Covid-19 เศรษฐกิจกับจีดีพี(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1892
ผู้ติดตาม: 313

Covid-19 เศรษฐกิจกับจีดีพี(2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกและประเทศไทยทำการ lockdown เศรษฐกิจประมาณกว่า 1 เดือนแล้ว ในช่วงนั้นมีการรณรงค์ให้อยู่บ้าน ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงอย่างมาก เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานทั่วโลกหลายล้านคนและการลดลงของราคาน้ำมัน (จนกระทั่งราคาส่งมอบในตลาดล่วงหน้าเดือนเม.ย.ติดลบ)

การออกคำสั่ง lockdown เศรษฐกิจแปลว่าผลผลิตทั่วโลกลดลงอย่างมาก กล่าวคือจีดีพีลดลงทั่วโลก และเมื่อไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการหลายชนิดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ก็ต้องเข้าใจว่าเมื่อเวลาผ่านไปแล้วจะไม่สามารถเรียกเวลาที่ผ่านไปแล้วกลับมาอีกได้ มาตรการทางการคลังและการเงินที่ช่วยดูแลให้ผู้มีรายได้น้อย ยังพอมีเงินมาเลี้ยงชีพตัวเอง และการที่บริษัทต่างๆ สามารถหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาเกื้อกูลธุรกิจของตัวเองต่อไปนั้น คือการรักษาสถานะปัจจุบันเอาไว้ โดยหวังว่าเมื่อเลิก lockdown แล้วธุรกิจต่างๆ และพนักงานของธุรกิจดังกล่าวจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเช่นเดิม พนักงานมีงานทำเช่นเดิมและบริษัทสามารถทำกำไรและจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้เช่นเดิม

ผมจึงมองว่ามาตรการทางการเงินและการคลังทั้งหมดนั้น แม้จะมีมูลค่าสูงมากจนหลายคนตกใจและเป็นห่วงว่าจะมีผลในทางลบในด้านต่างๆ นั้น ต้องเข้าใจว่าหากไม่ทำเช่นนั้นจะกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหลายล้านคนและการปล่อยให้ธุรกิจหลายพันหลายหมื่นแห่งต้องล้มละลายหรือเลิกกิจการไปในระหว่าง lockdown นั้นย่อมจะทำให้เกิดความเสียหายที่ถาวรกับเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อยกเลิกการ lockdown ในอนาคต เศรษฐกิจจะพิการเพราะไม่มีผู้ประกอบการรอดเหลืออยู่เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป ดังนั้นจึงมองได้ว่ามาตรการของภาครัฐนั้นเป็นเพียงการ “คงสถานะ” ของผู้ประกอบการเอาไว้ ไม่ใช่การกระตุ้นจีดีพีเพราะจีดีพีถูกตัดทอนลงไปจากการควบคุมการระบาดของ COVID-19

ดังนั้น ไอเอ็มเอฟจึงประเมินสภาวะของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 และ 2021 ที่ต้องเผชิญกับ COVID-19 ดังนี้

1.หาก lockdown กระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 แต่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ในครึ่งหลังของปีนี้ จีดีพีของโลกจะลดลง 3.0% และในปี 2021 จะเพิ่มขึ้น 5.8% แต่ความเสียหายจากการ lockdown เศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 และการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในครึ่งหลังของปีนี้จะทำให้โลกสูญเสียโอกาสหากสามารถผลิตจีดีพีได้โดยปกติไปทั้งสิ้น 9 ล้านล้านเหรียญในช่วงปี 2020 และ 2021 จีดีพีหรือผลผลิตสินค้าและบริการดังกล่าวนั้นจะสูญเสียไปโดยไม่สามารถเรียกกลับมาได้ นโยบายของรัฐนั้นจะไม่ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นมาได้ แต่จะทำให้ “people are able to meet their needs” (ไม่อดตาย) และ “business can pick up once the acute phases of the pandemic pass” (ธุรกิจจะยังรักษาเนื้อรักษาตัวให้อยู่รอดและสามารถทำธุรกิจต่อไปได้เมื่อการ lockdown เศรษฐกิจผ่านพ้นไปแล้ว)

2.หากการ lockdown เศรษฐกิจจะต้องยืดเยื้อต่อไปอีกในครึ่งหลังของปี 2020 จีดีพีโลกจะติดลบ 6.0%

3.หากการ lockdown เศรษฐกิจจะต้องขยายข้ามปีต่อไปในปี 2021 หรือ COVID-21 จะกลับมาระบาดรอบ 2 ในปี 2021 จีดีพีในปี 2021 จะเปลี่ยนจากการโต 5.8% มาเป็นติดลบ 2.2%

ดังนั้นหากจะถามว่าจีดีพีไทยจะติดลบเท่าไรหรือจะฟื้นได้มากเพียงใดนั้น จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินหรือการคลังว่าจะ “ใส่เงิน” กี่ล้านล้านบาท เพราะรัฐบาลและแบงค์ชาติไม่สามารถผลิตจีดีพีได้ จีดีพีจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีศักยภาพในการเปิดเศรษฐกิจ ยกเลิกการ lockdown พร้อมกับการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อCOVID-19 รายใหม่ไม่เกินวันละ 10-20 คน เป็นต้น

แน่นอนว่าการจะควบคุมให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นไม่เกินวันละ 10-20 คนนั้น จะสร้างข้อจำกัดให้กับเศรษฐกิจอย่างมากและมีผลกระทบที่แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น ดูเหมือนว่าผับ บาร์และสถานเริงรมย์หลายๆ แห่งในเมืองใหญ่อาจเปิดให้บริการไม่ได้จนกว่าจะสามารถค้นคว้าหาวัคซีนได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเกินกว่า 1 ปี บางธุรกิจเช่นภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเมืองรองนั้นก็อาจต้องหมดอนาคตไปด้วย ตรงนี้การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมและการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจองประเทศจะเป็นสิ่งที่ท้าทายประเทศไทยอย่างมากใน 2-3 ปีข้างหน้า

เป็นไปได้หรือไม่ว่าหากรอไป 1 ปีแล้ว ค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว เศรษฐกิจจะกลับไปเหมือนกับยุคก่อน COVID-19? ผมสงสัยว่าจะเป็นเช่นนั้นได้ยาก เพราะหากพิจารณาจากประสบการณ์กับไวรัสในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าโลกมนุษย์ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสพันธ์ุใหม่ชนิดต่างๆ มา 5 ชนิดแล้ว คือไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดนกและไข้หวัดสุกร (ที่มีความคล้ายคลึงกับ Spanish Flu เมื่อปี 1918) และไวรัสโคโรนาที่ทำให้เป็นโรค SARS MERS และ COVID-19

ดังนั้น จึงประเมินได้ว่าหากเรามีวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ในปี 2021 ก็อาจต้องพบกับไวรัสสายพันธ์ุใหม่อีกภายใน 5-6 ปีข้างหน้า ทำให้การเฝ้าระวังโรคสายพันธ์ุใหม่ การทำ social distancing และการสร้างศักยภาพทางด้านสาธารณสุขนั้นจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างมากและจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักธุรกิจว่าจะอาศัยประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่ทางอุปทานของโลก (global supply chain)หรือไม่

กล่าวคือการจะยังเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัฒน์จะต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของไทยในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคร้ายในอนาคตและคนไทยก็อาจต้องการถามตัวเองด้วยว่ายังต้องการพึ่งพาตลาดโลกโดยเฉพาะการผลิตบริการด้านการท่องเที่ยวให้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือจะมีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่านี้? ผมเกรงว่าจะไม่มีทางหลักอื่นที่ดีกว่า ดังนั้น การเชื่อมโยงของเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลกจึงจะต้องดำเนินต่อไปแต่ในเงื่อนไขที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างมากครับ
โพสต์โพสต์