[Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
VALUEKUN
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 125
ผู้ติดตาม: 1

[Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 1

โพสต์

รูปภาพ

ชุด Mastering The Market Cycle มีทั้งหมด 3 ตอน สามารถเข้าไปฟังได้ใน Spotify และ Apple Podcast ครับ (ในอนาคตน่าจะเอาลง Youtube เพิ่มด้วย)

Spotify

Part 1: https://open.spotify.com/episode/4XXnqsxp73BzOwODleOMCK

Part 2: https://open.spotify.com/episode/5aALxMHjRnlCc1gONh8TSm

Part 3: https://open.spotify.com/episode/3VIroA8yKkuEYPtQuH76Cy


Apple Podcast

Part 1: https://podcasts.apple.com/th/podcast/e ... 0454176018

Part 2: https://podcasts.apple.com/th/podcast/e ... 0454176017

Part 3: https://podcasts.apple.com/th/podcast/e ... 0454176019


ด้านล่างนี้คือเนื้อหาคร่าวๆ ใน Part 1 เผื่อใครอยากเห็นเนื้อหาคร่าวๆ ก่อนฟังครับ


ทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงน่าสนใจ?

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Howard Marks ผู้เขียน The Most Important Things ที่แม้แต่ Buffett ยังชื่นชมว่า “นี่คือหนังสือมีประโยชน์ที่หาอ่านได้ยาก”

นอกจากนั้น Mastering The Market Cycle ยังเป็นหนังสือที่อุดมไปด้วยคำนิยมจากนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนชื่อดังหลายคน เช่น Ray Dalio, Charlie Munger, Carl Icahn ฯลฯ

ความเห็นเชิง Positive เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะพูดถึง Core ของการลงทุนที่สำคัญมากๆ

จนแม้แต่คนที่มีสไตล์การลงทุนที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ยังเห็นตรงกันว่านี่เป็นหนังสือที่ควรอ่าน


อ่านแล้วเป็นไง?

ส่วนตัวแล้วผิดหวังนิดหน่อย

จริงๆ แล้วหนังสือไม่ได้แย่ แต่ปัญหาคือหนังสือมันมีน้ำเยอะมาก และเนื้อหาส่วนใหญ่มันก็ซ้ำๆ กับ The Most Important Things

(มันซ้ำจนผมรู้สึกว่ามันแทบจะเป็นการเอาเนื้อหาเดิมมา re-write ใหม่ เพราะงั้นถ้าใครเคยอ่าน The Most Important Things มาจนปรุแล้ว ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็จะลดลงไปพอสมควร)


ภาพรวมและสไตล์ของหนังสือ

ก่อนอื่นเลยคือ ชื่อหนังสือบอกให้จับจังหวะก็จริง แต่มันไม่ใช่หนังสือแนว Technical

สไตล์ของหนังสือเป็นแบบบอกวิธีคิดมากกว่าบอกวิธีการ

บอกวิธีคิดแบบกว้างๆ แล้วให้ไปประยุกต์เอาเอง มากกว่าจะเป็นหนังสือ How To ที่บอกเราเป็นข้อๆ

เพราะงั้นหนังสือเล่มนี้จึงจะไม่มีการสอนให้เราดูตัวเลขหนี้สินหรือว่าดู ratio นู่นนี่นั่นเพื่อจับวัฎจักรเศรษฐกิจ

เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายเศรษฐศาสตร์มหภาคพื้นฐานให้เข้าใจง่ายๆ ผสมๆ กับเรื่องจิตวิทยาตลาด

ก่อนซื้อเลยอยากให้พิจารณาดีๆ ก่อนว่าเราชอบหนังสือสไตล์นี้หรือเปล่า

หนังสือเล่มนี้มันเป็นหนังสือที่เราอาจจะได้อะไรจากมันไปมากมาย หรือว่าเราอาจจะไม่ได้อะไรจากมันเลยก็ได้

ซึ่งมันจะเป็นแบบไหน มันก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังแล้วก็รสนิยมในการอ่านของแต่ละคนด้วยเหมือนกัน




ทำไมการทำนายสภาวะเศรษฐกิจถึงไม่มีประโยชน์?

ครั้งหนึ่ง Buffett เคยคุยกับ Marks และบอกกับเขาว่า คุณลักษณะของข้อมูลที่ดีมันจะต้องมีสองคุณลักษณะด้วยกัน

คุณลักษณะแรกคือข้อมูลนั้นมันจะต้อง Important หรือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญ เพราะถ้ามันเป็นข้อมูลที่ไม่สำคัญ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะเสียเวลาไปวุ่นวายกับมัน

ส่วนคุณลักษณะอย่างที่สองคือข้อมูลนั้นมันจะต้องเป็นข้อมูลที่ Knowable หรือว่าเป็นข้อมูลเราพอจะเข้าถึงและคาดการณ์มันได้

แต่ปัญหาของนักลงทุนส่วนใหญ่คือการที่พวกเขามักจะเสียเวลาไปวุ่นวายอยู่กับข้อมูลที่มัน Important แต่มันไม่ Knowable

ตัวอย่างของข้อมูลที่มัน Important แต่มันไม่ Knowable คือข้อมูลที่มันเป็น Macro Factor อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ย หรือการเติบโตของ GDP

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญ ถ้าคุณสามารถคาดการณ์ข้อมูลที่มันมี correlation กับการเคลื่อนไหวของหุ้นอย่างอัตราดอกเบี้ยได้แบบแม่นยำ

คุณก็แทบจะบอกได้ค่อนข้างแน่นอนเลยว่าหุ้นมันจะขึ้นหรือลง มันเป็นข้อมูลที่สำคัญมากๆ กับทิศทางตลาดหุ้นจริงๆ

แต่ประเด็นคือข้อมูลที่มันสำคัญมากๆ นี้มันดันเป็นข้อมูลที่มัน Unknowable หรือว่าคาดการณ์ไม่ได้ และไม่มีใครรู้ดีไปกว่าใคร

หรือพูดอีกอย่างก็คือ การทำนาย Macro Factor เหล่านี้มันสำคัญมากๆ ก็จริง แต่ขณะเดียวกันมันก็ดันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ด้วย เพราะงั้นมันก็เลยไม่มีประโยชน์อะไร

หรือถ้ามันจะมีคนรู้ข้อมูลเหล่านี้ดีกว่าคนอื่นมันก็คงไม่ใช่รายย่อย แต่มันต้องเป็นพวกกองทุนใหญ่ๆ ที่มี Data เยอะๆ หรือไม่งั้นก็ต้องเป็นพวก Insider ไปเลย

แต่ถ้าเรายังเป็นแค่พนักงานเงินเดือนที่ยังต้องนั่งอ่านข่าวโซเชียล

ความแม่นยำในการคาดการณ์เศรษฐกิจของเรามันก็จะแค่พอๆ กับรายย่อยคนอื่นๆ นั่นแหละ

เพราะว่าข้อมูลที่เราอ่านตามโซเชียล คนอื่นๆ ทั่วโลกมันก็อ่านได้เหมือนกัน (และคนที่เขาเขียนข้อมูลนี้ให้เราอ่านเขาก็ต้องรู้ข้อมูลนี้ก่อนเราอีก)

เพราะงั้นกว่าที่ข้อมูลนี้จะมาถึงเรา ราคามันก็จะถูก Priced in ลงไปแล้วประมาณนึงเสมอ

ซึ่งพอเป็นแบบนั้นมันก็จะทำให้ผลตอบแทนของเรามันไม่ได้ Outperform คนอื่นๆ ในตลาดอยู่ดี

และถ้าอนาคตนั้นมันสามารถ Forecast ได้ง่ายๆ ด้วยการอ่านข่าวหรืออ่านบทความในโซเชียล

ถ้างั้นมันก็แสดงว่าอนาคตนั้นมันเป็นอนาคตที่ง่ายต่อการคาดการณ์อยู่แล้ว

ซึ่งพอมันง่ายมันก็จะทำให้ผลตอบแทนจากการทายถูกมันน้อยลงตามไปด้วย

เพราะพอมันง่ายคนอื่นๆ มันก็จะทายถูกเหมือนกัน Value ในการทายถูกมันก็เลยไม่ค่อยมี

และเราจะไปคิดว่า “ฉันไม่โลภ ได้เท่าคนอื่นก็ไม่เห็นเป็นไร” ไม่ได้

เพราะถ้าเราเป็น Active Investor แล้วเราดันได้ผลตอบแทนแค่ในระดับเฉลี่ย

มันแปลว่า เวลา ความทุ่มเท ความพยายาม ที่เราเสียไปในการศึกษาเรื่องการลงทุนมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ถ้าคุณจะเป็นนักลงทุนที่เข้ามาคิดและทำเหมือนๆ กับคนอื่นแล้วได้ผลตอบแทนแค่ในระดับเฉลี่ย

ถ้างั้นคุณไปซื้อ Index Fund เอาก็ได้ ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเสียเวลาด้วย

กุญแจสำคัญของการเป็น Superior Investor จึงเป็นการคิดต่าง

ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนที่มันแตกต่างไปจากค่าเฉลี่ย ยังไงเราก็ต้องคิดและทำให้มันต่างจากคนส่วนใหญ่

ถ้างั้นแบบนี้แปลว่าเราต้องไปเป็น Contrarian หรือเป็นพวกสวนกระแสใช่มั้ย?

คำตอบคือไม่ใช่ เพราะถ้าเราลองคิดดูดีๆ เราจะเห็นว่าการคิดต่างเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต่างจากค่าเฉลี่ยมันสามารถพาเราไปได้ทั้งสองทางเลย

มันอาจจะ “ต่างแบบได้มากกว่าตลาด” หรือ “ต่างแบบได้น้อยกว่าตลาด” ก็ได้

วิธีแบบ Contrarian ที่สักแต่ว่าจะตอบให้มันต่างจากชาวบ้านมันไม่เวิร์ค

เพราะในช่วงเวลาส่วนใหญ่ ถ้าคุณเป็น Contrarian คุณจะขาดทุน!!!

สาเหตุเป็นเพราะว่า วิธีที่มันเป็นวิธีมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ใช้ในการทำนายตัวเลขทางเศรษฐกิจ มันคือการทำสิ่งที่เรียกว่า Extrapolate

Extrapolate คือการนำข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบันมา Forecast สิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เช่น สมมติว่าถ้าตอนนี้เศรษฐกิจกำลังแย่ ตัวเลขทุกอย่างกำลังถดถอย

คนที่ใช้การ Extrapolate ก็จะมองว่า ถ้าปัจจุบันเศรษฐกิจมันไม่ดี เดือนหน้า หรือว่าในอนาคตอันใกล้ เศรษฐกิจก็จะยังไม่ดีอยู่แบบนั้น

ซึ่งปัญหาของการ Extrapolate มันไม่ใช่ว่าเราทำแล้วเราจะได้คำตอบที่ผิด

กลับกัน วิธีคิดแบบ Extrapolate หลายครั้งมันมักจะทำให้เราได้คำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้มันก็มักจะมีแนวโน้มประมาณนึงอยู่แล้ว

ปัญหาของการ Extrapolate มันจึงไม่ใช่ว่าเรา Extrapolate แล้วเราจะได้คำตอบที่ผิด

แต่ปัญหาของการ Extrapolate คือวิธีนี้มันเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ในการ Forecast เศรษฐกิจ

ซึ่งพอคนส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ มันเลยไปทำให้ทุกคนคาดการณ์ถูกเหมือนกันหมด

ซึ่งพอทุกคนทายถูกกันหมด ราคามันเลยถูก Priced in ลงไปแล้ว

ทำให้สุดท้ายแล้วเราก็จะได้กำไรน้อย..หรืออาจจะไม่ได้กำไรเลยอยู่ดี แม้ว่าเราอาจจะคาดการณ์อนาคตนั้นได้ถูกต้องก็ตาม

หลายคนอาจจะเคยได้ยินวลีที่ว่า “คนส่วนใหญ่มันมักจะผิดเสมอในตลาดหุ้น”

แต่นั่นอาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะหลายครั้งคนส่วนใหญ่ก็ตอบถูก

แต่เวลาที่คนส่วนใหญ่ตอบถูกมันจะถูกพร้อมๆ กัน มันจะไปถูกในรอบเล็กๆ ไปถูกใน Challenge ง่ายๆ ซึ่งพอมันง่ายและทุกคนถูกพร้อมกันหมด Value ในการตอบถูกของมันจึงน้อยตามไปด้วย

ซึ่งสถานการณ์แบบนี้มันเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ในตลาดด้วย

เพราะงั้นถ้าเราเป็น Contrarian ที่สักแต่ว่าจะตอบให้มันไม่เหมือนคนอื่น สุดท้ายเราจะกลายเป็นคนที่ขาดทุนในช่วงเวลาส่วนใหญ่แบบนี้สะสมไปเรื่อยๆ แล้วมันจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

เพราะงั้นลำพังแค่ “ความแตกต่าง” มันไม่สามารถทำให้เราเป็น Superior Investor ได้

แต่การจะเป็น Superior Investor เราต้องทำให้ได้สองอย่างคือ “Different” and “Better”

แค่ “แตกต่าง” หรือว่า “Different” อย่างเดียวมันไม่พอ

แต่การแตกต่างนั้นมันจะต้องเป็นการแตกต่างที่ “Better” หรือว่า “ดีกว่า” คนอื่นด้วย

ทุกครั้งที่เราจะต่างเราต้องมีเหตุผลด้วยว่าทำไมเราถึงจะต่าง

และเหตุผลนั้นมันต้องเป็นเหตุผลที่ดีกว่าคนอื่น เราถึงจะได้กำไรในระดับที่มัน Outperformance

แต่ถ้าเราพิจารณาคำอธิบายที่ผ่านมา

เราจะพบว่าการที่เราจะทั้ง Different แล้วก็ Better ไปพร้อมๆ กันในข้อมูลที่เป็น Macro Factor มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะธรรมชาติของการทำนาย Macro Factor คือ ถ้าเราคิดต่าง เราจะกลายเป็นคนที่ผิด แต่ถ้าเราไม่ต่างเราก็จะได้ผลตอบแทนแค่ในระดับเฉลี่ยอยู่ดี

คุณสมบัติของคนที่จะ beat ตลาดได้คือคนๆ นั้นจะต้องคิดต่าง

แต่การเป็น Macro Investor มันย้อนแย้งตรงที่ ถ้าคุณคิดต่างเมื่อไหร่ คุณมักจะกลายเป็นคนที่ผิดและขาดทุน

แต่ถ้าคุณไม่ต่าง คุณก็จะได้ผลตอบแทนแค่ในระดับเฉลี่ยเท่านั้น (ซึ่งก็ไม่ได้สำหรับ Active Investor เหมือนกัน)

เพราะงั้นถ้าเราเป็นรายย่อยที่ไม่มีข้อได้เปรียบเรื่อง Data หรือ Inside การมาวุ่นวายอยู่กับการทำนาย Macro Factor มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

หรือพูดอีกอย่างคือ ข้อมูลที่มันเป็น Macro Factor นั้น

บางช่วงมันจะ “Important” แต่มันจะ “ไม่ Knowable”

ในขณะที่บางช่วงนั้นมันจะ Knowable แต่การที่มัน Knowable แล้วทุกคนก็รู้สิ่งนั้น ข้อมูลนั้นมันก็จะกลายเป็นข้อมูลที่มันไม่ Important อีกต่อไป

Macro Factor มันมักจะขาดคุณสมบัติของข้อมูลที่ดีข้อใดข้อนึงไปเสมอ

เพราะงั้นแทนที่เราจะไปหวังรวยเร็วๆ ด้วยการทำในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้แบบนี้

เราควรจะโฟกัสไปที่ข้อมูลที่มัน Important แล้วก็ Knowable อย่างพวกพื้นฐานบริษัทจะดีกว่า

เพราะแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถรู้อนาคตของบริษัทได้แบบ 100%

แต่อย่างน้อยมันก็สามารถคาดการณ์ได้ง่ายกว่าการทำนายเศรษฐกิจมหภาค

(แต่เราก็ต้อง Balanced ความยากให้ดีเช่นกัน เพราะถ้าเกิดเราไปเลือก Challenge ที่มัน Knowable มากๆ แล้วทุกคนก็คาดการณ์ได้เหมือนกันหมด ข้อมูลนั้นมันก็จะกลายเป็นข้อมูลที่มันไม่ Important อีกต่อไป)


แล้วการทำนายวิกฤติเศรษฐกิจล่ะ?

ประเด็นนึงที่มักจะถูกพูดถึงเกี่ยวกับการ Forecast ก็คือเรื่องของการทำนายวิกฤตเศรษฐกิจ

เรามักจะได้ยินกันมาตลอดว่าวิกฤติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้

แต่บางคนก็อาจจะบอกว่า “วิกฤติรอบที่ผ่านมาก็เห็นมีคนทายถูกนี่ แล้วทำไมถึงยังบอกว่าเศรษฐกิจมัน Forecast ไม่ได้?”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ว่ามันไม่มีใครที่สามารถทายวิกฤติเศรษฐกิจได้ ทุกๆ วิกฤติมันจะมีคนทายถูกเสมอแหละ

แต่ปัญหาคือ วิกฤติแต่ละรอบนั้น คนที่จะทายถูกมันมักจะไม่ใช่คนๆ เดิม

ตัวอย่างเช่น ตอนปี 2000 ที่เป็นวิกฤติดอทคอม เซียน A อาจจะสามารถทายได้ แต่ตอนปี 2008 เซียน A ก็อาจจะทำนายวิกฤติ Sub Prime ไม่ได้

ในขณะที่เซียน B ที่ทายวิกฤติ Sub Prime ได้ แต่ตอนดอทคอมเขาก็อาจจะไม่ได้ออกมาพูดอะไรเลยเหมือนกัน

พอเป็นแบบนี้มันเลยกลายเป็นว่าเราจะไม่สามารถยึดเซียนคนไหนเป็น Role Model แล้วก็ก๊อป Opinion ของเขามาใช้กับวัฎจักรเศรษฐกิจทุกๆ รอบได้เลย

เพราะว่าความแม่นยำมันจะเปลี่ยนไปอยู่ที่คนนู้นทีคนนี้ที

รอบนี้คนนี้อาจจะทายถูก แต่รอบหน้ามันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนนึง

ปัญหาคือเราไม่รู้เลยว่า ณ Cycle รอบปัจจุบันเซียนคนไหนจะเป็นคนที่ทายถูก

เราไม่รู้ว่า ณ Cycle รอบปัจจุบัน เราควรจะต้อง “ลอก” ความเห็นของเซียนคนไหนดี

ส่วนอีกเหตุผลนึงที่ทำให้การ Forecast มันไม่มีประโยชน์ก็เป็นเพราะว่า

เวลาที่เราจะให้เครดิตใครว่าเขาทำนายวิกฤติได้นั้น เราต้องไม่ดูแค่ว่าเขาพูดอะไรในปีที่มันกำลังจะเกิดวิกฤติ

แต่เราต้องย้อนไปดูด้วยว่าสองสามปีก่อนหน้านั้น Forecaster เหล่านี้เขาได้พูดอะไรเอาไว้

หากไปเช็คดู เราอาจจะพบว่าคนที่เราเห็นว่าเขาทายวิกฤติได้นั้น จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้ทายถูกอะไรเลย

เพราะถ้าเราลองย้อนไปดู เราอาจจะพบว่าจริงๆ แล้ว Forecaster เหล่านี้เขาอาจจะไม่ได้ทายแม่นอะไรเลย

แต่เขาแค่หน้าด้านแทงแบบเดิมซ้ำๆ ทุกปีๆ จนกว่ามันจะถูกเท่านั้นเอง

นอกจากนั้นเรายังต้องไปดูอีกด้วยว่าหลังจากที่วิกฤติมันจบไปแล้ว

คนที่ได้ชื่อว่าสามารถคาดการณ์วิกฤติปี 2008 ได้เหล่านี้ เขาสามารถคาดการณ์การฟื้นตัวและได้กลับไปซื้อหุ้นในตอนที่เป็นขาขึ้นรอบใหม่ในปี 2009 ด้วยรึเปล่า?

ซึ่งถ้าตอนที่ตลาดกำลังกลับมาเป็นขาขึ้นแล้วเขาไม่ได้ซื้อหุ้น

มันก็อาจจะหมายความว่าจริงๆ แล้วคนเหล่านี้เขาก็อาจจะไม่ได้เป็น Forecaster ที่เก่งจนสามารถทำนายอนาคตได้อะไรหรอก

แต่เขาแค่อาจจะเป็นคนที่มองโลกแง่ร้ายอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง

เขาอาจจะแค่เป็นคนที่เชื่อว่ามันจะต้องมึเรื่องไม่ดีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นอยู่ตลอดเวลาเฉยๆ ก็ได้

ซึ่งนิสัยมองโลกแง่ร้ายแบบนี้มันอาจจะทำให้เขาได้ชื่อว่าสามารถคาดการณ์วิกฤติได้ก็จริง

แต่ขณะเดียวกัน ไอ้ความมองโลกแง่ร้ายนี้มันก็จะทำให้เขาพลาดและไม่ได้ซื้อหุ้นในที่ตอนตลาดมันกลับมาเป็นกระทิงรอบใหม่ด้วยเหมือนก้น

และสุดท้ายมันก็จะไปทำให้ผลตอบแทนของคนเหล่านี้มันก็จะธรรมดา แม้ว่าเขาอาจจะได้ชื่อว่าสามารถทายวิกฤติได้ก็ตาม

เพราะงั้นถ้าเราไม่ได้ต้องการกำไรแต่เราแค่อยากดังก็ให้เราทำแบบนี้ก็ได้

ให้แทงแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ไปเลย

ถ้าเราอยากจะมองโลกแง่ร้ายก็ให้มองโลกแง่ร้ายไปตลอด

อย่าไปเปลี่ยนคำตอบกลับไปกลับมา ไม่ว่า condition ของเศรษฐกิจมันจะเปลี่ยนไปยังไงก็ให้ยืนยันคำตอบแบบเดิมไปเรื่อยๆ แล้ววันนึงคำตอบของเรามันจะถูกเอง

ซึ่งพอถึงตอนนั้นเราก็จะดังไปเลย แต่ผลตอบแทนในการลงทุนของเรามันก็จะงั้นๆ อยู่ดี

เพราะการ Forecast มันจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถทำนายมันได้ถูกต้องสม่ำเสมอเท่านั้น

แต่ถ้าเราแค่ทายถูกเป็นครั้งคราว สิ่งเดียวที่มันจะเพิ่มขึ้นมามันคือชื่อเสียงของเรา ไม่ใช่ผลตอบแทน

เพราะงั้นประเด็นจริงๆ ของเรื่องนี้มันจึงไม่ใช่ว่ามันไม่มีใครที่สามารถทายวิกฤติได้

วิกฤติทุกครั้งมันมีคนทายถูกเสมอแหละ แต่การทำนายอนาคตมันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราสามารถทำนายมันได้อย่างถูกต้องต่อเนื่องเท่านั้น

และในโลกนี้มันแทบไม่มีใครที่สามารถทายถูกอย่างต่อเนื่องมากพอจนเขาสามารถเอาการ Forecast ไปใช้เป็นแต้มต่อในการลงทุนได้เลย


การลงทุนกับการคิดแบบ Probability

การคิดแบบ Probability เป็นหัวข้อที่ต่อเนื่องมาจากประเด็นเรื่องการทำนายอนาคต

เพราะพอบอกว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้ คำถามที่มักจะตามมาก็คือ

“อ้าว....งั้นแบบนี้แปลว่าเราก็ไม่ควรลงทุนรึเปล่า เพราะถ้าเกิดเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไงแล้วเราไปลงทุนมันก็จะกลายเป็นการพนันไปรึเปล่า?”

ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น

เพราะจริงๆ แล้วการจะลงทุนให้ประสบความสำเร็จเราไม่จำเป็นต้องถึงขนาดรู้อนาคตก็ได้

แต่แค่เราพอมองเห็นแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น แค่นั้นมันก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว

ตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าตรงหน้าคุณมีโถอยู่โถหนึ่ง

ในโถนี้มีลูกบอลอยู่ 100 ลูก

บางลูกเป็นสีดำ บางลูกเป็นสีขาว

ทีนี้ถามว่า ถ้าให้คุณเลือกว่าลูกบอลลูกต่อไปที่หยิบขึ้นมาจากโถมันจะเป็นสีอะไร

คุณจะตอบว่าสีดำหรือว่าสีขาว?

ถ้าคุณมีข้อมูลอยู่แค่นี้ คุณจะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเดา (และการเดาก็ไม่ใช่การกระทำที่เราจะไปคาดหวังอะไรจากมันได้สักเท่าไหร่)

เพราะงั้นในชีวิตจริง ถ้าคุณไปเจอสถานการณ์ที่คุณไม่รู้อะไรเลยแบบนี้ คุณก็ไม่ควรลงทุน

แต่หากว่าคุณ “รู้” หรือสามารถ “ประเมิน” ได้ว่าสัดส่วนลูกบอลสีดำต่อสีขาวมันเป็นเท่าไหร่ แบบนี้จะเริ่มน่าสนใจขึ้นมาแล้ว

เราจะลงทุนหรือว่าไม่ลงทุน หลายครั้งมันขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นตรงนี้เลย

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าถ้าสัดส่วนลูกบอลสีดำต่อสีขาวมันเป็น 50:50

กรณีแบบนี้ นักลงทุนทั่วๆ ไปอาจจะมองว่าเราจะเล่นหรือว่าไม่เล่นก็ได้

เพราะมันก็แฟร์ๆ โอกาสมันคือ 50/50 เราไม่ได้เสียเปรียบอะไร นักลงทุนทั่วไปจะคิดแบบนี้

แต่คนที่เป็นนักลงทุนที่เก่งจะไม่สนใจดีลในลักษณะนี้เลย

เพราะว่าเมื่อโอกาสมันแค่ 50/50 มันก็หมายความว่าเราจะได้ผลตอบแทนที่มัน Superior ก็ต่อเมื่อเราโชคดีเท่านั้น

ซึ่งนักลงทุนที่เก่งจะไม่เอาความโชคดีมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจหรือออกแบบกลยุทธ์การลงทุน

เราไม่ควรออกแบบกลยุทธ์ที่มันจะสำเร็จก็ต่อเมื่อเราโชคดี

แต่มันกลับกันเลย

เวลาที่เราออกแบบกลยุทธ์ เราควรที่จะออกแบบโดยคิดเผื่อเอาไว้ว่าเราอาจจะต้องโชคร้ายด้วยซ้ำ

เพราะงั้นในกรณีที่ความน่าจะเป็นมันคือ 50/50

นักลงทุนที่เก่งก็จะยังไม่สนใจอยู๋ดี เพราะว่ามันไม่มี Advantage อะไรที่จะทำให้เขาได้เปรียบ

แต่ถ้าเกิดว่าสัดส่วนของลูกบอลสีดำต่อสีขาวมันเป็น 70:30

แบบนี้จะเริ่มน่าสนใจแล้ว

เพราะมันหมายความว่าถ้าเราเล่น 10 ครั้ง เราจะชนะถึง 7 ครั้ง

ถ้าเราลงเงินรอบละ 10 เหรียญ เล่น 10 ครั้ง เราชนะ 7 ครั้ง แพ้ 3 ครั้ง

เราจะได้เงินทั้งหมด 70 เหรียญ และเสียเงิน 30 เหรียญ เบ็ดเสร็จแล้วคือเราจะกำไรจากดีลครั้งนี้ 40 เหรียญ

เราจะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้อนาคตเราถึงจะได้กำไร

เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าบอลลูกต่อไปมันจะเป็นสีอะไร

อย่างในกรณีนี้ ถามว่าเรารู้มั้ยว่าลูกบอลลูกต่อไปที่ถูกหยิบออกมามันจะเป็นสีอะไร?

เราไม่รู้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะขอแค่เรารู้ “ความน่าจะเป็น” ของมัน แล้วเล่นในจำนวนครั้งที่มันมากพอ

แค่นั้นมันก็เพียงพอที่จะทำให้เรามีผลตอบแทนที่ดีได้แล้ว

หรือพูดง่ายๆ คือ การลงทุนมันอาจจะเป็นเรื่องของการเดิมพันกับอนาคตก็จริง

แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทายอนาคตให้มันแม่นยำ 100% เราถึงจะได้กำไร

ถ้าเราประเมินความน่าจะเป็นได้ถูกต้อง เลือก bet เฉพาะในเกมที่เราได้เปรียบ และสร้างพอร์ตที่มีแต่หุ้นที่มีโอกาสชนะ 70% ขึ้นไปแบบนี้

แค่นี้มันก็เพียงพอที่จะทำให้เรามีผลตอบแทนที่ดีได้แล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้อนาคตของการลงทุนแต่ละครั้งให้แม่นยำแบบ 100% เลย

แต่สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการคิดแบบ Probability คือ

การที่เราบอกว่าโอกาสชนะมันเป็น 7:3 มันไม่ได้การันตีว่าเราจะต้องชนะเสมอไป

เพราะการที่มันมีโอกาสมากกว่ามันไม่ได้หมายความว่าสิ่งๆ นั้นมันจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

บางทีลูกบอลลูกต่อไปมันอาจจะเป็นสีขาวก็ได้ เพราะยังไงมันก็ยังมีโอกาสเหลืออยู่ 30%

เราต้องเตือนตัวเองว่าเราไม่ได้แทงดำเพราะเราคิดว่าเราต้องชนะ “ชัวร์ๆ”

แต่เราแทงดำเพียงเพราะว่า “มันมีโอกาสชนะมากกว่า”

นี่คือการคิดในรูปแบบของความน่าจะเป็น

แต่นักลทุนทั่วๆ ไปจะไม่ได้คิดแบบนี้

นักลงทุนทั่วๆ ไปจะคิดว่า วิธีเดียวที่จะทำให้เราได้กำไรมากๆ คือการที่ต้องไป “รู้” ให้ได้ว่าลูกบอลลูกต่อไปมันจะเป็นสีอะไร

พวกเขาจะพยายามไปหาเคล็ดลับที่จะทำให้เขารู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

แต่น่าเสียดายว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะสุดท้ายแล้วอนาคตมันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้

หรือถ้าให้เปรียบเทียบ คนเหล่านี้ก็อาจจะเหมือนกับคนที่พยายามจะไปรู้ในสิ่งที่มัน Unknowable อย่างเช่นอัตราดอกเบี้ยหรือการเติบโตของ GDP

แทนที่พวกเขาจะคิดในรูปแบบของความน่าจะเป็น แล้วเตรียมใจว่าบางครั้งอาจจะต้องแพ้บ้าง

แต่พวกเขากลับฟุ้งฝันถึงวิธีที่จะทำให้ตัวเองชนะได้แบบชัวร์ๆ

แล้วสุดท้ายพวกเขาก็มักจะต้องผิดหวัง

เพราะสิ่งที่เขาตามหานั้นไม่มีอยู่จริง
ภาพประจำตัวสมาชิก
HENDRIX
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 135
ผู้ติดตาม: 1

Re: [Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 2

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
ชนะตลาดหรือเปล่าไม่สน ชนะใจตนเป็นพอ
riboflavin
Verified User
โพสต์: 2
ผู้ติดตาม: 0

Re: [Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับ ไปติดตาม Pandora's Book podcast แล้วด้วย :)
ลูกอิสาน
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 6490
ผู้ติดตาม: 863

Re: [Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ขอบคุณมากครับพี่รีวิวให้อ่านกัน
สรุปได้เข้าใจดีมากครับ

คงจะดีหากมีคนนำเล่มนี้มาแปล
การลงทุนคืออาหารอร่อยที่สุดเมื่อเย็นดีแล้ว
ภาพประจำตัวสมาชิก
picatos
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 3352
ผู้ติดตาม: 325

Re: [Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ถ้าต้องการที่จะ different และ better ในมุมของ macro economy ผมขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ครับ

https://www.amazon.com/Sustainable-Grow ... B01DPZVM6C

อ่านแล้วอาจจะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก แม้แต่ในเรื่องที่ Howard Mark ก็บอกว่าเขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

:B :B :B
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่?
b4solid
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1130
ผู้ติดตาม: 65

Re: [Podcast] รีวิว + สิ่งที่ได้จากหนังสือ Mastering The Market Cycle

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ขอบคุณมากครับ เดี่ยวตามเข้าไปฟังครับ
โพสต์โพสต์