ปี 2030 ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย..อินโด..โต ทำไม?

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ลงทุนหุ้น VI เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
doctorwe
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 152
ผู้ติดตาม: 0

ปี 2030 ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย..อินโด..โต ทำไม?

โพสต์ที่ 1

โพสต์

คอลัมน์: หุ้นส่วนประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์
ปี 2030 ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย...อินโด...โต ทำไม? ตอนที่ 1
ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์
วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
http://www.CsiSociety.com
Add Line: @CsiSociety

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ได้ออกรายงานเรื่อง “ปี 2030 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตครั้งนี้ มิได้ใช้ค่าตัวเลขจาก GDP nominal (ขนาดเศรษฐกิจที่วัดจากค่าตัวเลขที่แท้จริง) แต่ใช้ตัวเลข GDP PPP (Purchasing Power Parity) ซึ่งเป็นค่าตัวเลขขนาดเศรษฐกิจที่นำไปปรับให้สัมพันธ์กับอำนาจซื้อและค่าครองชีพในแต่ละประเทศ ซึ่งผลที่ได้พบว่า จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดมาอยู่ที่ 64.2 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล อียิปต์ รัสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมัน ตามตารางด้านล่าง
1.jpg
แต่สิ่งที่ผมอยากคุยกับคุณผู้อ่าน หาใช่เรื่องที่ประเทศเหล่านี้จะโตเท่าไร หรือจะมีอันดับเป็นที่เท่าไร แต่เป็นเรื่องของแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับปรากฎการณ์เหล่านี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

หนึ่ง ถึงเวลาที่...ประเทศในตลาดเกิดใหม่...จะโต
หากเราสังเกตจากตารางด้านบนนี้ เราจะพบว่า 10 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะมีสูงถึง 7 อันดับที่มาจากตลาดเกิดใหม่หรือที่เราเรียกว่า Emerging Market (EM) ซึ่งในที่นี้ประกอบด้วย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี บราซิล อียิปต์ และรัสเซีย ในขณะที่มีเพียง 3 ประเทศที่มาจากตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market – DM) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่เคยยากจนมาก่อน...ได้ดิ้นรนหนีความยากจน และตะเกียกตะกายขยับฐานะจนมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าบรรดาประเทศที่เจริญแล้ว

ทวีปเอเชียในปี 2017 พบว่า มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นประมาณ 27% ของขนาดเศรษฐกิจโลก แต่ในปี 2030 เอเชียจะมีขนาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 35% ของขนาดเศรษฐกิจโลกทีเดียว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

อันที่จริงแล้วเราก็คงพอสังเกตได้บ้างว่า ประชาชนประเทศในซีกโลกตะวันตกมักจะมีนิสัยชอบพึ่งพาระบบสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ประชาชนเริ่มเกียจคร้านมากขึ้น ไม่อยากมีลูกเพราะกลัวความลำบาก ในขณะที่คนเอเชียส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่เพิ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในช่วง 30 – 60 ปีที่ผ่านมาพบว่า จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้เคยลำบากอย่างแสนสาหัสมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นมาระบบเศรษฐกิจเริ่มเปิด...ประชาชนเริ่มขยัน...เริ่มมีเงินใช้...ขยับฐานะตนเองสู่ชนชั้นกลาง เด็กๆที่เติบโตในประเทศเหล่านี้ เมื่อเห็นพ่อแม่ประสบความสำเร็จได้เพราะความขยันหมั่นเพียร ก็ทำให้ตนเองยิ่งขยันขึ้นไปอีก เช่น ในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ เด็กมัธยมปลายเรียนหนังสือไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้ตนมีความรู้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสามารถสอบแข่งขันเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม? เศรษฐกิของหลายๆประเทศในเอเชียจะเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

สอง ประเทศมหาอำนาจเก่า...เริ่มเสื่อมลง
ในอดีตเราจะเห็นว่า บรรดาประเทศใหญ่ๆของโลกซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น เป็นประเทศอันดับแรกๆที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเราอาจจะพออนุมานเรื่องราวต่างๆได้พอสังเขปดังนี้ครับ

อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายๆชาติในยุโรปนั้น ในอดีตมีความมั่งคั่งมาจากการล่าอาณานิคม สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษเองเคยนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่ติดกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะอังกฤษมีอาณานิคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และอีกหลายๆประเทศในอาฟริกา

เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่เคยมีเวียดนาม และอีกหลายประเทศเป็นอาณานิคม ประเทศเหล่านี้ก็ขนเอาความมั่งคั่งจากประเทศอาณานิคมกลับไปประเทศของตนอย่างมหาศาล เช่น หนึ่งในเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่อยู่บนมงกุฎของกษัตริย์อังกฤษที่มีชื่อว่า Cullinan ก็นำมาจากอาฟริกา ทุกวันนี้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มมีอาณานิคมที่น้อยลงๆทุกวัน อันเนื่องมาจากบรรดาอาณานิคมขอแยกตัวเป็นอิสระ การขาดนวัตกรรม รวมถึงประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เริ่มมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง...ลดลง

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่เติบโตอย่างสุดขีดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชนะในสงครามและเข้ามามีบทบาทในการเมืองโลกจนถึงทุกวันนี้ อเมริกาได้เข้ามาครอบงำระบบการเงินโลก โดยการใช้เงินสกุลดอลลาร์ของตนเข้าไปเป็นตัวจักรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศมีบทบาทไม่ต่ำกว่า 50% ของการค้าขายทั่วโลก การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศก็มีเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาเข้าไปเป็นคู่แลกเปลี่ยนกับเงินสกุลต่างๆทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 70% จึงไม่น่าแปลกใจว่า อิทธิพลทางด้านการเมืองของสหรัฐอเมริกายังคงมีอิทธิพลอยู่ ในขณะที่พลังทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกาโดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่ แต่การมีหนี้สาธารณะในระดับที่สูงมาก โดยมีขนาดพอๆกับขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ และปัญหาการพึ่งพาสวัสดิการรัฐในระดับสูง ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่พยายามดิ้นรนเท่าที่ควร อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจึงไม่เคยขยับเกิน 4% มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

ส่วนญี่ปุ่น และเยอรมัน สองประเทศนี้เป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับเป็นสองประเทศที่มุมานะขยันขันแข็ง จนสามารถพลิกฟื้นประเทศให้มาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ก่อนปี 1985 ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันเติบโตอย่างต่อเนื่องจนทั้งสองประเทศนี้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจติด 1 ใน 5 ของโลก

พอมาถึงปี 1985 รัฐบาลประธานาธิบดี Ronald Reagan แห่งสหรัฐอเมริกา มองว่าทั้งสองประเทศนี้เอาเปรียบโดยการผูกค่าเงินเยนของญี่ปุ่น และค่าเงินมาร์คของเยอรมันไว้กับค่าเงินดอลลาร์ของอเมริกา ทำให้เมื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศจึงมีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงใช้อิทธิพลบังคับให้ประเทศทั้งสองเซ็นสัญญากับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ทำข้อตกลงที่เรียกว่า สนธิสัญญาพลาซ่า (Plaza Accord) ในปีนั้น โดยให้ทั้ง 5 ประเทศทำการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อให้ค่าเงินเยนและค่าเงินมาร์คแข็งขึ้น

จากวันนั้นมา...จนถึงทุกวันนี้ ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันก็เริ่มมีขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง และในอนาคตทั้งสองประเทศนี้ก็จะยิ่งโตช้าลงไปอีก และถูกประเทศในตลาดเกิดใหม่แซงหน้าไป ในปี 2030 คาดว่า ญี่ปุ่นจากอันดับที่ 3 ในปัจจุบันจะตกลงลำดับไปอยู่ในอันดับที่ 9 และเยอรมันจากอันดับที่ 4 ก็จะตกลงไปจนติดอันดับที่ 9 ใน 10 ของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่เยอรมันก็ตกลงไปจนติดอันดับที่ 10

วันพรุ่งนี้ เราจะคุยกันต่อในเรื่อง “ปี 2030 ญี่ปุ่น...เยอรมัน...เสื่อม อินเดีย...อินโด...โต ทำไม?” ตอนจบ แล้วพบกันนะครับ
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.doctorwe.com
โพสต์โพสต์