วิธีเลือกกองทุนรวม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

วิธีเลือกกองทุนรวม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

นาทีนี้คนที่ชอบเล่นหรือซื้อหุ้นดิจิตอลหรือไฮเท็คในต่างประเทศแทบทุกคนน่าจะต้องรู้จัก “ARK ETF” ที่บริหารโดย Cathie Wood นักบริหารกองทุนรวมที่ “ร้อนแรงที่สุด” ในช่วงนี้ เหตุผลก็เพราะว่าผลงานการบริหาร ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เป็นบริษัทไฮเท็คและดิจิตอลที่จะ “เปลี่ยนแปลงโลก” ของเธอหลายกองทุนนั้น ต่างก็สร้างผลงานที่โดดเด่นมากและอยู่ระหว่าง 100 ถึง 200% ต่อปีในปี 2563 ที่ผ่านมา และนั่นทำให้กองทุนที่เป็น ETF ของบริษัท ARK Invest เติบโตขึ้นมหาศาลจากประมาณ 3.5 พันล้านเหรียญหรือ 1 แสนล้านบาทไทย เพิ่มขึ้นเป็น 41.5 พันล้านเหรียญหรือ 1.2 ล้านล้านบาทไทย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าภายในเวลาเพียงปีเดียว อานิสงค์จากนักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยที่แห่กันเข้าไปลงทุนใน ETF ของบริษัท

คำเตือนของผมสำหรับคนที่เข้าไปลงทุนใน ETF นี้ก็คือ อย่าคาดหวังว่ามันจะดีเหมือนเดิมหรือแม้แต่จะดีมาก ๆ สำหรับปี 2564 และปีต่อ ๆ ไป เหตุผลเพราะว่าปี 2563 นั้นเป็นปีที่ดีมากสำหรับหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะขนาดเล็กลงมาหน่อยอย่างหุ้นเทสลาที่ ARK ถือไว้มากและหุ้นวิ่งขึ้นมามหาศาลเป็น 10 เท่า เช่นเดียวกับหุ้นไฮเท็ค “เปลี่ยนโลก” อื่น ๆ ที่เติบโตขึ้นอานิสงค์จากโควิด-19 ที่เร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการที่สภาพคล่องทางการเงินที่สูงลิ่วทำให้เกิดการเก็งกำไรมหาศาลในตลาดของหุ้นกลุ่มนี้ ผลก็คือ หุ้นใน ETF ของ ARK ทำผลงาน “ทะลุโลก” แต่ทั้งหมดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอและอย่างรวดเร็วในปีต่อ ๆ ไป เฉพาะอย่างยิ่ง สภาพคล่องทางการเงินที่อาจจะตึงตัวขึ้นเห็นได้จากผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว 10 ปีของอเมริกาที่เพิ่มขึ้นแรงอย่างน่ากลัวในช่วง 2-3 วันนี้ เนื่องจากคนคาดว่าโควิด-19 กำลังจะผ่านไปและเศรษฐกิจจะกลับมาโตร้อนแรงหลังโควิด ซึ่งจะทำให้หุ้นเศรษฐกิจเก่ากลับมาแต่หุ้นไฮเท็คจะ “ปรับฐาน” จากที่ราคาร้อนแรงเกินไป

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ARK ETF อาจจะไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นเหมือนเดิมได้ก็คือการที่มัน “ใหญ่เกินไป” ซึ่งทำให้คนบริหารต้องกระจายการลงทุนและถือหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น ไม่สามารถที่จะเล่นหุ้นตัวเล็กที่มักจะวิ่งได้เร็วและมากกว่า ในกรณีของ ARK เองนั้น ผมเคยฟังการสัมภาษณ์ของ เคที่ วูดแล้วก็รู้สึกว่าเธอ “เล่นหุ้น” ค่อนข้างมาก ความหมายก็คือ ซื้อมา-ขายไปเร็ว มีการ “เก็งกำไร” สูง การซื้อหุ้นตัวเล็กและมีสภาพคล่องต่ำในลักษณะ “Corner” หุ้น เป็นสิ่งที่เธอชอบ เพราะมันสามารถ “ลาก” หุ้นขึ้นไปได้สูงมาก พูดง่าย ๆ สิ่งที่ ARK ทำนั้น คล้าย ๆ กับ “นักลงทุนขาใหญ่” ชอบทำกัน เวลาซื้อหรือขายหุ้นตัวไหนก็จะ “เปิดเผย” ต่อสาธารณะโดยบอกว่าเป็นการแสดงถึงการมี “ธรรมาภิบาลที่ดี” แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการ “โฆษณา” หุ้น ซึ่งอาจจะทำให้คน “แห่เข้ามาซื้อตาม” ผลก็คือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นมากผิดปกติได้



ทั้งหมดนั้นมาถึงข้อสรุปในการเลือกกองทุนรวมหรือ ETF ข้อแรกของผมก็คือ อย่าซื้อกองทุนรวมที่มีผลงานดีมาก ๆ ในอดีต เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า กองทุนรวมที่มีผลงานดีในอดีตนั้น มักจะไม่ได้หมายความว่าอนาคตจะดีด้วย และกองทุนที่ผลงานแย่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแย่ตลอด ตรงกันข้าม กองที่ผลงานในอดีตดี ผลงานในอนาคตก็มักจะแย่ลง และกองทุนที่แย่ โดยเฉลี่ยแล้วในอนาคตก็จะดีขึ้น กลายเป็นว่า ที่ผลงานดีนั้น จริง ๆ ส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ใช่ “ฝีมือ” ของผู้บริหาร แต่เป็นเรื่องของ “โชค” มากกว่า ในขณะที่ขนาดของกองทุนก็มีส่วนมากที่ทำให้สามารถสร้างผลงานที่ดีมากแบบสุดโต่งได้ และเพราะว่าโชคนั้น มักจะไม่เกิดซ้ำ ๆ ติดต่อกันยาวนาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่ากองทุนที่มีผลงานที่ดีในที่สุดก็จะแย่ลงและ “โชค” กลับไปอยู่ในมือของคนที่มีผลงานแย่ในอดีต

วิธีการเลือกกองทุนรวมข้อที่ 2 ก็คือ อย่าเชื่อว่าผู้บริหารกองทุนเป็น “เซียน” ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทน “เหนือโลก” ได้ยาวนาน เคที่ วูด เองนั้นเพิ่งจะก่อตั้งและบริหารกองทุนหรือ ETF ของ ARK มาแค่ 7 ปี ซึ่งในแง่ของการลงทุนต้องถือว่าสั้นมากและไม่สามารถที่จะพิสูจน์อะไรได้ ในขณะที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น บริหารเงินลงทุนมากว่า 60 ปี ซึ่งน่าจะต้องถือว่าไม่มีคำว่า “ฟลุ้ก” และแม้แต่บัฟเฟตต์เอง ถ้าศึกษาให้ดีก็จะพบว่า ผลงานการลงทุนในช่วง 30 ปีหลังนั้นก็ไม่ได้น่าประทับใจอะไรและแพ้ดัชนีตลาดด้วยซ้ำ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว เคที่ วูด น่าจะยังไม่สามารถถูกบันทึกว่าเป็น “เซียน” ในระดับมือต้น ๆ ของโลกได้ และนี่ก็คือ Dilemma หรือปัญหาของการเลือกผู้บริหารกองทุนที่ว่า ไม่รู้ว่าเป็นเซียนจริงไหม จะรู้ก็ต่อเมื่อเวลามันอาจจะผ่านไปแล้วนานเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไป

ข้อที่ 3 ของกลยุทธ์การเลือกกองทุนรวมสำหรับผม ก็คือ การตั้งสมมุติฐานว่า ผู้บริหารกองทุนรวมทั้งหลายนั้น มีฝีมือเท่ากันและเป็นฝีมือระดับ “เฉลี่ย” หรือกลาง ๆ โดยไม่สนใจว่ากองไหนใครบริหารและได้กี่ “ดาว” ดังนั้น เวลาเลือกกองทุนที่จะลงทุนจะต้องดูเรื่องของ “ราคา” หรือค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนด้วย อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะถ้าค่าบริหารต่างกัน 1-2% แต่สุดท้ายผลงานในระยะยาวก็เท่ากัน กองทุนที่ค่าบริหารต่ำกว่าก็จะให้ผลตอบแทนคิดเป็นเม็ดเงินสูงกว่ามากในช่วงเวลาเป็น 10 ปีขึ้นไป และข้อสรุปของข้อนี้ก็จะนำไปสู่ข้อที่ 4 ที่ว่า

การเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ เป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีดัชนีหลาย ๆ แบบให้เลือก เช่น ดัชนี “ตลาดหุ้น” เช่น S&P 500 หรือ SET50 หรือดัชนีหุ้นไฮเท็กที่มักอยู่ในตลาด Nasdaq นอกจากนั้นแล้วก็น่าจะมีที่เป็นแบบ Sector เช่นในกลุ่มของหุ้นเกี่ยวกับสุขภาพและดิจิตอล เป็นต้น การลงทุนในหุ้นที่อิงดัชนีนั้นมีข้อดีที่ว่าไม่ต้องมีผู้บริหารที่จะมาเลือกหุ้น ดังนั้น ค่าธรรมเนียมก็จะต่ำและผลงานก็จะอิงกับหุ้นหลัก ๆ ในดัชนีนั้น และทั้งหมดนั้นก็มักจะรวมถึง ETF ที่อิงกับดัชนีด้วย



คนอาจจะมีความรู้สึกว่าการลงทุนในกองทุนรวมหรือ ETF ที่อิงดัชนีนั้น จะทำผลงานที่ดีได้อย่างไร? เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผลตอบแทนที่ได้ก็เป็นแค่ “ผลตอบแทนเฉลี่ย” ของหุ้นในดัชนี โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ “ดีเลิศ” ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ข้อถกเถียงของผมก็คือ การทำได้เท่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพสูงมากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีพอแล้ว ผมยังจำได้ถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “Average is the New Awesome” หรือ “การทำได้เท่าค่าเฉลี่ยก็คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมใหม่ในภาวะปัจจุบัน” อย่าลืมว่าในวงการนักลงทุนนั้นเต็มไปด้วย “เซียน” หรืออย่างน้อยก็คนเรียนจบมหาวิทยาลัยดัง ๆ ของโลก ถ้าเราทำได้ดีในระดับกลาง ๆ เราก็สุดยอดแล้ว อย่างไรก็ตาม การทำผลตอบแทนได้ดีนั้น ไม่ใช่แค่ทำให้ได้เท่าค่าเฉลี่ย แต่เราต้องทำได้เท่าค่าเฉลี่ยในตลาดหุ้นหรือในเซ็กเตอร์ที่ดีหรือให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาวด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดว่านักลงทุนต้องทำที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ หาตลาดและ/หรือภาคอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งแน่นอนรวมถึงกลุ่มดิจิตอล ไฮเท็ค และอื่น ๆ ที่ดีหรือมีโอกาส “เปลี่ยนโลก” ได้ในราคาที่ “ไม่แพง” เสร็จแล้วก็เลือกลงทุนในกองทุนรวมหรือ ETF ที่อิงกับดัชนีนั้น

ในอดีตผมเองไม่เคยคิดที่จะลงทุนในกองทุนรวมเลยยกเว้นกองทุนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่ในช่วงปีที่แล้วที่ผมเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามเนื่องจากเห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่น่าจะกำลัง “Takeoff” หรือโตก้าวกระโดด และพบว่ามี ETF ที่เน้นในกลุ่มหุ้นที่ผมอยากลงทุนซึ่งก็คือหุ้นกลุ่มที่ผมคิดว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ผมจึงเลือกที่จะลงทุนใน ETF นั้นแทนที่จะเลือกลงทุนเอง นอกเหนือจากนั้นก็คือ ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ ผมไม่ต้องจ่ายราคาหุ้นที่เป็น Premium ในหุ้นหลาย ๆ ตัวที่ผมอยากซื้อด้วย

สำหรับคนที่อยากลงทุนในหุ้นยุคใหม่ที่จะ “เปลี่ยนโลก” การลงทุนใน ETF แบบ ARK นั้นก็ต้องเข้าใจว่า ETF ตัวนี้ไม่ได้อิงกับดัชนีที่เป็นแนว Passive แต่เป็นแนว Active Fund ที่ผู้บริหารเลือกหุ้นเอง มีการซื้อขายและเปลี่ยนตัวหุ้นตลอดเวลาในแนวของ Hedge Fund ซึ่งมีความเสี่ยงสูงและทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ดังนั้น เราจะต้องมั่นใจว่า เคที่ วูด นั้นเป็น “เซียนตัวจริง” และคุ้มค่าที่จะ “จ้าง” ให้บริหารเงินของเราในธุรกิจและอุตสากรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอนมาก ๆ และอยู่ในช่วงเวลาที่หุ้นร้อนแรงและมีราคาสูง “เหนือโลก” ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะชักจูงให้คนลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คหรือดิจิตอล “อิงดัชนี” ในช่วงที่คนกำลังสนใจหรือคลั่งไคล้ที่จะทำกำไรเป็นร้อยหรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในปีเดียวอย่างที่เกิดขึ้นกับ ARK ETF ที่บริหารโดย เคที่ วูด
tritep009
Verified User
โพสต์: 117
ผู้ติดตาม: 1

Re: วิธีเลือกกองทุนรวม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ข้อมูลสนับสนุนครับ
พอดี ผมตามศึกษา กองทุน ARKW ได้ Download โครงสร้างกองทุนมาแล้ว 3-4 สัปดาห์ โดยทำทุกวันอาทิตย์ ครับ
สินทรัพย์ลดลง ราว 1.5 พันล้านเหรียญ ใน หนึ่งสัปดาห์ เท่าที่ ดูผ่านๆ ลดการลงทุน ใน Apple และ Alibaba อย่างมีนัยยะครับ
แนบไฟล์
arkw03.png
arkw02.png
arkw01.png

อายุใกล้ 70 , ถ้าผิดพลาด ก็ ขออภัย ครับ
เขียนไว้กันลืม: รู้จักรอ เมื่อถึงเวลาต้องรอ รู้จักลงทุน เมื่อถึงเวลาลงทุน
ภาพประจำตัวสมาชิก
Tanukicho
Verified User
โพสต์: 216
ผู้ติดตาม: 1

Re: วิธีเลือกกองทุนรวม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 3

โพสต์

เมื่อไหร่ ดร. จะเลิกเข้าใจผิดว่า Hedge Fund มีความเสี่ยงสูงสักที แน่นอนกองส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูง เพราะอัด Leverage แต่กองทุนที่เป็นระดับโลกไม่ได้มี Leverage สูงขนาดนั้นแล้ว เบื้องหลังเต็มไปด้วย AI และ math มากมาย
“ กำไรเมื่อซื้อ ไม่ใช่เมื่อขาย ”
Cr.Richdad
ภาพประจำตัวสมาชิก
vim
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 2770
ผู้ติดตาม: 23

Re: วิธีเลือกกองทุนรวม/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 4

โพสต์

Tanukicho เขียน:
จันทร์ มี.ค. 01, 2021 1:52 pm
เมื่อไหร่ ดร. จะเลิกเข้าใจผิดว่า Hedge Fund มีความเสี่ยงสูงสักที แน่นอนกองส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูง เพราะอัด Leverage แต่กองทุนที่เป็นระดับโลกไม่ได้มี Leverage สูงขนาดนั้นแล้ว เบื้องหลังเต็มไปด้วย AI และ math มากมาย
หลายๆครั้งเราใช้คำว่า AI ไปอธิบายวิธีการคิดที่เราอธิบายไม่ได้
ในความเห็นผม การที่อธิบายไม่ได้ คือความเสี่ยงสูงครับ

แน่นอนว่า AI ที่ถูกต้อง สามารถอธิบายได้ แต่ที่ใช้กันเกร่อตอนนี้คงไม่ใช่
Vi IMrovised
โพสต์โพสต์