แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมามีรายงานข่าว 2 เรื่องที่สะท้อนความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า

คือข่าวจาก Aljazeera ชื่อเรื่อง “Asia facing stagflationary risks, IMF official warns” และข่าวจาก CNN ชื่อเรื่อง “A major recession is coming Deutsche Bank warns” ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจ ณ วันนี้กำลังต้องเผชิญกับเรื่องที่น่าหนักใจ 3 เรื่องหลักคือ

1.สงครามที่ยูเครน
2.การปราบเงินเฟ้อที่สหรัฐ
3.การปราบโควิดที่จีน

ผมจะขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ 3 เรื่องดังกล่าวและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในบทความนี้และบทความครั้งต่อไป โดยพยายามประเมินว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นจะส่งผลในการฉุดกำลังซื้อและชะลอการขึ้นของราคาสินค้าและบริการ (deflationary) และ/หรือเพิ่มปัญหาขาดแคลนและเติมเชื้อให้กับเงินเฟ้อ (inflationary) มากน้อยเพียงใด

ต้องขอกล่าวก่อนเลยว่าเป็นการประเมินที่ยาก เพราะแม้จะพูดได้ในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้นย่อมจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอและทันสมัย พร้อมกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่จำลองกลไกของเศรษฐกิจจริงได้อย่างแม่นยำ เพื่อประเมินน้ำหนัก (impact) ของตัวแปรต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งทำได้ยากเมื่อต้องเผชิญกับตัวแปรที่ในอดีตที่ไม่ค่อยมีแบบอย่างให้เปรียบเทียบได้มากคือโรคระบาดและสงคราม

แต่สิ่งที่มีความชัดเจนคือสหภาพยุโรป สหรัฐ อเมริกาและประเทศจีนนั้น จีดีพีรวมกันประมาณ 3 ใน 4 ของจีดีพีโลก ดังนั้นจึงจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นการค้าของไทย (ส่งออก+นำเข้า) กับกลุ่มประเทศดังกล่าวน่าจะประมาณ 60% ของการค้าต่างประเทศของไทยทั้งหมดซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของจีดีพีของไทย แต่ผลกระทบต่อจีดีพีไทยโดยรวมน่าจะสูงกว่านั้น

เพราะประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่สำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อาเซียนและเกาหลีใต้ ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากความผันผวนของเศรษฐกิจยุโรป อเมริกาและจีนเช่นกัน

ขอเริ่มที่สงครามที่ยูเครนก่อน ซึ่งผมขอยึดบทวิเคราะห์ของ The Economist เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่มีชื่อเรื่องว่า “America is thinking of winning the war in Ukraine” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1.ในช่วงแรกที่กองทัพรัสเซียเริ่มรุกเข้าไปในยูเครน สหรัฐคงเชื่อเหมือนหลายฝ่ายว่ากองทัพยูเครนคงจะต่อสู้กองทัพรัสเซียไม่ได้ จึงเพียงแต่ส่งอาวุธเพื่อป้องกันตัว (defensive weapons) ให้ยูเครนและประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพียงเพื่อให้รัสเซียมีต้นทุนสูงขึ้นจากการเข้ายึดครองประเทศยูเครน

2.ต่อมาเมื่อกองทัพและประชาชนยูเครนต่อสู้กับกองทัพรัสเซียได้อย่างที่ไม่มีใครคาดหวังมาก่อน ท่าทีของสหรัฐก็เปลี่ยนไปโดยการเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารอย่างจริงจังเพื่อให้กรุงเคียฟและรัฐบาลของประธานาธิบดี Zelinski ปกครองประเทศต่อไปได้

แต่ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐก็ยังยั้งๆ มือเพราะกลัวว่าการให้ความช่วยเหลือที่จริงจังมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการที่รัสเซียจะหันมาใช้อาวุธนิวเคลียร์และเป็นการขยายความขัดแย้งไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 (ประธานาธิบดีไบเดนพูดเองก่อน)

3.แต่ล่าสุดเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐนาย Anthony Blinken และรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐนายพล Lloyd Austin ร่วมกันเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 25 เมษายน

ซึ่งนายพล Austin (ที่มักจะไม่ค่อยพูด) กล่าวว่า “เราต้องการให้รัสเซียอ่อนแอลงจนกระทั่งไม่มีศักยภาพที่จะทำสงครามแบบที่กำลังทำกับยูเครน และจะต้องไม่สามารถเสริมสร้างกำลังทางการทหารขึ้นมาใหม่ได้อีกในอนาคต”

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สามารถตีความได้ว่า สหรัฐคาดหวังว่า รัสเซียอาจรบพ่ายแพ้จนต้องหันมาเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกับยูเครน ดังนั้น ประธานาธิบดีไบเดนจึงอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธให้กับยูเครนเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว และระยะหลังนี้ก็เป็นการให้อาวุธเชิงรุก (offensive weapons) และเป็นอาวุธหนักซึ่งรวมถึงปืนใหญ่ จรวด ชิ้นส่วนของเครื่องบินขับไล่และแม้แต่การส่งเครื่องบินขับไล่ให้

ตลอดจนการฝึกฝนทหารของยูเครนให้สามารถใช้อาวุธของนาโต้ที่ดีกว่าของรัสเซียที่ทหารยูเครนใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้สหรัฐและสมาชิกนาโต้ส่วนใหญ่ (เยอรมนียังกลับใจหันมายอมส่งอาวุธหนักให้กับยูเครน) กล้าปรับท่าที

แม้ว่าประธานาธิบดีปูตินและรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียนาย Lavrov จะออกมาขู่อย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับว่า รัสเซียพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากการดำเนินการของนาโต้ถือเป็นภัยคุกคามรัสเซีย

ล่าสุดบริษัท Gazprom ของรัสเซียประกาศยุติการส่งก๊าซธรรมชาติขายให้กับโปแลนด์และบัลกาเลีย ซึ่งย่อมจะยิ่งทำให้พลังงานขาดแคลนมากขึ้นในยุโรปและประเทศต่างๆ ในยุโรปย่อมจะต้องเร่งรีบหาแหล่งพลังงานจากที่อื่นๆ จึงทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้นและอยู่ที่ระดับสูงไปได้อีกนาน เพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแหล่งพลังงานนั้นย่อมต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี

แต่ในขณะเดียวกัน ยุโรปมีความเสี่ยงสูงว่าการต้องเผชิญกับทั้งภาวะสงคราม ความเสี่ยงที่สงครามจะเพิ่มความรุนแรง (เช่น กลัวการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยรัสเซีย) บวกกับพลังงานราคาสูงและอาหารกับปุ๋ยขาดแคลน ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกที่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงหรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นได้

ดังนั้น ผมจึงสรุปว่าสำหรับยุโรปนั้นความเสี่ยงสุทธิน่าจะไปในทิศทางของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (deflation) มากกว่าการเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่คุมไม่อยู่ (inflation) เช่นที่อาจจะเกิดขึ้นที่สหรัฐ

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ก็น่าจะเห็นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ยกเว้นราคาข้าวที่ราคาค่อนข้างนิ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา) และราคาปุ๋ยซึ่งเราเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว เช่น จีนห้ามส่งออกปุ๋ยและอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม (ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นราคาปุ๋ยกับราคาน้ำมันพืชปรับสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ) ตรงนี้น่าจะมีความเสี่ยงสูงว่าประเทศไทยจะขาดแคลนปุ๋ยอย่างมากนับจากวันนี้

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ เมื่อราคาปุ๋ยสูงเกินเอื้อม เกษตรกรก็จะต้องจำยอมซื้อปุ๋ยน้อยลงเพื่อใช้ในการเพาะปลูกฤดูกาลนี้ แต่ผลที่จะตามมาคือความเสี่ยงที่ปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะตกต่ำกว่าปีก่อนๆ มาก

ชาวนาที่ปลูกข้าวจะพบว่ารายได้ตกต่ำ และจะเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบาย “ประกันรายได้” แปลว่าไม่ว่ารายได้จะตกต่ำเพราะเหตุผลใด รัฐบาลก็ต้องเยียวยาให้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมพบจากงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีคือ การประเมินความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรในพืชผลประเภทต่างๆ คือ
•น้ำมันปาล์ม ใช้ปุ๋ยไร่ละ 120 กิโลกรัม
•ยางธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยไร่ละ 76 กิโลกรัม
•อ้อย ใช้ปุ๋ยไร่ละ 63 กิโลกรัม
•ข้าวนาปี ใช้ปุ๋ยไร่ละ 49 กิโลกรัม
•ข้าวโพด ใช้ปุ๋ยไร่ละ 46 กิโลกรัม
•มันสำปะหลัง ใช้ปุ๋ยไร่ละ 41 กิโลกรัม
เนื่องจากปาล์มราคาดีมากจึงเป็นไปได้ว่า ปุ๋ยน่าจะขาดแคลนอย่างมากสำหรับพืชผลอื่นๆ ครับ.
โพสต์โพสต์