ปากท้องกับเสรีภาพต้องไปด้วยกัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

ปากท้องกับเสรีภาพต้องไปด้วยกัน/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

หัวข้อของบทความครั้งนี้ เป็นคำกล่าวของเยาวชนคนไทย ที่ไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อมีการแสดงความเห็นว่า คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่จะให้ความสนใจ ปัญหาปากท้องมากกว่า
“Freedom is a rare and delicate plant. Our minds tell us, and history confirms, that the great threat to freedom is the concentration of power” Milton Friedman

ผมเห็นด้วยอย่างมากกับคำกล่าวของเยาวชนไทย เพราะได้มีการเก็บข้อมูลและงานวิจัยหลายชิ้น ที่มีข้อสรุปว่าความเจริญทางเศรษฐกิจนั้น เกิดขึ้นกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน

เราก็จะเห็นตัวอย่างได้ในหลายกรณี เช่น ประเทศเมียนมา เกาหลีเหลือกับเกาหลีใต้ เยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก แน่นอนว่า มีกรณีที่เป็นข้อยกเว้น เช่น ประเทศสิงคโปร์

(แต่เขาก็ไม่ได้มีการปฏิวัติ 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ มีการยุบพรรคขนาดใหญ่ 3 ครั้ง และการ boycott การปฏิเสธการลงแข่งเลือกตั้งทั่วไป โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 ครั้ง ทั้งนี้ได้เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา)

ในการประเมินลำดับความเป็นประชาธิปไตยของ EIU Democracy Index 2022 นั้น ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ลำดับ 70 จาก 167 ประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ที่ลำดับ 55

อีกประเทศหนึ่งที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์คือ ประเทศจีน (ความเป็นประชาธิปไตย อยู่ที่ลำดับ 156) ซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ที่ดูจะมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา

ทั้งสองประเทศเป็นคู่ปรปักษ์ (rivals) โดยคาดหวังว่าจะเป็น “ผู้ชนะ” ได้เป็นมหาอำนาจของโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จึงมองได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้ โลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ

จะต้องดูว่าใน 10-20 ปีข้างหน้านั้น ระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบที่รวมศูนย์อำนาจ จะเป็นระบอบที่ประสบความสำเร็จมากกว่าในการนำมาซึ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและความมั่นคงและการทหาร

ที่ผมกล่าวว่า การปกครองของจีนเป็นการรวมศูนย์อำนาจนั้น หมายความว่าพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจครอบคลุมทุกๆ ด้านของการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชน มีระบบติดตามพฤติกรรมของประชาชน และให้คะแนนความประพฤติที่เรียกว่า “social credit system”

ตัวอย่างเช่นหากทำตัวเป็น “คนดี” ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือประชาชนคนอื่นๆ ในด้านการให้บริการด้านสาธารณสุข แต่หากมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ก็อาจถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือจองตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

ทั้งนี้มีรายงานของสภาหอการค้าของยุโรปในจีนระบุว่า ระบบให้สิทธิประโยชน์กับคนประพฤติดี ยังไม่ได้พัฒนาไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่ลงโทษประชาชนที่มีความประพฤติที่ไม่พึงประสงค์

(ที่มา: “What is China’s social credit system and why is it controversial” หนังสือพิมพ์ Southern China Morning Post 9 สิงหาคม 2020)

ทั้งนี้ ยังได้อ้างถึงสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ในปี 2018 ที่กล่าวกับกลุ่มธุรกิจในประเทศจีน (ทั้งที่เป็นคนจีนและชาวต่างประเทศ) ที่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบ corporate credit system ว่า “Those who lose credibility will find it hard to make a tiny step in society”

ผู้ที่นิยมชมชอบ ระบบรวมศูนย์อำนาจ มักจะกล่าวถึงข้อดีของระบบดังกล่าวว่า เป็นระบบที่นำมาซึ่งเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อย นอกจากนั้นก็ยังเป็นระบบที่มีประสิทธิผล (effective)

เพราะเมื่อต้องการจะทำอะไร ก็มีอำนาจเต็ม ทำได้โดยทันที และมีความเด็ดขาด ดังนั้นหาก (โชคดี) มีผู้นำเป็นคนดี มีความสามารถ ก็จะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว

แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องใช้เวลาเลือกผู้แทนประชาชนมานับร้อยคน และต้องใช้เวลาพูดคุยและโน้มน้าวผู้แทนที่มีผลประโยชน์หลากหลายดังกล่าว ให้ตกลงกันเพื่อกำหนดนโยบายขับเคลื่อนประเทศ

ซึ่งหลายครั้ง จะมีแต่การถกเถียงกัน แต่ไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้

นอกจากนั้นก็มักจะมีการกล่าวกันว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษาและขาดความรู้ ยอมขายสิทธิ-ขายเสียง ทำให้ได้นักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง มารับตำแหน่งเพื่อเอาทุนคืน และแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องมากกว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

ประเทศที่สำคัญในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแม้กระทั่งเกาะไต้หวัน ก็เริ่มต้นจากระบบการเมืองที่มีผู้นำเป็นเผด็จการ แต่ต่อมา ก็พัฒนาไปสู่ระบบประชาธิปไตยได้ในที่สุด

ตัวอย่างดังกล่าวนั้นจะมีตัวแปรตัวหนึ่งที่เหมือนกัน คือประเทศที่ไม่ได้มีทหารมาทำการปฏิวัติบ่อยครั้ง เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะการปฏิวัติจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักไปพักหนึ่ง และมักจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา

กล่าวคือ มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางการเมืองบ่อยครั้ง (ประเทศไทยมีการปฏิวัติโดยทหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ 13 ครั้งและมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ)

ในมุมมองทางเศรษฐกิจและธุรกิจนั้น หากภาคเศรษฐกิจใด ในช่วง 90 ปีที่ผ่ามมา ต้องเผชิญวิกฤติ (ปฏิวัติ) มากถึง 13 ครั้ง และมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การทำธุรกิจถึง 20 ครั้ง

ก็ต้องสรุปได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมาก บริษัทขนาดใหญ่ก็สามารถถูกสั่งยุบได้โดยไม่คาดฝัน

ดังนั้น ผู้ที่เข้าไปประกอบธุรกิจในสาขาดังกล่าว ก็จะต้องเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย (มากกว่า “คนดี”) และจะต้องรีบเร่งถอนทุน และเรียกร้องผลตอบแทนที่สูงมาก เพื่อให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงของธุรกิจดังกล่าว

กลับมาดูคำกล่าวของคนรุ่นใหม่ ที่มองว่า ปากท้องกับเสรีภาพต้องไปด้วยกัน

ผมมีข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ (ซึ่งผมตีความว่าคือคนที่เกิดเมื่อ 20-25 ปีที่ผ่านมา) นั้น เขาเกิดมาในยุคที่มีการรวมศูนย์อำนาจมากกว่าการปกครองแบบประชาธิปไตย

เพราะเผชิญกับการปฏิวัติถึง 2 ครั้งและการยุบพรรคขนาดใหญ่ (ที่ประชาชนลงคะแนนให้หลายล้านเสียง) ถึง 3 ครั้ง

ในช่วงเดียวกัน ก็พบกับตัวเองว่า ยุคที่จำกัดประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพนั้น ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของตัวเขาพัฒนาดีขึ้น จึงเกิดความผิดหวัง ทั้งในส่วนของการเมืองและเศรษฐกิจ

จึงคาดหวังได้ว่า คนไทยรุ่นใหม่ น่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากกว่าในอดีตครับ
โพสต์โพสต์