สังคมสูงวัย...โจทย์ใหญ่ทั่วโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

สังคมสูงวัย...โจทย์ใหญ่ทั่วโลก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ในวันที่ประชากรของโลกแตะ 8,000 ล้านคน (15 พฤศจิกายน 2565) สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมดของโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 16% ของประชากรจำนวน 9,700 ล้านคน หรือโลกจะมีประชากรสูงวัย ประมาณ 1,552 ล้านคน ในปี 2050

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลประเทศต่างๆก็คือ ทำอย่างไรจะดูแลผู้สูงวัยเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะหางบประมาณมาจากไหน วันนี้ขอเล่าคร่าวๆถึงสิ่งที่ประเทศต่างๆได้ทำไปแล้ว หรือกำลังทำ หรือวางแผนจะทำ เพื่อให้ท่านพิจารณาว่าท่านมีทางเลือกอะไรบ้าง และสิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆนำเสนอในเวลาหาเสียงนั้น เมื่อนำมาทำจริง จะพอเป็นไปได้หรือไม่ค่ะ

จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย มีประชากรสูงวัย 19.6% ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศชาย 5,974,022 คน เพศหญิง 7,384,729 คน ในปี 2566 นี้ ก็น่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% แล้ว แต่การใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังหน่อยนะคะ เพราะไทยเราเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี ในขณะที่หลายประเทศใช้อายุ 65 ปีนับประชากรสูงวัยค่ะ

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรสูงวัย (อายุเกิน 65 ปี) มีสัดส่วน 30% ของประชากร ได้เตรียมการเรื่องนี้มาหลายสิบปี โดยในปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 โดยออกกฎหมาย LTCI (Long-term Care Insurance) บังคับให้ประชากรทุกคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน ซึ่งอัตราจะแตกต่างกันตามรายได้ของแต่ละคน และเมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 65 ปี ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆในการดูแลผู้สูงวัยได้

สวัสดิการเหล่านี้ รวมถึงการมีแพทย์หรือพยาบาลไปดูแลที่บ้าน การมีคณะกรรมการท้องถิ่นคอยทบทวนความต้องการและความถี่ของการให้บริการตามรายงานของผู้สูงวัยแต่ละคนที่ผู้จัดการการดูแลรายงานมา โดยจะมีเพดานกำหนดงบประมาณขั้นสูงของแต่ละระดับการดูแล ไม่ใช่ว่าใครต้องการอะไรก็จะได้ทั้งหมดค่ะ หากเกินงบประมาณ ทางผู้สูงวัยหรือครอบครัวก็จะต้องเป็นผู้จ่าย การประเมินความต้องการบริการนี้ทำทุกๆ 2 ปีค่ะ และทุกบริการ ผู้ใช้ต้องร่วมจ่ายอย่างน้อย 10%

เทศบาลของแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ค่ะ โดยจะเป็นผู้กำหนดค่าเบี้ยประกัน และเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับองค์กรหรือบริษัทผู้ดูแลด้วย แต่ค่าธรรมเนียมการดูแลถูกกำหนดจากรัฐบาลส่วนกลาง

ดิฉันได้มีโอกาสไปดูงานด้านนี้ และได้สอบถามผู้บริหารโรงพยาบาล พบว่า การบังคับให้มีส่วนต้องร่วมจ่ายอย่างน้อย 10% สำหรับทุกบริการนี้ ช่วยลดปัญหาการไปใช้บริการโดยไม่จำเป็นได้ดีมากๆ

แต่ปัญหาก็ยังมีค่ะ ปัจจุบันมีผู้ต้องการใช้บริการจำนวนมาก และมีจำนวนผู้ให้บริการ และบุคลากรทางสาธารณสุขไม่เพียงพอ คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้าจะขาดขาดแคลนบุคลากรถึง 3 แสนคน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามในการเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขมาช่วยดูแลผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2551-2

อีกประเทศหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงวัยซึ่งมีสัดส่วน 20.4% ของประชากรคือสวีเดน จำนวนประชากร 9.8 ล้านคน มีผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปี 2 ล้านคน ในปี 1992 ได้จัดย้ายการดูแลผู้สูงวัยไปยังท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณดูแลผู้สูงวัยถึง 3.6% ของจีดีพี โดยจีดีพี ของสวีเดนในปี 2021 เท่ากับ 635,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22.25 ล้านล้านบาท งบประมาณดูแลผู้สูงวัยรวมแล้วก็ประมาณ 801,000 ล้านบาทค่ะ ถือว่าเยอะมากๆ

จีดีพีของไทยในปี 2565 เท่ากับ 17.4 ล้านล้านบาท น้อยกว่าสวีเดน และงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 เท่ากับ 156,742 ล้านบาท!!! เท่านี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า หากไม่ให้ประชาชนช่วยกันออมเพื่อตนเอง รัฐไม่สามารถจะมีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการได้ค่ะ

ปัจจัยที่ทำให้สวีเดนสามารถดูแลจัดการผู้สูงวัยได้ดี สรุปโดยคุณ จอย อินทริอาโก (Joy Intriago) จาก seasons.com คือ การดูแลให้มีการป้องกันที่ดี (Preventive care) การสูงวัยที่บ้าน หรือ Aging in Place ถึง 90% การเข้าถึงการดูแลที่บ้าน (home health) และบริการช่วยเหลือ การที่แพทย์สั่งให้ทำกิจกรรมทางกาย (ดิฉันเดาเอาว่าทั้งสั่งแทนหรือสั่งควบคู่ไปกับการสั่งยา) และการ”รักษาทันที” โดยมีเกณฑ์การนัดพบแพทย์ได้ภายใน 7 วัน และไม่เกิน 90 วัน จะต้องได้พบแพทย์เฉพาะทางหรือได้รับการผ่าตัด

นอกจากนี้ สวีเดนยังขยายเวลาเกษียณอายุงานจาก 61 ปี เป็น 62 และ 63 ปี และมีมาตรการ และบริการอื่นๆที่สามารถลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลด้วย เช่น การตั้งเป้าหมายลดจำนวนคนไข้ใน ของโรงพยาบาล การส่งอาหารปรุงสำเร็จไปตามบ้าน (เข้าใจว่าสำหรับผู้ป่วย และผู้มีปัญหาในการกลืน) ฯลฯ

ประเทศไทยต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ มิฉะนั้นจะไม่ทันการณ์ และวางแผนเรื่องงบประมาณด้วยนะคะ หากไม่มีงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้เพียงพอ ก็ต้องใช้วิธีร่วมจ่ายแบบญี่ปุ่น นอกจากจะร่วมออมเพื่อดูแลตัวเองแล้ว ยังต้องควักกระเป๋าเองทุกครั้งที่ไปใช้บริการ เพื่อให้แน่ใจว่า มีความจำเป็นต้องใช้บริการจริงๆ

ฝรั่งเศสก็รู้ตัวว่ามีเงินไม่พอดูแลผู้สูงวัย จึงต้องการขยายเวลาเกษียณอายุงานจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ก็พบกับการประท้วงที่ยืดเยื้อและวุ่นวาย จริงๆแล้วการขยายอายุการเกษียณ ทำเพื่อแก้ไขสองปัญหา คือช่วยให้มีคนอยู่ทำงานมากขึ้น ช่วยจ่ายภาษีได้นานขึ้น กับลดระยะเวลาในการใช้สวัสดิการหลังเกษียณ ซึ่งได้รับทราบมาว่าสวัสดิการของคนเกษียณฝรั่งเศสดีมากเลยค่ะ

จริงๆแล้ว คนอายุ 60 ปียังแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้เยอะ 65-66 ปี ก็ยังสบายๆ

ถึงเวลาที่คนไทยต้องคิดและวางแผน รัฐบาลไทยต้องคิดและวางแผนแล้วค่ะ โจทย์นี้ใหญ่จริงๆ
โพสต์โพสต์