การเกษตรของประเทศไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

การเกษตรของประเทศไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงจุดอ่อนของการศึกษาของไทย ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว รองลงมาจากการศึกษาคือ ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปภาคเกษตรของไทย
ผมเชื่อว่า การปฏิรูปการศึกษาจะนำมาซึ่งการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเด็กไทยทุกคน ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ตรงจุดมากที่สุดอีกด้วย ขณะที่ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปภาคเกษตรของไทย ซึ่งผมคงจะไม่ต้องขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่จะขอนำข้อมูลที่บ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาในภาคเกษตรคือ

1.ภาคเกษตรมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.5% ต่อจีดีพีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

โดยที่รัฐบาลจ่ายเงินค่าประกันรายได้และประกันราคาพืชผลหลักปีละกว่า 1 แสนล้านบาท และกระทรวงเกษตรได้รับงบประมาณประจำปีประมาณ 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการสนับสนุนภาคเกษตรโดยภาครัฐบาลประมาณ 10% ของมูลค่าผลผลิต

2.ประเทศไทย มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมดประมาณ 144 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 45% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด และมีคนทำงานในภาคเกษตรประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ

ทำให้เห็นได้ว่า ภาคเกษตรมีผลผลิตที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้ลงไปในภาคเศรษฐกิจนี้ นอกจากนั้น ผลผลิตต่อไร่ ก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย สำหรับพืชหลักของประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเป็นผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าผลผลิตต่อไร่ของประเทศคู่แข่งของไทย

ดังที่ผมเคยกล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว (ในเชิงเปรียบเทียบภาคอุตสาหกรรมของไทย ผลิตสินค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 35% ของจีดีพี โดยจ้างแรงงานประมาณ 23% ของแรงงานทั้งหมด แปลว่าภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภาพสูงกว่าภาคเกษตรประมาณ 4.5 เท่า

ถามว่าภาคเกษตรนั้นมีตัวขับเคลื่อนให้แตกต่างจากในอดีตหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า "มี"

ตัวอย่างเช่น ทุเรียนซึ่งมีการส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะแซงมูลค่าการส่งออกข้าว มาเป็นสินค้าส่งออกเกษตรอันดับหนึ่งของไทย

รูปภาพ

มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยนั้นเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 2-3 ปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 คาดการณ์ว่า ประเทศไทยใช้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพียง 915,000 ไร่ เทียบกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 11.22 ล้านไร่

การปลุกทุเรียนเป็นเรื่องยาก ต้องมีความรู้ว่าควรปลูกพื้นที่ใดและบริหารจัดการอย่างไร ต้องมีเงินทุนและต้องมีเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นการแสดงให้เห็นว่า “ทางออก” ของภาคเกษตรของไทยคือปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้น

สังเกตว่าทุเรียนนั้น ไม่มีการประกันราคาและประกันรายได้ เพราะมูลค่าที่สร้างขึ้น (value-creation) นั้นมาจากการรู้และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในโลก (กรณีนี้เป็นประชาชน คนจีนเป็นหลัก) บวกกับ ความรู้ การบริหารจัดการที่ดี เทคโนโลยีและการลงทุนที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้

คำถามคือ value-creation สำหรับพืชหลักของไทย เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังและอ้อย อยู่ที่ตรงไหน คำตอบคงจะชี้ไปที่การลงทุนและใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น

รวมถึงการตอบโจทย์ล่าสุด ที่การเผาซังข้าวโพดและต้นอ้อย (ก่อนใช้คนตัด) กำลังสร้างปัญหามลพิษ ที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทยและคนในประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนจะปิดกั้น การพัฒนาให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกด้วย

ผมขอทิ้งท้ายโดยการกล่าวถึงเทคโนโลยีที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีนและอินเดีย เพื่อให้การปลูกข้าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอ้างถึงผลงานวิจัย 2 ชิ้นคือ

1.การใช้เทคโนโลยี Laser land levelling (LLL) (ตีพิมพ์ในวารสาร Precision Agriculture 14 Apr 2022) คือการเกลี่ยพื้นที่ปลูกข้าวให้ระดับเท่ากัน (land levelling) เพื่อให้ใช้น้ำในการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

เป็นการทดลองทำนาในประเทศ เขมร ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและอินเดีย พบว่า ในกรณีของประเทศไทย ผลตอบแทนสูงสุด กล่าวคือค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 บาทต่อไร่ แต่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน 100% (กล่าวคือกำไรต่อไร่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3,200 บาทต่อไร่)

ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนในการใช้น้ำและการใช้พลังงานในการปลูกข้าวแล้ว ก็ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 20-40% จากการประเมินของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) อีกด้วย

(การปลูกข้าวที่อาศัยการใช้น้ำขังจะทำให้ปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า) IRRI มีข้อสังเกตว่า LLL ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายที่อินเดียและจีน แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยังไม่ค่อยใช้ LLL มากนัก

2.การใช้ LLL ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เพิ่มรายได้ชาวนาข้าวได้ 79% (งานทดลองที่ตีพิมพ์ในวารสาร Agronomy 18 February 2023: Improving the Sustainability of Rice Cultivation in Central Thailand with Biofertilizers and Laser Land Levelling)

เป็นการทดลองปลูกข้าวโดยใช้ LLL พร้อมกับกระบวนการจัดการที่เป็นเลิศ (CROP=Thailand’s national package of best management practices for rice production) ในการปลูกข้าว กข.41 และข้าวปทุม 1 ที่นครสวรรค์และชัยนาท

ทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้น 79% การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น 57% การใช้ยาฆ่าแมลงลดลง 28% การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลดลง 60%

ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากที่ผมไม่ได้กล่าวถึง แต่ต้องการให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า การใช้เทคโนโลยีและการลงทุนในภาคเกษตร จะสามารถปฏิรูปภาคเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เป็นการสร้างอนาคตที่ดีให้กับชาวนาไทยอย่างแท้จริงครับ.
โพสต์โพสต์