรการเพิ่มความมั่นใ จและการมีกรอบความสัมพันธ์ไม่ให้ถลำลึกเกินเลยไปในทางลบกว่าที่เป็นอยู่

แต่ฝ่ายจีนตอบว่า สหรัฐและฝ่ายตะวันตกไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมภายในของจีน

กิจกรรมภายในของจีนนั้น ย่อมหมายถึงเกาะไต้หวันรวมถึงจุดยืนของจีนในทะเลจีนใต้ ไต้หวันนั้นนอกจากจะมีความสำคัญในเชิงของการเมืองและความมั่นคงแล้ว ที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดคือ บทบาทของบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (หรือชิป) ของไต้หวัน คือ TSMC

บริษัท TSMC มีความสำคัญเพียงใดนั้น เห็นได้จากการที่ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC คือนาย Morris Chang ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไต้หวันในการประชุมผู้นำเอเปคมานานหลายปีแล้ว และครั้งล่าสุดที่กรุงเทพฯ เขาก็ได้ทักทายและพูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

นอกจากนั้นก็ยังพบปะอย่างเป็นทางการกับผู้นำอีกหลายประเทศ รวมทั้งนาง Kalama Harris รองประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2565 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางไปเยี่ยมพื้นที่สร้างโรงงานผลิตชิป 4 nm (นาโนเมตร) ของ TSMC ที่ Arizona (แต่ไม่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปคที่กรุงเทพฯ)

คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มมากว่าชิปนั้นมีความสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจโลก โดยจะขอกล่าวถึง 3 ประเด็นที่สำคัญคือ

1.บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกคิดจากมูลค่าหุ้น 10 อันดับแรกนั้น เป็นบริษัทเทคโนโลยี 8 บริษัท ซึ่งล้วนแต่มี PE สูง (แปลว่านักลงทุนมองว่า บริษัทมีอนาคตที่สดใส) และราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปัจจุบันเป็น all time high เช่น Apple, Microsoft และ NVIDIA เป็นต้น

2.ตลาดชิปนั้นมีมูลค่าประมาณ 6 แสนล้านดอลลาร์ ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจีดีพีโลกที่มีมูลค่าเกือบ 100 ล้านล้านดอลลาร์ (และขณะนี้ก็มีการผลิตชิปล้นตลาด) แต่ชิปที่ล้ำหน้า (advanced chips)

คือชิปขนาดเล็กกว่า 10 nm จีนผลิตเองได้ในปริมาณไม่เพียงพอและชิปที่ล้ำหน้าที่สุด เช่น ชิปขนาด 3 nm ที่ใช้ใน Apple iPhone 15 Pro รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวเดือน ก.ย.นี้ มีบริษัทเดียวในโลกที่ผลิตชิปนี้ได้คือ TSMC

ความเป็นจริงแล้วมีเพียง 3 บริษัทในโลกเท่านั้นที่ผลิตชิปขนาดเล็กและล้ำหน้าดังกล่าวได้ คือ Intel, Samsung และ TSMC ซึ่งบริษัทที่ผลิตชิปดังกล่าวได้ดีที่สุดคือ TSMC

3.สหรัฐสามารถจำกัดการเข้าถึงชิปขนาดเล็กกว่า 10 nm ของจีนได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะสหรัฐเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการออกแบบชิป และการทำเครื่องมือผลิตชิป จึงสามารถ “สั่ง” ให้ TSMC และบริษัทที่ผลิตหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) เช่น NVIDIA ไม่ให้ส่ง GPU A1OO และ H1OO ให้กับจีน

เพราะเป็นหน่วยประมวลผลที่ใช้ประโยชน์ในด้านการทหารและความมั่นคงด้วย ไม่ใช่การใช้เพื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI), ศูนย์รวมข้อมูล (Data Center) หรือการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เท่านั้น

จีนแสดงความไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกชิ้นส่วน อุปกรณ์และเครื่องมือ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตและพัฒนาชิปของจีน

เพราะชิปโดยเฉพาะที่ล้ำหน้ามากที่สุดนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความเท่าเทียมกับสหรัฐของจีนในด้าน AI, 5G และการทหารกับความมั่นคง ตลอดจนการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโดยรวม

สหรัฐดำเนินการอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และจะขยายการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนยิ่งขึ้นในปีนี้ เช่น สหรัฐร่วมมือกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ห้ามส่งออกเครื่องผลิตชิปที่ล้ำหน้าที่สุดของบริษัท ASML คือเครื่อง Extreme Ultra Violet Lithography เมื่อต้นปีนี้

และคงขยายมาตรการห้ามส่งออกให้จีน รวมถึงเครื่องที่มีศักยภาพต่ำกว่า คือเครื่อง Deep Ultra Violet Lithography ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้อีกด้วย อีกทั้งจะสั่งห้าม NVIDIA ส่ง GPU A800 และ H800 ให้กับจีนโดยเฉพาะอีกด้วย

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Advisor) ของสหรัฐ นาย Jake Sullivan อธิบายนโยบายดังกล่าวว่า เป็นการตั้งรั้วสูง แต่เพื่อจำกัดการเข้าถึงเฉพาะในพื้นที่ขนาดเล็ก กล่าวคือ จำกัดในวงแคบเฉพาะเทคโนโลยีที่จะกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐเท่านั้น

รัฐมนตรีคลัง Janet Yellen ย้ำว่าเป็นการตั้งเป้าที่จำกัดอย่างมาก และเฉพาะเจาะจงในส่วนที่สหรัฐมีความกังวลในด้านความมั่นคงเท่านั้น และยืนยันว่าสหรัฐไม่ได้ต้องการจะ “ตัดขาด” (decouple) จากจีน เพียงแต่กระจายความเสี่ยงสำหรับห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ

แต่ผมสงสัยว่า จีนคงจะ “ไม่เชื่อ” คำอธิบายของสหรัฐ เพราะเทคโนโลยีของชิปนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง ไม่เฉพาะด้านความมั่นคงแต่จะสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนให้ทันสมัยเทียบเท่าได้กับสหรัฐ

และเทคโนโลยีของชิปจะทำให้จีนซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับสหรัฐอยู่แล้ว สามารถเป็นมหาอำนาจแซงหน้าสหรัฐไปได้ในที่สุด

ดังนั้น ในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์นั้น ไต้หวันกับคาบสมุทรเกาหลีจึงเป็นจุดเสี่ยงสูงสุดครับ
โพสต์โพสต์