นโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1893
ผู้ติดตาม: 313

นโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

สำหรับผมนโยบายเศรษฐกิจจะต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ดีกินดี ไม่ได้นึกถึง “ประเทศ” ก่อน แต่นึกถึง “คน” ก่อน หากทำให้คนกินดีอยู่ดี เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีตามไป

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2564 ประเมินว่า ปี 2564 ประชากรไทยลดลงเกือบ 20,000 คน เพราะเด็กเกิดใหม่มีน้อยกว่าคนที่ตายไป ในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า (ปี 2583) ประชากรไทยจะมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

1.ประชากรไทยจะลดลงจาก 66.5 ล้านคน เหลือ 65 ล้านคน

2.ประชากรอายุ 0-14 ปี ลดลงจาก 11.2 ล้านคน เหลือเพียง 8.4 ล้านคน (ลดลง 2.8 ล้านคน)

3.ประชากรอายุ 15-59 ปี ลดลงจาก 43.2 ล้านคน เหลือ 36.5 ล้านคน (ลดลง 6.7 ล้านคน)

นโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

4.ประชากรสูงอายุ (60 ปี+) เพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 8.0 ล้านคน)

5.สัดส่วนกลุ่มวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุ ลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน มาเป็น 1.8 คนต่อ 1 คน

จะเห็นได้ว่าประชากรไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว แปลว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี (กลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี)

ดังนั้น โจทย์สำคัญคือภาระในการดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงอย่างยืนยาวที่สุด เพื่อให้สามารถทำงาน เพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจต่อไปได้อีกนานๆ

(การหยุดทำงานตอนอายุ 60 ปีคงเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว) และที่สำคัญคือ ต้นทุนการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุจะต้องต่ำที่สุด

ตรงนี้ผมอยากเห็นนโยบายที่เน้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง (healthy aging) ไม่ใช่การเน้นเข้าถึงยาแบบ Telemed หรือการรักษาโรค (cure) ในราคาถูก เพราะเมื่อเป็นโรคหรือป่วยแล้ว ก็แปลว่า “สายไปแล้ว”

กล่าวคือควรเน้นการป้องกันไม่ให้ป่วย ไม่ใช่รอวันเพื่อรับการรักษา (เพื่อให้คนไทยจะสุขภาพแข็งแรง และตอนบั้นปลายของชีวิต ก็จะจบชีวิตแบบ “อายุยืนยาวแต่ตายไว”)

เช่นที่ผมเขียนถึงในครั้งที่แล้ว ที่พบว่าการสำรวจคนไทยในภาคอีสาน (2,205 คนอายุเฉลี่ย 57.8 ปี) มีสัดส่วนเป็นโรคไตมากถึง 26.8%

หากปล่อยให้แนวโน้มเป็นแบบนี้ต่อไป ก็คงจะเป็นภาระกับระบบสาธารณสุขอย่างมาก แต่เป็นโรคที่หลีกเลี่ยงได้โดยการลดการกินน้ำตาลและการออกกำลังกาย

เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคไต เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน เป็นต้น

สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือกลุ่มคนที่อายุอยู่ในวัยทำงาน (15-59 ปี) ย่อมต้องเน้นการสร้างงานที่ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและให้คุณค่า (good pay and job satisfaction) ซึ่งจะได้มาจากการศึกษาในแขนงวิชาที่สามารถนำเอาไปใช้ในการทำมาหากินได้จริง (practical education and training)

ที่สำคัญคือ “ผลิตภาพ” (productivity) จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนประชากรกลุ่มนี้ที่ลดลง (อยากเห็นผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 1-2% ต่อคนต่อปี เป็น 3-4% ต่อคนต่อปี)

มิเช่นนั้นแล้วคนกลุ่มนี้จะรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อนำไปดูแลผู้สูงอายุ (เก็บภาษีเพื่อนำเอาไปจัดสรรให้กับผู้สูงอายุ)

ตรงนี้มีประเด็นต่อเนื่องที่ต้องคิดในเชิงของนโยบายอีก 4 ประการคือ

1.ประชากรอายุ 15-59 ปีนั้นควรสามารถนับเป็น “วัยแรงงาน” หรือผู้ต้องออกจากโรงเรียน/มหาวิทยาลัย มาทำงานหรือไม่

ในโลกปัจจุบันที่เน้นความรู้ขั้นสูงด้านเทคโนโลยี หากไม่ใช่ ภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของระบบการศึกษาคือ การสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง (กลุ่มประชากรอายุ 21-65 ปี?) ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

2.การสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูง ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานนั้น ต้องพึ่งพาความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดของภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและภาครัฐ ที่จะต้องร่วมกันผลิตบุคลากรที่ตรงตามความต้องการของทุกภาคเศรษฐกิจ

เช่น ประเทศไทยขาดแคลนโปรแกรมเมอร์และ Data Scientist อย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ก็กำลังขาดแรงงานเช่นกัน

การผลิตแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น อาจต้องสนับสนุนการฝึกงาน (apprenticeship and on-the-job training)

เช่น มหาวิทยาลัยร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ ผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยรัฐบาลร่วมลงทุนและเมื่อจบการฝึกฝนแล้ว ส่วนหนึ่งให้ได้เข้าไปทำงานในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่รัฐบาลร่วมจ่ายเงินเดือนให้ในช่วง 2 ปีแรก เป็นต้น

3.งานบางประเภทที่คนไทยไม่อยากทำ เช่น งานก่อสร้างหรือบางด้านในภาคบริการ คงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่จะต้องนำเข้ามาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานต่างด้าว

ไม่ใช่เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ตรงนี้นอกจากเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมแล้ว ผมเชื่อว่าจะเป็น soft power ตัวจริงสำหรับประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่จะส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย

4.คนไทยบางคน (อาจหลายคน) ไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง ตรงนี้เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยได้มาก (การขายของออนไลน์จึงเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย) ดังนั้น การส่งเสริมทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่า การริเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวนั้น 90% จะประสบความล้มเหลว จึงไม่ควรจะนำเอาเงินภาษีประชาชนไปสนับสนุน

ควรมุ่งเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีและกระบวนการจัดตั้งบริษัท (และการปิดบริษัท+กระบวนการล้มละลาย) ที่รวดเร็วโปร่งใสและมีต้นทุนต่ำมากกว่า

ต้องขอย้ำว่า ตรงนี้คือการตอบสนองความต้องการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ซึ่งต้องกล้าเสี่ยง (risk taking) มีเงินทุนและมีโชค โดยคาดหวังว่าจะกลายเป็นมหาเศรษฐีในที่สุด

แต่อีกประเด็นที่สำคัญคือการปกป้องไม่ให้ธุรกิจรายย่อยเสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาด

ประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและดูจะมีอำนาจผูกขาดตลาดมากขึ้น ซึ่งยิ่งจะทำให้รายย่อยเติบใหญ่ได้ยากขึ้น

(ผมไม่เชื่อแนวคิดที่ว่ารายใหญ่จะช่วยประคับประคองรายย่อย ตรงกันข้ามรายใหญ่จะสามารถเข้าถึงศูนย์อำนาจทำให้รักษาสถานะที่ได้เปรียบของตัวเองได้เป็นอย่างดีเสมอมา)

ข้อสรุปคือ นโยบายเศรษฐกิจสำหรับคนไทยคือการสร้างงานที่มีความคุ้มค่าและมีคุณค่าในจำนวนมากๆ การเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจของตัวเอง และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่โปร่งใสเป็นธรรมและเป็นระบบ

ส่วนการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทิศทางใดนั้น จะขอกล่าวถึงในครั้งต่อไปครับ.
โพสต์โพสต์