เก็บตกจากมาตรการล็อคดาวน์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

เก็บตกจากมาตรการล็อคดาวน์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

แม้จะมีเหตุการณ์ที่ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะพบเจอะเจอแบบไวรัสโควิด 19 ที่ทำโลกปั่นป่วนจนมีมาตรการหยุดกิจกรรมทางธุรกิจและกิจกรรมในชีวิต แต่ก็ มีเรื่องดีๆเกิดขึ้นมากมาย วันนี้ขอเป็นเรื่องเก็บตกแบบเบาสมองจากช่วงสามเดือนที่ผ่านมาค่ะ

หลายสถาบันได้เข้าไปจัดให้มีตลาดออนไลน์ของตนซึ่งพบว่าศิษย์เก่าเข้าไปโพสต์ขายสินค้าและบริการกันอย่างเนืองแน่น คนที่เข้าไปตั้งใจจะขายหลายคน กลายเป็นผู้ซื้ออย่างเหนียวแน่น

อายุของคนเข้าไปโพสต์ขาย ก็มีตั้งแต่บัณฑิตจบใหม่ อายุ 21-22 ปี ไปจนถึงรุ่นคุณปู่คุณย่า ดิฉันเข้าไปอ่านพบรุ่นพี่ท่านหนึ่ง จบวิศวกรรมศาสตร์ เข้าเรียนปี พ.ศ. 2490 สำเร็จการศึกษาในปี 2495 แล้วได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา กลับมาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ จนเป็นอธิบดีหลายกรม และลาออกไปเป็นผู้อำนวยการกรมการค้าของคุรุสภา เห็นนามสกุลคุ้นๆ จึงโพสต์ไปถามเพื่อนว่า เป็นคุณพ่อของเพื่อนหรือไม่ ปรากฏว่าใช่จริงๆ ท่านอายุ 93 ปี แล้ว ภรรยาเรียนอักษรศาสตร์ และเป็นดาวมหาวิทยาลัยรุ่นแรก มิน่าเล่า เพื่อนของดิฉันจึงสวยมาก...

อีกคู่หนึ่งที่ต้องกล่าวถึง เป็นคู่แม่ลูกค่ะ จบสถาบันเดียวกัน คุณลูกเขียนไปขอร้องแอดมินผู้ดูแลหน้าขายของหรือตลาดของศิษย์เก่านี้ โดยบอกว่ารบกวนช่วยบล็อกไม่ให้คุณแม่เข้าไปตลาดออนไลน์หน้านี้ด้วยเถิด เพราะตั้งแต่คุณแม่รู้จักตลาดนี้ คุณแม่สไลด์จอซื้อของทุกวัน มีรถมาส่งของที่บ้านทุกวัน คุณแม่อยากเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ทุกวัน ปรากฏว่า พี่ป้าน้าอาทั้งหลายสวมวิญญาณนักขาย เข้าไปสอบถามกันใหญ่ว่า คุณแม่มีสินค้าตัวนี้แล้วยัง ตัวนั้นแล้วยัง อย่าเพิ่งให้ท่านออกไปจากกลุ่มเลย เพราะท่านเป็นลูกค้าที่ดี พี่ป้าน้าอา ยังต้องขายของหาเลี้ยงชีพอยู่เพราะตกงาน เชิญคุณแม่เป็นลูกค้าอุดหนุนก่อนแล้วค่อยออกจากหน้าก็ได้ ปรากฏว่า อีกสักพัก คุณลูกก็เข้ามาบอกว่าไม่บล็อกแล้วค่ะ ถ้าคุณแม่ถูกไล่ออกจากกลุ่ม คุณลูกถูกไล่ออกจากบ้านแน่ๆ แล้วคุณแม่ก็เข้ามาเขียนว่า “เห็นแก่ความสงบสุขในครอบครัวนะคะ วันนี้แม่จะพักช้อปให้วันหนึ่งค่ะ” ฮา!

บางท่านก็หาสินค้ามาขายเพื่อนำเงินไปบริจาค เนื่องจากเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ยอดเงินบริจาคก็เหือดหายไป บางท่านเย็บหน้ากากอนามัยด้วยมือ ขายโดยแลกกับเงินบริจาคไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า และมูลนิธิดูแลคนพิการต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนับสนุนมากทีเดียว

ดิฉันก็ซื้อของออนไลน์เหมือนกันค่ะในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรส่งออกไม่ได้ เราก็ตามไปซื้อ ร้านอาหารยอดขายลดลง เราก็ตามไปซื้อ ของใช้ในบ้านหมด เราก็ตามไปซื้อ เผอิญต้องมีขั้นต่ำที่ซื้อจึงจะได้รับการยกเว้นค่าส่ง สั่งอย่างหนึ่งแล้ว จึงต้องหาของพ่วงสั่งไปด้วย สั่งไปสั่งมาเต็มบ้านเลยค่ะ

สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องขยะ เราอุตส่าห์รณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกแยกครั้งเดียวทิ้ง รณรงค์ให้ประหยัดทรัพยากร แต่การส่งของปัจจุบัน ใช้หีบห่อมากเหลือเกิน ทั้งกล่อง ทั้งวัสดุกันกระแทก ทั้งกระดาษห่อหุ้มสินค้า แถมไม่พอ เพื่อเอาใจลูกค้า แม้สั่งของไปล็อตเดียว ยังแยกกันส่ง เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าเร็วขึ้น หารู้ไม่ว่าลูกค้าปวดหัวและยุ่งยากกับการต้องออกมารับของมากเพียงใด ออเดอร์เดียว แยกจัดส่งมา 5 ครั้ง (4 ครั้งในหนึ่งวัน และอีกหนึ่งครั้งในวันรุ่งขึ้น) แทนที่ลูกค้าจะดีใจ ลูกค้าที่เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมแบบดิฉัน จึงหยุดสั่งในทันที

น้องๆทีมวิศวกรที่ดิฉันรู้จัก ได้ไปทำงานร่วมกับแพทย์ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า หรือเพื่อทำให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ โดยใช้แสงยูวี ความพยายามผลิตชุดป้องกันที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง หน้ากากป้องกันกันแบบ Face Shield เป็นต้น นับได้ว่านวัตกรรมใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้

เห็นเด็กๆที่ไปโรงเรียนในประเทศจีน สวมหมวกช่วยเว้นระยะ เป็นหมวกที่มีเสากระโดงกว้าง ก็เป็นความคิดที่ดีที่อาจประยุกต์นำมาใช้ในประเทศไทยได้นะคะ จึงขออนุญาตนำรูปมาให้ชมกัน

2020-05-12 (4).png
มาถึงเรื่องอาหารการกิน ต่อไปเราต้องจัดโต๊ะโดยมีส้อมคนละหนึ่งอัน และช้อนคนละสองคัน คันหนึ่งเอาไว้เป็นช้อนรับประทาน และอีกคันหนึ่ง เอาไว้เป็นช้อนกลาง(ของเรา) โดยลักษณะไม่ควรเหมือนช้อนทานข้าวค่ะ

ดิฉันเคยให้สัมภาษณ์ไปช่วงวันสงกรานต์ว่า กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ และภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ ก็คงจะเป็นปลายปี 2564 เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผู้คนต้องพยายามจะออมเงินและประหยัดกัน เพื่อให้สามารถอดทนกับช่วงที่รายได้ลดลง ลูกค้าลดลง ไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขอให้ผู้บริจาคทั้งหลาย บริจาคกันนานๆ บริจาคเป็นปกติ สม่ำเสมอนะคะ คนเดือดร้อนยังมีอีกมาก ฝากกวาดสายตาไปรอบๆ ดูผู้ด้อยโอกาส และผู้เดือดร้อนให้ทั่วถึง หากเราทำไม่ไหว การเป็นสะพานบุญสะพานกุศล เชื่อมผู้ต้องการบริจาคกับผู้ต้องการรับบริจาค ก็ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ค่ะ หวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ รัฐช่วยบรรเทาไปแล้วในเบื้องต้น และมองไปข้างหน้า รัฐก็คงไม่สามารถอุ้มชูไปได้นาน เพราะภาษีที่จะเก็บได้ในปีนี้และปีหน้า ก็จะลดลง

วันนี้อยากฝากรัฐบาล และฝากคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้แทนฝ่านรัฐบาลด้วยค่ะ ว่าจะสามารถเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น เจ้าหน้าที่เก็บขยะมูลฝอย ที่ทำงานเกี่ยวกับการจัดเก็บและทำลาย (ไม่ใช่ผู้กวาดถนน) เข้าใจว่าภาครัฐได้ทำสัญญาจ้างเอกชนต่อบางส่วน ทำอย่างไรจะแน่ใจว่า เขาเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่าความเสี่ยง และได้รับอุปกรณ์ในการป้องกันตัวที่ดีและมีคุณภาพ เช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอัตราค่าตอบแทนของคนที่ต้องทำงานเสี่ยง จะมีค่าความเสี่ยงเพิ่มให้ด้วยค่ะ

ท่านใดมีเกร็ดสนุกๆ รบกวนเล่าให้อ่านบ้างนะคะ
เครดิตภาพจาก Facebook “โอ้โห Beijing”
โพสต์โพสต์