รักเธอ..ประเทศไทย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

รักเธอ..ประเทศไทย/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ดิฉันจะเขียนหัวข้อนี้ตั้งแต่เราประสบความสำเร็จในการหยุดการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด 19 เมื่อปลายเดือนเมษายน แต่ก็มีเรื่องอื่นให้เขียนถึงก่อน มาวันนี้ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องยิ่งเขียนเรื่องนี้ค่ะ

โควิด 19 ทำให้เราได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของประเทศไทย ทำให้เราเห็นว่าสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของประเทศนี้ คือคนไทย ที่ดูเหมือนจะไร้ระเบียบวินัย ที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตสบายๆ ที่ดูเหมือนจะไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากปรับเปลี่ยน ฯลฯ กลายเป็นว่า คนไทยเราเมื่อต้องอยู่ในวินัยก็ทำได้ เมื่อต้องอดทนก็ยอมทน เมื่อคราวต้องนำก็นำได้ เมื่อคราวต้องตามก็ยอมตาม และที่สำคัญที่สุดคือคนไทยมีน้ำใจที่รินไหลมาช่วยเพื่อนร่วมชาติ และเพื่อนร่วมโลก ในยามที่เราตกทุกข์ได้ยากนี่แหละค่ะ

ทั้งนี้ อาจมีการบ่น การอาละวาด การแสดงความไม่พอใจบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่าสอบได้เกรดเอเลยค่ะ

ในวันนี้ ดิฉันจึงอยากนำเสนอช่องว่างที่ต้องเติมให้เต็ม จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง หากเราต้องการความเป็นเลิศ หากเราต้องการสังคมในอนาคตที่สงบสุข มีสันติ และมีความปรองดอง

สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างแสดงให้เห็นมากมายว่า ประเทศไหนที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ก็มีโอกาสเกิดวิกฤติทางสังคมสูง เกิดความแตกแยก เกิดความไม่สงบ และการแก้ไขเรื่องต่างๆพวกนี้ รัฐไม่สามารถทำได้โดยลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จากประชากรทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีรายได้ หรือความมั่งคั่งสูง มีกำลังทรัพย์ที่จะนำมาแบ่งปัน มีกำลังสมองที่จะช่วยริเริ่ม หรือสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้น เพื่อกำจัดสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ หรือเพื่อลดผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ ลดความรุนแรง หรือแปรเปลี่ยนพลังที่อาจจะทำให้เกิดความรุนแรง กลายเป็นพลังที่จะช่วยสร้างสรรค์ความเจริญ และความสงบสุข

เป็นที่สังเกตได้ชัดเจนว่า วิกฤติโควิด 19 ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ไม่ต้องยกตัวอย่างอื่นไกล สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นการประทุของความเหลื่อมล้ำในประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตก เป็นประเทศมหาอำนาจ และเป็นผู้นำเศรษฐกิจ และเมื่อมันประทุขึ้น แม้ในวันข้างหน้าจะดับลง แต่ก็จะมีรอยแผลเป็นทิ้งไว้อีกยาวนาน รอวันประทุขึ้นมาใหม่อีก

ข้อมูลจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา หรือ US Census Bureau แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำของประชากรในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 22% หากวัดจากค่าสัมประสิทธิ์จินี (GINI Coefficient) ซึ่งได้เพิ่มจาก 0.398 ในปี ค.ศ.1976 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 200 ปีของการประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร มาเป็นค่า 0.486 ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 240 (ค่าสัมประสิทธิ์จินี มีตั้งแต่ 0 ถึง 1 การอ่านความหมายคือ ค่าที่ 0 หมายความว่าทุกคนมีความมั่งคั่งเท่าเทียมกันหมด หรือ perfectly equal และ ค่าที่สูงสุดเท่ากับ 1 หมายความว่ามีความเหลื่อมล้ำอย่างที่สุด เพราะจะมีคนหนึ่งได้ทุกอย่างไป และคนที่เหลือไม่มีอะไรเลย หรือ perfectly inequal)

จากข้อมูลสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา คนผิวขาวมีสัดส่วนประมาณ 59.2% ของประชากรทั้งหมด ผิวขาวเชื้อสายละตินอเมริกัน 18% คนผิวดำมีสัดส่วน 12.7% ของประชากร คนเอเชีย 5.6% คนพื้นเมืองอินเดียนและอะแลสก้า 0.9% คนพื้นเมืองฮาวายและแปซิฟิก 0.2% และคนที่มีเชื้อชาติผสมตั้งแต่ 2 เชื้อชาติขึ้นไป อีก 3.4% ค่ะ

จากบทความของ CNN เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 มัธยฐานความมั่งคั่งของครอบครัวผิวขาว คือ 171,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.39 ล้านบาท ในขณะที่ มัธยฐานความมั่งคั่งของคนผิวดำ อยู่ที่ 17,600 เหรียญ หรือประมาณ 554,400 บาท หรือต่างกันเกือบสิบเท่า ซึ่งความมั่งคั่งหรือเงินสะสมนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความยากลำบากทางเศรษฐกิจไปได้ เช่น กรณีตกงาน หรือขาดรายได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในตอนนี้จาก สถานการณ์โควิด 19 ค่ะ

ในด้านรายได้ก็เช่นกัน มัธยฐานรายได้ต่อครัวเรือนของคนผิวขาวสหรัฐ อยู่ที่ 71,000 เหรียญ หรือ 2.24 ล้านบาทต่อปี (186,375 บาท ต่อเดือน) ในขณะที่คนผิวดำมีรายได้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 41,000 เหรียญ หรือ 1.29 ล้านบาทต่อปี (107,625 บาทต่อเดือน)

ในการประเมินผู้ตกอยู่ในความยากจนของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2018 สหรัฐอเมริกามีผู้ที่ตกอยู่ในความยากจน 11.8% โดยคนผิวขาวตกอยู่ในความยากจน 8.1% ของประชากรผิวขาวทั้งหมด และคนผิวดำ ตกอยู่ในความยากจน 20.8% ของประชากรผิวดำทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการว่างงานของคนผิวดำก็สูงกว่า โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คนผิวขาวมีอัตราการว่างงาน 3.1% คนผิดำมีอัตราการว่างงาน 5.8% พอเกิดโควิดขึ้น ในเดือนเมษายน คนผิวขาวมีอัตราการว่างงาน 14.2% ในขณะที่คนผิวดำมีอัตราการว่างงาน 16.7%

อัตราการเสียชีวิตเพราะโควิดของคนผิวดำก็สูงกว่าด้วยค่ะ ในการเสียชีวิตเพราะทุกสาเหตุนั้น มีสัดส่วนคนผิวดำเสียชีวิตอยู่ 13% แต่คนผิวดำมีสัดส่วนเสียชีวิตถึง 23% ของผู้เสียชีวิตเพราะโรคโควิด 19

สองกรณีนี้จึงเป็นที่บ่งชี้ที่ชัดเจนว่า โควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์เห็นว่า หลายประเทศมีปัญหาเพราะ “นักการเมือง” นักการเมืองที่อาสาเข้ามาทำงานให้บ้านเมือง ควรจะเป็นผู้ที่มีความเสียสละ ผู้ที่อยากให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความสงบร่มเย็น นักการเมืองที่ต้องการอำนาจเพื่อรังแกผู้อ่อนแอกว่า นักการเมืองที่มีอคติกับกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลายๆกลุ่ม นักการเมืองที่ไม่มองประโยชน์ส่วนรวม นักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เหล่านี้จะไม่มีที่ยืนในอนาคต หากไม่กลัว ไม่เชื่อเรื่องเวรกรรม หากไม่รู้จักหิริโอตตัปปะ ก็ควรจะกลัวการสาปแช่งของเจ้าของประเทศบ้างนะคะ

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำมีอยู่มากมาย ต้นกำเนิดของปัญหา มาจากหลายทาง บางอย่างเกิดจากโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อและการยอมรับในโชคชะตา

บางอย่างเกิดจากการมีโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน บางอย่างเกิดโดยไม่ตั้งใจ บางอย่างเกิดโดยบังเอิญ และบางอย่างก็เกิดจากความมุ่งมั่นในวัตถุนิยม เป้าหมายกำไรที่เป็นตัวเงิน และสัญชาตญาณการแข่งขัน และการเอาตัวรอดซึ่งอาจจะไปกระทบสิทธิของผู้อื่น และบางอย่างก็เป็นผลพลอยได้ในทางลบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือเกิดจากความเห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้องของผู้มีโอกาสมากกว่า

แต่ไม่ว่าจะเกิดจากอะไร หากทุกคนในชาติ มุ่งจะขจัดความเหลื่อมล้ำ หากทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากทุกคนมีเมตตา กรุณา เชื่อว่าเราจะสามารถป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นปัญหา เป็นแผลเป็นที่กัดกร่อนชีวิตและสังคมของเรา และหากเราช่วยกันขจัดต้นตอของความเหลื่อมล้ำ และช่วยกันสอดส่องปกป้องไม่ให้ใครมาเบียดเบียนเงินงบประมาณของชาติ ดูแลไม่ให้ใครมาเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ที่ลำบากอยู่แล้ว เชื่อว่าสังคมไทยเราจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นค่ะ

รักเธอ...ประเทศไทย
มิถุนายน 2563
โพสต์โพสต์