เชียร์ตะวันออก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

เชียร์ตะวันออก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

รายงานการมองภาพเศรษฐกิจปี 2023 ของธนาคารโลก ชื่อ Global Economic Prospects เพิ่งออกมาสดๆร้อนๆในเดือนมกราคม ด้วยความหนา 198 หน้า อัดแน่นด้วยข้อมูล กราฟ และตาราง ดิฉันอ่านแบบจับใจความคร่าวๆแล้ว ดิฉันขอสรุปว่า ในปี 2566 นี้ เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่คาดว่าเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ต่างๆจะดีที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก

เริ่มจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ประมาณว่าจะเติบโต 2.9% และในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตเหลือเพียง 1.7% โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะมีการเติบโตลดลงจาก 2.5% ที่ประมาณไว้ของปี 2565 เหลือ 0.5% ในปี 2566

ส่วนประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาทั่วโลก ประมาณว่าเติบโต 3.4% ในทั้งปี 2565 และ 2566

โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมประเทศจีน และประเทศกลุ่มอาเซียนนั้น ประมาณว่าเติบโต 3.2% ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโต 4.3% ในปี 2566 เป็นรองเพียงภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีอินเดียเป็นผู้นำ ที่ประมาณว่าจะเติบโต 6.1% ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโต 5.5% ในปี 2566 เอเชียใต้จึงถือเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด แต่เป็นการเติบโตที่มีความแตกต่างระหว่างแต่ละประเทศค่อนข้างสูง (ศรีลังกามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ 9.2% ในปี 2565 และคาดว่าจะติดลบ 4.2% ในปี 2566)

โดยเศรษฐกิจไทย ซึ่งประมาณว่าจะเติบโต 3.4% ในปี 2565 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2566

ส่วนประเทศจีน ซึ่งประมาณว่าจะเติบโต 2.7% ในปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 4.3% ในปี 2566 และอินโดนีเซีย ซึ่งประมาณว่าเติบโต 5.2% ในปี 2565 จะเติบโตลดลงเป็น 4.8% ในปี 2566

งานวิจัยของธนาคารโลก คาดว่าการค้าของโลกจะมีการเติบโตที่ลดลง จากที่เติบโต 4% ในปี 2565 จะเติบโตเล็กน้อยเพียง 1.6% สาเหตุหลักเกิดจากความต้องการหรืออุปสงค์ ที่ยังฟื้นตัวน้อย และยังต้องมีการจัดการเรื่องคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) แถมยังมีการกัดกันทางการค้าอยู่

หากท่านติดตามจะพบว่า ในปี 2565 ที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงนั้น หลายประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร เพื่อพยายามสนองความต้องการของคนในประเทศก่อน และในปีที่แล้ว ราคาอาหารในยุโรปได้เพิ่มไปถึง 18% ส่วนประเทศในละตินอเมริกาและแคริเบียน ดัชนีราคาอาหารก็เพิ่มขึ้น 12%

ที่ดิฉันกล่าวว่า ภูมิภาคของเรา คือเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกน่าอยู่ที่สุดเพราะ ปี 2565 คาดว่าดัชนีราคาอาหารของประเทศกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเพียง 6% เท่านั้น

ส่วนราคาสินค้าภาคเกษตรกรรม หลังจากปรับตัวขึ้นไป 13% ในปี 2565 คาดว่าจะปรับลดลง 5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูราคาปุ๋ย ซึ่งมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ หากราคาก๊าซปรับเพิ่มขึ้น และมีการปิดโรงงานไปสองสามแห่ง ทั้งยังมีผลพวงจากปรากฏการณ์ ลานีญ่า ที่มีปริมาณน้ำมากเกินไป สามปีต่อเนื่องจนถึงปี 2565 ทำให้พืชผลเสียหายไปมากทั่วโลก

ในปี 2566 คาดว่าราคาพลังงานจะลดลง โดยรายงานของธนาคารโลกคาดว่า ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับ 88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และความต้องการก๊าซในปีนี้น่าจะลดลง สาเหตุจากการประหยัดของครัวเรือน

ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ธนาคารโลกประมาณว่า มีคนในประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 220 ล้านคน ถูกกระทบในปี 2565 โดยกลายเป็นผู้ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร

โรคระบาดจากโควิด -19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้คนจนที่มีรายได้น้อยกว่า 2.15 เหรียญสหรัฐต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.7% ของประชากรโลก หรือประมาณ 136 ล้านคน และมีสถิติเรื่องเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นชัดเจน จาก 10,000 ครั้งในปี 2562 เพิ่มเป็น 15,000 ครั้งในปี 2565 โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาน้อยที่ยากจน

สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่ยากจน และมีหนี้ภายนอกสูง มีการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สถานะการเงินก็แย่ลง ค่าเงินก็ตกลงไป การกู้ยืมใหม่ๆก็ทำได้ยากขึ้น

ยิ่งค่าเงินอ่อนลงไปมากเท่าใด ราคาสินค้านำเข้าก็สูงขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะหากต้องนำเข้าอาหาร เกิดการขาดอาหาร เกิดภาวะอดอยาก จึงทำให้โอกาสที่จะลดช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวย กับประเทศที่ยากจน ลดน้อยลงไปอีก ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวของโลกต่อไป

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของเรา มีการเติบโตของ จีดีพี ต่อหัวอยู่ในอัตรา 4% ซึ่งถือว่าดีทีเดียว ในสถานการณ์ที่ยากลำบากขนาดนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง หนี้ภายนอกก็มีน้อย มีอัตราเงินเฟ้อไม่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ซึ่งภูมิภาคที่ลำบากที่สุดคือ ยุโรป และ ละตินอเมริกา เพราะนอกจากอัตราเงินเฟ้อจะสูง เนื่องจากราคาพลังงาน และ ราคาอาหารสูงแล้ว ยังมีประเด็นการเมือง และความไม่สงบด้วย

อัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก มีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้สูงมาก เหมือนประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมากนี้ จะจูงใจให้มีการลงทุน และจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นไหลเข้ามาลงทุนในภูมภาคนี้เพิ่มขึ้นค่ะ

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจัดพอร์ตลงทุนของท่านนะคะ สำหรับท่านที่สนใจอ่านฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จากเว็ปค่ะ

https://openknowledge.worldbank.org/bit ... y-2023.pdf
โพสต์โพสต์