การแตกสลายของความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

การแตกสลายของความน่าเชื่อถือของประเทศอังกฤษ/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

หัวข้อวันนี้ผมแปลมาจากบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Financial Times (FT) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2022 ซึ่งผมเห็นว่าเขียนวิเคราะห์ได้ดีมากเกี่ยวกับ ประเทศอังกฤษ ดังนั้นจึงขอนำมาแปลสรุปให้ท่านผู้อ่านครับ

ภายในปลายเดือนตุลาคมนี้ ประเทศอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกคนหนึ่งรวมเป็น 3 คนภายในระยะเวลาเพียง 8 สัปดาห์ โดยไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งสุดท้ายเลือกตั้งเมื่อ 12 ธันวาคม 2019)

ในช่วงเพียง 6 สัปดาห์ที่ Liz Truss ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น รัฐบาลได้ทำลายไม่เพียงแต่สถานะและชื่อเสียงทางเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ แต่ยังได้ทำลายภาพลักษณ์ของการเมืองที่มีเสถียรภาพของประเทศอีกด้วย

เชื่อได้ว่าไม่มีใครในประเทศอังกฤษได้ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกให้ประเทศอังกฤษตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แม้บางคนในพรรคอนุรักษ์นิยมจะเห็นดีเห็นงามไปกับ Liz Truss แต่ก็คงจะไม่ได้ตั้งใจเลือกให้เกิดการทำลายชื่อเสียงของพรรคอนุรักษ์นิยมที่ยึดมั่นในความมีวินัยทางการคลังและการเคารพสถาบันและกฎหมาย

ดังนั้น การจะให้สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมดึงดันเลือกนายกรัฐมนตรีมาปกครองประเทศโดยไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งจึงจะเป็นการไม่ยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษกำลังเสื่อมถอยลง รวมถึงความไร้ฝีมือ (lack of competence) ของรัฐบาล

กล่าวคือ การที่มองว่าพรรคอนุรักษ์นิยมควรรีบเลือกนายกรัฐมนตรีมาปกครองประเทศอีกคนหนึ่งภายใน 1 สัปดาห์จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระ (absurd) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมนตรีคลังคนใหม่ (นาย Jeromy Hunt) ที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียง 2 สัปดาห์

จะต้องเร่งออกมาตรการทางการคลังชุดใหม่ (เพื่อลบล้างมาตรการเดิมของรัฐมนตรีคลังคนก่อนหน้าคือนาย Kwateng) ภายในวันที่ 31 ตุลาคม เพราะต้องพยายามดึงความมั่นใจของตลาดเงินและตลาดทุนให้กลับมาให้ได้

ทั้งนี้ มาตรการของรัฐมนตรีการคลังคนก่อนคือนาย Kwateng ที่เป็นปัญหาคือการเสนอให้ลดภาษีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.05% ของจีดีพี) ทำให้รัฐบาลกระเป๋าฉีก ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นภาระในอนาคต

แม้จะดูว่าเป็นสัดส่วนไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนอย่างมาก เพราะ

ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง (เรื่องนี้ผมได้ขยายความในคลิปของเกียรตินาคินภัทรฯ และในรายการวิทยุ FM 96.5)
ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (www.bankofengland.co.uk) ต้องเข้ามาแทรกแซงโดยพิมพ์เงินใหม่เข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการย้อนแย้งกับนโยบายปราบเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดสภาพคล่องในระบบ โดยต้องต่ออายุนโยบายฉุกเฉินดังกล่าวจนถึงปลายเดือนตุลาคม
ความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้เกิดความผันผวนอย่างหนักของตลาดตราสาร อัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหุ้น โดยในที่สุดดอกเบี้ยระยะยาวก็ยังอยู่ที่ระดับสูง (พันธบัตร 10 ปีผลตอบแทนเกือบ 4% สูงกว่าประเทศไทยที่ 3%) ทำให้ผู้กู้เพื่อซื้อบ้าน (และเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคอนุรักษ์นิยม) เข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นและต้นทุนเงินกู้ต้องสูงขึ้นอย่างมาก

แต่ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลของ Liz Truss ต้องล่มสลายลงอย่างรวดเร็วนั้นไม่ใช่ความวู่วามและขาดวิจารณญาณด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าว Liz Truss และรัฐมนตรีคลังเหยียบย่ำ (ran rough shod)

สถาบันต่างๆ ที่ได้ตักเตือนไม่ให้นำเสนอนโยบายที่มีความเสี่ยงดังกล่าวทั้ง Office for Budget Responsibility ธนาคารกลางอังกฤษและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

การไม่เคารพกลไกและสถาบันที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจ (cheeks and balances) จึงทำให้ประเทศอังกฤษประพฤติตัวเสมือนประเทศตลาดเกิดใหม่ จึงถูกนักลงทุนปฏิบัติเสมือนเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่

สรุปพรรคอนุรักษ์นิยมได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าไร้ประสิทธิภาพ (inept) มีแต่ความแตกแยก (factionalism) ไม่เคารพกฎบัตรกฎหมายและไร้ซึ่งแนวคิดทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือ โดยขณะนี้ สิ่งที่พรรคอนุรักษ์นิยมเกรงกลัวที่สุด

และสิ่งเดียวที่ทุกคนในพรรคเห็นพ้องต้องกันคือ การเลือกตั้งทั่วไป (โพลเมื่อวันที่ 26-30 กันยายน พบว่าหากมีการเลือกตั้งในตอนนี้ จำนวน สส.ของพรรคอนุรักษ์นิยมที่จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็น สส.จะลดลงจาก 365 คนในปัจจุบันเหลือเพียง 137 คน คือสอบตก 218 คน)

อย่างไรก็ดี หนังสือพิมพ์ FT ที่โดยปกติแล้วจะอิงฝ่ายอนุรักษ์นิยมยืนยันความเห็นว่า สส. พรรคเพียง เพียงไม่กี่ร้อยคน ไม่ควรเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน Liz Truss แต่ควรต้องยุบสภาให้ประชาชนอังกฤษเป็นผู้เลือกผู้นำของประเทศคนต่อไป

แต่การยุบสภาหลังจาก Liz Truss ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นทำไม่ได้ง่ายนัก กล่าวคือ สส.ที่ได้รับเลือกตั้งมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2019 นั้น ยังสามารถดำรงตำแหน่งไปได้นานอีกถึง 2 ปี (ต้องยุบสภาตอนปลายปี 2024)

และหากจะยุบสภาก่อนเวลาดังกล่าวก็ต้องยุบสภาด้วยเสียง สส.อย่างน้อย 2/3 ของ สส.ในสภาทั้งหมด หรือลงคะแนนเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว ปรากฏว่าอีก 14 วันให้หลัง ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ก็จะต้องมีการลงคะแนนเสียงข้างมากยืนยันความไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

บทเรียนคือประเทศพัฒนาแล้วที่จีดีพีใหญ่เป็นที่ 5-6 ของโลกก็สามารถแปรสภาพกลายเป็นประเทศที่มีความผันผวนแหมือนประเทศตลาดเกิดใหม่ได้อย่างรวดเร็วภายในไม่ถึง 50 วันครับ.
โพสต์โพสต์