เศรษฐกิจนำหน้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เศรษฐกิจนำหน้า/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การลาออกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษหลังจากรับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งเดือนเศษเป็นเรื่องที่ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย และเป็นเครื่องตอกย้ำว่า นักการเมืองในยุคชีวิตวิถีใหม่ ต้องรู้หรือเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจด้วย จึงจะสามารถนำการบริหารประเทศได้

นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัส ของสหราชอาณาจักร ผู้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ด้วยระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 44 วันกล่าวตอนแถลงลาออกจากตำแหน่งว่า นโยบาย “ภาษีต่ำอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูง” เป็นนโยบายของพรรคอนุรักษนิยมหลังจากสหราชอาณาจักร “มีอิสรภาพจากการออกจากอียู” และเธอถือว่าสิ่งนี้เป็นพันธะที่เธอต้องเข้ามาทำให้สำเร็จ

ดิฉันงงว่า พรรคการเมืองเก่าแก่ มีนักการเมืองเก่งๆมากมายมีที่ปรึกษาผู้รู้เยอะแยะ ทำไมไม่ทราบว่า หลังโควิดโลกเปลี่ยนไป ด้วยเงินจำนวนมหาศาลที่รัฐทั่วโลกใช้ไปกับการต่อสู้ การรักษาพยาบาล และการเยียวยาทางเศรษฐกิจแต่ประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ฐานะการเงินการคลังภาครัฐทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่อ่อนแออยู่แล้ว อ่อนแอลงไปอีก

ดิฉันเคยเขียนไปแล้วว่า “หมดยุคภาษีต่ำ” เพราะรัฐต่างก็ปิดหีบไม่ลง ไหนจะมีรายจ่ายเพิ่ม ไหนรายได้จากการเก็บภาษีจะลดเพราะธุรกิจปิดไปหลายเดือน ลูกค้าหดหาย รายได้และกำไรลดลงไปฮวบฮาบ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีการขายหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา หรือแม้กระทั่งภาษีสรรพสามิตจากสุราและยาสูบ อากรนำเข้า ฯลฯ ต่างก็ลดลงไปเกือบทุกรายการ รัฐจึงต้องทยอยปรับขึ้นภาษีแน่ๆ ในระยะ 2-8 ปีข้างหน้าพรรคการเมืองที่เตรียมตัวพร้อม ก็ไม่นำเรื่องการลดภาษีมาเป็นนโยบายชูโรง เพราะทราบอยู่เต็มอกว่าทำไม่ได้แน่นอนใครหยิบขึ้นมาชูเป็นนโยบายต้องถือว่าไม่จริงใจต่อประชาชน และทำร้ายกระเป๋าเงินของประเทศด้วย

นโยบายที่เคยหาเสียงไว้เมื่อหลายปีก่อน หากมันไม่เข้ายุคสมัย นโยบายนั้นก็ต้องถูกปรับเพื่อให้เหมาะสม เปรียบเสมือนเคนสัญญากับลูกว่าจะซื้อโน้ตบุ้คใหม่ให้ แต่พอพ่อแม่ตกงาน ลูกก็ต้องทนใช้ของเก่าไปก่อน เพราะต้องเอาเงินไปใช้เลี้ยงปากท้อง ไม่ใช่ฝืนซื้อไป และต้องไปกู้เงินมาใช้จ่าย

เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโตช้าลงตั้งแต่มีการลงประชามติให้ออกจากอียู และเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ก็ทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภคสูงขึ้น เมื่อออกมาจากอียูในปี 2020 ก็เกิดการระบาดของโควิด-19 รัฐต้องใช้เงินในการป้องกันและเยียวยาไปมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics) รัฐมีหนี้สินรวม 2.365 ล้านล้านปอนด์(ประมาณ 95 ล้านล้านบาท) สัดส่วนของหนี้สินต่อจีดีพี ณสิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2022 เท่ากับ 99.6%

เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรประกอบด้วยภาคบริการ79.2% ภาคอุตสาหกรรม 20.2% และภาคเกษตร 0.7% (ข้อมูลจาก CIA World Fact Book)

ข้อมูลจาก World Inequality Report 2022 ระบุว่า ในช่วง50 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งของรัฐของประเทศต่างๆในโลกซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์ทางการเงินและสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่การเงินที่ถือครองโดยภาครัฐ หักลบด้วยหนี้สิน ล้วนลดลงมาทั้งสิ้น โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในปัจจุบัน ความมั่งคั่งทั่วโลกในปี 2020 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 510 ล้านล้านปอนด์ (ประมาณ 22,440 ล้านล้านบาท) โดยคำนวณได้เป็นสัดส่วน 600% ของรายได้ทั่วโลก

ในส่วนของความมั่งคั่งของภาครัฐทั่วโลก เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ทั้งหมด อยู่ที่ 75% ลดลงจาก 100% ในช่วงก่อนโควิด และความมั่งคั่งภาคเอกชนทั่วโลก คิดเป็น525% ของรายได้ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 510% ก่อนโควิด

ข้อมูลนี้แปลได้ว่า ในระดับโลก หากภาคเอกชนไม่มีรายได้เลย สามารถอยู่ได้ถึง 5.25 ปี ด้วยเงินได้ที่มาจากการขายทรัพย์สิน หากรัฐไม่มีรายได้เลยและต้องขายทรัพย์สินมาใช้จ่าย ภายใน 9 เดือน เท่านั้น เงินภาครัฐของทั่วโลกก็จะหมด

ในบรรดาความมั่งคั่งภาครัฐของประเทศที่พัฒนาแล้วใน 50 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรดูจะมีความมั่งลดลงมากที่สุดในกลุ่มที่รายงานนำมาเปรียบเทียบ ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สเปน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยความมั่งคั่งภาครัฐลดลงจาก 60% ของรายได้ในปี 1970 ลงมาติดลบที่ -106% แปลว่าตอนนี้หนี้ท่วมมูลค่าทรัพย์สินที่มีแล้ว

และอย่างนี้ รัฐจะลดภาษีซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักได้อย่างไร?

นั่นคือสิ่งที่นักวิเคราะห์สงสัย และทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงลงอย่างหนักเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะคนเริ่มกังขาว่านโยบายของพรรคการเมืองที่บริหารประเทศอยู่ จะพาประเทศไปรอดไหม

นักการเมืองสมัยนี้จึงต้องมีความรู้ และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจและต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายของตนจะแป็นประโยชน์ และสามารถนำมาปฏิบัติได้ในแต่ละช่วงเวลา

ฝากนักการเมืองไทยด้วยค่ะ เพราะกำลังร่างนโยบายหาเสียงเตรียมไว้เลือกตั้งปีหน้า ไม่ว่านโยบายอะไรก็ตาม หากทำไปแล้วทำร้ายประเทศ ในระยะยาว นโยบายนั้นควรถูกทบทวน มิฉะนั้นจะพากันไปไม่รอดนะคะ
โพสต์โพสต์