ดร.ศุภวุฒิ แจงยิบ เศรษฐกิจแย่ทำไมหุ้นแพง /ชัชวนันท์ สันธิเดช

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
always24
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 854
ผู้ติดตาม: 10

ดร.ศุภวุฒิ แจงยิบ เศรษฐกิจแย่ทำไมหุ้นแพง /ชัชวนันท์ สันธิเดช

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดร.ศุภวุฒิ แจงยิบ เศรษฐกิจแย่ทำไมหุ้นแพง เรียบเรียงโดย ชัชวนันท์ สันธิเดช

ผมสรุปคำให้สัมภาษณ์ของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับนับถือที่สุดของประเทศไทย ในรายการ Money Talk โดย ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร พูดถึงวิกฤตโควิด-19 กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ลองอ่านดูนะครับ

-เศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีเมื่อช่วงสองเดือนก่อน แต่หนทางข้างหน้ายังยากลำบาก ขณะที่ยุโรปยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังต้องระมัดระวัง
-จีนเน้นการฟื้นตัวจากภายในประเทศ ไม่ได้ใช้เม็ดเงินมากมายเหมือนสมัยก่อน ส่วนปัญหาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งซับซ้อนกว่าเรื่องสงครามการค้า ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อภาพระยะยาวของการลงทุน
-เหตุที่โควิดระบาดแต่หุ้นขึ้น มีสี่สาเหตุ หนึ่ง) เพราะหุ้นที่ขึ้นเป็นหุ้นเทคฯ รวมทั้งหุ้นที่ผลิตวัคซีน สอง) แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ แต่อัตราส่วนผู้เสียชีวิตลดลง ผู้คนจึงมองภาพข้างหน้าไม่ได้แย่มาก สาม) คาดกันว่าสหรัฐฯ กับยุโรปจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการคลังซ้ำอีก และสี่) สหรัฐฯ มี QE ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีการซื้อสินทรัพย์ และซื้อพันธบัตร ทำให้ราคาหุ้นไม่ถูกกดดัน
-ดร.ศุภวุฒิ เป็นห่วงว่าหุ้นที่แพงแบบนี้ค่อนข้างน่ากลัว แต่คนที่มองบวกก็ยังมองบวกอยู่ดี โดยมองว่าในเมื่อดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ก็มีแต่หุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ควรเอาเงินมาลง
-สำหรับเมืองไทย แม้เรื่องการระบาดของโรคจะดีกว่าสหรัฐฯ เป็นสิบเป็นร้อยเท่า เพราะไม่มีผู้ป่วยมานานมาก ดูไปแล้วเศรษฐกิจควรจะฟื้นตัวดีกว่าอเมริกา แต่ที่ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะไทยพี่งพาการท่องเที่ยวสูงกว่าอเมริกามาก
-ปัจจัยตรงนี้ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะตามมาด้วยหนี้เสีย คนตกงาน ทำให้หุ้นของเราไปไหนไม่ได้
-ที่น่าห่วงมากกว่า คือ “วิธีคิด” เราไม่คิดจะอยู่กับโควิดให้ได้ คิดแต่ว่าต้องไม่มีโควิดเลย พอเกิดเคสขึ้นมาเหมือนที่ระยองหรือสุขุมวิท จึงตื่นตระหนกกันไปหมด ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าต้นตอมาก
-ถ้าเรามีจุดกลัวโควิดรุนแรงขนาดนี้ เศรษฐกิจเราไม่มีทางฟื้น เพราะทั้งโลกเจอหนักกว่าเราเยอะ อิตาลีหนักกว่าเราด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ยังติดเชื้อใหม่วันละ 200-300 คน เขายังผ่อนคลายมากกว่าเรา ยุโรปก็ผ่อนคลายมากกว่าเรา ให้ไปมาหาสู่กันได้ แต่ของเราไม่ใช่
-แม้วัคซีนเกิดขึ้นมา ก็อาจจะยังไม่จบ ยังประเมินไม่ได้ว่าแม้คิดค้นวัคซีนได้แล้ว จะใช้ได้ผลแค่ไหน
-ถ้าไม่มีวัคซีนแต่มีวิธีบำบัดให้มั่นใจได้ว่ารักษาหายในอัตราสูง ก็น่าจะช่วยได้ อย่างทั่วโลกตอนนี้ อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 4% แต่ที่จริงน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่านั้น 4-5 เท่า (รวมพวกที่ไม่ได้ตรวจด้วย) นั่นแปลว่าอัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อจริงอยู่ที่ 0.6-1.0% เท่านั้น
-หากเป็นอย่างนั้น คนทั่วโลกจะเริ่มรู้ว่านี่คือ new normal คือติดได้ก็รักษาหายได้เป็นเรื่องปกติ และคนตายจะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะแพทย์เริ่มรู้วิธีรักษา
-เมืองไทยพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก รายได้ 97% จากนักท่องเที่ยวอยู่ใน 8-10 จังหวัด คือกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีทะเล เช่น ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ
-ปีนี้ เมื่อมีโควิด คาดว่านักท่องเที่ยวจะเหลือแค่ 9 ล้านคน รายได้ที่หายไป คนไทยเที่ยวกันเองยังไงก็ทดแทนไม่ได้ SMEs ที่อยู่ในเซคเตอร์นี้จะ “ไปหมด” อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะหดตัวรุนแรงมาก GDP อาจจะหายไป 10%
-ครั้น SMEs เหล่านั้นปิดตัว ก็มีคำถามว่าทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวที่มีอยู่เยอะแยะจะปรับเปลี่ยนไปทำอะไร? ในเมื่อเราอาศัยการท่องเที่ยวเป็น engine of growth มาโดยตลอด แล้วอยู่ๆ เครื่องจักรนี้ดับไปต่อหน้าต่อหน้า ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลก็น่าจะยังไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาทดแทน
-วิธีอยู่กับโควิดจริงๆ ไม่ใช่ขู่ว่าถ้าระบาดขึ้นมา จะล็อคดาวน์รอบสอง หรือขู่จะปิดทั้งจังหวัด ถ้าทำอย่างนั้นการลงทุนและเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น แต่ต้องมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เปิดให้ไปมาหาสู่กัน โดยต่อท่อระหว่างพื้นที่ต่อพื้นที่ เช่น ภูเก็ต กับเมืองในจีน
- ถามว่าตลาดหุ้นไทยสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ดร.ศุภวุฒิบอกว่า “ยังหวาดเสียว” เพราะเรามีปัญหาที่เป็น “ระเบิดเวลา” อยู่
-กล่าวคือ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินของแบงก์ชาติ ที่ให้พักดอกเบี้ย-หยุดจ่ายเงินต้น โดยไม่ต้องบันทึก NPL ไม่ต้องตั้งสำรอง ไม่ต้องแจ้งเครดิตบูโร มีผู้เข้าโครงการนี้ถึง 15 ล้านราย มูลค่าหนี้สูงถึง 6.8 ล้านล้านบาท
-นี่คือตัวสะท้อนว่าเรากำลังมีปัญหาหนัก เราแค่เบรกมันไว้ก่อน และเดี๋ยวจะต้องไปสะสางกันทีหลัง โดยเฉพาะ SMEs หนึ่งล้านรายที่มีมูลค่าหนี้ 2-3 ล้านล้านบาท ต้องมาดูกันว่าเมื่อหมดอายุมาตรการแล้ว สถาบันการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างอย่างไร
-พอถึงเดือนตุลาคม จะรู้แล้วว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นได้หรือไม่ ถ้าถึงช่วงหยุดยาววันชาติจีนต้นเดือนตุลาคม แล้วไม่มีนักท่องเที่ยวมา หลายคนจะถอดใจ ยิ่งถึงเวลานั้น มาตรการแบงก์ชาติที่ให้พักหนี้-เงินต้น จะหมดอายุ แบงก์อาจจะต้องเริ่มตั้งสำรอง ทำให้สัดส่วนหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แบงก์จะคำนวณความเสียหายอย่างไร ถ้าคนตกงานสิบกว่าล้านคน ไม่มีเงินเดือนละ 5,000 บาทแล้วจะทำอย่างไร
- รัฐบาลมีงบอยู่ 4 แสนล้านสำหรับช่วยในส่วนนี้ แต่หนี้ก้อนนี้มากถึง 6.8 ล้านล้าน มันต่างกันมาก
-ถามถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้น ดร.ศุภวุฒิ บอกว่ากระทบทางลบแน่ และจะกระทบธนาคารก่อน แต่แบงก์ทุกวันนี้เป็นส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ ของตลาดหุ้น
-และจะกระทบไปถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยว ถ้าไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจโดยรวมยังไงก็ไม่โต อาทิ เมื่อก่อนหวังว่า EEC จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ถ้าไม่เปิดประเทศ แล้วคนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนได้อย่างไร ต่างชาติจะถอยหรือไม่
-ในเมื่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่โต แล้ว P/E สูงอย่างนี้ มันจะสมเหตุสมผลได้อย่างไร?
- สภาพัฒน์ประเมินว่าจะมีคนตกงาน 1.5-1.6 ล้านคน แต่จริงๆ แล้ว 4-5 ล้านคนน่าจะถึง ดร.ศุภวุฒิเป็นห่วงว่า รัฐบาลมีแนวคิดจะใช้ 4 แสนล้านบาทกระตุ้นการจ้างงานในต่างจังหวัดไว้รองรับคนตกงาน เพราะคิดว่าคนที่ตกงานใน กทม จะกลับต่างจังหวัด แต่ skillset ของคนที่ว่างงานจากภาคการท่องเที่ยวอาจจะไม่เหมาะกับงานใหม่ที่สร้างขึ้นมา
-แนวคิดคือควรจะช่วย SMEs โดยตรงมากกว่า เพื่อให้ SMEs ไปจ้างงาน ไม่ใช่รัฐบาลไปสร้างงานเอง ซึ่งยากจะ match กับ skillset ของคนตกงานได้
โพสต์โพสต์