การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 1

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Model (ตอนที่ 1/6)

ในการวิเคราะห์หุ้นมีหลายวิธีในการประเมิน ซึ่งโดยมากนักลงทุนจะใช้ PE หรือ PBV ในการประเมินความความถูกแพงของหุ้น แต่การประเมินด้วยตัวเลขเหล่านี้โอกาสผิดพลาดก็มีโอกาสสูงมากครับ เพราะการมองที่ PE หรือ PBV เป็นการคำนวนมูลค่าเหมาะสมในปัจจุบันจากกำไรที่ผ่านมาแล้ว 4 ไตรมาส ซึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นหากจะให้ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมองไปข้างหน้า มองหากำไรในอนาคต ซึ่งหากพิจารณาจาก PE ในปัจจุบันก็อาจจะทำให้การลงทุนมีความผิดพลาดได้ครับ ดังนั้นหากจะมองปัจจัยที่จะประเมินกำไรในอนาคตได้ นักลงทุนจะต้องนำ “ปัจจัยด้านคุณภาพ” ของบริษัทที่เราสนใจที่จะลงทุนมาประกอบกับ PE หรือ PBV ด้วยครับ

หลักในการประเมินคุณภาพของบริษัทที่เราจะลงทุนหลักการหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาใช้และจำเป็นจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการลงทุนทุกครั้ง คือ Five Force Model โดยหลักการนี้จะช่วยให้เราสามารถประเมิน ”ปัจจัยด้านคุณภาพ” และ ความแข็งแกร่งของบริษัทในหลายๆมิติครับ ซึ่งหากสามารถนำมาวิเคราะห์ และ นำมาประกอบกับการพิจารณาความถูกแพงของหุ้นด้วย PE และ PBV ก็จะทำให้กรองหุ้นได้ทั้งในด้านปัจจัยคุณภาพและราคา ก็จะเป็นการเสริมเกราะป้องกันการลงทุนได้ดียิ่งขึ้นครับ

Five Force Model ประกอบไปด้วย
1. การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่
2. สภาวะอุตสาหกรรม
3. สินค้าทดแทน
4. อำนาจการต่อรองของ Supplier
5. อำนาจการต่อรองของลูกค้า

ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้มีความสำคัญมากน้อยต่างกัน และ รายละเอียดในการพิจารณาแตกต่างกัน แต่หากสามารถพิจารณาได้อย่างรอบคอบและถูกต้องก็จะสามารถให้เราสามารถประเมินคุณภาพและศักยภาพในปัจจุบัน ทำให้พอที่จะคาดการณ์อนาคตว่าผลประกอบการของบริษัทที่เราสนใจที่จะลงทุนนั้นจะไปในทิศทางไหน หรือ โครงการในอนาคตของบริษัทที่เราจะไปลงทุนนั้นมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากขนาดไหนครับ

ด้วยการที่เนื้อหามีค่อนข้างมาก มีการยกตัวอย่างประกอบ จึงแบ่งบทความออกเป็นบทความทั้งหมด 6 บทความ (รวมบทความนี้) เพื่อความเข้าใจให้มากที่สุดครับ โดยจะทยอยโพสบทความเป็นตอนๆไป ใน comment ด้านล่าง

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน “เม่ากลับใจ”
ไว้ในอ้อมใจของนักลงทุนด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
6EB88773-5594-4116-8D1A-5E0B811D1C73.jpeg

ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

Re: การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 2

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Analysis (PART 2/6)
การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่
Threat of New Entrants

ในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้เล่นรายใหม่ หากในธุรกิจหนึ่งใครๆก็สามารถเข้ามาทำธุรกิจได้ง่าย สภาพการแข่งขันก็จะสูง หากในช่วงปกติ Demand และ Supply นั้นอยู่ในระดับเดียวกันตัวธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆก็ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ แต่หากเมื่อไรที่ Supply เริ่มมากกว่า Demand การแข่งขันที่จะแย่ง Demand ที่มีจำกัด จะทำให้เริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น

สิ่งที่จะตามมาจากสภาพการแข่งขันที่สูง คือ การพยายามแย่งชิงลูกค้า ซึ่งสิ่งที่พบเจอบ่อยๆในการแข่งชิงลูกค้า คือ การตัดราคากัน ทำให้กำไรต่อหน่วยลดลง ในขณะที่ต้นทุนหลายๆอย่างคงเดิม เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ, ค่าจ้างพนักงาน, ค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟ ฯลฯ ก็จะนำไปสู่สภาวะกำไรไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน (หรือขาดทุน) ก็จะทำให้มีผู้ที่พ่ายแพ้และออกจากกิจการไป

แต่ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจนั้นง่าย ก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาสู่สนามการแข่งขันเสมอ ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจนั้นต้องกังวลกับสภาพการแข่งขันตลอดเวลา ผู้ชนะในวันนี้ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะในอนาคต

ตัวอย่างธุรกิจที่มี “Barrier to New Entry ต่ำ”เช่น ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจขายเสื้อผ้า, ธุรกิจนำเข้าสินค้า, ธุรกิจร้านกาแฟ, ธุรกิจคาร์แคร์ เป็นต้น เมื่อรายได้และกำไรดูน่าสนใจและการเข้าสู่ธุรกิจนั้นเข้ามาได้โดยง่ายก็จะดึงดูดให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ก็จะทำให้เกิดการแย่งกลุ่มลูกค้าที่มีจำกัด ก็จะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าจะซึ่งแม้จะเป็นผู้ชนะก็จะต้องบาดเจ็บ ส่วนผู้ที่แพ้ก็จะล้มหายตายจากไป

ดังนั้นหากมองในแง่ของการลงทุน นักลงทุนก็พยายามจะหลีกเลี่ยงธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูง เพราะ หากธุรกิจที่เราลงทุนสามารถมีผู้เล่นที่เข้ามาได้โดยง่าย ต่อให้วันนี้บริษัทที่เราลงทุนเป็นผู้ชนะก็ต้องเจ็บตัว หรือ อาจจะพ่ายแพ้ไปในอนาคตได้ ดังนั้นนักลงทุนจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่คู่แข่งขันเข้ามาได้โดยง่าย

ธุรกิจที่มี “Barrier to New Entry ที่อยู่ในระดับต่ำ” หากอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดก็จะให้ PE หุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเพราะคุณภาพของรายได้นั้นต่ำ มีโอกาสที่จะโดนแย่งจากผู้เล่นรายใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา มีโอกาสที่รายได้ในอนาคตจะลดลง เมื่อธุรกิจมีความเสี่ยง ตลาดก็จะไม่ประเมินมูลค่าสูง จึงเป็นเหตุผลที่ทำธุรกิจเหล่านี้โดยมากจะมี PE ที่ไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด หรือ หากเราสนใจจะลงทุน เราก็ไม่ควรที่จะให้ PE ของธุรกิจเหล่านี้ที่สูงเกินไป

ธุรกิจที่มี “Barrier to New Entry สูง” หรีอ ธุรกิจที่มีความยากในการเข้ามาของคู่แข่ง ธุรกิจเหล่านี้จะมีปัจจัยบางอย่างที่จะทำให้คู่แข่งเข้ามาทำธุรกิจด้วยได้ยากทำให้สภาพการแข่งขันนั้นน้อย ทำให้ไม่มีการแข่งขันในด้านราคา (หรือมีการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำ) เมื่อไม่มีการแข่งขันด้านราคา (หรือมีการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำ) ก็ทำให้สามารถกำหนดราคาได้เอง และสามารถเพิ่มราคาได้ตามต้นทุนหรือเงินเฟ้อได้ โดยมากธุรกิจเหล่านี้จะมีรายได้ที่สม่ำเสมอเพราะลูกค้ามีตัวเลือกที่น้อยทำให้ลูกค้าหากต้องซื้อสินค้าหรือบริการก็ต้องกลับมาใช้บริการกับบริษัทเดิมๆที่เคยใช้บริการ เพราะ มีตัวเลือกที่จำกัด

ตัวอย่างธุรกิจที่มี “Barrier to New Entry สูง” เช่น ธุรกิจที่ต้องได้สัมปทานจากรัฐบาล, ธุรกิจที่ต้องใช้เงินในการลงทุนสูงมาก, ธุรกิจที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น โดยธุรกิจเหล่านี้มีลักษณะที่เป็นธุรกิจที่ผูกขาด หรือ กึ่งผูกขาด เช่นธุรกิจสนามบิน (AOT) เป็นธุรกิจเฉพาะ มีลักษณะผูกขาด สามารถกำหนดราคาค่าธรรมเนียมได้เอง, ธุรกิจรถไฟฟ้า (BTS และ BEM) เป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล จึงมีความผูกขาดในเส้นทางนั้นๆ ค่าโดยสารแม้ว่าจะไม่สามารถกำหนดได้เอง แต่ก็มีสัญญาที่ชัดเจนในการปรับราคาค่าโดยสารในอนาคต, ธุรกิจโรงพยาบาล (BDMS, BCH, CHG) เป็นธุรกิจที่ใช้ความชำนาญเฉพาะทางในการดำเนินธุรกิจ และมีความผูกขาดในพื้นที่นั้นๆ

ดังนั้นเมื่อธุรกิจเหล่านี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดก็มักจะให้ PE กลุ่มนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะบริษัทเหล่านี้มีคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง คู่แข่งเข้ามาได้ยาก มีรายได้ที่สม่ำเสมอ สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่เพิ่ม และหากมีการขยายธุรกิจก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมาก ปัจจัยการถดถอยของสภาวะเศรษฐกิจไม่กระทบกับกำไรของหุ้น ทำให้กำไรของบริษัทสามารถเติบโตได้ในระยะยาวครับ

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน “เม่ากลับใจ”
ไว้ในอ้อมใจของนักลงทุนด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
7E7DE3A1-4EC6-4913-9D7F-AFF5CC3D2BE8.jpeg

ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

Re: การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 3

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Model (PART 3/6)
แนวโน้มสภาวะอุตสาหกรรม
Industry Rivalry

“สภาวะอุตสาหกรรม” ปัจจัยนี้เป็นตัวบอกแนวโน้มว่าธุรกิจนั้นจะเป็นอย่างไรโดยการเริ่มมองจากภาพใหญ่ คือ มองจากภาพอุตสาหกรรม การมองบริษัทจากภาคอุตสาหกรรมนั้นก็จะเป็นตัวที่เราสามารถคัดกรองกลุ่มที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจ เพื่อที่เราจะคัดกรองเอากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และ ไปหาผู้ชนะที่น่าสนใจในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น

ธุรกิจเครือข่ายมือถือ สมัยเมื่อสัก 20 ปีก่อน อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นน้อยมาก โทรศัพท์มือถือมีราคาแพงมาก ค่าโทรศัพท์มีราคาแพงกว่าปัจจุบันมาก ต่อมาเมื่อราคาโทรศัพท์มือถือถูกลงและค่าบริการเริ่มถูกลง ทำให้มีประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ ทำให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตสูง แต่ปัจจุบันแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นสภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตต่ำ จึงไม่ดึงดูดให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา การแข่งขันจึงเป็นการพยายามแข่งกันเองใน 3 คู่แข่งขันเดิม

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตต่ำ หรือ อาจจะเรียกได้ว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่อิ่มตัว เพราะ ใครๆก็ทานอาหารทุกวัน วันละ 3 มื้อ ดังนั้น Demand แทบจะไม่เพิ่ม ธุรกิจนี้ก็จัดได้ว่าเป็นธุรกิจที่อาจจะไม่เติบโตแต่เป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นดังนั้นการเติบโตก็ต้องไปแย่งส่วนแบ่งตลาดของร้านอาหารที่มีอยู่เดิม ไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดที่ชนะกันขาด หรือหากจะเติบโตก็ต้องมาจากการขยายตลาดออกไปจากการขยายสาขาไปยังพื้นที่ใหม่ๆ

ธุรกิจไปรษณีย์จากเดิมที่เป็นธุรกิจที่อิ่มตัวมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นของการขายสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการขนส่งทางไปรษณีย์มีมากขึ้น ก็ทำให้ตัวอุตสาหกรรมการขนส่งไปรษณีย์ได้รับอานิสงค์จากการเติบโตของสินค้าออนไลน์ ทำให้จากเดิมมีผู้เล่นเพียงเจ้าเดียว คือ ไปรษณีย์ไทย เพราะอุตสากหรรมอิ่มตัวไม่เติบโต แต่พออุตสาหกรรมกลับมาเติบโตจึงมีการดึงดูดคู่แข่งรายใหม่อย่าง KERRY เข้ามา

ธุรกิจการให้เช่าพื้นที่ จากการที่แนวโน้มการค้าขายสินค้าออนไลน์มาแรงจากการที่เข้าถึงสินค้าได้โดยง่าย การประหยัดต้นทุนในการเช่าพื้นที่ห้าง การโอนเงินและตรวจสอบการเข้าของเงินในบัญชีทำได้โดยง่ายกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้ผู้ขายยินดีที่จะขายสินค้าในราคาที่ถูกลงเพราะไม่มีต้นทุนค่าเช่าพื้นที่จึงสามารถตัดราคาสินค้าในแบบเดียวกันกับผู้ที่มีต้นทุนค่าเช่าในห้าง จึงทำให้แนวโน้มผู้เช่าพื้นที่ห้างที่มีอยู่เดิมต้องการลดต้นทุนเพื่อทำให้สามารถแข่งขันกับผู้ขายออนไลน์ได้จึงทำให้พื้นที่ในห้องมีแนวโน้มการเติบที่ที่ลดลง หรือ เริ่มติดลบในบาง Segment

การดูแนวโน้มธุรกิจว่าเป็นอย่างไรสามารถพิจารณาได้จากการที่ว่าธุรกิจนั้นๆมีมานานหรือยัง หากมีมานานแล้วโอกาสที่จะเป็นธุรกิจที่อิ่มตัวแล้วมีมาก การเติบโตก็อาจจะไม่สูงหรืออาจจะเติบโตลดลง และ มีโอกาสโดน Disrupt จากธุรกิจใหม่ๆในอนาคตได้ครับ(ซึ่งจะกล่าวไปในหัวข้อต่อไป คือ สินค้าทดแทน)

ดังนั้นการลงทุนโดยเลือกบริษัทที่กำลังเติบโตในอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงกำลังเติบโตจึงเป็นการคัดกรองบริษัทจากภาพใหญ่ที่น่าจะเหมาะสมในการลงทุนครับ

ชอบกด Like ใช่กด Share
ฝากเพจการลงทุน "เม่ากลับใจ"
ไว้ในอ้อมใจของนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
B55C4D90-2136-4EEF-B280-D1EB54FFDC9F.jpeg

ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

Re: การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 4

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Model (PART 4/6)
สินค้าทดแทน
Substitute Product

สินค้าทดแทนหมายถึงสินค้าที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือเทียบเท่า สินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ไม่แตกต่างจากสินค้าชนิดนั้นๆ เช่น

เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อกุ้ง เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาทำอาหารได้ หากเนื้อชนิดใดชนิดหนึ่งราคาแพง ลูกค้าก็สามารถเลือกที่จะใช้เนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นวัตถุดิบในการทานอาหารแทน หรือ หากมองในแง่สารอาหาร ไข่ไก่ ก็สามารถเป็นสินค้าทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ หรือ การเดินทางโดยรถสาธารณะ สมัยก่อนก็จะสามารถใช้ได้แค่รถเมล์ ต่อมีเมื่อมีการให้บริการรถไฟฟ้า ประชาชนก็มีทางเลือกมากขึ้นที่จะไปยังเป้าหมายโดยใช้รถไฟฟ้า เป็นต้น

การมองธุรกิจในบางครั้งแม้ว่าจะมองว่าบางบริษัทอาจจะเป็นที่หนึ่งในธุรกิจนั้นๆ ไม่สามารถมีใครเข้ามาแข่งขันได้ แต่ก็อาจจะเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) หรือ พ่ายแพ้ให้กับสินค้าทดแทนก็เป็นไปได้ เช่น

นาย ก. อยากทานสุกี้ก็ต้องไปทานที่ MK เพราะเป็นร้านสุกี้เป็นเบอร์ 1 แต่หากมีร้านสุกี้อีกเจ้ามาเปิดใกล้ๆ นาย ก.ก็ยังคงไม่เปลี่ยนใจจาก MK เพราะเชื่อว่า สุกี้ที่อร่อยที่สุดต้องเป็น MK เท่านั้น แต่หากมีร้านอาหารชนิดอื่นมาเปิดใกล้ๆ MK เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น FUJI หรือ ข้าวมันไก่ประตูน้ำมาเปิด ก็มีโอกาสที่นาย ก. จะเปลี่ยนใจจาก MK ไปทาน FUJI หรือ ข้าวมันไก่ประตูน้ำ ก็เป็นไปได้มากซึ่งแม้ว่า MK จะเบอร์ 1 ของร้านอาหารประเภทสุกี้ที่ไม่ว่าสุกี้เจ้าไหนก็ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ แต่ก็อาจจะเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับ FUJI หรือ ข้าวมันไก่ประตูน้ำก็เป็นไปได้มาก

และเมื่อ นาย ก. ทานอาหารเสร็จปกติจะทาน After You ซึ่ง After You โดดเด่นในส่วนของ คากิโกริ และ Toast ซึ่งหากพูดถึงความอร่อย After You เป็นเจ้าตลาดของขนมหวาน ต่อให้มีร้านอื่นๆที่พยายามเลียนแบบหรือขายราคาถูกกว่า ก็ไม่สามารถทำได้อร่อยเท่า ดังนั้น After You ก็จะเป็น Top of Mind ของนาย ก. ว่าถ้าจะกิน คากิโกริ หรือ Toast หลังจากทานข้าวต้อง After You เท่านั้น ไม่มีวันไปกินร้านอื่น แต่มาวันหนึ่งมี ร้านชานมไข่มุก Seoulcial Club, ร้านเครื่องดื่ม KAMU, GRAM Pancake, ร้านไอศกรีม iBerry มาเปิดเป็นตัวเลือก ซึ่งแม้ว่าสินค้าอาจจะแตกต่างกัน แต่ก็จัดว่าเป็นสินค้าที่ทดแทนที่เป็นของหวานเหมือนกัน สามารถทดแทนและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

ในการแพ้ชนะในส่วนของ “สินค้าทดแทน” อาจจะไม่ได้ทำให้คู่แข่งต้องพ่ายแพ้ไป เพราะ ตลาดชนะกันอย่างไม่ได้เด็ดขาด หรืออาจจะเป็นเพราะสินค้าทดแทนนั้นไม่สามารถทดแทนกันได้อย่าง 100% แต่ก็เป็นธุรกิจที่เข้ามาดึงเงินจากกระเป๋ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกัน

แต่การเข้ามาของสินค้าทดแทนบางอย่างมาในรูปแบบ Disruption ที่ไม่ได้เข้ามาแค่แย่งส่วนแบ่งการตลาด แต่อาจจะเข้ามาในรูปแบบการเข้ามาทดแทนสินค้าเดิมๆ จนทำให้สินค้าแบบเดิมๆนั้นอาจจะหายไป เช่น

การเข้ามาของโทรศัพท์เข้ามาทดแทนโทรเลข
การเข้ามาของโทรศัพท์มือถือ เข้ามาแทน เพจเจอร์การเข้ามาของ Smart Phone เข้ามาทดแทนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วและพิสูจน์การ Disruption ในอดีตไปแล้ว

ในปัจจุบันธุรกิจที่กำลังโดน Disrupt และ เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว และ น่าจะเป็น Trend ของโลก คือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จะไป Disrupt การเช่าพื้นที่ห้องสรรพสินค้า, การใช้รถยนต์ไฟฟ้าทดแทนการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน, การใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลภาวะแทนการใช้พลังงานจาก ฟอสซิล (น้ำมัน และ ถ่านหิน), การเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ แทนการโดยสารบนภาคพื้นดิน, การดูรายการย้อนหลังผ่าน Youtube ทดแทนการดูโทรทัศน์ตามตารางสถานี, ความบันเทิงในบ้าน เช่น Netflix ทดแทนการออกไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์, Sharing Economy เช่น GRAB มาทดแทน การเรียกแท็กซี่ และ AirBNB มาทดแทนการพักที่โรงแรม เป็นต้น

ซึ่งการทดแทนตรงนี้ก็ยังคงบอกไม่ได้ว่าจะเข้ามาเพื่อแย่งส่วนแบ่งการตลาด หรือ เข้ามาทดแทนตลาดเดิมแบบสมบูรณ์ (ทดแทน 100%) หรืออาจจะสามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ได้แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน เม่ากลับใจ
ไว้ในอ้อมใจของนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
DE030480-F830-430E-80B8-B4EA90460D40.jpeg

ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

Re: การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 5

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Model (PART 5/6)

อำนาจการต่อรองของ Supplier
Bargaining Power of Suppliers

Supplier คือ ผู้ที่นำสินค้าหรือวัตถุดิบมาขายให้กับบริษัท โดยปกติแล้วอำนาจการต่อรองของ Supplier นั้นจะมีค่อนข้างที่จะจำกัด เพราะ Supplier นั้นก็อยากขายของให้ผู้ซื้อในปริมาณมากๆเมื่อผู้ซื้อต้องการซื้อในปริมาณที่มากๆ ก็จะมีการต่อรองราคาสินค้า ซึ่ง Supplier ก็ยินดีที่จะลดราคาเพื่อแลกกับปริมาณการขายที่มากขึ้น

โดยมากสินค้าที่ Supplier ขายนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ

1. ขายวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของสินค้า เพื่อนำไปแปรรูป หรือ ประกอบ เช่น เหล็ก, เม็ดพลาสติก, ชิ้นส่วนรถยนต์, ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค เป็นต้น

2. สินค้าสำเร็จรูป หรือ สินค้าที่นำไปอุปโภคบริโภคได้เลย เช่น กระดาษทิชชู่, น้ำมันพืช, แชมพู, สบู่, โทรศัพท์มือถือ, กล้องถ่ายรูป เป็นต้น

ซึ่งหากเป็นสินค้า Commodity ที่ราคาถูกกำหนดโดยราคาตลาดโลกทั้ง Supplier และผู้ซื้อก็แทบจะไม่มีอำนาจต่อรองระหว่างกัน กล่าวคือ ถ้า Supplier ขายราคาแพงผู้ซื้อก็ไปซื้อกับใครก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อต่อราคามากๆ Supplier ก็สามารถไปขายให้กับที่อื่นก็ได้ เพราะ มีราคาของตลาดโลกเป็นตัวกำหนดราคา

หากเป็นสินค้าประเภทสำเร็จรูปหรือบริษัทรับจ้างผลิตโดยปกติSupplier จะค่อนข้างเสียเปรียบผู้ซื้อ เนื่องจาก Supplier มักจะเป็นรูปแบบของโรงงาน จึงมีต้นทุนที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่สูง เช่น ค่าจ้างพนักงาน, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และ ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น หากยิ่งมีการผลิตมากต้นทุนต่อหน่วยก็จะลดลง ก็จะทำให้ผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาซื้อสินค้าเพื่อแลกกับปริมาณการซื้อที่มากขึ้น ซึ่ง Supplier ก็ยินดืที่จะลดราคาให้กับผู้ซื้อ กำไรสุทธิหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อหน่วยของ Supplier อาจจะต่ำลง แต่กำไรสุทธิที่เป็นตัวเงินอาจจะมากขึ้นจากปริมาณการขายที่มากขึ้น

ซึ่งในระยะยาว Supplier จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ผู้ซื้อจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะในบางครั้งผู้ซื้อสั่งสินค้ามากขึ้น Supplier ก็ไม่สามารถเพิ่มกำไรได้เนื่องจากโดนกดราคาต่อหน่วยลงมาก

ดังนั้นเมื่อเห็นแล้วว่าอำนาจการต่อรองของ Supplier นั้นต่ำ ก็จะมองเห็นความเสี่ยงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อกลุ่มบริษัทที่ทำหน้าที่เป็น Supplier ให้กับบริษัทอื่นๆเหล่านี้เมื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ PE จึงอยู่ในระดับต่ำ เพราะ อำนาจการต่อรองนั้นต่ำมาก เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค เป็นต้น

โดยปกติธุรกิจที่มีอำนาจการต่อรองกับ Supplier สูงจะเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่,มีสาขามาก, มีปริมาณในการสั่งซื้อสินค้าสูง หรือ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เช่น

ธุรกิจค้าปลีก เช่น CPALL, MAKRO, BIGC ที่มีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตสินค้า ยิ่งสั่งสินค้าในปริมาณที่มาก ก็จะสามารถต่อรองราคาสินค้าต่อหน่วยในราคาต่อหน่วยที่ลดลง จึงทำให้ธุรกิจค้าปลีกสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าร้านค้าโชวห่วยทั่วไป

ธุรกิจโรงพยาบาลที่มีเครือข่ายมาก เช่น BDMS BCH CHG เมื่อมีเครือข่ายโรงพยาบาลมากขึ้นก็มีอำนาจในการต่อรองราคาค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆในราคาที่ถูกลง

ธุรกิจที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เช่น SABINA สามารถต่อรองราคาสินค้าจาก Supplier ในจีนได้หากมีการสั่งสินค้าในปริมาณที่สูงขึ้น

ในทางปฏิบัติหากบริษัทที่มีอำนาจการต่อรองต่อ Supplier สูง หรือ มีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง นอกจากจะมีอำนาจการต่อรองกับ Supplier แล้ว ยังมีความสามารถในการต่อรองในด้านอื่นๆด้วย เช่น อำนาจการต่อรองค่าเช่าพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น หากมีห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ ทางห้างนั้นๆก็อยากจะให้บริษัทที่มีชื่อเสียงมาเปิดเพื่อเป็นแม่เหล็กให้กับห้างนั้นๆจึงอาจจะมีข้อเสนอในอัตราค่าเช่าที่พิเศษ เพื่อจูงใจให้บริษัทเหล่านั้นมาเปิดร้านค้าในห้างของตน เช่น STARBUCK และ AFTER YOU เป็นต้น ซึ่งอำนาจการต่อรองนี้ก็จะทำให้ต้นทุนของบริษัทเหล่านี้ต่ำกว่าคู่แข่ง

เมื่อบริษัทที่มีอาจการต่อรองต่อ Supplier ที่ดีจะสามารถทำให้ต้นทุนหลายๆอย่างถูกกว่าคู่แข่งได้ ก็จะทำให้อัตราการทำกำไรดีกว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเดียวกัน และบ่อยครั้งที่บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่าจะเสนอราคาต่ำกว่าเพื่อจูงใจให้ลูกค้าหันมาซื้อสินค้าและบริการของตน จึงเป็นการทำลายคู่แข่งเพื่อครอบครองตลาด ดังนั้นอำนาจการต่อรองต่อ Supplier จึงเป็นสิ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน เม่ากลับใจ
ไว้ในอ้อมใจนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
630420DC-D029-475F-919F-088EA1CB7315.jpeg

ภาพประจำตัวสมาชิก
เม่ากลับใจ
Thai VI Partner
โพสต์: 108
ผู้ติดตาม: 365

Re: การวิเคราะห์ Five Force Model โดยเพจ “เม่ากลับใจ”

โพสต์ที่ 6

โพสต์

การวิเคราะห์ Five Force Analysis (PART 6/6)

อำนาจการต่อรองของลูกค้า
Bargaining Power of Customers

ในการทำธุรกิจผู้ขายเป็นคนตั้งราคา ผู้ซื้อเป็นผู้เลือกความคุ้มค่าที่จะจ่ายเงิน ดังนั้นการทำธุรกิจหลักสำคัญที่สุด คือ ลูกค้าเลือกที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการในบริษัทนั้นๆหรือไม่ ลูกค้ามีอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าหรือไม่ รวมถึงลูกค้ามีโอกาสที่จะเลือกใช้บริการของผู้ให้บริการที่ราคาถูกกว่านั้นหรือไม่

ซึ่งหากลูกค้ามีโอกาสที่จะตัดสินใจได้มากจากตัวเลือกที่มีมาก อำนาจการต่อรองของลูกค้าก็จะมีมาก ในทางกลับกันหากธุรกิจที่มีตัวเลือกน้อย อำนาจการต่อรองของลูกค้าก็จะมีน้อย กล่าวคืออำนาจการต่อรองของลูกค้าก็จะมาจากปริมาณตัวเลือกที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณตัวเลือก (Supply) จะมากหรือน้อยก็มาจาก Barrier to New Entry หรือ ความยาก(หรือง่าย) ในการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่(รายละเอียดเพิ่มเติมให้ย้อนกลับไปดูที่การวิเคราะห์ Five Force Analysis ตอนที่ 2/6)

โดยทั่วไปแล้วบริษัทที่ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภค หรือ B2C (Business to Consumer) จะเป็นธุรกิจที่อำนาจการต่อรองของลูกค้าต่ำ เช่น ธุรกิจโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยไม่สามารถทราบราคาหรือถึงทราบก็ไม่สามารถต่อรองราคาได้, ธุรกิจรถไฟฟ้าที่ไม่ว่าจะขึ้นราคาตามสภาวะเงินเฟ้ออย่างไรลูกค้าก็ต้องยอมจ่าย เป็นต้น

แต่บางธุรกิจแม้ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการที่ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งลูกค้าอาจจะไม่สามารถต่อรองราคาได้ แต่ลูกค้ามีโอกาสเลือกที่จะซื้อสินค้าหรือบริการจากเจ้าอื่นๆได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจสายการบิน ลูกค้าอาจจะไม่สามารถต่อรองราคาได้ แต่ก็มีโอกาสในการเลือกสูง อำนาจการต่อรองจึงไม่ได้ออกมาในรูปแบบการต่อรองราคา แต่อำนาจการต่อรองออกมาในรูปแบบการเลือกที่จะซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทใด

ส่วนบริษัทที่ขายสินค้าให้กับบริษัทด้วยกัน หรือ B2B (Business to Bisiness) หากธุรกิจไม่ได้มีสินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่างมากๆ โดยมากแล้วจะเป็นธุรกิจที่ในระยะยาวแล้วเป็นธุรกิจที่มีอำนาจการต่อรองค่อนข้างต่ำ เพราะผู้ซื้อที่เป็นบริษัทจะซื้อสินค้าทีละมากๆ ดังนั้นก็เป็นที่หมายปองของบริษัทอื่นๆเช่นกัน แต่ผู้ซื้อสินค้านั้นมีจำกัด ดังนั้นบริษัทคู่แข่งก็อยากได้ลูกค้ารายใหญ่ๆ ทำให้มีการตัดราคากัน ซึ่งในระยะยาวแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ก็จะโดนตัดราคาจากบริษัทอื่นๆ หรือ การต่อรองราคาจากลูกค้าเพื่อแลกกับปริมาณที่มากขึ้น เช่น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

แต่ในบางกรณีธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับบริษัทอื่นๆก็อาจจะมีอำนาจการต่อรองกับลูกค้าหากว่ามีสินค้าหรือบริการที่แตกต่างหรืออาจจะจำกัดด้วยใบอนุญาตในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจสนามบินที่ต้องได้รับอนุญาตในการทำธุรกิจจากหน่วยงานราชการหรือรัฐบาล, ธุรกิจเติมน้ำมันในสนามบินที่ต้องได้รับสัมปทานจากทางสนามบิน, ธุรกิจท่อส่งน้ำมันที่ต้องลงทุนสูงและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล, ธุรกิจขายน้ำอุตสาหกรรมที่คู่แข่งไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้เนื่องจากพื้นที่ในการวางท่อจากผุ้ที่จะเข้ามาแข่งขันนั้นจำกัดด้วยแนวถนนที่ความกว้างที่จำกัด เป็นต้น

Five Force Analysis เป็นการพิจารณาในด้านคุณภาพของบริษัทและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งหากบริษัทใดที่ผ่านเกณฑ์นี้ครบทั้ง 5 ข้อก็จะสามารถเป็นบริษัทที่เข้าข่ายในการลงทุนได้อย่างปลอดภัย เพราะ ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งมาก แต่อย่างไรก็ตามการพิจารณานี้ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของบริษัทเท่านั้น ในการพิจารณาการลงทุนยังต้องนำส่วนประกอบส่วนอื่นๆเพื่อประกอบการลงทุน เช่น PE Ratio, มูลค่าทางบัญชี, แนวโน้มการเติบโตของรายได้และกำไร และ งบการเงิน มาประกอบการลงทุนในบริษัทนั้นๆด้วยเช่นกัน

ชอบกด like ใช่กด share
ฝากเพจการลงทุน เม่ากลับใจ
ไว้ในอ้อมใจของนักลงทุนทุกท่านด้วยครับ

#เม่ากลับใจ
แนบไฟล์
58D1A9E2-2869-44DF-A350-B5D5A619BC0C.jpeg

โพสต์โพสต์