เศรษฐกิจซากุระ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1894
ผู้ติดตาม: 313

เศรษฐกิจซากุระ/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ช่วงนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิของแถบอากาศอบอุ่นของซีกโลกเหนือ ซึ่งตรงกับฤดูร้อนมากของแถบศูนย์สูตร นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงหลบร้อน หลั่งไหลกันไปเที่ยวยังประเทศเขตอบอุ่นในเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน กันเป็นจำนวนมาก

ดิฉันมีโอกาสได้ไปหลบร้อนเพื่อชมดอกซากุระในแถบภาคกลางหรือภูมิภาคคันไซของประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ จึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันอ่านเพื่อคลายร้อนก่อนสงกรานต์นะคะ

ดอกซากุระ ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ้มต้นใหม่ โดยชนชั้นสูงในญี่ปุ่น นิยม “เทศกาลชมดอกไม้” ตั้งแต่สมัย เฮอัน (ค.ศ.794-1185) โดยในกลางศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำเอาต้นซากุระพันธุ์โซเมอิ โยชิโนะเข้ามาในญี่ปุ่น และนิยมปลูกกันไปทั่วประเทศในฐานะไม้ประดับ และได้ผสมกลายเป็นซากุระพันธุ์ต่างๆหลายพันธุ์

ซากุระ เป็น สัญลักษณ์ของความรักและผู้หญิง รักในชีวิตที่มีค่าของเรา และความที่ดอกไม้มีข่วงเวลาบานสวยงามเพียงสั้นๆ ปรัชญาของซากุระ คือปรัชญาของความรักและความรู้สึกโชคดีที่เรามีช่วงชีวิตบนโลกใบนี้ แม้ว่าจะมีอยู่เพียงสั้นๆ นอกจากนี้ ก็ยังเป็นความรักในช่วงเวลาของความสวยงาม (ซึ่งมีอยู่สั้นๆเช่นกัน)

ช่วงเวลาที่ดอกซากุระบาน เป็นช่วงเวลาที่ตรงกับการปิดปีบัญชีของญี่ปุ่น ในวันที่ 31 มีนาคม และเป็นช่วงเวลาของการจบการศึกษา ซากุระจึงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มชีวิตใหม่ เริ่มปีใหม่ในการทำงานอีกด้วย

ท่านคงได้ยินข่าวแล้วว่าปีนี้ดอกซากุระบานเร็วกว่าปกติ ถึงประมาณ 10 วัน โดยเริ่มบานมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ตั้งใจจะไปชมซากุระในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการชม คือในปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน หลายกลุ่ม ต้องพลาดโอกาสอันดีนี้ไป

เทศกาลชมซากุระ ถือเป็นตัวอย่างของการจัดการให้มีนักท่องเที่ยวเข้าชมสถานที่เดียวกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก Japan Times แสดงให้เห็นว่าศาสตราจารย์ คัทซึฮิโระ มิยะโมะโตะ จากมหาวิทยาลัยคันไซ ประมาณการว่าเทศกาลชมดอกซากุระ จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีเงินสะพัดถึง 615,800 ล้านเยน หรือประมาณ 160,110 ล้านบาท โดยคาดว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังจะเป็นคนญี่ปุ่น คาดว่าจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวในช่วงเทศกาลประมาณ 2.29 ล้านคนในปีนี้ โดยคาดว่าจะใช้จ่ายประมาณ 65,400 ล้านเยน หรือประมาณ 17,300 ล้านบาท

ทั้งนี้คนญี่ปุ่น ใช้โอกาสนี้ในการไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปพบปะสังสรรค์ และไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หลังจากที่ต้องอยู่ในกฎระเบียบของการรักษาระหว่างเพราะโควิด-19 กันมายาวนานกว่า 3 ปี

ดิฉันได้มาสังเกตการณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวจริง พบว่าคนญี่ปุ่นในสัดส่วนที่น้อยกว่าต่างชาติ คนต่างชาติที่พบส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของต่างชาติที่พบ มีชาวอินเดียบ้างเล็กน้อย ชาวตะวันตกบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนคนญี่ปุ่นจะไปเที่ยวน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะเป็นวันทำงาน คาดว่าสุดสัปดาห์คงจะมีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

ห้องพักของโรงแรมในเกียวโตเต็มหมดเลยค่ะ ห้องแน่นมากๆ ทางบริษัททัวร์ต่างๆบอกเลยว่า โรงแรมเรียกเก็บมัดจำกันตั้งแต่จอง และไม่มีการยืดหยุ่นในการเพิ่มจำนวนห้องเลย น่าดีใจแทนคนญี่ปุ่นที่ดอกไม้เพียงชนิดเดียว สามารถมีอิทธิพลทำให้คนจำนวนมากหลงใหล ต้องมาชมกันจำนวนมากทุกปี

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวไม่มีบ่นว่าเลยว่า จ่ายเงินค่าห้องพักสูงแล้ว ยังไม่ได้เห็นดอกไม้ตามที่ควรจะเห็น เพราะทุกคนเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ในสถานที่เดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อย่างดิฉันก็จะตั้งเป้าหมายว่าต้องไปให้ครบสี่ฤดูกาล จึงจะรู้สึกว่าได้เห็นสถานที่นั้นๆอย่างเต็มที่ วิธีการคือ นำรูปโปสเตอร์ของสถานที่นั้นในฤดูกาลต่างๆมาติดเอาไว้ ระหว่างที่เรามาเยี่ยมชมในฤดูร้อน เราก็จะเห็นภาพความสวยงามแปลกตาของฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ทำให้อยากกลับมาเห็นในฤดูต่างๆที่เหลือ

เทคนิคนี้ดีมากๆ ประเทศไทยเราควรจะนำมาใช้ให้มากขึ้น แม้เราจะมีฤดูกาลที่สภาพอากาศไม่ได้ต่างกันมากนักเช่นในประเทศเขตอบอุ่น แต่ดอกไม้ใบไม้ในฤดูกาลต่างๆก็ช่วยทำให้สวยงามได้

ดอกพวงครามของเรา ก็น่าจะสู้กับวิสทีเรียได้ ชมพูพันธุ์ทิพย์ และชัยพฤกษ์ เอามาสู้กับซากุระ กุหลาบของเราก็สู้กับกุหลาบของที่อื่นๆได้

นอกจากมาชมดอกไม้และถ่ายรูปแล้ว ธุรกิจอาหารก็โหนกระแสเทศกาลชมดอกไม้อยู่ไม่น้อย มีการทำชากลิ่นซากุระ ขนมโมจิซากุระ ขนมปัง น้ำโซดา ไอศครีม ท้อฟฟี่ กลิ่นดอกซากุระ แม้แต่สตาร์บัคยังมีขนมและเค้กที่ออกมาขายเฉพาะในฤดูกาลนี้

อะไรที่เป็นของที่มีจำกัด คนก็จะตั้งใจรอคอยที่จะซื้อค่ะ

นอกจากนี้สินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารก็จะมีลวดลาย มีกลิ่นและมีสีชมพูของดอกซากุระด้วย

ในการมาสำรวจญี่ปุ่นครั้งนี้ ดิฉันพบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขาได้ใช้โอกาสที่ไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆให้ดูสวยงามขึ้น สะอาดสะอ้านขึ้น และที่สำคัญคือรองรับประชากรสูงวัยได้ดีขึ้น ห้องน้ำสาธารณะในจุดพักจอดรถของทางหลวง ปรับให้มีห้องน้ำของผู้สูงวัยที่ต้องใช้วีลแชร์ ประมาณ 25%

ข้อมูลจาก Statista แสดงว่าสัดส่วนของประชากรสูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีในญี่ปุ่น ในปี 2021 ได้ขึ้นไปถึง 29.8% แล้ว แปลว่า 3 ใน 10 คนของคนญี่ปุ่นที่เราพบจะเป็นผู้สูงวัยที่อายุเกิน 65 ปี

รถยนต์ขนาดเล็ก (compact cars) ของหลายๆยี่ห้อ จะทำที่นั่งเพียงสองที่อยู่ด้านหน้า และปรับท้ายรถให้สามารถเปิดขึ้นแล้วมีล้อเลื่อนที่จะนำวีลแชร์ไปวางและผลักขึ้นไปเก็บ และล็อกได้โดยไม่เปลืองแรงมาก เพราะเท่าที่สังเกต คนดูแลผู้สูงอายุที่ใช้วีลแชร์ มักจะเป็นคู่ชีวิตที่แข็งแรงกว่า

เทศกาลชมดอกซากุระของปีนี้ซึ่งเริ่มเร็วกว่าปกติ 10 วันก็ทยอยสิ้นสุดลง โดยเฉพาะหลังจากมีฝนตก ซึ่งดอกซากุระที่บอบบางก็จะร่วงหล่น หลังจากนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือน และหลังจากกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นออกมาจับจ่ายใช้สอย ลืมความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดในช่วงโควิด-19

ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน พบกับชีวิตที่สดใสในปีนี้ เหมือนซากุระบานใหม่ค่ะ

หมายเหตุ ญี่ปุ่นยังไม่ได้ประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงยังมีการเข้มงวดในเรื่องของการตรวจคนเข้าเมืองโดยยังต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด อย่างน้อยสามเข็ม หรือหากไม่มี ก็ต้องทำการตรวจเช็คโรคโดยวิธีการ RT-PCR ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองค่ะ
โพสต์โพสต์