สรุปความรู้งาน The Standard Wealth Club Rising in Recession : Investor Playbook 11 Mar 23

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
earthcu
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 360
ผู้ติดตาม: 99

สรุปความรู้งาน The Standard Wealth Club Rising in Recession : Investor Playbook 11 Mar 23

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เนื่องด้วยมีโอกาสร่วมงาน The Standard Wealth Club Rising in Recession : ที่ผ่านมา จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้จากงานครั้งนี้บางส่วนเผื่อเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนท่านอื่นๆที่ไม่ได้มาร่วมงานนี้ครับ


วิทยากร 1.นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี 2.คุณ เฉลิมเดช ลีวงศ์เจริญ

1.นิยาม VI
หมอพงศ์ศักดิ์ : ซื้อสินทรัพย์ในมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง โดยต้องรู้จักประเมินมูลค่าหุ้นอย่างถูกต้อง
1.)ประเมินมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน โดยซื้อหุ้นในราคาที่ถูกเทียบกับมูลค่าหุ้นในปัจจุบัน (อาจจะไม่ยากมาก)
2.)ประเมินมูลค่าหุ้นในอนาคต โดยซื้อหุ้นในราคาที่ถูกเทียบกับมูลค่าหุ้นในอนาคต (มีความยากกว่าในกรณีที่ 1)
แม้จะยากกว่า แต่ถ้าทำสำเร็จผลตอบแทนจะมหาศาล

โดยเราต้องมองอะไรที่คนอื่นยังมองไม่เห็น /ยังมองไม่ออก พยายามฝึกตัวเองจนกระทั่งสามารถมองในระดับนั้นได้

2.ความยากของการเป็น VI
P’เชาว์ : จริงๆแล้ว Concept การเป็น VI นั้นไม่ยาก คือมองหาหุ้น/บริษัทที่มี Return ในอนาคตกลับมาเยอะๆ ซึ่งการลงทุนระยะยาว มักต้องใช้เวลาเวลาที่ยาวนานพอเพื่อให้ได้ออกดอกออกผล แต่คนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นนั้นมักจะรอไม่ได้ อยากที่จะมีฐานะร่ำรวยกันไวไว
P’หมอพงศ์ศักดิ์ : หลักๆ คือเรื่องการพัฒนา Process ในการพัฒนาตัวเอง /พัฒนาความรู้ ซึ่งบางทีมักเป็นสิ่งที่ทำให้บางคนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมัวแต่ไปเรียนรู้สิ่งที่ไม่ได้เป็น key หลักการลงทุน โดยเราจำเป็นต้องมี Process การเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง โดยฝึกอ่านสิ่งที่จำเป็นเพื่อเรียนรู้ และไม่หยุดพัฒนา Process นี้ไปเรื่อยๆ เพราะถ้าคุณหยุดพัฒนาเมื่อไร คุณก็จะเป็นแค่ผู้ชนะในอดีต

3.Case ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่เพิ่งเกิดปัญหา มีความเห็นเป็นอย่างไร
P’เชาว์ : ไม่ควรใช้เวลากับเรื่องนี้เยอะจนเกินไป เพราะในระยะยาวเช่น 5 ปีข้างหน้า อาจจะไม่ได้มีผลกระทบสักเท่าไร โดยมองว่าถ้าระยะสั้น ราคาหุ้นที่ลงมาอาจจะมองว่าเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน VI ในระยะยาว
P’หมอพงศ์ศักดิ์ : เรื่องนี้ถ้ามอง USA ประเมินไปในอดีต เคยมี Case Lehman Brothers แล้ว น่าจะมีวิธีการจัดการปัญหาได้ได้ดีขึ้น ซึ่งในมุมส่วนตัวจะพยายามมองว่าถ้าธนาคารนี้ล้ม จะส่งผลกระทบอะไร เช่น Liquidity (สภาพคล่อง) ในภาพรวมจะกระทบ ซึ่งจะส่งผลกับบริษัทที่มีการกู้เงินเยอะมาก อาจจะต้องทำการระมัดระวังบริษัทที่มีลักษณะนี้
Concept คือ พยายามฝึกคิดในมุมลูกโซ่ ว่ามีผลกระทบ (Effect/Impact) จากนั้นคิดแผนการในการ Take Action ให้เร็วก่อนที่คนส่วนใหญ่ในตลาดจะรู้ เพราะ Golden Period (ช่วงเวลาทอง) มักมีระยะเวลาที่สั้นมาก

4.VI ส่วนใหญ่มักสอนแต่ซื้อหุ้น ซึ่งจริงๆแล้วการ Take off กำไรนั้นไม่ยาก
ในขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ก็มักจะพลาดจากการขายหุ้นซะส่วนใหญ่ โดยมักจะยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม หรือ Momentum แบบเดิม และหลายคนมักจะมี Bias หุ้นที่ตัวเองถืออยู่ว่าดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราจำเป็นต้องมี Mindset ที่ถูกต้อง โดยในความเห็นควรจะมีหนังสือที่สอนวิธีในการขายหุ้นที่ถูกต้อง เพราะจริงๆแล้วที่ยากกว่าคือการขายหุ้น

5.มีโอกาสมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตอยู่ที่ว่าคุณจะหาโอกาสนั้นพบไหม อย่างในช่วง Sub-Prime ในอดีตก็มีหุ้น 10 เด้ง > 30 ตัว เช่นหุ้นในกลุ่มค้าปลีกบางตัว โดยถ้าเราไม่เข้าใจ/มีความรู้ที่เพียงพอ เราก็อาจจะพลาดโอกาสในการซื้อนั้นๆ เพราะมัวยึดติดกับค่า P/E ที่หลายตัว ณ จังหวะนั้นมีค่า P/E ที่สูงกว่าตลาดในช่วงนั้น แต่กลายเป็นว่า P/E 10 กว่าเท่า ในตอนนั้นบริษัทสามารถที่จะมีกำไรเติบโต (Growth) 30% ในช่วงเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่งทำให้กลายเป็นหุ้น 10 เด้งได้เป็นต้น
(ในชีวิตจริง มีโอกาสเยอะแยะเต็มไปหมด อยู่ที่เราขยันพอ หรือเสียสละเวลามากพอไหม)

6.การเข้าใจในตัวกิจการของบริษัท ต้องเข้าใจขนาดไหน
P’เชาว์ : ต้องศึกษาทำการบ้านแต่ละอุตสาหกรรมไว้ล่วงหน้า เข้าใจ DCA (Durable Competitive Advantage)/MOAT (ป้อมปราการของบริษัท) , พยายามทำความเข้าใจว่าเจ้าของ/ผู้บริหารเป็นคนอย่างไร (เพิ่มเติมคือหลักๆแล้ว พี่เชาว์พยายามหาข้อมูลรอบด้านเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อลดโอกาสในการตัดสินใจผิดพลาด บางอย่างก็เช่นไปทำ Scuttlebutt หรือไปหาแหล่งข้อมูลโดยตรง เช่นไปดูกิจการนั้นในตลาดนัด, ร้านขายของ สอบถามคนที่รู้จักเช่น Supplier ของบริษัทนั้น/ลูกค้าของบริษัทนั้น ว่ากิจการเป็นอย่างไร , ถามคนที่รู้จักเจ้าของ/ผู้บริหาร เพื่อให้รู้จักอุปนิสัยว่าเป็นคนทีซื่อสัตย์หรือไม่เป็นตัน, Market Cap ของบริษัทเป็นอย่างไรเทียบกับ Backdoor listing เช่นถ้าขายกันแค่ 300 Mb ในกรณีที่จะ Backdoor เข้าตลาด ในขณะที่ปัจจุบันบริษัท Market Cap แค่ 240Mb ราคาบริษัทตรงนั้นก็ถือว่ามี Downside ไม่มากนัก โดยเฉพาะเทียบกับ Upside ที่มีโอกาสเติบโตจากการไปเทียบกับบริษัทอื่นๆที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ, หาข้อมูลการออก Product ใหม่ๆ, Innovation ของบริษัท, มีโอกาสไป Global Market หรือไม่เป็นต้น )
P’หมอพงศ์ศักดิ์ : ต้องติดตามหาข้อมูลก่อนการลงทุน โดยทำ Review ข้อมูลบริษัทด้วยตัวเอง เช่นจดข้อมูลทุกอย่างที่ผู้บริหารเคยให้ข้อมูลใน Opp Day/สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ลงในสมุดจากนั้นทำการ monitor ว่าผู้บริหารทำได้ตามนั้นไหม หรือจริงๆแล้วทำได้ดีกว่า อ่านข้อมูลที่ Review มาหลายๆครั้งเช่น 5-10 รอบ จากนั้นพยายามทำ Model Simulation ของบริษัทอย่างละเอียดด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถประเมินกำไรและ Valuation กำไรในอนาคตได้ โดยพี่หมอเน้นว่าต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากพอ ซึ่งมีในบางกรณีที่ราคาหุ้นของบริษัทนั้นตกลงมา เพราะผู้บริหารแถลงข่าวแล้วคนในตลาดเข้าใจข้อมูลคาดเคลื่อนทำให้หลายๆคนทำการขายหุ้นหนีตายในช่วงเวลานั้น แต่ถ้าเราเข้าใจบริษัทนั้นดีมากพอกว่าคนเกือบทั้งหมด (นักวิเคราะห์/และนักลงทุน) ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาทองในการ Bid ซื้อหุ้น/ลงทุน ของบริษัท

7.เวลาลงทุนในบริษัทต้องเข้าใจว่าบริษัทอยู่ใน Stage ไหน เช่น มองว่า Market Size ของอุตสาหกรรมนี้ว่าเท่าไร แล้วปัจจุบันบริษัทนี้มี Share Market อยู่ที่เท่าไรเช่นเพิ่งจะมี Share แค่ 5% และบริษัทนี้เริ่มที่จะ Dominate หรือเริ่มสามารถไปแย่ง share คนอื่นหรือมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็มองว่าบริษัทนี้มีโอกาสเติบโตอีกมากมายในอนาคต ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ Life Cycle ว่าอยู่ในช่วงไหน (เช่น Introduction ระยะบุกเบิก, Growth ระยะเติบโต, Maturity ระยะอิ่มตัว, Decline ระยะเสื่อมถอย) เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่า At the end (ในที่สุด) อีกกี่ปีจะเข้าสู่ Stage Maturiry ระยะอิ่มตัว ซึ่งหุ้นบางตัวอาจจะเป็นช่วงแรก Life Cycle ต้นๆ ซึ่งถ้าเราหาเจอ เราก็จะสามารถ Enjoy ได้ในระยะเวลาที่นานอย่างน้อย 5 ปี
โดยเราอาจจะพิจารณาขายหุ้นในช่วงจังหวะที่ใกล้ๆ Mature Stage (ระยะอิ่มตัว)

8.ตัวอย่าง Case ความสำเร็จ
P’หมอพงศ์ศักดิ์ : ศึกษาข้อมูลธุรกิจในหลายๆด้าน จากนั้นไปอ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง บางทีเราอาจจะเจอโอกาสเช่นไปอ่านเจอว่าบริษัทนึงในอดีต มีการปรับนโยบายของค่าเสื่อม จากหมายเหตุประกอบงบการเงิน โดยปรับค่าเสื่อมของ Software ให้นานขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริษัทนั้น มีโอกาสกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นหลาย 10% จากกำไรปกติเดิม จากนั้นทำการ confirm ข้อมุลจากการโทรไปสอบถาม IR ของบริษัท ซึ่งเวลาคุยเราจะได้ Point/ประเด็น เรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม จากนั้นก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดีจึงทำการซื้อหุ้นของบริษัท จากนั้นกลายเป็นว่าประเทศไทยเกิดน้ำท่วม ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทร่วงลงไปประมาณ 10 กว่า % ซึ่งจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดมองว่า เรื่องน้ำท่วมไม่ได้เป็นปัจจัยที่เกิดผลเสียในระยะยาวของบริษัท ทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการซื้อหุ้นของบริษัทเพิ่มเติมในราคาที่ถูกลง ซึ่งเราจำเป็นต้องกล้าคิดไกลและคิดให้ถูก โดยในช่วงนั้นพยายามทำข้อมูลรายละเอียดทำการบ้านอย่างหนักตั้งแต่ศึกษารายได้,โครงสร้างต้นทุน Fix Cost และ Valuable Cost ซึ่งบางกิจการที่เป็น High Operating Leverage (อัตราส่วนระหว่างต้นทุนคงที่รวมต่อต้นทุนผันแปรรวมที่สูง) นั้นกรณี Fix cost เท่าเดิม แต่ รายได้เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้ส่วนใหญ่ลง Bottom line (กำไร) เลย ทำให้กำไรของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด สุดท้ายบริษัทนี้รายได้ก็เติบโตและกำไรที่เติบโต จนเป็นหุ้นที่มีราคาเพิ่มขึ้นหลายเด้ง

9.เวลาลงทุน เราต้องลืมต้นทุนซื้อหุ้นที่เราซื้อในอดีต โดยมองไปยังอนาคตว่ามี % Upside จากการ Valuation เท่าไร เช่น เราอาจจะมีหุ้น 10 ตัว และคำนวณ % Upside หุ้นในปีนี้และ 3 ปีข้างหน้า จากนั้นทุกวันเราก็พยายามหาข้อมูลเพื่อที่จะหาหุ้นของบริษัทที่จะไปแทน 10 บริษัทนั้น ในกรณีที่เจอว่ามี % Upside ที่ดีกว่าเราก็ทำการ Switching ขายหุ้นตัวเก่าที่แย่กว่าไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้นแทน

10.ปัจจุบัน นักลงทุนเก่งๆมีมาก บางทีเราอาจจะต้องทำการบ้านอย่างหนักทั้งประเมิน 3 ปีข้างหน้า ทำ Model Valuation จากนั้นประเมิน monitor Growth ของบริษัทเทียบกับที่ผู้บริหารสื่อสารและที่เราประเมิน ทำการศึกษางบการเงินไส้ในแต่ละไตรมาส ดูอย่างละเอียดเช่น SG&A ว่ามี รายการไหนที่เป็น One-time บ้าง จากนั้นทำการปรับ Assumption ใน Model Valuation โดยเราต้องมองรายละเอียดเล็กๆที่สำคัญๆให้ออกและเข้าใจ โดยต้องทำ Model เองและรู้ให้จริงจะทำให้เรามีความเชื่อมั่น
โดยถ้าบทวิเคราะห์ รู้มากกว่าเรา แสดงว่าความรู้เราอาจจะไม่พอ ซึ่งพี่หมอ จะไม่กล้าลงทุน
แต่ถ้าเราทำการบ้านที่มากพอ รู้และเข้าใจบริษัทมากกว่าบทวิเคราะห์ ถึงจะมีความเชื่อมั่น/ความกล้าที่จะลงทุน

11.เวลาที่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราต้องรู้จักประเมินว่าผลกระทบระยะสั้น/ระยะยาว คืออะไรและทำการ Valuation ใหม่ โดยถ้าเราตามบริษัทใดๆใกล้ชิดพอ จะทำให้เราสามารถ Valuation ได้แม่นยำมากขึ้น

12.ฝึกฟังเยอะๆ อ่านเยอะๆ เพราะในการลงทุนหลายๆอย่างมันสามารถเชื่อมโยงกันหมด และได้รับข้อมูลแล้วต้องรู้จัก Cross Check ข้อมูลด้วยว่าข้อมูลไหนที่ถูกต้อง ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นการมองหาโอกาสการลงทุนจากข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน

13.Playbook ไหนที่อาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน
P’เชาว์ : เนื่องจาก VI รุ่นใหม่เก่งมาก จะกำไรดีๆก็ยากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะหา Opportunity ในตลาด คือเรารู้ให้ลึกๆ เพื่อที่จะหาโอกาสอยู่เสมอ และเราต้องรู้ว่า Edge ในการลงทุนของเราอยู่ที่ตรงไหน ต้องหาให้เจอและ Focus ไปที่จุดนั้น (อาจจะแค่ 5 ตัวในตลาดหลักทรัพย์ที่คุณมี Edge ในการลงทุน, รู้จริงรู้ลึก)
P’หมอพงศ์ศักดิ์ : การมองภาพใหญ่เพียงอย่างเดียว อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แพ้/ชนะในการลงทุนจะวัดกันที่รายละเอียด คือเราต้องเข้าใจรายละเอียดที่สำคัญที่ซ่อนอยู่ให้เจอก่อนคนอื่นๆ (ลึกซึ้งในข้อมูลรายละเอียดกว่าคนอื่น)

14.สิ่งสำคัญของคนเราคือเวลา ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง

15.หุ้น IPO เราจะเลือกยังไง
มีโอกาสอยู่ในหุ้น IPO เพราะช่วงแรกๆคนไม่เข้าใจเยอะ เพราะฉะนั้นต้องฝึกทำการบ้านให้ดีก่อนที่หุ้น IPO จะเข้าตลาด บางทีโอกาสอาจจะอยู่ในวันแรกที่หุ้นเข้าตลาด บางคนอาจจะบอกว่า IPO คือ It’s probably over price แต่ในบางทีก็มี Under price เข้ามาเช่นกัน โดยพยายามหา Business model ที่ดีและน่าสนใจ ในบางครั้งอาจจะมีการ Valuation ที่ผิดจากบางเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยชั่วคราว ซึ่งถ้าเราศึกษาหาข้อมูลให้ดีก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในอนาคต
(ขยันก่อนคนอื่น ดูให้ไกลกว่าคนอื่น)

16.ในทุกปีเราต้องหาหุ้นที่ดีกว่าหุ้นที่เราถืออยู่ ถ้าปีไหนคุณหาไม่เจอ ต้องโทษตัวเองแล้วว่าความรู้/ความขยัน เราอาจจะไม่เพียงพอ

17.บางคนติดกับดักเรื่องการ Valuation จริงๆ Key ที่สำคัญไม่ใช่ Valuation แต่อยู่ที่เรามองบริษัทถูก/ผิด เพราะถ้าเราใส่ Assumption ที่ผิดเข้าไปใน Valuation ก็จะทำให้เราเข้าไปเลือกซื้อบริษัทที่ผิดได้ โดยเน้นว่าต้องรู้ให้จริงในรอบด้านเพื่อให้สามารถใส่ Assumption ได้ใกล้เคียง (มองอนาคตให้ออก)

18.แม้จะเป็นนักลงทุนที่เก่งมากในตลาดหุ้นก็จะมีบางปีที่มีผลการลงทุนติดลบเช่นกัน เพราะฉะนั้นพยายามฝึกมองว่าผลการลงทุนที่ติดลบนั้นเป็นเรื่องชั่วคราวอย่าไปเสียเวลากังวลกับมันจนเกินไป แต่จงใช้เวลาในการคิดหา Advantage จากโอกาสที่ตลาดหุ้น/ราคาหุ้นในตลาดที่ราคาลงมา มากกว่าใช้เวลาในการไปกังวลกับมัน

19.บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสามารถในการแข่งขัน ถ้าความได้เปรียบเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัดขึ้นๆ (เช่นเริ่มโดน Supplier บีบ) เราต้องรีบ Take Action เช่นลด Port การลงทุน ซึ่งคุณต้องศึกษาข้อมูลเยอะๆ คุยเยอะๆ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลนอกเหนือจากข้อมูลที่บริษัทบอกนักลงทุนเพียงอย่างเดียว

20.คำถามฝึกถามตัวเอง “คุณรู้ไหมอีก 3-5 ปี บริษัทนี้จะเป็นยังไง” ถ้าเราตอบว่าไม่รู้ ก็แค่ผ่านบริษัทนี้ไป จนกว่าจะหาบริษัทที่เราตอบตัวเองได้เจอแล้วค่อยลงทุน




ผมขออนุญาตเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ตามที่ผมเข้าใจครับ รวมไปถึงอาจจะอธิบายเพิ่มเติมในบางจุดเพื่อให้เพื่อนๆท่านอื่นๆเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นครับ ซึ่งลำดับของเนื้อหาอาจจะไม่ตรงกับที่ทางวิทยากรได้พูด ในกรณีที่อาจจะไม่ตรงกับเนื้อหาที่วิทยากรต้องการสื่อสาร ผมขอความกรุณาเพื่อนๆท่านอื่นที่ไปฟังในวันดังกล่าวหรือท่านวิทยากรช่วยแนะนำเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ด้วยครับ



ขอขอบคุณวิทยากรทุกๆท่าน (พี่หมอพงศ์ศักดิ์, พี่เชาว์) ที่กรุณาให้ความรู้คำแนะนำในด้านการลงทุนแก่ผมและนักลงทุนท่านอื่นๆเป็นอย่างสูงครับ
ขอขอบคุณพี่ๆทีมงานที่จัด The Standard Wealth ทุกท่านครับ

และขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านครับที่ช่วยแนะนำความรู้ในด้านการลงทุนให้ผมอยู่เสมอๆ


ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงครับ
earthcu/ 12 Mar 23

(2 Years Promise)
Life is beautiful + Financial freedom within 2015 by investment stock & real estate
โพสต์โพสต์