รู้ลึก vs รู้กว้าง อะไรสำคัญกว่ากันในการลงทุน? / Pocket investor

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
Pocket investor
Thai VI Partner
โพสต์: 195
ผู้ติดตาม: 304

รู้ลึก vs รู้กว้าง อะไรสำคัญกว่ากันในการลงทุน? / Pocket investor

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Investor's practice: สวัสดีทุกท่านครับ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับ Soft skill โดย ใน Class ท่านอาจารย์หยิบยกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมา Discuss คือ เรื่อง "รู้ลึก vs รู้กว้าง" อะไรสำคัญกว่ากันสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน?
.
ในฐานนะนักลงทุนเลยอดชวนคิดไม่ได้ว่า ถ้ามองในด้านการลงทุน "รู้ลึก vs รู้กว้าง" อะไรสำคัญมากกว่ากันนะ? วันนี้เลยลองมาแชร์มุมมองเรื่องนี้ดูครับ
.
ก่อนที่เราจะไปตอบคำถามนี้ เราคงต้องมานิยมก่อนว่าคำว่ารู้ลึกและรู้กว้างสำหรับการลงทุนนั้นมีลักษณะประมาณไหน? พอลองคิดๆดูแล้วจริงๆมันอาจจะต้องแบ่งเป็น 2 แง่มุม คือ ความรู้ในศาสตร์ต่างๆที่นำมาใช้กับการลงทุน กับ ความรู้ในตัวหุ้น(ธุรกิจ) ลองมาดูทีละเรื่องกันเลยครับ
.
1. ความรู้ในศาสตร์ต่างๆที่นำมาใช้กับการลงทุน
รู้ลึก (Specialist)
มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในบางศาสตร์เชิงลึก เช่น ความรู้ด้านบัญชีแบบนักบัญชีมืออาชีพ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ความรู้อย่างอื่นๆอาจจะน้อยหน่อย
.
รู้กว้าง (Generalist)
รอบรู้ในหลายๆเรื่องแบบพอใช้ได้ แต่ไม่ลึก เช่น อ่านงบการเงินพอเข้าใจได้เป็นส่วนใหญ่ รู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์ การตลาด การบริหาร จิตวิทยาเบื้องต้น ประวัติศาสตร์พอสังเขป รัฐศาสตร์ สถิติเบื้องต้น เป็นต้น
.
มุมมองส่วนตัวในหัวข้อที่ 1 นี้ ผมคิดว่าคนที่ "รู้กว้าง" น่าจะได้เปรียบในการลงทุนมากกว่า แม้ว่าคนเทพบัญชีอาจจะเข้าใจตัวเลขในบริษัทที่มีงบการเงินเฉพาะทาง แต่การจะวิเคราะห์หุ้นให้ครบทุกมุมมองนั้น ต้องอาศัยทั้งการวิเคราะห์เชิงคุณภาพในภาพบริษัทเองและภาพ Macro บวกกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณ รวมถึงจิตใจที่เข้มแข็งในการถือหุ้น ซึ่งอาจจะไม่ต้องรู้บางเรื่องลึกมากนัก แต่จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
.
ลองมาดูแง่มุมที่ 2 ที่เป็นเรื่องสำคัญและน่าคิดมากกว่ากันดีกว่าครับ
.
2. ความรู้ในตัวหุ้น(ธุรกิจ)
รู้ลึก (Specialist)
มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในบางธุรกิจ/บางบริษัท เป็นคนส่วนน้อยที่รู้จักบริษัทดีมากๆ แต่รู้จักหุ้นน้อยบริษัท
.
รู้กว้าง (Generalist)
มีความรอบรู้และเข้าใจบริษัทต่างๆในระดับหนึ่ง แต่รู้จักหุ้นหลากหลายบริษัท หลากหลายอุตสาหกรรม
.
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ผมขอแบ่งระดับความลึกออกเป็น 5 Level แล้วกันครับ
.
Level 1 ข้อมูลทั่วไปทางธุรกิจและการเงิน ที่ Public ในสื่อการเงินหลัก
เช่น งบการเงินที่ประกาศออกมาแล้ว ข้อมูลธุรกิจในรายงานประจำปี แผนงานที่เล่าใน Oppday เป็นต้น
.
Level 2 ข้อมูลที่ต้องสืบค้นเพิ่มเติม จากการ Scuttlebutt
เช่น กลุ่มลูกค้าและความต้องการ, ข้อมูล Supplier, แนวโน้มปัจจัยที่กระทบต้นทุน, การแข่งขันและคู่แข่ง, ภาพรวมอุตสาหกรรม, วิธีการทำการตลาด, Indicator ที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เป็นต้น
.
Level 3 ข้อมูล Inside ที่มากกว่าคนส่วนใหญ่รู้
เช่น ข้อมูลยอดขายรายเดือนแบบลงรายละเอียด, Deal M&A ที่ยังไม่เปิดเผย, นิสัยใจคอผู้บริหาร, ความสัมพันธ์เชิงลึกของบริษัทกับภาครัฐ/คู่แข่งขัน, ข้อมูลที่กระทบกับกำไรแบบมีนัยยะที่ยังไม่เปิดเผย เป็นต้น
.
Level 4 ข้อมูลลับสุดยอดของบริษัท ที่มีแค่คนภายในบางคนที่รู้
เช่น งบการเงินที่ยังไม่เปิดเผย, แผน Internal Plan, โครงสร้างเงินเดือน, โครงสร้างต้นทุนโดยละเอียด, ยอดขาย/กำไร ราย sku, Trade Secret เช่น สูตรการผลิตหรือ Algorithm ที่ใช้ทำ AI เป็นต้น
.
Level 5 ข้อมูลความลับของสวรรค์
ภาพธุรกิจและราคาหุ้นในอนาคตที่ถูกต้องแม่นยำ 100%
.
"คนรู้กว้าง" อาจจะรู้เพียงระดับ 1-2 เท่านั้น ขณะที่ "คนรู้ลึก" อาจจะรู้ข้อมูลลึกถึง Level 3 หรืออาจจะถึง 4 ในบางด้าน ซึ่งอาจจะทำได้เพียงบางบริษัทในอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่หรือมีคนในที่รู้จักกันดี ส่วน Level 5 อาจจะมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่ล่วงรู้
.
กลับมาที่คำถาม
ในด้านการลงทุนละ "รู้ลึก vs รู้กว้าง" อะไรสำคัญมากกว่ากันนะ?
.
ส่วนตัวคิดว่ามันอาจจะไม่มีอะไรผิดหรือถูก แต่มันขึ้นอยู่กับ "วิธีการลงทุนของคุณ" ครับ การศึกษาบริษัทใดบริษัทหนึ่งแบบรู้ลึกมากๆอาจจะช่วยให้คุณกล้าและ Focus ลงทุนหุ้นน้อยตัวได้อย่างมั่นใจ ส่วนการรู้กว้างนั้นอาจจะช่วยให้มีตัวเลือกมากกว่า มีข้อดีในการคิด Integrate ระหว่างอุตสาหกรรมได้มากกว่า แต่อาจจะถือแบบ Focus เพียง 1-2 ไม่ได้
.
บางคนที่เน้น "เล่นท่ายาก" ซื้อหุ้นที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและต้องการผลตอบแทนสูง อาจจะมองว่าต้องรู้อย่างน้อยๆถึง Level 3 จึงจะถือหุ้นได้อย่างมั่นใจ ในขณะที่บางคนที่คาดหวังผลตอบแทนไม่มากอาจจะรู้เพียง Level1 และเลือก "หุ้นเรียบง่าย" ที่คนทั่วไปเห็นชัดเจนว่าดีจริงๆ และเข้าซื้อตอนที่มี Margin of Safety สูง อาจจะเพียงพอแล้วกับความสบายใจ
.
สิ่งสำคัญมากกว่า คือ ทั้งหมดที่รู้ควรจะเป็นเรื่องที่ "รู้จริง" ในหลายๆครั้ง "การรู้ลึก แต่รู้ไม่จริง" เช่น เจอผู้บริหารหลอก อาจจะเป็นความผิดพลาดในการลงทุนครั้งใหญ่ ความรู้ในระดับ Inside ที่ได้ยินจากผู้อื่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ฟังหูไว้หู
.
ดังนั้น คำถามที่น่าถามมากกว่า คือ คุณมี "ความรู้จริงๆ" ที่เพียงพอกับการลงทุนอย่างสบายใจและเหมาะกับวิธีของตัวเองรึเปล่ามากกว่าครับ เมื่อรู้ลึกจนรู้สึกว่าสบายใจแล้ว ก็หันไปเน้นการรู้กว้าง โดย ศึกษาหุ้นตัวอื่นๆเพิ่ม
.
สำหรับผมเองชอบการลงทุนท่าง่ายๆ ที่เน้นจัดพอร์ตหุ้นเรียบง่ายหลายๆตัว แต่อย่างน้อยๆคงต้องรู้ถึง DCA เข้าใจจุดตายและพอคาดการณ์อนาคตของกิจการได้บ้าง ซึ่งอาจจะใช้ความรู้ลึกใน Level 1-2 ส่วนที่เหลือ คือ เพิ่มความรู้กว้างในหุ้นหลายๆตัว เพื่อให้หาโอกาสลงทุนหุ้นที่ราคาไม่แพงให้เจอได้ไม่ยาก
.
สุดท้ายที่ผมคิดว่าไม่ Work แน่ๆ คือ
"การลงทุนอย่างมั่นใจ โดย ที่คิดว่าตัวเองมีความรู้อยู๋ใน Level 0 หรือ Level 5"
.
ทั้งหมดเป็นแค่มุมมองของผมเพียงคนเดียว อาจจะถูกบ้างผิดบ้างนะครับ ใครมีความคิดเห็นอย่างไรสามารถ comment มาคุยกันได้เลยนะครับ : )
Writer: Pocket investor
โพสต์โพสต์