สรุปความรู้เก็บตกเพิ่มเติมจาก Seminar Thaivi 19

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
earthcu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 362
ผู้ติดตาม: 99

สรุปความรู้เก็บตกเพิ่มเติมจาก Seminar Thaivi 19

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เนื่องด้วยมีโอกาสร่วมงาน Seminar Thaivi 19 ที่ผ่านมา
จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้เก็บตกบางส่วนเผื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นๆที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ครับ

1.พึงระวังบริษัทที่มีรายได้จำนวนมากแค่ในช่วง Period สั้นๆ แล้วหลังจากนั้นรายได้หลักตกลงไปแบบมีนัยยะ ถ้าเจอบริษัทลักษณะนั้นการที่เราจะประเมินมูลค่าโดยใช้วิธี P/E (P/E ที่เหมาะสม x กับ EPS ของบริษัท) ถือว่าไม่ถูกต้อง อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีประเมินแบบหา Cashflow ของบริษัทแล้ว convert กลับมาเป็น NPV ของกิจการแทน

2.Sure แค่ไหนถึงจะลงทุนในหุ้นบริษัทนึง
บางทีการลงทุนอาจจะไม่ต้องการความมั่นใจในตัวหุ้น 100% ก่อนการลงทุนหุ้นนั้น เพราะในบางครั้งกว่าจะรอให้เรามั่นใจในหุ้น 100% , Valuation ของหุ้นก็อาจจะตึงแล้ว เพราะว่าบริษัทเริ่มจะดีจนคนส่วนใหญ่ในตลาดทราบแล้ว ซึ่งถ้าบางครั้งเรามั่นใจ 70-80% ก็ถือว่าลงทุนได้แล้ว เราจะกำไรได้เยอะถ้าตลาดหุ้นหรือคนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าบริษัทดีจริง
(หมายเหตุ : อย่างไรก็ตามเราก็ต้องทำการบ้านเพื่อปิดประเด็นสำคัญๆที่เป็นจุดตายของบริษัทให้ครบ)

3.Dhandho investing ถ้าถูกได้กำไรสูง ถ้าผิดขาดทุนนิดหน่อย ขยายความคือ
ลักษณะคือซื้อไม่บ่อย ซื้อเมื่อเจอโอกาสครั้งใหญ่เท่านั้น โดยจะเฟ้นหาหุ้นหรือการลงทุนที่ตลาดประเมินพลาดหรือยังไม่สะท้อนมูลค่าของมัน และซื้อมันในโอกาสเจ็บตัวจากการแพ้ต่ำ หรือ ความเสี่ยงต่ำหากเทียบกับผลตอบแทนที่คาดหวัง (Risk/Reward) ซึ่งโดยปกติจะเทียบ ความเสี่ยง:ต่อผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับที่ 1:3 ถึง 1:5
อธิบายง่าย ๆ คือ ถ้าคิดว่าการลงทุนครั้งนี้ เขาคิดว่าอาจขาดทุนได้ถึง 100% Pabrai จะซื้อเมื่อเทียบกันแล้ว เห็นว่าเขามีโอกาสสร้างกำไรได้ 300-500% เท่านั้น หรือถ้าการลงทุนครั้งนั้นมีโอกาสขาดทุน 20% เขาจะลงทุนเฉพาะเมื่อคาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 60-100% เท่านั้น หากเขาแพ้ เขาก็จะปล่อยวางมันและหาเดิมพัน ‘dhandho’ ครั้งใหม่ เพราะถ้าคุณชนะครั้งเดียวก็สามารถล้างขาดทุนได้แล้ว
(Credit : From Web Finnomena)


4.Scuttlebutt การแกะรอย
ในที่นี้ ก็คือการที่เราเข้าไปหามุมมองต่อสินค้าหรือบริการทั้งจากบริษัทที่เราสนใจหรือแม้แต่ไปตามหาเอาจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการดูงบการเงิน เสพข่าว หรือการฟังการรายงานจากผู้บริหาร เพื่อนำไปตรวจสอบว่าข้อมูลเหล่านี้ เป็นจริงมากน้อยเพียงใด
(Credit : From Web ลงทุนแมน)
โดยพี่หลายๆท่านที่ลงทุนเก่งๆ มักจะมีการไปแกะรอยบริษัท จากหลายๆแหล่งไม่ว่าจะเป็นการไปดูกิจการบริษัท, การทดลองใช้บริการ/ผลิตภัณฑ์ ของบริษัท, การหา feedback จากผู้ใช้บริการท่านอื่น, การหาข้อมูลจาก Supplier ที่ Supply สินค้า/วัตถุดิบให้บริษัทนั้นเป็นต้น เพื่อใช้ในการประเมินบริษัท

4.สภาพอากาศแบบเอลนีโญ ปีนี้ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศแบบนี้ซึ่งจะส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกิจการบางอย่างที่อาจจะได้รายได้เพิ่มขึ้น และกิจการบางอย่างอาจจะได้รายได้น้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยนึงที่ส่งผลต่อกำไรของบริษัทบางกิจการ

5.กิจการบางอย่าง ให้พึงระวังจากการที่พึ่งพิงลูกค้าหลักที่มี % ยอดขายสูง หรือบางธุรกิจที่เป็นธุรกิจ OEM เพราะถ้าเกิด worst case ขึ้น บริษัทเสียลูกค้ารายนั้นก็จะส่งผลอย่างหนักต่อรายได้และกำไรและของบริษัท

6.เคล็ดลับอย่างนึงของการศึกษาผู้ถือหุ้นใหญ่, ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท คือให้ลองนำชื่อเหล่านั้นไปลอง search ข้อมูลใน Google อาจจะทำให้เราทราบประวัติในแง่ที่ไม่ดีบางอย่างของคนเหล่านั้นได้

7.บางบริษัทที่มีรายได้หรือกำไรพิเศษในบางช่วง เช่นช่วง Covid-19 ให้ลองพิจารณาดูว่า ฐานรายได้ที่กลับมาสู่ปกติจะเป็นเท่าไน และประเมินบริษัทในอนาคตจากฐานรายได้ใหม่เท่านั้น

8.Detail เป็นสิ่งสำคัญ แพ้ชนะกันอาจจะแค่ Detail รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ซึ่งบางทีการตั้งคำถามบางอย่างจะนำไปสู่การหาข้อมูลบางอย่างที่สำคัญและสามารถทำให้เราประเมินมูลค่าของบริษัทที่แม่นยำยิ่งขึ้น

9.การที่จะซื้อหุ้นตามผู้บริหารหรือเจ้าของที่มีสัดส่วนถือหุ้นเยอะๆเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะต้องระวังด้วยเพราะผู้บริหาร/เจ้าของบางคนนั้นต่อให้ถือหุ้นในบริษัทนั้นในสัดส่วนที่มากแต่จริงๆแล้วเงินก้อนนี้เทียบกับความมั่งคั่งในภาพใหญ่ของเขาแล้วอาจจะถือว่าเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยก็เป็นได้

10.เวลาในการขายหุ้น
1.)เจอหุ้นตัวอื่นที่ Upside มากกว่า
2.)หุ้นเติบโตที่เริ่มชะลอการเติบโต บางทีควรพิจารณาขายเพราะ P/E เทียบกับการเติบโต อาจจะเริ่มตึงจนเกินไป
3.)ซื้อหุ้นที่ราคาถูก แล้วถึง Fair Price ของหุ้น ก็อาจจะเป็นจุดขาย กรณีที่ดูว่าเป็นหุ้นที่ไม่โตแล้ว

11.เวลาลงทุนอย่าไปคาดหวังว่าเราจะไปขายที่ราคา Peak บางทีเราก็อาจจะขายหมูแต่ให้ใช้วิธีทยอยขาย

12.ระวังการ เด็ดดอกไม้ รดน้ำวัชพืช (Profit Cut Short, Let Loss Run)
(หลายๆคนมักจะพยายามขายหุ้นตัวที่มีกำไร แต่เก็บหุ้นที่ตัวราคาขาดทุนโดยไม่ยอมขาย ทั้งๆที่หุ้นหลายๆตัวที่กำไรนั้นอาจจะเป็นหุ้นแข็งแกร่งที่ชนะตลาด ซึ่งมีหลายคนในตลาดที่อยากเก็บหุ้นเหล่านั้น ซึ่งเราเองควรจะระวังไปขายหุ้นตัวที่ดีที่สุด)

13.Circle of Competence : เลือกหุ้นที่อยู่ในขอบข่ายความรู้ของเราเท่านั้น

14.วิธีการเลือกหุ้นของนักลงทุนมือใหม่
หา Universe (บริษัทที่อยู่ในชีวิตประจำวัน) เช่นเวลาเราเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็พยายามดูว่ามีสินค้าของบริษัทอะไรบ้าง เราอาจจะหาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ได้หลายสิบบริษัท รวมไปถึงเวลาเดินห้างสรรพสินค้าก็เช่นกัน ลองใช้บริการ/สินค้า ของบริษัท (Scuttlebutt) พยายามถามคนอื่นเยอะๆว่าคิดยังไงกับสินค้า/บริการของบริษัทนั้นๆ เป็นข้อมูลช่วงแรกก่อนที่จะไปดูรายละเอียดของบริษัทในแง่อย่างอื่นๆ
(มือใหม่อย่าเพิ่งเล่นท่ายาก)

ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีโอกาสได้เลือกหุ้นปีละ 5 ตัว ซึ่งนักเรียนเหล่านั้นก็พยายามเลือกจากธุรกิจที่เขารู้จักและชื่นชอบ เช่นบริษัทเกี่ยวกับเกมหรือศิลปินต่างชาติที่เขาชื่นชอบ ซึ่งหลังจากผ่านไปมาดูผลตอบแทนก็สามารถที่จะเอาชนะตลาดหรือนักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดได้เช่นกัน

15.เวลาดู Research นั้น ถ้าจะให้ดีเราควรที่จะดูเหตุผลของ Research เป็นหลัก เพราะเราจะได้นำเหตุผลนั้นไปต่อยอดเพื่อประเมินหารายได้/ค่าใช้จ่าย ของบริษัทเพื่อหากำไรของบริษัทและประเมินมูลค่าของบริษัทได้ อย่าดูแต่ตัวเลขใน research เช่นราคาเป้าหมาย แล้วนำไปใช้ในการลงทุนเลย

16.ตัวอย่างหุ้นที่มียังมีโอกาส : หุ้น TAM ใหญ่ (TAM : Total Addressable Market มูลค่าการตลาดทั้งหมดเท่าที่เป็นไปได้) โดยทีปัจจุบันมี Market Cap ไม่เยอะ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น Megatrend ซึ่งอาจจะโตได้ดีกว่า

17.ให้ระวังหุ้นที่เข้าตลาดด้วยวิธีการ Backdoor, บริษัทที่เปลี่ยนชื่อบริษัทบ่อยๆ, บริษัทที่พยายามใช้ชื่อแปลกๆ,เท่ๆ

18.วิธีการนึงในการดูผู้บริหารคือให้ไปลองไล่ดู Oppday ย้อนหลังของบริษัท ยิ่งเยอะยิ่งดี เช่น ดู Oppday 8 ไตรมาสย้อนหลังจากนั้นไปดูสิ่งที่ผู้บริหารให้คำสัญญากับผลงานจริงว่าสอดคล้องกันไหม


19.วิธีการนึงของการประเมินมูลค่าหุ้น คือเข้าใจ concept ของ DCF เพื่อใช้ในการประเมินโดย P/E method

ขออนุญาติใช้อ้างอิงข้อมูลจากพี่ Jaxks ที่ส่งให้ ซึ่งเป็นบทความเก่าของพี่ Invisible Hand ในอดีตครับ

ต้องทำ DCF ด้วยหรือไม่ ?
-INVISIBLE HAND-
-- -- -- -- -- -- -- -- -- --
หลายคนอาจจะสงสัยว่า VI จำเป็นต้องทำ model การหา valuation ด้วยวิธี DCF หรือไม่ หากถามผมๆ คิดว่าถ้าทำอาจจะทำให้สบายใจและมั่นใจขึ้นได้แต่คิดว่าไม่จำเป็น แต่ก่อนที่ผมจะสรุปว่าไม่จำเป็นผมจึงต้องอธิบายที่มาของการคิด DCF คร่าวๆ ก่อนครับ

DCF = กระแสเงินสดในอนาคตเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present value) + เงินสด (หนี้สิน) สุทธิ

การทำมูลค่าในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน คือ การ discount ด้วยอัตราดอกเบี้ย discount rate

ถ้า discount rate เท่ากับ 10% เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่า 100 บาท ในปัจจุบัน เหตุผลที่เงิน 110 บาทใน 1 ปีข้างหน้ามีมูลค่า 100 บาทในปัจจุบันเนื่องจากหากนำเงิน 100 บาทไปลงทุนโดยได้ผลตอบแทนเท่ากับ 10% เงิน 100 บาทในปัจจุบันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 110 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า
..
หากมีใครมาถามเราว่าให้เลือกระหว่างได้เงิน 100 บาทในปีนี้ หรือจะเลือกเงิน 110 บาทในปีหน้า ภายใต้สมมุติฐานว่าเราสามารถนำเงินลงทุนได้ผลตอบแทน 10% เราจะเลือกแบบไหน คำตอบที่หลายคนจะตอบก็คือ เลือก 100 บาทวันนี้ เพราะถ้าเป็นปีหน้าเดี๋ยวคนให้เงินจะเปลี่ยนใจไม่ให้แล้ว แต่คำตอบในเชิงการเงินก็คือ เลือกแบบไหนก็ได้ ค่าเท่ากันครับ
..
ดังนั้นเงิน 100 บาทในปัจจุบัน จะมีมูลค่ามากกว่า 100 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้ามาก หรืออาจจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน 200 บาทในอีก 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไปครับหากอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมากพอ
..
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับการหามูลค่าปัจจุบันหรือ present value แล้ว ตัว discount rate หรือที่ศัพท์ทางการเงินเรียกว่า WACC โดยถ้าหุ้น 2 ตัวมีปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด หุ้นตัวที่ใช้ discount rate สูงจะมีมูลค่าแบบ DCFต่ำกว่า

สำหรับ discount rate นั้นขึ้นกับตัวแปรต่างๆ ดังนี้ครับ
- อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ย ( yield ) ของพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นตัวอ้างอิง ถ้าดอกเบี้ยสูง discount rate ก็จะสูง

- Beta คือ ความผันผวนของราคาหุ้นตัวนั้นๆ เทียบกับความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง beta ในทางทฤษฎีการเงินคือเป็นตัววัดความเสี่ยงของหุ้นตัวนั้น โดยตั้งอยู่ในสมมุติฐานว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงจะมี beta สูง คือจะมีความผันผวนของราคาสูง ซึ่งทฤษฎีนี้ใกล้เคียงความจริงหรือไม่ผมคิดว่าก็มีความใกล้เคียงอยู่บ้าง เช่น หุ้นที่มี beta สูงในตลาดไทย เช่น หุ้นไฟแนนซ์ หุ้นรับเหมาก่อสร้าง หุ้นอสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ซึ่งล้วนแล้วมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง ส่วนหุ้นที่มี beta ต่ำก็มักจะเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำกว่า หุ้นที่มี beta สูง discount rate ก็จะสูงตามไปด้วยครับ

ถึงตรงนี้เราได้ 2 ประเด็นแล้วครับว่า ถ้าช่วงไหนดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น discount rate ที่ใช้คำนวณ DCF ก็จะสูง ทำให้ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อดอกเบี้ยลดลงและมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงเมื่อมีข่าวว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หุ้นมักจะมี p/e ต่ำ แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง หุ้นจะมี p/e สูง

ส่วนเรื่อง beta หรือความเสี่ยงนั้น ก็เช่นกันครับ หุ้นที่มีความเสี่ยงหรือ beta สูง ก็จะทำให้ discount rate สูง ราคาหุ้นตามวิธี DCF ก็จะต่ำลง ดังนั้นหุ้นที่มี beta หรือความเสี่ยงสูง ก็ควรจะมี p/e ต่ำกว่าหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ
..
การคิดกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow มีสูตรดังนี้ครับ

Free cash flow = กำไรสุทธิ + ค่าเสื่อมราคา + การเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน + รายจ่ายลงทุนในสินทรัพย์

เงินทุนหมุนเวียน คือ เงินสดที่ต้องใช้ในการซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในการขายสินค้าและบริการ

รายการการเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น ลบ ก็ต่อเมื่อ
- มีการ เพิ่มขึ้น ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ เพราะต้องใช้เงินในการซื้อวัตถุดิบ
- มีการ เพิ่มขึ้น ของลูกหนี้การค้า แสดงว่ารายได้ 100 บาท เข้ามาเป็นเงินสดไม่ถึง 100 บาท
- มีการ ลดลง ของเจ้าหนี้การค้า แสดงว่ารายจ่าย 100 บาท ยังไม่ต้องจ่ายทั้งหมด 100 บาทในทันที

การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะเป็น บวก ก็ต่อเมื่อ
- มีการ ลดลง ของสินค้าคงคลังและวัตถุดิบ แสดงว่าสินค้าที่ขายออกไปมีมากกว่าที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามา
- มีการ ลดลง ของลูกหนี้การค้า
- มีการ เพิ่มขึ้น ของเจ้าหนี้การค้า
..
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในธุรกิจทั่วๆไป เมื่อมีการขยายกิจการ คือ มีการผลิตสินค้ามากขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการสั่งวัตถุดิบและมีจำนวนสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้นก็ย่อมทำให้ลูกหนี้การค้ามากขึ้น ดังนั้นธุรกิจทั่วๆ ไปเมื่อมีการขยายกิจการจะทำให้การเปลี่ยนแปลงเงินทุนหมุนเวียนจะติดลบ คือธุรกิจนั้นๆ จะต้องใช้เงินสดในกิจการมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่แม้ยอดขายเพิ่มขึ้นและกำไรเพิ่มขึ้น แต่เงินสดที่เข้ามาในบริษัทมักจะต่ำกว่ากำไร แต่ธุรกิจที่เมื่อขยายสาขาหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่กลับยิ่งมีเงินสดมากขึ้น คือธุรกิจค้าปลีก เพราะมีการขายเป็นเงินสด แต่จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อ ดังนั้นวันที่เปิดสาขาใหม่ ก็จะได้เงินสดมาทันทีแต่เงินสดนั้นจะถูกจ่ายให้กับเจ้าหนี้ในอีก 45-60 วัน ดังนั้นหากมีการคิด DCF ธุรกิจค้าปลีกเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ถ้ากำไรสุทธิต่อปีเท่าๆ กัน ธุรกิจค้าปลีกจะมีกระแสเงินสดสุทธิ หรือ Free cash flow สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมหุ้นค้าปลีกจึงมี p/e สูงกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่มีการเติบโตของกำไรเท่าๆ กัน
ยิ่งธุรกิจใดให้เครดิตลูกหนี้การค้ายิ่งนาน บริษัทนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียนติดลบมากกว่าบริษัทที่ให้เครดิตลูกหนี้สั้นกว่า และบริษัทใดที่ขายสินค้าเป็นเงินสด ก็จะทำให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ามาก

บริษัทใดที่มีการขายสินค้าโดยใช้เวลานาน ก็จะใช้เงินทุนหมุนเวียนมากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าในเวลาอันสั้นกว่า และอย่างที่ผมพูดไปในหน้าก่อนๆ คือ ยิ่งขายได้เร็วก็ทำให้ผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูง ดังนั้นสิ่งที่เถ้าแก่คนจีนนิยมทำนานมาแล้วคือ เน้นการขายเร็วๆ มากๆ เอา volume ก็เป็นความคิดที่ถูกต้องตามทฤษฎีการเงิน แม้ว่าอาเฮียเหล่านั้นจะไม่ได้เรียน MBA มาก็ตาม

รายจ่ายในการลงทุนในสินทรัพย์ เป็นรายการ ลบ ในการหา Free cash flow ยิ่งมีการลงทุนมากๆ Free cash flow ก็ยิ่งมีโอกาสติดลบมากขึ้น ดังนั้นหุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการขยายกิจการ ก็จะทำให้ Free cash flow ติดลบมากกว่าหุ้นที่สามารถขยายกิจการโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยทั่วไปหุ้นในภาคการผลิต อุตสาหกรรม มักจะต้องใช้เงินลงทุนในการขยายกิจการมากกว่าหุ้นประเภทธุรกิจบริการ เมื่อใช้เงินทุนน้อย กระแสเงินสดก็จะเป็นบวกได้มากกว่า หุ้นภาคบริการมักจะมีมูลค่าแบบ DCF สูงกว่าหุ้นในภาคการผลิตแม้ว่าจะมีกำไรสุทธิในแต่ละปีหรือปัจจัยอื่นๆใกล้กัน ดังนั้นหุ้นที่ทำธุรกิจบริการมักจะมี p/e สูงกว่าหุ้นในภาคอุตสาหกรรม

หุ้นที่ต้องใช้เงินลงทุนหมุนเวียน (เงินสด) จำนวนมากในการเพิ่มยอดขาย มักจะต้องมีการกู้เงินระยะสั้น หรือ Bank O/D จากธนาคารเพื่อมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน และยังอยู่ในธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกำลังการผลิต และยิ่งหุ้นดังกล่าวมีหนี้ในสัดส่วนที่สูงด้วยนั้น หุ้นประเภทดังกล่าวมักจะมีโอกาสสูงที่จะต้องหาแหล่งเงินทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกู้เงินเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่ติดลบในอนาคต ดังนั้นหุ้นที่มีลักษณะเหล่านี้ร่วมกันจึงมีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนสูง เมื่อหุ้นมีการเพิ่มทุนก็ย่อมทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ดังนั้นหุ้นที่มีความเสี่ยงในการเพิ่มทุนมักจะมี p/e ที่ต่ำกว่าหุ้นที่สามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องเพิ่มทุน
..
การเติบโตทางธุรกิจ
เนื่องจากการทำ DCF คือการประมาณกระแสเงินสดในอนาคต ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตในอนาคตสูง ก็จะมีกระแสเงินสดในอนาคตที่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันมาก ดังนั้นหุ้นที่มีการเติบโตสูงจึงจะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีการเติบโตต่ำ
..
ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อการคำนวณ DCF ก็คือ มูลค่าเงินสด หรือหนี้สินสุทธิ ซึ่งก็คือ

เงินสดสุทธิ = เงินสดในบริษัท - หนี้สินระยะยาว - หนี้สินระยะสั้นที่มีดอกเบี้ย

ถ้าปัจจัยทุกอย่างเหมือนกันหมด หุ้นที่มีเงินสดสุทธิเป็นบวกก็จะมี DCF สูงกว่าหุ้นที่มีหนี้สิน

สรุป
มูลค่าหุ้นตามแบบ DCF จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญดังนี้ครับ
- อัตราดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง มูลค่า DCFจะสูงขึ้น
- ความเสี่ยงของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง DCF ก็จะต่ำ
- การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ DCF จะต่ำ
- การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ DCF จะสูง
- ขายสินค้าได้เร็ว มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ DCF จะสูง
- ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ ในการขยายกิจการ เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี DCF จะต่ำ
- มีการเติบโตสูง DCF จะสูง
- มีหนี้มากๆ DCF จะต่ำ

สำหรับ DCF กับ p/e จะมีความสัมพันธ์กัน หากหุ้น 2 ตัวที่ปัจจุบันมีกำไรสุทธิเท่ากัน หุ้นตัวที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF สูงกว่า จะมี p/e ที่เหมาะสมสูงกว่าหุ้นที่มีราคาเป้าหมายโดยวิธี DCF ต่ำกว่า ดังนั้น ด้วยย่อหน้าข้างบน เราสามารถเปลี่ยนคำว่า DCF เป็น p/e ได้เป็น
- อัตราดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยต่ำลง p/e ของหุ้นจะสูงขึ้น
- ความเสี่ยงของธุรกิจ ถ้าธุรกิจมีความเสี่ยงสูง p/e ก็จะต่ำ
- การให้เครดิตลูกค้ายาวๆ p/e จะต่ำ
- การได้รับเครดิตจากเจ้าหนี้การค้ายาวๆ p/e จะสูง
- ขายสินค้าได้เร็ว มีการเก็บสินค้าคงคลังต่ำ p/e จะสูง
- ต้องมีการลงทุนจำนวนมากๆ ในการขยายกิจการ เมื่อเทียบกับกระแสเงินสดในแต่ละปี p/e จะต่ำ
- มีการเติบโตสูง p/e จะสูง
- มีหนี้มากๆ p/e จะต่ำ

เมื่อเราเข้าใจหลักของ DCF แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ model DCF ก็ได้ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่เราต้องการวิเคราะห์นั้นเป็นอย่างไร มีการเติบโตสูงหรือต่ำ มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงหรือไม่ เมื่อต้องการขยายธุรกิจต้องใช้เงินทุนจำนวนมากหรือไม่ มีหนี้มากหรือน้อยเพียงใด



ผมขออนุญาตเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ตามที่ผมเข้าใจครับ รวมไปถึงอาจจะอธิบายเพิ่มเติมในบางจุดเพื่อให้เพื่อนๆท่านอื่นๆเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งลำดับของเนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับที่ทางวิทยากรได้พูด ในกรณีที่อาจจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่วิทยากรต้องการสื่อสาร ผมขอความกรุณาเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปฟังในวันดังกล่าวช่วยแนะนำเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ด้วยครับ

ขอขอบคุณวิทยากรทุกๆท่าน ที่กรุณาให้ความรู้คำแนะนำในด้านการลงทุนแก่ผมและนักลงทุนท่านอื่นๆเป็นอย่างสูงครับ
ขอขอบคุณพี่ๆทีมงานที่จัดงานทุกท่านครับ
และขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านครับที่ช่วยแนะนำความรู้ในด้านการลงทุนให้ผมอยู่เสมอๆ

ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ
earthcu/ 15 Jun 23
(2 Years Promise)
Life is beautiful + Financial freedom within 2015 by investment stock & real estate
โพสต์โพสต์