อังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆ ที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อการลงทุนแบบเน้นคุณค่า

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1890
ผู้ติดตาม: 311

อังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

31 ตุลาคม 2562 เป็นกำหนดที่สหราชอาณาจักร (ในบทความนี้จะขอเรียกตามที่คนไทยคุ้นชินว่า”อังกฤษ” ที่รวมเอาสก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือด้วย) จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 แต่ขณะนี้ย่างเข้าสู่ปลายเดือนกันยายนแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกจากอียูที่สภาผู้แทนราษฎรพอใจได้

นอกเหนือจากยังไม่มีข้อตกลงแล้ว สภายังออกกฎหมาย ที่ครอบคลุมถึงการให้นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ไปขอเลื่อนการออกจากอียู จากสิ้นเดือนตุลาคม เป็นสิ้นเดือนมกราคม เพื่อให้มีเวลาหายใจได้มากขึ้น แต่ก็ต้องต้องขึ้นอยู่กับว่าทางสภาอียูจะเห็นชอบให้ขยายเวลาออกไปได้หรือไม่

หากไม่ให้ขยายเวลา เพราะขยายมาจาก 29 มีนาคม มาเป็น 31ตุลาคม รอบหนึ่งแล้ว เนื่องจากข้อตกลงที่ทางนายกรัฐมนตรีคนเดิม คือ เทเรซา เมย์ ไปเจรจาไว้กับอียู ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ถึงสามครั้ง

ณ ตอนนี้ กำหนดการณ์คร่าวๆคือ สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ จะต้องรีบพิจารณาผ่านข้อตกลงต่างๆให้เสร็จ เพื่อที่จะส่งให้อียูเรียกประชุมสภาอียู ในวันที่ 17 ตุลาคม เพื่อพิจารณารับหรือไม่รับข้อตกลง ให้ทันการออกจากอียูในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

เมื่อออกจากอียู อังกฤษ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนงบประมาณ ปีละ 9 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 345,000 ล้านบาท อีกต่อไป

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ซึ่งเป็นผู้รณรงค์ให้อังกฤษออกจากอียูตั้งแต่ต้น ได้มีปฏิกิริยาต่อการที่สภาออกกฎหมายให้สามารถขยายเวลาออกจากอียูไปในเดือนมกราคมว่า เขาจะเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ (ว่าจะเลือกสมาชิกสภาจากพรรคไหน เพื่อเตรียมรับกับการออกจากอียู) ประเด็นอยู่ที่ว่า จะมีเลือกตั้งก่อน หรือหลัง จากการออกจากอียู โดยคาดว่า หากเลือกตั้งก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน ปีนี้ พรรคเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้ง ก็จะเป็นผู้นำพาอังกฤษออกจากอียู

มีผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า หากมีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นเสมือนการหยั่งเสียงประชาชนเรื่องการออกจากอียูกลายๆ เพราะหากได้รัฐบาลชุดใหม่ ก็อาจจะเลือกที่จะขอประชามติใหม่เพื่อจะไม่ออกจากอียูได้

ถามว่าตอนนี้ มีทางเลือกที่จะไม่ออกไหม ตอบว่าทางเลือกที่จะไม่ออก เปิดกว้างตลอดมา เพราะอียูบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากอังกฤษจะเปลี่ยนใจไม่ออก ก็ไม่ต้องทำอะไร

ประเทศต้นแบบประชาธิปไตย มีปัญหาจัดการแนวทางการเดินหน้าของประเทศไม่ได้ เพราะนักการเมืองเห็นต่างกัน

ถามว่าใครเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติออกจากอียู ทำให้ประเทศเกิดความไม่แน่นอนในช่วงสามปีเศษที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ทำให้ธุรกิจใหญ่ๆระดับภูมิภาคย้ายออกจากอังกฤษ ทำให้การจ้างงานลดลง ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง คำตอบก็คือนักการเมือง

ถามว่าใครเป็นผู้ทำให้การปฏิบัติตามประชามติต้องขลุกขลัก มีอุปสรรค และล่าช้า จนเกิดความเสียหายกับประเทศมามากพอสมควร และยังคงจะเสียหายเพิ่มขึ้น ก็นักการเมืองอีกนั่นแหละ เพราะก่อนที่จะไปรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติออกจากอียูนั้น ไม่ได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคและคิดหาวิธีแก้ไขให้ดี เรียกว่า ประชาชนก็ไม่รู้ว่า การลงประชามติของตัวเอง จะส่งผลกระทบอะไรในชีวิตในอนาคต เพียงแต่คิดง่ายๆว่า จะได้ไม่ต้องรับผู้อพยพที่อียูกำหนดมาให้อีก

แต่การออกจากอียู หมายถึงการไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง และขั้นตอนทางศุลกากรที่แตกต่าง ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากไม่มีข้อตกลงเรื่องนี้ เกาะอังกฤษอาจจะถึงกับขาดแคลนอาหารการกิน เพราะอาหารที่นำเข้าจากอียูอาจติดค้างอยู่ที่ด่านหลายวัน อาจเน่าเสีย

ปัญหาใหญ่ของข้อตกลงในการออกจากอียู อยู่ที่พรมแดนของไอร์แลนด์เหนือ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) กับพรมแดนของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกอียู

สองประเทศนี้อยู่บนเกาะเดียวกัน มีพรมแดนธรรมชาติอยู่ติดกัน ไม่มีพรมแดนที่เป็นด่านแบบจริงจัง ถนนเข้าจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งก็เป็นถนนเส้นต่อเนื่องกัน แต่เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียู จำเป็นต้องสร้างด่านพรมแดนขึ้น และต้องมีการตรวจเช็คคน สินค้า หรือสิ่งของ ที่จะผ่านเข้าออกพรมแดนนี้

ไอร์แลนด์เหนือส่งออกสินค้าไปสาธารณรัฐไอร์แลนด์มากถึงปีละ 3,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 115,000 ล้านบาท ซึ่งมากมายมหาศาล หากมีขั้นตอนทางศุลกากร หรือมีด่านกักกันเพื่อตรวจเช็คมาตรฐานสินค้าเกิดขึ้น จะเกิดความล่าช้าและเสียหายกับสินค้า จะกระทบกับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังสาธารณรัฐไอร์แลนด์มากที่สุด เรียงลำดับได้ดังนี้คือ ผลิตภัณฑ์นมและไข่ ยานพาหนะ เนื้อสัตว์ สินค้าอุตสาหกรรม และเครื่องดื่ม

ไอร์แลนด์เหนืออยู่ในความไม่สงบมาเป็นเวลานานมาก ความขัดแย้งนี้ย้อนไปได้ถึงสมัยที่อังกฤษเข้าครอบครองดินแดนนี้ในศตวรรษที่ 12 เลยค่ะ และต้องการเป็นอิสระจากอังกฤษ ดิฉันจำได้ว่าตอนเด็กๆ มีข่าวระเบิด ข่าวการก่อการร้ายในไอร์แลนด์เหนืออยู่บ่อยๆ เป็นประจำ มีการเซ็นสัญญาสันติภาพกันหลายครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2516 ในปี 2528 และครั้งสุดท้ายในปี 2541 ที่เรียกว่า ข้อตกลงเบลฟาสต์ (Belfast Agreement) หรือ ชื่อเล่นว่า Good Friday Agreement พอมีความสงบ ก็พัฒนาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น การก่อการร้ายจึงลดลงจนถึงทุกวันนี้

ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ค่ะว่า อย่าเชื่อเพราะได้ยินได้ฟังมา เวลานักการเมืองโน้มน้าวให้ทำอะไร ประชาชนควรจะต้องคิด คิด และคิด ให้ถี่ถ้วนว่า สิ่งที่เขาเสนอมานั้น จะส่งผลกระทบด้านบวกและลบอะไรต่อประเทศและต่อตัวเองบ้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ นักการเมืองที่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียวค่ะ
โพสต์โพสต์