การลงทุนในหุ้นระยะยาว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การลงทุนในหุ้นระยะยาว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ต้องยอมรับว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหลักคือ หุ้นในปี 2022 นั้นขาดทุนอย่างมาก โดยรวม เพราะปัจจัยลบต่างๆ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง
ผมจะขอเพียงตอกย้ำว่า ในความเห็นของผมนั้นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ

เมื่อต้นปี 2022 นั้นนักวิเคราะห์ทุกคนประเมินว่าจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1.0-1.5% แต่เป็นการประเมินที่ผิดพลาดเพราะเงินเฟ้อรุนแรงและยืดเยื้อเกินกว่าคาดอย่างมาก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ 4.5% ไม่ใช่ 1.5%

มาถึงปีนี้นักวิเคราะห์ก็ยังคาดการณ์ในแง่ดีว่าดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มาก (เพิ่มอีก 0.50-0.75%) มาเป็นประมาณ 5.0% ภายในไตรมาสแรกของปีนี้แล้ว หลังจากนั้นก็จะสามารถปรับลดลง 0.5% ในครึ่งหลังของปี

ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในปีนี้จะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นแลย ทั้งนี้ เพราะนักวิเคราะห์เห็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อที่สหรัฐเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว และเชื่อว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีนี้

ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในปีนี้ ก็จะยังเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่า ดอกเบี้ยจะไปในทิศทางใดและการลงทุนในหุ้นจะกำไรหรือขาดทุน

กล่าวโดยสรุปคือ การลงทุนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ คงจะขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อว่าปราบได้อย่างง่ายดายหรือไม่ในปีนี้

ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเงินเฟ้อในปีนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่น หากเกิดจากการที่ราคาพลังงานและอาหารจะยังสูงต่อเนื่องไปอีก เพราะสงครามยูเครน-รัสเซียรุนแรงและยืดเยื้อเกินกว่าคาด

หรือปัจจัยกึ่งอุปทานอีกปัจจัยหนึ่งคือ การขาดแคลนแรงงานรุนแรงเกินคาด ทำให้เกิดปรากฏการณ์การปรับขึ้นราคาและตามด้วยการปรับขึ้นเงินเดือน (wage-price spiral) ซึ่งหากเกิดขึ้นในปี 2023 ก็จะทำให้เงินเฟ้อไม่สามารถปรับลดลงได้ตามคาด เป็นต้น

การเปิดเศรษฐกิจของจีนหลังจากการยกเลิกนโยบาย Zero Covid ก็จะเป็นความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ในอีกทางหนึ่ง

แต่โดยรวมแล้วนักวิเคราะห์จะมั่นใจค่อนข้างมากว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมากในปีนี้ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้อย่างรวดเร็ว

ดังที่ผู้อำนวยการไอเอมเอฟได้ออกมาเตือนว่า ในปีนี้ประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยนั้นอาจมีจำนวนมากถึง 1/3 ของเศรษฐกิจโลกก็เป็นไปได้

ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น ควรเป็นการลงทุนระยะยาว แม้ว่านักลงทุนจะต้องตระหนักถึงปัจจัยรอบด้านในระยะสั้นที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นในปีหนึ่งปีใด

ซึ่งผมจึงขอนำเสนอข้อมูลในภาพกว้างเกี่ยวกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นโลก ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ครับ

การลงทุนในหุ้นไทย: หากดูจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็ถือว่าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นเกือบทั้งโลกในปี 2022 เพราะดัชนีตอนต้นปี 2022 นั้นอยู่ที่ 1,670 และปลายปีอยู่ที่ 1,669 กล่าวคือเท่าทุน

และเมื่อบวกกับเงินปันผล (หากมี) แปลว่าในปีที่ผ่านมา การไม่ขาดทุน ก็ถือว่าลงทุนได้อย่างชาญฉลาดแล้ว แต่หากพิจารณาในระยะยาวคือข้อมูลในอดีตย้อนหลังไป 5 ปีและ 10 ปีก็จะพบว่าการลงทุนในหุ้นไทยนั้นให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำมาก

คือ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา (30 มกราคม 2018) ดัชนีอยู่ที่ 1,760 แปลว่าการลงทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยรวมจะขาดทุนประมาณปีละเกือบ 1% และหากมองกลับไปอีกเป็น 10 ปีก็จะมีกำไรเฉลี่ยต่อปีประมาณไม่ถึง 2% ต่อปี (ดัชนีเมื่อ 2 มกราคม 2013 เท่ากับ 1,401)

แต่ปัจจุบันนี้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ทั่วโลก จึงควรศึกษาดูด้วยว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้นให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งผมขอนำเสนอข้อมูลดัชนีหุ้นของ S&P 500 ในแขนงต่างๆ มาให้เปรียบเทียบดังนี้ครับ

S&P Energy: หุ้นพลังงานให้ผลตอบแทนสูงสุดในปี 2022 ที่ 59% แต่ก่อนที่จะรีบนำเงินไปซื้อแต่หุ้นพลังงานก็ต้องขอเตือนว่า หุ้นพลังงานนั้นให้ผลตอบแทน (คือราคาหุ้นปรับตัวขึ้นบวกเงินปันผล) เพียง 4.7% ต่อปี (annualized return) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบแทนเพียง 2.3% ต่อปี

S&P Utilities: หุ้นที่ราคาค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ (แปลว่าเศรษฐกิจจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็จะไม่กระทบมาก) คือหุ้นในภาคการผลิตไฟฟ้า/น้ำประปา ซึ่งในปี 2022 นั้นติดลบเพียง 1.4% แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 6.8% ต่อปี และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบแทน 7.2% ต่อปี

S&P Consumer Staple: ในทำนองเดียวกันหุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในชีวิตประจำวันก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือราคาไม่ปรับขึ้นหรือลงมากนักตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2022 ติดลบ 3.1% แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 5.8% และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 8.0% ต่อปี

S&P Information Technology: หุ้นในภาค IT นั้นเป็นไปตามคาดคือติดลบ 28.9% ในปี 2022 (เทียบกับหุ้น S&P 500 โดยรวมติดลบ 19.4% ในปี 2022) แต่เป็นกลุ่มหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาวคือ 14.4% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและ 16.7% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

คำถามคือในอนาคตกลุ่มนี้จะให้ผลตอบแทนได้สูงเท่าเดิมหรือไม่ ผมคิดว่าในอนาคตคงจะให้ผลตอบแทนสูง แต่ไม่สูงเท่ากับในอดีตและเทคโนโลยีจะต้องเผชิญความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งรายละเอียดอ่านได้ในหนังสือ Chip Wars ของ Chris Miller ครับ

S&P Healthcare: หุ้นกลุ่มนี้ในความเห็นของผมดูน่าสนใจที่สุดเพราะในปี 2022 ขาดทุนเพียง 3.5% แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 10.6% ต่อปีและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 13.1% ต่อปี

ในอนาคตประชากรของโลกมีแต่จะแก่ตัวเร็วขึ้นไปอีก ทำให้ตลาดสุขภาพน่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องครับ
โพสต์โพสต์