6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันนี้ผมจะเขียนถึงการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนไทยและประเทศไทย
ครั้งที่แล้ว ผมเขียนถึงการพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งจะต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทย ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำ และการปกป้องผลประโยชน์ของไทยในตลาดโลก เพราะสหภาพยุโรปกำลังออกกฎหมาย 2 ฉบับ ที่จะกดดันประเทศคู่ค้าให้เข้มงวดเกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ตรงนี้เป็นจังหวะที่ดีที่ประเทศไทย จะรีบเร่งการเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ก่อนยุบสภาเมื่อต้นปีนี้

วันนี้ผมจะเขียนถึงการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสร้างอนาคตให้กับเยาวชนไทยและประเทศไทย

ในความเห็นของผม การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนไทยทุกคน เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะการมีการศึกษาและมีความรู้ติดตัวไปอย่างเสมอภาคกันของเด็กไทย ย่อมเป็นการให้โอกาสในการทำอาชีพและสร้างอนาคตที่ดีโดยถ้วนหน้ากัน

การสำรวจการศึกษาของไทย (เดือน พ.ย.2565) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าจากจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 12.22 ล้านคนนั้น มีนักเรียนออกกลางคันมากถึง 52,808 คน มติชนสุดสัปดาห์ (5-11 พ.ค.2566) ยังอ้าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวถึงการคาดการณ์ว่าในปีการศึกษา 2566 จะมีเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยเพิ่มขึ้นเป็น 23,000 คน

นอกจากนั้นยังพบว่าประเทศไทยมีจำนวนสถานศึกษาทั้งสิ้น 56,776 แห่ง เป็นสถานศึกษาขนาดเล็กมากถึง 35,272 แห่ง มีนักเรียนในสถานศึกษาดังกล่าว 1.78 ล้านคนและครูสอน 115,635 คน

เมื่อผมนำเอาจำนวนโรงเรียนไปหารจำนวนนักเรียนกับจำนวนครูสอนก็พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าวมีนักเรียนเฉลี่ยเพียง 47.47 คน ต่อโรงเรียน และมีจำนวนครูต่อโรงเรียน 3.28 คน แปลว่าประเทศไทยมีจำนวนโรงเรียนมากเกินไป และเนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยยังลดลงอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า

ปัญหานี้ก็จะที่หนักหน่วงมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องควบรวมเพื่อลดจำนวนโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนและจำนวนครูสอนที่เพียงพอ

สำหรับจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2562 พบว่า มี 15,158 โรง นักเรียน 981,831 คน ครู 103,079 คน

ค่าเฉลี่ยสัดส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรง จะมีนักเรียนประมาณ 65 คน จำนวนครูต่อโรงเรียน 6.8 คน ครูต่อนักเรียนเท่ากับ 1 : 9.5 โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มี 8,992 โรง และที่มีนักเรียนน้อยกว่า 40 คน 2,799 โรง

ปัญหาหลัก คือ 1) งบประมาณไม่พอเพียง เพราะโรงเรียนจะได้รับงบประมาณตามจำนวนนักเรียน (ครู 1 คน ต่อ นักเรียน 20 คน) และ 2) ครูไม่ครบชั้นและไม่ครบสาระวิชาตามหลักสูตร (ที่มา : “โรงเรียนขนาดเล็ก : ปัญหาที่ต้องตัดสินใจ” วารสารสิรินธรปริทรรศน์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย.2565)

คุณภาพการศึกษาของไทยนั้น ย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นมาร่วม 20 ปีแล้ว (จำนวนเด็กไทยเริ่มลดลงประมาณ 25 ปีที่แล้ว) เห็นได้จากข้อมูลดังนี้

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (3) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

1.คะแนน Pisa ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กลุ่มประเทศ OECD ใช้ในการวัดความสามารถของเด็กอายุ 15 ปี ในวิชาการอ่าน วิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์นั้น สำหรับเด็กไทยในปีล่าสุด (2561) อยู่ที่ระดับต่ำกว่าเฉลี่ย 231 คะแนน กล่าวคือ เด็กไทยได้ 1,238 คะแนน จากค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่ 1,469 คะแนน

2.คะแนน Pisa ในวิชาที่สำคัญที่สุดคือการอ่าน ซึ่งคะแนนของเด็กไทยนั้นลดลงในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา จาก 431 คะแนนในปี 2543 มาเป็น 393 คะแนนในปี 2561 นับเป็นอันดับ 68 จาก 79 ประเทศ

3.งานวิจัยของธนาคารโลกพบว่า เด็กไทยอายุ 15 ปีนั้น 33% แม้จะอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ (functionally illiterate) และสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 47% สำหรับเด็กไทยที่อาศัยอยู่ในชนบท

4.การทดสอบความคิดอย่างเป็นระบบ (logical thinking) กับทักษะในเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) ของเด็กไทยมีสอบผ่านเกณฑ์ดังกล่าวเพียง 2%

5.องค์กร English First (ของสวิตเซอร์แลนด์) จัดอันดับเด็กไทยที่ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลกและอันดับ 21 จาก 24 ประเทศในเอเชีย

นอกจากนั้น คุณครูของไทยก็ยังเผชิญปัญหาหนี้สิน กล่าวคือคุณครู (ทั้งที่เกษียณแล้วและยังทำงานอยู่) 9 แสนคนมีหนี้สินรวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 1.5 ล้านบาท เทียบกับการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อ ส.ค.ปีที่แล้ว พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยนั้นเฉลี่ยเท่ากับ 501,711 บาทต่อครัวเรือน การที่หนี้ครูมีจำนวนมากเช่นนี้ย่อมกระทบต่อคุณภาพการสอนไม่มากก็น้อย

ใน 20 ปีข้างหน้า จำนวนเด็กนักเรียนน่าจะต้องลดลงไปได้อีก 3-4 ล้านนคน ในขณะที่จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานน่าจะลดลง 5-6 ล้านคน แปลว่าประชากรไทยในวัยทำงานที่มีจำนวนลดลงจะต้องมีคุณภาพ มีศักยภาพ และผลผลิตต่อคน เพิ่มขึ้นอย่างมาก หากต้องการจะให้จีดีพีโดยรวมขยายตัวได้มากถึง 5% ต่อปี

นอกจากนั้น จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 8 ล้านคนจาก 12 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 20 ล้านคนในปี 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น รัฐบาลจึงจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการให้การดูแลผู้สูงอายุ หมายความว่าต้องเก็บภาษีมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการปรับปรุงทักษะของแรงงานไทย (การ upskill และ reskill ที่ต้องทำตลอดชีวิตทำงาน) จึงต้องเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อการอยู่รอด การลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างอนาคตที่ดีให้กับคนไทยครับ
โพสต์โพสต์