กลัว Covid-19 (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

กลัว Covid-19 (2)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ ชิงปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไป 0.5% จาก 1.75% เหลือ 1.25% โดยการประชุมนอกรอบ(แบบฉุกเฉิน) ธนาคารกลางสหรัฐคงหวังว่าจะส่งสัญญาณให้ตลาดทุนทราบว่าจะสนับสนุนตลาดอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ตลาดล่วงหน้าคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยลง 0.5% เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.พ. แต่สิ่งที่แปลกคือ ตลาดหุ้นสหรัฐกลับปรับตัวลดลง 3% ในวันที่ 3 มี.ค.ที่ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยอย่างไม่คาดฝันดังกล่าว ตรงนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายที่กำลังกลัว Covid-19 มากที่สุดน่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ แต่คำถามคือ การลดดอกเบี้ยจะช่วยต่อสู้กับ Covid-19 ได้มากน้อยเพียงใด?

ในความเห็นของผมนั้น การลดดอกเบี้ยตอนนี้ วันนี้ เป็นการเปลือง “กระสุน” ของนโยบายการเงินมากกว่า และจะเป็นการกดดันให้ธนาคารกลางอื่นๆ ต้องลดดอกเบี้ยลงตามธนาคารกลางสหรัฐต่อไปด้วย เพราะมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีกในการประชุมของ FOMC ในวันที่ 18 มี.ค. ซึ่งหากธนาคารกลางอื่นๆ ที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยลงตามธนาคารกลาง สหรัฐก็เสี่ยงที่ค่าเงินของประเทศของตนจะต้องแข็งค่าขึ้น ซึ่งย่อมจะบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ที่กำลังอ่อนแรงลงเหมือนๆ กันทั่วโลก

ผมมองว่าจังหวะนี้ไม่ใช่จังหวะที่การลดดอกเบี้ยจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจมากนัก แต่ควรจะคำนึงว่าภาวะการระบาดของ Covid-19 นั้นอยู่ที่ระยะใด ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

1.สำหรับประเทศจีนนั้นสมควรลดดอกเบี้ยและกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้วเพราะพอจะสรุปได้ว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้หยุดลงได้แล้วและประชาชนกำลังกลับเข้าทำงานและใช้ชีวิตปกติหลังจากที่ประเทศและเศรษฐกิจหยุดชะงักมาเป็นเวลากว่า 1 เดือน (ในแต่ละเดือนประเทศจะผลิตสินค้าและบริการเท่ากับ 8% ของจีดีพีทั้งปี ดังนั้นสมมุติว่าการผลิตหยุดไปครึ่งหนึ่ง ก็แปลว่าจีดีพีหายไปประมาณ 4%)

2.การกลับมาทำงานนั้นกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆในเดือนมี.ค. และหากเป็นไปตามแผนเศรษฐกิจจีน ก็น่าจะกลับมาสู่สภาวะปกติในเดือนเม.ย. และในบางส่วนก็จะสามารถเร่งการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าที่ไม่ได้ผลิตในเดือนก.พ. และ มี.ค. ทั้งนี้บางส่วนโดยเฉพาะภาคบริการจะเร่งผลิตมาทดแทนไม่ได้ เช่น ยอดขายดอกไม้ในวันวาเลนไทน์ เป็นต้น

3.ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนใน 1-2 เดือนข้างหน้า คือจะต้องไม่มีการเพิ่มขึ้นของการแพร่เชื่อ Covid-19 อีกไม่ว่าจะในเมืองใด มณฑลใด หากมีปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะเป็น game changer อย่างแน่นอน

4.ในส่วนของสหรัฐและยุโรปนั้น เป็นช่วงที่การระบาดของโรคกำลังเร่งตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจึงคงต้องติดตามมาตรการทางสาธารณสุขที่จะต้องเข้มข้นขึ้นเพื่อดูว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้เมื่อใด หากใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก็แปลว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน การผลิตสินค้าและบริการจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในส่วนของการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้นน่าจะประสบกับภาวะตกต่ำยาวนานอย่างต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีนี้เป็นอย่างน้อย

5.ประเทศที่ดูน่าเป็นห่วงมากที่สุดในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้คือเกาหลีใต้เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นถึง 851 คนในวันที่ 2 มี.ค. ทำให้ผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 5,186 แล้ว ณ เช้าวันที่ 3 มี.ค. ผมนำเอาตัวเลขนี้เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยจำนวนประชากรของเกาหลีใต้ ได้ตัวเลขคนป่วย 101.7 คนต่อประชากน 1 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากเพราะแม้จะมีประชากรเพียง 51.3 ล้านคน (หรือประมาณ 0.6% ของประชากรโลก) แต่จีดีพีสูงถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2% ของจีดีพีโลก) และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ เครื่องคอมพิวเตอร์และรถยนต์ที่สำคัญของโลกอีกด้วย

การนำเอาตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อ Covid-19 มาเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศนั้นๆ ทำให้มองเห็นปัญหานี้ในอีกมิติหนึ่ง ดังปรากฏในตาราง
รูปภาพ

ดังที่เห็นจากตาราง ผมนำเอาตัวเลขผู้ติดเชื้อกับจำนวนประชากรของ 15 ประเทศจากจำนวนประเทศทั้งหมดที่มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 เกือบ 80 ประเทศ ณ วันที่ 3 มี.ค. ซึ่งผมมีข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้

1.Covid-19 กำลังแพร่ขยายอย่างเร่งตัวในทวีปยุโรปและตะวันออกกลางนอกเหนือจากในเอเชีย โดยเฉพาะที่เกาหลีใต้ที่ดูน่าเป็นห่วงที่สุด ญี่ปุ่นนั้นแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึง 293 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.3 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ในเอเชียนั้นเกาะสิงคโปร์และฮ่องกงมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อสูงสุด แต่อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมาก สะท้อนได้ว่าน่าจะควบคุม Covid-19 ได้แล้ว

2.ที่อิหร่านนั้นดูน่าเป็นห่วงที่สุดแต่สัดส่วนผู้ติดเชื้อที่บาเรนก็สูงมากและที่คูเวตก็สูงถึง 13 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่อิรักยังต่ำมาก ซึ่งน่าแปลกใจเพราะเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับอิหร่าน

3.ในยุโรปนั้นอิตาลีดูน่าเป็นห่วงที่สุดแต่ที่ต้องกังวลเช่นกันคืออัตราการเพิ่มที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็กที่เราอาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เช่น สวิสเซอร์แลนด์ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั้งสิ้นสูงถึง 58 คน คิดเป็นสัดส่วน 6.7 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ประเทศนอร์เวย์ สเปนและสวีเดนเป็นประเทศที่คงจะต้องเร่งรัดการควบคุมการแพร่ขยายของ Covid-19 เช่นกัน
โพสต์โพสต์